หลักประกันชีวิตขั้นสุดท้าย คือทรัพย์ภายในแห่งความมีธรรม

17 มีนาคม 2538
เป็นตอนที่ 13 จาก 16 ตอนของ

หลักประกันชีวิตขั้นสุดท้าย
คือทรัพย์ภายในแห่งความมีธรรม

นอกจากนั้น ในขณะที่มีความผันผวนปรวนแปร เกิดมีความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ที่เรียกว่า โลกธรรม คนที่มีทรัพย์ภายในเป็นหลักประกัน ก็จะสามารถประคับประคองตนให้ผ่านโลกธรรมเหล่านั้น หรือผ่านพ้นความผันผวนปรวนแปรไปได้ด้วยจิตใจที่ดีงาม จนกระทั่งว่าเมื่อถึงโลกุตรธรรม ก็ไม่ต้องกลัวโลกธรรมใดๆ เลย

โลกธรรม คือ สิ่งที่มีประจำโลก ซึ่งเข้ามาผจญกับคนทุกคน มี ๘ ประการ กล่าวคือ

มีลาภ เสื่อมลาภ          หรือ ได้ กับ เสีย

มียศ เสื่อมยศ

นินทา สรรเสริญ

พบสุข เจอทุกข์

สิ่งเหล่านี้ ท่านเรียกว่าโลกธรรม ซึ่งมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่แน่นอน

คนเรา เมื่อประสบโลกธรรมฝ่ายดี ที่น่าปรารถนา คือได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้ความสุข ก็มักจะฟู หรือพอง โดยจะมีความร่าเริง ลิงโลด ดีใจ แม้กระทั่งเผยอหยิ่ง

แต่เวลาประสบโลกธรรมฝ่ายร้าย ที่เป็นการสูญเสีย คือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และประสบทุกข์ ก็จะมีอาการที่ทางพระเรียกว่าแฟบ หรือยุบ คือหดหู่ ท้อแท้ ถดถอย เศร้าโศกเสียใจ มีความขุ่นมัว พูดให้เป็นภาพว่า แฟบฟุบ และยุบเหี่ยว

สภาพเช่นนี้ เป็นข้อพิสูจน์สภาพจิตใจของคนเรา ถ้าได้แค่ฟูฟุบยุบพองตามโลกธรรมอย่างที่ว่ามานี้ ก็เป็นเพียงปุถุชนที่ยังอ่อนปัญญา ไม่ใช่เป็นอารยชน และการที่เรามีทรัพย์ภายนอกนั้น จะไม่ช่วย ถ้าเราไม่พัฒนาให้เกิดทรัพย์ภายในขึ้นมานำใจ

ส่วนคนที่มีทรัพย์ภายใน เมื่อมาเผชิญกับโลกธรรม เจอความผันผวนปรวนแปรเข้า ก็จะวางจิตวางใจของตนได้ถูกต้อง ประคับประคองชีวิตให้ผ่านพ้นความผันผวนไปด้วยดี

นอกจากนั้น ยังสามารถได้ประโยชน์จากโลกธรรมเหล่านี้ด้วย ได้ประโยชน์อย่างไร

คนที่มีทรัพย์ภายใน มีความรู้ มีความดีงาม วางจิตใจถูกต้องแล้ว จะได้ประโยชน์ ทั้งจากโลกธรรมฝ่ายร้าย และโลกธรรมฝ่ายดี

โลกธรรมฝ่ายเสื่อม ที่เป็นความสูญเสียอย่างที่กล่าวแล้ว คือความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และความทุกข์นั้น คนทั่วไป เมื่อประสบแล้ว ย่อมมีความเศร้าโศกเสียใจ อันเป็นธรรมดาของปุถุชน

แต่คนที่เรียนรู้ธรรมดีแล้ว จะพัฒนาจิตใจของตนเองให้ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง และกลับได้ประโยชน์

ได้ประโยชน์อย่างไร ก็คือ มองว่า การสูญเสีย หรือเคราะห์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้น เป็นบทพิสูจน์ เป็นบททดสอบความเข้มแข็งของเรา และเป็นเครื่องฝึกฝนพัฒนาตัวของเราด้วย

คนเราที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ย่อมต้องเผชิญทั้งปัญหา และผลสมปรารถนา ที่เป็นความดีงาม ความรุ่งเรือง และความสำเร็จต่างๆ

เมื่อประสบความสำเร็จนั้น ไม่เป็นไร ก็ดีใจ แต่เมื่อประสบปัญหาอุปสรรค ถ้าเราเสียใจ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร และยังเป็นการทำร้ายตัวเราเองอีกด้วย

อารยชนรู้ตระหนักว่า คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต ก็คือคนที่สามารถแก้ปัญหาได้ และพัฒนาตนเองด้วยการใช้สติปัญญาความสามารถในการแก้ปัญหา

เมื่อเคราะห์เกิดขึ้น เมื่อปัญหาเกิดขึ้น จึงเป็นบททดสอบตัวเอง ทดสอบความสามารถ และเป็นดังเวทีที่ฝึกฝนตนให้พัฒนา

คนที่มีสติปัญญา มีธรรม ก็ไม่ท้อถอย เมื่อเผชิญความทุกข์ เกิดความสูญเสียขึ้นมา ก็ถือเป็นบททดสอบความเข้มแข็งมั่นคงและฝึกที่จะใช้ความสามารถพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เท่ากับเป็นโอกาส

ทั้งนี้เพราะคนเรานั้น ถ้าไม่มีโอกาสได้ผ่านอุปสรรคและการทดสอบหรือปัญหา ก็จะไม่มีความเข้มแข็ง สติปัญญาความสามารถ เมื่อไม่ได้ใช้ ก็จะไม่ได้พัฒนา

แต่เมื่อพบอุปสรรค พบปัญหาแล้ว ก็สามารถพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง เพราะฉะนั้น อุปสรรคและปัญหา ตลอดจนความทุกข์ต่างๆ นี้ จึงเป็นโอกาส เท่ากับว่าเป็นโชค คือเป็นโอกาสที่เราจะได้พัฒนาความสามารถของตนเอง

อย่างน้อยก็ได้ทดสอบตัวเอง และถ้าเราผ่านไปได้ ชีวิตของเราก็จะยิ่งเจริญงอกงาม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< มนุษย์ที่พัฒนา รู้จักสัมพันธ์ ทำให้ทรัพย์ทั้งนอกทั้งในเป็นปัจจัยแก่กันนักพัฒนาที่แท้ เจอทุกข์ยิ่งได้ธรรม เจอปัญหายิ่งได้ปัญญา >>

No Comments

Comments are closed.