ทรัพย์ไม่อาจครอบงำจิต หรือบังปัญญา ของอารยชน

17 มีนาคม 2538
เป็นตอนที่ 6 จาก 16 ตอนของ

ทรัพย์ไม่อาจครอบงำจิต หรือบังปัญญา
ของอารยชน

อย่างไรก็ตาม ยังมีประการที่สี่ ที่สำคัญ คือทางด้านจิตใจ ได้แก่ท่าทีของจิตใจที่เป็นอิสระ

เมื่อมีทรัพย์แล้ว ต้องมีด้วยปัญญา คือรู้เข้าใจคุณค่าประโยชน์ของมัน ที่จะทำให้ไม่ตกลงไปเป็นทาสของทรัพย์ พูดสั้นๆ ว่า ต้องเป็นนายของทรัพย์ ไม่ใช่เป็นทาสของทรัพย์

คนจำนวนมากมีทรัพย์แล้ว เป็นทาสของทรัพย์ ที่ว่าเป็นทาสของทรัพย์ก็คือ จิตใจนั้นถูกทรัพย์ครอบงำด้วยกิเลส

ประการที่หนึ่งคือ ความหวงแหน ความตระหนี่ และกิเลสต่อไปคือความห่วง ความกังวล ความทุกข์

ถ้ามีทุกข์เพราะทรัพย์ ไม่สามารถทำใจให้เป็นอิสระได้ ก็แสดงว่ามีความเป็นทาสของทรัพย์อย่างหนึ่ง

นอกเหนือจากนั้นก็คือ การที่ถูกอำนาจของทรัพย์เข้ามาครอบงำจิตใจ ทำให้ความโลภความหลงเกิดขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนทะเลาะวิวาทกันขึ้นในโลก

สำหรับผู้ที่วางจิตใจถูกต้อง จิตใจจะเป็นอิสระดังที่กล่าวว่า อยู่อย่างเป็นนายของทรัพย์ โดยรู้คุณ รู้โทษของทรัพย์ ทั้งแสวงหาทรัพย์ และใช้จ่ายทรัพย์อย่างมีปัญญารู้เท่าทัน และในการที่จะแสวงหา ใช้จ่าย และรักษาทรัพย์นั้น ก็ทำให้ทรัพย์เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงตามคุณค่าของมัน กับทั้งเมื่อมีทรัพย์ขึ้นมา ก็มีด้วยปัญญา ไม่มีความทุกข์เดือดร้อนมากเกินไปเพราะทรัพย์นั้น

ยิ่งกว่านั้น เมื่อใช้จ่ายทรัพย์ไปแล้ว เกิดความร่อยหรอพร่องลงไป ก็รู้เท่าทันความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่มีได้เกิดได้ แต่ก็หายได้หมดได้ แล้วก็ทำให้เกิดให้มีใหม่ได้อีก

เมื่อมี ก็ต้องระวังรักษาให้ดีที่สุด ด้วยความไม่ประมาท เมื่อพร่องไปหมดไป ก็ต้องรู้ตามเหตุปัจจัย และแก้ไขไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ ฉะนั้นก็ทำใจให้คลายทุกข์ และมีความสุขได้ทุกกรณี

ในทางพระศาสนา ท่านสอนย้ำเรื่องนี้ คือการที่ว่าบุคคล เมื่อได้ใช้จ่ายทรัพย์ตามคุณค่าที่เป็นวัตถุประสงค์ของทรัพย์แล้ว ถ้าทรัพย์นั้นตัวเองสามารถหาเพิ่มพูนได้มาอีก ก็มีความสุขสบายใจว่า เราแสวงหาทรัพย์มาได้ เราจะได้ใช้จ่ายทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์

เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีทรัพย์เพิ่มขึ้น เราก็มีความสุข มีความอิ่มใจ

ในทางตรงข้าม เรามีทรัพย์ขึ้นมาแล้ว และเราใช้จ่ายทรัพย์ไป แล้วมีเหตุให้ทรัพย์ร่อยหรอ หรือแม้กระทั่งหมดไป เราก็มีความสบายใจอีกว่า ทรัพย์นั้น เมื่อมี เมื่อหามาได้แล้ว ถึงมันจะหมด เราก็ได้ใช้มันให้เป็นประโยชน์แล้ว

อย่างนี้ ท่านเรียกว่ามีจิตใจที่เป็นอิสระ ใช้ทรัพย์ด้วยปัญญา เข้าหลักที่ว่า ใช้จ่ายทรัพย์ให้ถูกต้อง โดยรู้เข้าใจความหมายของทรัพย์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ดูชาวบ้านดี ที่การหา รักษา และใช้ทรัพย์ปุถุชนมุ่งมั่น จะมีทรัพย์และอำนาจ >>

No Comments

Comments are closed.