ทรัพย์และอำนาจ เพื่อเป็นเครื่องมือของกิเลส หรือเพื่อเป็นอุปกรณ์ของธรรม

17 มีนาคม 2538
เป็นตอนที่ 9 จาก 16 ตอนของ

ทรัพย์และอำนาจ เพื่อเป็นเครื่องมือของกิเลส
หรือเพื่อเป็นอุปกรณ์ของธรรม

คนเรานั้น แม้จะเป็นคนที่มีความคิดดีๆ มีคุณธรรม มีความรู้ แต่ถ้าไม่มีทรัพย์ ไม่มีเงินทอง ไม่มียศ ไม่มีบริวาร ไม่มีอำนาจ ความคิดที่ดีๆ และความดีของเขานั้น ก็ก่อประโยชน์ได้น้อย เพราะจะทำอะไร ก็ทำได้จำกัดเพียงนิดหน่อย

แต่ถ้าคนดี หรือคนมีสติปัญญาดีนั้น เป็นคนมีทรัพย์สินเงินทอง มีอุปกรณ์เครื่องช่วยเหลือต่างๆ มีอำนาจ มีบริวาร ความคิดดีๆ สติปัญญาความสามารถของเขา ก็เกิดผลงอกเงยขยายกว้างขวาง เป็นประโยชน์แผ่ไพศาล

อันนี้คือคติที่จะต้องเลือกว่า เราจะใช้ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ของกิเลส หรือจะใช้ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ของธรรม

พระเจ้าอโศกมหาราช ตอนแรกได้ใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นอุปกรณ์ของกิเลส ก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นมากมาย

แต่เมื่อพระองค์เปลี่ยนมาใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นอุปกรณ์ของธรรมะ ทรัพย์และอำนาจนั้น ก็ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไพศาล จนพระเจ้าอโศกมหาราชได้กลายเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ที่ดีงาม เป็นมหาธรรมิกราช

ทั้งนี้ เพราะทรงใช้ทรัพย์สร้างโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลคนและโรงพยาบาลสัตว์ สร้างถนนหนทาง ทรงให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำนุบำรุงพระศาสนา สร้างวัดวาอารามที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาของประชาชน ซึ่งสมัยนั้นมีทั้งภิกษุและภิกษุณี จนกระทั่งตำรับตำราประวัติศาสตร์สมัยนี้บอกว่า ประเทศอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชมีอัตราส่วนคนรู้หนังสือสูงกว่ายุคปัจจุบัน โดยสถิติที่เขาได้ประมาณไว้

พระเจ้าอโศกมหาราชได้ให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง และได้ทำนุบำรุงพระศาสนา เป็นองค์ศาสนูปถัมภกในการจัดสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย และได้ส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ ๙ สาย

สายหนึ่งนั้น ได้มายังดินแดนสุวรรณภูมิ คือ พระโสณะและอุตระ ที่เรามีความภาคภูมิใจกันว่าเป็นจุดกำเนิดแห่งพระพุทธศาสนาในดินแดนประเทศไทยในปัจจุบันนี้

จึงเห็นได้ว่า ถ้าเราไม่ได้พระเจ้าอโศกมาปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจในความหมายที่ชอบธรรมแล้ว เราก็คงจะไม่ได้เห็นพระพุทธศาสนาในดินแดนของเรา หรือคงจะเป็นไปได้ยาก

เพราะฉะนั้น การใช้ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ของธรรมนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

พระเจ้าอโศกมหาราชถึงกับได้จารึกไว้ในหลักศิลาของพระองค์ตอนหนึ่งว่า ยศ คือความยิ่งใหญ่ของเรานั้น ถ้าไม่เป็นเครื่องช่วยให้ประชาชนประพฤติธรรมแล้ว ก็จะหาประโยชน์อันใดมิได้

นี่คือคติของพระเจ้าอโศกมหาราช

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< อารยชนมีจุดสนใจ ที่วิธีใช้ทรัพย์และอำนาจทรัพย์ภายนอกมีคุณค่าและความหมาย เมื่อมีทรัพย์ภายในเป็นฐาน >>

No Comments

Comments are closed.