ปฏิบัติการด้วยสิกขา แล้ววัดผลด้วยภาวนา

23 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 11 จาก 14 ตอนของ

ปฏิบัติการด้วยสิกขา แล้ววัดผลด้วยภาวนา

ภาวนา มักใช้ในกรณีของการตรวจสอบ คล้ายๆ กับเป็นการวัดผลเพื่อดูว่าด้านต่างๆ ของการพัฒนาชีวิตของคนนั้นได้รับการพัฒนาครบถ้วนไหม ส่วนสิกขา นั้นใช้กับตัวกระบวนการฝึกเอง

ทำไมจึงจัดสิกขาเป็น ๓ (ในเวลาทำการฝึก) และจัดภาวนาเป็น ๔ (ในเวลาวัดผลคนที่ได้รับการฝึก) ที่จัดอย่างนี้ เพราะสัมพันธ์กับตัวความเป็นจริงในการปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติเอง กล่าวคือ ในเวลาฝึก สิกขาทั้ง ๓ ด้าน จะผสานเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ด้านที่ ๑ คือ ศีลนั้น ที่จริงมันแยกออกเป็น ๒ ส่วนอยู่ในตัว และการแยกเป็น ๒ ส่วนนี้จะปรากฏชัดอยู่ในภาวนา คือ

๑. ศีล ในส่วนของพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางกาย ที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ความสัมพันธ์กับวัตถุหรือโลกของวัตถุและธรรมชาติส่วนอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น เรื่องปัจจัย ๔ สิ่งที่เราบริโภคใช้สอยทุกอย่าง และการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติแวดล้อมทั่วๆ ไป

๒. ศีล ในส่วนที่สัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคมมนุษย์ด้วยกัน ความเกี่ยวข้องและอยู่ร่วมกันในหมู่มนุษย์ จุดเน้นของศีลในส่วนนี้จะอยู่ที่สังคมมนุษย์คือหมู่มนุษย์ด้วยกัน ดังจะเห็นได้ชัดในหลักศีล ๕ ซึ่งมีแต่เรื่องของการที่เราจะเข้าไปสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์ด้วยกัน ว่าจะอยู่ร่วมกันได้ดีอย่างไร เราควรจะมีพฤติกรรมที่ไม่ละเมิดต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน โดยไม่ทำร้ายชีวิตร่างกาย ไม่ลักขโมย ไม่ล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ ไม่ล่วงละเมิดคู่ครอง ไม่ล่วงละเมิดด้วยวาจา ไม่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงน่ากลัว หรือความรู้สึกไม่ปลอดภัยแก่ผู้อื่น ด้วยการดื่มสุราเสพของมึนเมาที่ทำให้ตนเองไม่มีสติ และกลายเป็นตัวคุกคามสังคม

โดยทั่วไป เมื่อพูดถึงศีลอย่างเช่นศีล ๕ จะเน้นที่การละเว้นจากการเบียดเบียนกันทางสังคม แต่ในความหมายที่กว้าง ศีลจะรวมถึงการปฏิบัติต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุทางด้านกายภาพทั้งหลายทั้งหมด เช่น เรื่อง ปัจจัย ๔

สำหรับในไตรสิกขา ศีลจะคลุมความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางวัตถุหรือทางกายภาพ และทางสังคม รวมไว้ในข้อเดียวกัน แต่เมื่อจัดเป็นภาวนา นั้น ท่านแยกกันชัดออกเป็น ๒ ข้อ โดยจัดเอาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในสังคมไว้ในข้อศีลภาวนา ส่วนเรื่องของความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในโลกวัตถุ ท่านจัดแยกออกไปเป็นกายภาวนา

