บูรณาการประสานกับพัฒนาการ

27 พฤศจิกายน 2530
เป็นตอนที่ 5 จาก 15 ตอนของ

บูรณาการประสานกับพัฒนาการ

แต่ทีนี้ เรามามองดูองค์รวมอย่างคน คนก็เป็นองค์รวมอย่างหนึ่ง อวัยวะต่างๆ มากมายมาประชุมกันเข้าเป็นคน ทางพระท่านเรียกว่า ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มาประชุมพร้อมกันแล้วเกิดเป็นคนขึ้น องค์ประกอบที่เป็นขันธ์ ๕ หรืออวัยวะทุกอย่างนั้นจะต้องทำงานประสานกลมกลืนกัน ถ้าหากไม่ประสานกลมกลืนกัน มันก็เกิดความขัดแย้งไม่ได้ที่ ไม่เป็นคน ก็เป็นสิ่งที่ตายหรือเป็นศพ ความเป็นคนก็ไม่เกิดขึ้น จึงต้องทำงานประสานกลมกลืนกันด้วย

อย่างไรก็ตาม คนนี้มีลักษณะต่างออกไปจากรถยนต์ คนไม่เหมือนรถยนต์ รถยนต์นั้นเป็นองค์รวมก็จริง แต่เป็นองค์รวมที่นิ่ง เป็นองค์รวมแบบตาย ไม่มีชีวิตชีวาที่แท้จริง อาจจะใช้เคลื่อนไหวไปอะไรต่างๆ แต่มันก็ไม่ได้มีพัฒนาการอะไรของมันขึ้นมา มันก็อยู่อย่างนั้น อยู่ในสภาพอย่างนั้น แต่คนเราไม่เป็นอย่างนั้น คนเราเป็นองค์รวม ที่มีการเคลื่อนไหว มีการเจริญเติบโต มีการเปลี่ยนแปลงไป องค์รวมที่เรียกว่าคนนั้นก็เกิดจากองค์ร่วมคือกายกับใจ ซึ่งแต่ละอย่างก็แบ่งซอยออกไปได้มากมาย เฉพาะด้านกายก็มาจากอวัยวะ คือ ส่วนประกอบย่อยๆ ทั้งหลายมากมาย ซึ่งแต่ละส่วนนั้นก็มีพัฒนาการของมัน มีความเจริญเติบโตขึ้นมาได้ ไม่เหมือนกับชิ้นส่วนของรถยนต์ที่นิ่งเป็นชิ้นส่วนที่ตาย แต่ชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์นี้มีความเจริญเติบโตขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ภาวะที่เป็นบูรณาการของมนุษย์นั้นจึงมีความซับซ้อนมากกว่ารถยนต์ ซับซ้อนอย่างไร ซับซ้อนก็คือว่า มันมีพัฒนาการปนขึ้นมาในบูรณาการด้วย หมายความว่า ในองค์รวมนี้มีอวัยวะมีส่วนประกอบมากมาย และส่วนประกอบทุกอย่างที่เข้ามาบูรณาการประสานกันนั้น แต่ละอย่างมีพัฒนาการของมันเอง โดยเจริญเติบโตอยู่ตลอดเวลา ในขณะหนึ่งนั้นมันมีความสมดุล เพราะมันประสานกลมกลืนกัน แต่เมื่อแต่ละส่วนพัฒนาการต่อไป ทำอย่างไรจะให้มันประสานกลมกลืนกันต่อไป นี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในเมื่อส่วนย่อยแต่ละส่วนต่างก็มีพัฒนาการเจริญเติบโต เราจะต้องให้ส่วนย่อยทุกส่วนนั้นพัฒนาไปอย่างประสานกลมกลืนกันด้วย แล้วเมื่อประสานกลมกลืนขึ้นมาเป็นองค์รวมมนุษย์แล้ว องค์รวมที่เป็นตัวมนุษย์ทั้งหมดทั้งตัวนี้ ก็มีพัฒนาการขององค์รวมเองอีกทีหนึ่งด้วย นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า ตอนนี้บูรณาการกับพัฒนาการมาประสานกันเข้าแล้ว ไม่ใช่มีบูรณาการอย่างเดียว

