จากทรรศนะแบบแยกย่อย สู่ทรรศนะแบบองค์รวม

27 พฤศจิกายน 2530
เป็นตอนที่ 2 จาก 15 ตอนของ

จากทรรศนะแบบแยกย่อย สู่ทรรศนะแบบองค์รวม

พวกนักวิเคราะห์ที่พูดถึงข้างต้น ได้มองพบปัญหาเหล่านี้ และเอามาพิจารณาทบทวนแล้วก็มองเห็นว่า เรื่องความชำนาญพิเศษแต่ละด้าน หรือความเจริญทางวิชาการที่แต่ละด้านแยกออกไป แล้วก็พยายามที่จะพัฒนาตัวเองให้มากที่สุด ให้เจริญที่สุด เป็นเส้นตรงออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อันนี้มาจากทรรศนะแบบที่มองสิ่งทั้งหลายเป็นชิ้นส่วน เขามีศัพท์เรียกว่าเป็นทรรศนะแบบชิ้นส่วนหรือ fragmentarist view หรือจะเรียกว่าเป็นทรรศนะแบบแยกย่อยหรือแบ่งซอย (reductionistic view) นักวิเคราะห์พวกนี้บอกว่า ทรรศนะแบบนี้เป็นตัวสาเหตุสำคัญของการพัฒนาความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน และเป็นลักษณะพิเศษของยุคอุตสาหกรรม

ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดทรรศนะแบบนี้ ซึ่งทำให้คนไม่มองสิ่งทั้งหลายอย่างมีความสัมพันธ์กัน มุ่งแต่ความเจริญเฉพาะด้านๆ เสร็จแล้วมันจะเป็นปัญหาอย่างไร มันเป็นปัญหา ก็เพราะว่า มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ความเป็นจริงก็คือว่า สิ่งทั้งหลายทุกๆ อย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าในชีวิตของเราก็ตาม ในโลกหรือในจักรวาลทั้งหมดก็ตาม ล้วนมีความสัมพันธ์อิงอาศัยกันทั้งนั้น อวัยวะของเราแต่ละอย่างไม่ใช่ว่ามันอยู่โดยลำพังและเจริญโดยลำพังตัวมันเองอย่างเดียว แต่มันต้องมีความสัมพันธ์ ทำงานประสานกันกับอวัยวะอื่นๆ มันจึงจะทำงานอยู่ด้วยดีและเจริญต่อไปได้ เเละร่างกายทั้งหมดจึงจะเจริญเติบโต เมื่อร่างกายส่วนรวมเจริญเติบโตหรืออยู่ในสภาพกลมกลืนเป็นปกติ อวัยวะแต่ละชิ้นแต่ละส่วนนั้นก็จึงจะอยู่ด้วยดีได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งในกระบวนการของชีวิตก็ตาม ในโลกหรือในจักรวาลก็ตาม วิปริตไปสักส่วนหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งอื่น แล้วปัญหาก็จะเกิดขึ้น แล้วผลกระทบนั้นก็จะสะท้อนกลับมาถึงสิ่งนั้นด้วยเหมือนกัน

ในเรื่องการแพทย์ เรามองโรคที่อวัยวะนั้นว่าเกิดความวิปริต แต่บางทีความวิปริตของอวัยวะนั้นไม่ได้เกิดที่ร่างกาย จากโรคทางกายที่มองเห็นอย่างเดียว ในระยะที่ไม่นานนักนี้ แพทย์ได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตว่า จิตใจนั้นก็มีอิทธิพลต่อเรื่องโรคภัยไข้เจ็บมาก โรคหลายอย่างที่เราเห็นว่าปรากฏขึ้นทางร่างกายนั้น ความจริงมันมีสาเหตุมาจากจิตใจ แม้แต่มะเร็ง สมัยนี้ก็มีจำนวนของผู้ที่คิดค้นคว้าไม่น้อยเหมือนกันที่เห็นว่ามาจากเรื่องจิตใจ เช่น ความเครียดเป็นต้น ก็เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลขึ้นในระบบของร่างกาย ทำให้เกิดความบกพร่องย่อหย่อนของระบบต้านทานของร่างกายแล้ว ก็ทำให้เกิดเซลล์ที่ผิดปกติเพิ่มมากขึ้นเป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของอิทธิพลทางจิตใจ และที่เราเห็นกันง่ายๆ ก็คือว่า ความเครียดนี้อาจจะทำให้เราเป็นโรคเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่ายๆ หรือว่าอาการปวดศีรษะที่หาสาเหตุไม่ได้ก็อาจจะเกิดจากปัญหาทางจิตใจ ดังนี้เป็นต้น แพทย์ก็จึงเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจมากขึ้น