เหตุผลที่ว่าทำไมตอนเป็นภาวนาจึงแยก แต่ตอนที่เป็นสิกขาไม่แยก ก็เพราะว่า ในเวลาฝึกหรือในกระบวนการฝึก องค์ทั้ง ๓ อย่างของไตรสิกขา จะประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในศีลที่แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพในโลกวัตถุ และความสัมพันธ์กับมนุษย์ในสังคมนั้น ความสัมพันธ์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจะเป็นอันใดอันหนึ่งอย่างเดียว ดังนั้นในกระบวนการฝึกของไตรสิกขา ที่มีองค์ประกอบครบทั้งสามอย่างทำงานประสานเป็นอันเดียวกันนั้น เราจึงรวมเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ไปเลยทีเดียว โดยที่ในกรณีหนึ่งๆ ศีลอาจจะเป็นความสัมพันธ์ด้านที่ ๑ (กายภาพ) หรือด้านที่ ๒ (สังคม) ก็ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในภาวนาจะแยกออกจากกันเป็นคนละข้ออย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ จะได้วัดผลดูจำเพาะทีละอย่างว่า ในด้านกาย ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางวัตถุ เช่นการบริโภคปัจจัย ๔ เป็นอย่างไร ด้านศีล ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างไร ในภาวนานี้เราแยกได้เพราะเป็นการตรวจสอบวัดผลว่าแต่ละด้านได้พัฒนาไปดีแค่ไหน เป็นอันว่า หลักภาวนานิยมใช้ในขั้นตอนของการวัดผล แต่ในขั้นตอนของการฝึกหรือตัวกระบวนการฝึกฝนพัฒนาจะใช้เป็นไตรสิกขา

เนื่องจากภาวนาท่านนิยมใช้ในเชิงการวัดผลของการศึกษาหรือการพัฒนาบุคคล รูปศัพท์ที่พบจึงมักเป็นคำแสดงคุณสมบัติของบุคคล คือแทนที่จะเป็นกายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา ก็เปลี่ยนเป็น [๑๘/๑๙๗; ๒๔/๒๔; ๓๐/๑๔๘]

๑. ภาวิตกาย มีกายที่พัฒนาแล้ว (มีกายภาวนา) คือ มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในทางที่เกื้อกูลและได้ผลดี เริ่มแต่รู้จักบริโภคปัจจัย ๔ รู้จักใช้อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการเสพหรือใช้สอยวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนเทคโนโลยีทั้งหลาย ในทางที่เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต (กินเป็น ใช้เป็น บริโภคเป็น ดูเป็น ฟังเป็น ฯลฯ)

๒. ภาวิตศีล มีศีลที่พัฒนาแล้ว (มีศีลภาวนา) คือ มีพฤติกรรมทางสังคมที่พัฒนาแล้ว ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ดำรงตนอยู่ในวินัย และอาชีวะที่สุจริต มีความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะที่เกื้อกูล สร้างสรรค์และส่งเสริมสันติสุข (เสวนา-คบหาเป็น สังคมเป็น พูดเป็น สื่อสารเป็น ทำเป็น)

๓. ภาวิตจิต มีจิตที่พัฒนาแล้ว (มีจิตภาวนา) คือมีจิตใจที่ฝึกอบรมดีแล้ว สมบูรณ์ด้วยคุณภาพจิต คือ ประกอบด้วยคุณธรรม เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้ออารี มีมุทิตา ความเคารพอ่อนน้อม ความกตัญญูกตเวที เป็นต้น สมบูรณ์ด้วยสมรรถภาพจิต คือ มีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง มีความเพียรพยายาม มีอุตสาหะวิริยะ รับผิดชอบ มีสติ มีสมาธิ เป็นต้น และสมบูรณ์ด้วยสุขภาพจิต คือ มีจิตใจที่ร่าเริง เบิกบาน สดชื่น เอิบอิ่ม ผ่องใส และสงบสุข (ตั้งจิตเป็น วางใจเป็น ทำใจเป็น)

๔. ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว (มีปัญญาภาวนา) คือรู้จักคิดรู้จักพิจารณา รู้จักวินิจฉัย รู้ัจักแก้ปัญหา และรู้จักจัดทำดำเนินการต่างๆ ด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์ ซึ่งมองดูรู้เข้าใจเหตุผล มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงหรือตามที่มันเป็น ปราศจากอคติ และแรงจูงใจเคลือบแฝง เป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลส เป็นอยู่ด้วยความรู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต เข้าถึงอิสรภาพ ปลอดทุกข์ปราศปัญหา (คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ดับทุกข์เป็น)

ผู้มีภาวนา ครบทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นภาวิต ทั้ง ๔ ด้านนี้แล้ว โดยสมบูรณ์ เรียกว่า “ภาวิตัตตะ” แปลว่าผู้ได้พัฒนาตนแล้ว ได้แก่พระอรหันต์ เป็นอเสขะ คือผู้จบการศึกษาแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ไตรสิกขา: หลักการสำคัญของการพัฒนามนุษย์ระบบไตรสิกขาเพื่อให้องค์รวมพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ >>

No Comments

Comments are closed.