มนุษย์นี้เป็นบูรณาการที่มีพัฒนาการอยู่ด้วย มีพัฒนาการทุกส่วน ทุกระดับ ทุกขั้นตอน ไม่ว่าในขอบเขตเล็กหรือขอบเขตใหญ่ ถ้าไม่มีการพัฒนาอย่างชนิดบูรณาการแล้ว ชีวิตจะไม่สามารถดำเนินไป ไม่ว่าด้านรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม ถ้าหากว่ามันพัฒนาการแบบไม่บูรณาการ มันก็จะไม่ประสานกลมกลืน ส่วนหนึ่งมากไป ส่วนหนึ่งน้อยไป ก็คงเป็นมนุษย์ที่วิปริต อย่างน้อยก็จะเกิดเนื้องอก เนื้องอกนี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของพัฒนาการที่ไม่บูรณาการ หรืออาจจะร้ายกว่านั้นก็เป็นมะเร็ง หรือถ้าแขนขามันโตเกินไป อวัยวะบางส่วนวิปริตไป ไม่บูรณาการกับส่วนอื่น แต่มันพัฒนาเหมือนกัน มันพัฒนาของมันไปไม่ประสานกับใคร ก็เกิดเป็นคนพิการขึ้นมา อย่างที่ว่านี้เรียกว่าความไม่สมดุล อย่างร้ายแรงก็ทำให้ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้ไม่อาจเป็นอยู่ด้วยดี นี่เป็นเรื่องของมนุษย์

ทีนี้ เรื่องธรรมชาติก็เหมือนกัน ธรรมชาติก็ประกอบขึ้นด้วยส่วนย่อย และหน่วยย่อยทั้งหลายต่างก็มีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการเช่นเดียวกัน ส่วนประกอบย่อยทุกส่วนนั้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เป็นพืชอะไรก็ตามในสภาพแวดล้อมของเรา มันมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และโยงมาถึงมนุษย์ด้วย เพราะมนุษย์ก็เป็นองค์ร่วมอย่างหนึ่งในองค์รวมใหญ่

เพราะฉะนั้น ปัญหาของมนุษย์ก็เกิดจากการปฏิบัติผิดในระบบความสัมพันธ์อันนี้ด้วย เช่นว่า เราทำให้วงจรชีวิตของธรรมชาติสูญเสียไป ยกตัวอย่าง เราทำยาฆ่าแมลงขึ้น แล้วเอาไปฉีดในนา เสร็จแล้วแมลงตาย นกมากินแมลง นกตาย ต่อมาแมลงสร้างภูมิต้านทานยาฆ่าแมลงได้ดี ตายยากขึ้น แต่ไม่มีนกมากินแมลง เลยต้องฉีดยาฆ่าแมลงกันเรื่อยไป และต้องผลิตยาที่แรงมีพิษมากขึ้นๆ ด้วย ยิ่งกว่านั้น วงจรในธรรมชาติส่วนอื่นอาจจะย้อนกลับมาเป็นพิษแก่มนุษย์อีก เช่นว่า สัตว์เล็กๆ อย่างแมลงนี้ ถูกดีดีที. หรือถูกยาฆ่าแมลงแล้ว ไปโดนปลากิน ปลากินยาฆ่าแมลงเข้าไปแล้ว ปลานั้นมีพิษอยู่ข้างใน มนุษย์จับเอาปลานั้นมากินก็เกิดเป็นผลร้ายแก่มนุษย์ อาจจะเกิดเป็นมะเร็งขึ้นเป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติแวดล้อมที่ว่า ส่วนประกอบทุกอย่างมีความเชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งเมื่อมันประสานกลมกลืนแล้ว ธรรมชาติก็อยู่ด้วยดี มีความสมดุล แล้วก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ถ้าไม่สมดุลแล้วก็เกิดผลร้ายแก่ชีวิตมนุษย์