ทรรศนะที่มองสิ่งทั้งหลายแบบภาพรวมนี้ กำลังเจริญแพร่ขยายมากขึ้น เช่นอย่างในเรื่องนี้ ตอนแรกก็มองเห็นในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต ต่อมาก็เห็นกว้างขึ้นไปอีกว่า ปัญหาที่เกิดกับจิตนี้บางทีก็มาจากสังคม เมื่อสืบดูว่า ทำไมคนนั้นจึงมีความเครียด ก็พบว่าเขามีความเครียดเพราะลักษณะของการดำเนินชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคม ความเป็นไปในสังคมปัจจุบันนี้ เช่นความเป็นอยู่และระบบงาน เป็นต้น อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกเครียดขึ้นในบุคคล ตกลงว่าความเครียดนั้นอาจจะเกิดจากปัญหาทางสังคม ส่วนปัญหาทางสังคมนั้น เมื่อสืบต่อไปบางทีก็สัมพันธ์กับปัญหาสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่นว่า เราอยู่ในสังคมกรุงเทพฯ นี้ เมื่อเดินทางไปในท้องถนน รถติดมากก็ทำให้กลุ้มใจ ทำให้ขัดเคือง ทำให้หงุดหงิดอะไรต่างๆ พอไปถึงที่ทำงาน อารมณ์ค้างที่ติดมาก็พลอยทำให้เกิดปัญหากับผู้ร่วมงานด้วย ทำให้บรรยากาศในที่ทำงานเครียด และจิตใจของแต่ละคนก็เลยเครียดไปหมด เป็นต้น นี่ก็เป็นปัญหาทางจิตที่มาจากสภาพแวดล้อมซึ่งไปสัมพันธ์กับปัญหาทางสังคมเข้าอีก หรือแม้แต่ตัวโรคร้ายนั้นเองก็อาจจะมาจากปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมโดยตรง เช่นว่า สภาพแวดล้อมเสีย สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อาหารมีสารเคมีผสมมาก ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งขึ้นได้ ผลที่สุดก็คือว่า สิ่งทั้งหลายมันสัมพันธ์กันไปหมด

เพราะฉะนั้น การเกิดโรคที่อวัยวะอย่างหนึ่ง เมื่อสืบค้นลงไปแล้วก็มีความสัมพันธ์กับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่เป็นเรื่องของวิชาแพทย์ศาสตร์ที่เรียนมาเฉพาะด้านโดยตรงเท่านั้น เมื่อพิจารณาในแง่การรักษาพยาบาลก็เช่นเดียวกัน มองในมุมกลับ เมื่อจะรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บสักอย่างหนึ่ง องค์ประกอบทางด้านจิตใจก็มีอิทธิพล ซึ่งอาจจะมาช่วยให้การรักษาโรคได้ผลดี หรืออาจจะทำให้รักษาไม่ได้ผล หรือทำให้อาการโรคทรุดลงไป สภาพแวดล้อมก็มีผล องค์ประกอบทางสังคมก็มีผล เพราะฉะนั้น ผู้มีทรรศนะแบบนี้จึงเห็นว่า การแพทย์นี้จะต้องเปลี่ยนไป เราจะต้องมองสิ่งทั้งหลายแบบภาพรวมของความสัมพันธ์ วิชาการแพทย์จะต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่ โดยมองว่าจะต้องรักษาคนโดยการรักษาคนทั้งคน ทั้งร่างกายและจิตใจ และโดยสัมพันธ์กับสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องทุกอย่าง ทั้งองค์ประกอบทางสังคม และองค์ประกอบทางสภาพแวดล้อมหรือนิเวศวิทยาด้วย อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง

ทางด้านเศรษฐกิจก็เหมือนกัน เห็นได้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจนี้จะพัฒนาไปแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ และไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อพัฒนาไปแล้วมันก็มีผลต่อสภาพแวดล้อมด้วย เช่น อาจจะทำให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมเสียเป็นพิษ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจมาก เมื่อเกิดปัญหาทางสภาพแวดล้อมแล้ว คนก็อยู่ไม่ดี เมื่อคนอยู่ไม่ดีก็อาจจะเกิดปัญหาสุขภาพขึ้นมา แล้วก็เกิดเป็นผลกระทบต่อสังคม เพราะคนนี้ไม่มีสมรรถภาพ หรือเกิดปัญหาแก่ตัวบุคคลแล้ว สังคมก็พลอยได้รับปัญหาไปด้วย แล้วผลก็ย้อนกลับมากระทบเศรษฐกิจ เป็นปัญหาเศรษฐกิจขึ้นมาอีก เพราะคนที่สุขภาพไม่ดี ก็ทำให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจลดน้อยลง ในเวลาเดียวกันก็ต้องใช้จ่ายเงินทองมากมาย ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคน แล้วก็ต้องลงทุนใช้จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นพิษนั้นอีกด้วย พันกันไปหลายชั้นหลายทอด เพราะฉะนั้น ทางเศรษฐศาสตร์ก็เหมือนกัน จะต้องมีทรรศนะที่กว้างขึ้น ไม่มองเฉพาะสายวิชาของตัวอย่างเดียว การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ จะต้องประมวลโยงไปถึงปัญหาทางด้านอื่นๆ และจะต้องนำเข้ามาพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาโยงถึงกันทุกด้าน

แม้ในด้านการศึกษาก็เช่นเดียวกัน อันนี้เข้ามาถึงเรื่องที่จะพูดโดยตรง ถ้าหากว่าการศึกษาไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบทั้งหมดทุกด้านอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ย่อมก่อให้เกิดปัญหาอย่างแน่นอน เช่น วิชาการที่เชี่ยวชาญอย่างโดดเดี่ยวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์กลับกลายเป็นก่อโทษแก่สังคม ซึ่งอาจจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ บางทีเจตนาดี แต่ไม่เข้าใจปัญหาทางสังคม ก็อาจจะใช้วิชาการไปในทางที่ทำให้เกิดโทษแก่สังคมได้ เป็นโทษแก่สภาพแวดล้อมได้ เกิดความเสื่อมโทรมของคุณภาพชีวิต เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราก็มีทรรศนะว่า การพัฒนาคนจะต้องพัฒนาคนขึ้นมาทั้งคน และไม่ใช่เฉพาะตัวคนเท่านั้น จะต้องมองดูสิ่งที่เกี่ยวข้อง คือองค์ประกอบทางสังคม ตลอดจนสภาพแวดล้อมด้วย

ที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างของปัญหาของมนุษย์ในโลกปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราแยกออกไปแล้วก็มี ปัญหาของมนุษย์ ปัญหาของสังคม แล้วก็ปัญหาของสภาพแวดล้อม

ในด้านตัวมนุษย์เองก็แบ่งได้เป็นกายกับใจ ทางด้านกายนั้น โรคทางกายก็ยังมีอยู่ แม้ว่าเราจะมีความสามารถในการรักษาโรคได้มากขึ้นอย่างชนิดที่ว่าโบราณทำไม่ได้เลย เช่น การผ่าตัดรักษาโรคต่างๆ ได้ผลชะงัดเด็ดขาด นับว่าเราได้ก้าวหน้าไปมาก แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีโรคภัยไข้เจ็บอย่างใหม่ๆ เกิดขึ้น และโรคเก่าก็พัฒนาตัวของมันให้มาสู้กับแพทย์ปัจจุบันได้ดีขึ้น โดยเฉพาะก็มีโรคใหม่ๆ ที่เกิดจากความแปรปรวนของจิตใจ โรคที่มาจากปัญหาทางสังคม และโรคที่เกิดจากปัญหานิเวศวิทยา โรคประเภทนี้กลับมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่า การแพทย์กำลังจะเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บไม่สำเร็จ หรือว่าจะล่าถอย อันนี้ก็เป็นด้านกาย