สังคมก็เช่นเดียวกัน สังคมก็ประกอบด้วยสถาบันหน่วยย่อยต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรม เช่น โรงเรียน สถาบันการเมือง ศาล ฯลฯ และสถาบันทางนามธรรม เช่น วัฒนธรรม เป็นต้น ถ้าส่วนประกอบต่างๆ เหล่านี้เชื่อมโยงประสานซึ่งกันและกันเกิดความสมดุล ก็เป็นสังคมที่ดำเนินไปด้วยดี

ในที่สุด ทั้งมนุษย์ทั้งธรรมชาติและสังคมนี้ ซึ่งแต่ละหน่วยเป็นระบบบูรณาการที่มีพัฒนาการของตัว ก็จะต้องมาประสานกันทั้งหมดอีกชั้นหนึ่ง ให้เป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมท่ามกลางสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่มีบูรณาการ โดยต่างก็พัฒนาการไปอย่างได้สมดุล ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดี นี่คือแม่แบบรวมใหญ่ของระบบบูรณาการที่มีพัฒนาการ ซึ่งจะต้องใช้ในการแก้ปัญหาของยุคสมัยต่อไป มนุษย์สมัยต่อไปนี้จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ดี

ความคิดเรื่องบูรณาการในขอบเขตที่สมบูรณ์ก็เป็นอย่างนี้ จึงเป็นอันว่า เราจะต้องมีบูรณาการท่ามกลางพัฒนาการ เพราะถ้าพัฒนาการโดยไม่บูรณาการก็ต้องวิปริต หรือแตกสลาย ต้องเกิดปัญหา เช่น เป็นมนุษย์ที่เกิดเป็นเนื้องอก เป็นมะเร็ง เป็นต้น อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ เพราะมีความไม่สมดุล มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งเราบอกได้ว่า นี่แหละเป็นปัญหาของสังคมปัจจุบันที่มีพัฒนาการโดยไม่บูรณาการ เป็นปัญหาใหญ่ของโลกหรือสังคมปัจจุบัน

ทีนี้ ถ้าไม่บูรณาการพร้อมไปกับพัฒนาการ ก็เป็นบูรณาการอยู่ไม่ได้ เพราะบูรณาการจะคงเป็นบูรณาการอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อหน่วยย่อยทุกส่วนมันเปลี่ยนแปลงไป องค์รวมจะคงอยู่อย่างเดิมไม่ได้ เช่นในองค์รวมคือตัวมนุษย์นี้ ร่างกายทุกส่วนก็เปลี่ยนแปลงไป จิตใจก็เปลี่ยนแปลงไป เด็กเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่บูรณาการในสภาพใหม่ จะคงสภาพบูรณาการอยู่อย่างเดิม มันอยู่ไม่ได้ หรืออย่างว่า เรามีพัฒนาการในทางคุณธรรมภายใน จนกระทั่งปุถุชนกลายเป็นอริยชนไปแล้ว ระบบบูรณาการมันก็เปลี่ยนไปใหม่ หรืออย่างสังคมของเรานี้ จะบูรณาการอยู่ในสภาพอย่างเดิมไม่ได้ เพราะว่าในสังคมนั้น ประชากรก็เพิ่มขึ้น ความเจริญทางเทคโนโลยีก็ก้าวหน้าไป สิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ของมนุษย์ก็มากขึ้น ความเป็นอยู่ของคนก็เปลี่ยนไป ทรัพยากรก็น้อยลง สัตว์อื่นและพืชทั้งหลายก็เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น เป็นเรื่องที่ว่า พัฒนาการมันมีอยู่เรื่อย ฉะนั้น บูรณาการก็จะต้องดำเนินไปพร้อมกับพัฒนาการด้วย จะต้องตามให้ทันซึ่งกันและกัน เป็นอันว่า ได้พูดเรื่องบูรณาการมาโยงถึงพัฒนาการแล้ว ให้เห็นว่า บูรณาการนั้น สำหรับระบบของมนุษย์ซึ่งสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและสังคม จะต้องเป็นบูรณาการที่ไปพร้อมกับพัฒนาการ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทที่ ๒ บูรณาการกับพัฒนาการบูรณาการในการศึกษา >>

No Comments

Comments are closed.