ทีนี้ด้านจิตใจ มนุษย์ก็มีปัญหามากขึ้น มีความอ้างว้าง ว้าเหว่ ความรู้สึกแปลกแยก ความเครียด ความกระวนกระวายอะไรพวกนี้ จนกระทั่งเป็นโรคจิตกันมากขึ้น ซึ่งถือกันว่าเป็นสภาพของสังคมที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะเห็นว่า ปัญหาทางจิตใจมากขึ้น คนเป็นโรคจิตมากขึ้น ฆ่าตัวตายมากขึ้น

ต่อไปก็ด้านสังคม สังคมก็มีการแข่งขันแย่งชิง มีความไม่ยุติธรรม การว่างงาน อาชญากรรมมากขึ้น การติดยาเสพติด พฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ ความรุนแรงมากขึ้น ตลอดจนกระทั่งความขัดแย้งในระดับกว้างออกไปเป็นสงคราม ทั้งสงครามในประเทศ และสงครามระหว่างประเทศ ตลอดกระทั่งสงครามที่คนหวาดกลัวที่สุดในประเทศที่เจริญแล้ว ก็คือหวาดกลัวสงครามนิวเคลียร์ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าสังคมเจริญขึ้น อารยธรรมเจริญขึ้น แต่เราก็ต้องแก้ปัญหากันไม่รู้จักจบสิ้น แล้วปัญหาบางอย่างก็รุนแรงมากขึ้น

จากนั้นก็มาถึงข้อสำคัญที่สุด ซึ่งไม่เคยเป็นปัญหามาก่อนเลย แต่กลับมาเป็นปัญหามากในยุคปัจจุบัน ก็คือปัญหาสภาพแวดล้อมที่ปัจจุบันนี้มาบัญญัติศัพท์ใช้ว่านิเวศวิทยา คือสภาพแวดล้อมปัจจุบันนี้มีความเสื่อมโทรมมาก สภาพแวดล้อมเป็นพิษ เกิดความร่อยหรอของทรัพยากร เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะคนที่ห่วงใยต่ออารยธรรมของมนุษยชาติ ก็หวั่นเกรงว่า สิ่งเหล่านี้จะนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศย่อยยับในที่สุด หรือว่าสูญพันธุ์อย่างที่กล่าวมาแล้ว

เป็นอันว่า ปัญหาของมนุษย์ในปัจจุบันนี้มันร้ายแรงขึ้น แล้วก็มีปัญหาใหม่ๆ ฉะนั้น เราก็จะต้องมาคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อมองในทรรศนะใหม่นี้ก็ถือว่า เรื่องทั้งหมดนั้นมีจุดเน้นอยู่ที่ว่า จะต้องมองปัญหาทั้งหมดนี้ว่า มันเป็นเหตุปัจจัยที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงกันทั้งหมด เรามองมนุษย์จะแยกจากสังคมไม่ได้ สังคมจะแยกจากนิเวศวิทยาไม่ได้ มนุษย์ก็จะแยกจากนิเวศวิทยาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างจะต้องมองเป็นองค์รวมที่มีส่วนประกอบเชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกันทั้งหมด

เป็นอันว่า คนที่มีความห่วงใยในอารยธรรมก็มีความคิดอย่างนี้แล้ว และปัจจุบันนี้ก็เริ่มยอมรับกันว่า ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในสายวิชาของตน กำลังหมดความสามารถ หมดประสิทธิภาพลงไปทุกทีๆ จากการแก้ปัญหาในสายวิชาของตนเอง หมายความว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ แพทย์ซึ่งมีความก้าวหน้า ชำนาญมากในวิชาการแพทย์ ก็กำลังแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บซึ่งเป็นความชำนาญพิเศษของตนไม่ได้ นักการศึกษาก็กำลังแก้ปัญหาการศึกษาซึ่งตนชำนาญพิเศษไม่ได้ นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญก็กำลังแก้ปัญหาในด้านเศรษฐกิจไม่ได้

เมื่อผู้ชำนาญในสายของตนซึ่งเจริญมาจนอย่างยิ่งแล้ว มาถึงยุคที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในสายของตนได้ มันก็เป็นการสิ้นสุดอย่างหนึ่ง เขาเรียกว่าเป็นการสิ้นสุดของยุคอุตสาหกรรม เพราะยุคอุตสาหกรรมเป็นยุคของความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ในเมื่อชำนาญพิเศษถึงที่สุด เขาคิดว่าจะต้องแก้ไขปัญหาได้จบสิ้น แต่มันกลับมาถึงจุดอับจนที่ว่า เมื่อเจริญด้านอุตสาหกรรมถึงที่สุด วิชาการสายของตนเจริญถึงที่สุดแล้ว กลับมีปัญหาวกกลับไปย้อนต้นว่าไม่สามารถแก้ปัญหาในสายวิชาของตนได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความตื่นตัวกันมาก แล้วก็ทำให้ทรรศนะแบบที่เรียกว่ามองสิ่งทั้งหลายเป็นภาพรวมนี้กำลังได้รับความสนใจเจริญขึ้น ทรรศนะแบบองค์รวมนี้ เขาเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า holism หรือ holistic view ตรงกันข้ามกับทรรศนะแบบแยกย่อย หรือความคิดแบบแบ่งซอย ที่เรียกว่า reductionism หรือ reductionistic view

พวกที่นิยม คือมีทรรศนะที่มองแบบภาพรวมนี้ ก็หันไปโจมตีทรรศนะแบบแบ่งซอย หรือทรรศนะแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ว่าพฤติกรรมและความเจริญในแบบนั้นนี่แหละ เป็นตัวสาเหตุที่ทำให้มนุษยชาติกำลังประสบปัญหาในปัจจุบัน ถึงกับจะย่อยยับไป และจากการที่มีทรรศนะแบบองค์รวมนี้กันมาก บางคนก็เลยถึงกับว่าจะกลับไปมีชีวิตแบบเก่า ไม่เอาแล้ว เลิกกันที ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการแบบเป็นเส้นตรงออกไปแต่ละสายๆ นี้ ขอเลิกเสียเลย ซึ่งอาตมภาพคิดว่าเป็นทรรศนะที่เอียงสุด

มนุษย์เรานี้มักจะมีความโน้มเอียงที่จะไปสุดทาง พอไปด้านหนึ่งแล้วก็มุ่งไปอย่างเดียว จะไปให้ถึงที่สุด แต่พอเห็นว่า ไม่ใช่ ไม่ถูก ก็ทิ้ง เกิดปฏิกิริยา แล้วก็ไปที่สุดอีกด้านหนึ่ง ที่ตรงกันข้าม อันนี้น่าจะต้องระวังว่า เราอาจจะมาสู่สภาพเอียงสุดอีกครั้งหนึ่ง พอเห็นว่าทรรศนะแบบแบ่งซอยชำนาญพิเศษเฉพาะด้านของยุคอุตสาหกรรมนี้มีปัญหา ก็เลยหันกลับจะไปในทางตรงข้าม คือจะไปแบบสมัยเก่าที่ว่าไม่ต้องมีความเจริญอะไรเลย ซึ่งเราจะเห็นว่า เดี๋ยวนี้กำลังมีคนหันมานิยมแบบนั้นมากขึ้น และอันนี้จะเกี่ยวข้องกับการแบ่งขั้นตอนของความเจริญหรือวิวัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทที่ ๑ ปัญหาของพัฒนาการการก้าวออกจากยุคอุตสาหกรรม >>

No Comments

Comments are closed.