ไตรสิกขา: หลักการสำคัญของการพัฒนามนุษย์

23 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 10 จาก 14 ตอนของ

ไตรสิกขา: หลักการสำคัญของการพัฒนามนุษย์

การฝึกฝนและพัฒนามนุษย์นั้นทางพุทธศาสนาจัดวางเป็นหลักเรียกว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งถือว่าเป็นระบบการศึกษาที่ทำให้บุคคลพัฒนาอย่างมีบูรณาการ และให้มนุษย์เป็นองค์รวมที่พัฒนาอย่างมีดุลยภาพ

๑. ศีล เป็นเรื่องของการฝึกในด้านพฤติกรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมเคยชิน เครื่องมือที่ใช้ในการฝึกศีล ก็คือวินัย วินัยเป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ เพราะว่าวินัยเป็นตัวการจัดเตรียมชีวิตให้อยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนา โดยจัดระเบียบความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม ให้เหมาะกับการพัฒนาและให้เอื้อโอกาสในการที่จะพัฒนา เมื่อฝึกได้ผลจนคนมีพฤติกรรมเคยชินที่ดีตามวินัยนั้นแล้วก็เกิดเป็นศีล ดังนั้น โดยสรุปวินัยจะมาในรูปของการฝึกพฤติกรรมเคยชินที่ดี และการจัดสภาพแวดล้อม ที่จะป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมที่ไม่ดี และเอื้อต่อการมีพฤติกรรมที่ดีที่พึงประสงค์ การฝึกคนให้คุ้นกับพฤติกรรมที่ดี ตลอดจนการจัดระเบียบระบบทั้งหลายทั้งปวงในสังคมมนุษย์

๒. สมาธิ เป็นเรื่องของการฝึกในด้านจิต หรือระดับจิตใจ ได้แก่การพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ทั้งในด้านคุณธรรม เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในด้านความสามารถของจิต เช่น ความเข้มแข็งมั่นคง ความเพียรพยายาม ความรับผิดชอบ ความแน่วแน่มั่นคง ความมีสติ สมาธิ และในด้านความสุข เช่น ความอิ่มใจ ความร่าเริงเบิกบานใจ ความสดชื่นผ่องใส ความรู้สึกพอใจ พูดสั้นๆ ว่า พัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิต

๓. ปัญญา เป็นเรื่องของการฝึกหรือพัฒนาในด้านการรู้ความจริง เริ่มตั้งแต่ความเชื่อ ความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ ความหยั่งรู้เหตุผล การรู้จักวินิจฉัย ไตร่ตรอง ตรวจสอบ คิดการต่างๆ สร้างสรรค์ เฉพาะอย่างยิ่งเน้นการรู้ตรงตามความเป็นจริง หรือรู้เห็นตามที่มันเป็น ตลอดจนรู้แจ้งความจริงที่เป็นสากลของสิ่งทั้งปวง จนถึงขั้นรู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต ที่ทำให้มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดปัญหา ไร้ทุกข์ เข้าถึงอิสรภาพโดยสมบูรณ์

หลักทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนประกอบของชีวิตที่ดีงาม เราก็ฝึกคนให้เจริญงอกงามในองค์ประกอบเหล่านี้ และให้องค์ประกอบเหล่านี้นำเขาสู่การเข้าถึงอิสรภาพและสันติสุขที่แท้จริง ตัวการฝึกที่จะให้มีชีวิตที่ดีงามเป็นสิกขา ตัวชีวิตที่ดีงามที่เกิดจากการฝึกนั้นก็เป็นมรรค

การฝึกที่เรียกว่าสิกขา หรือแปลว่าการศึกษานี้ บางทีก็ใช้ศัพท์แทนเป็นคำว่า ภาวนา ซึ่งก็คือเรื่องของสิกขานั่นเอง แต่คำว่าภาวนา แปลว่าทำให้เจริญ ทำให้เป็นทำให้มีขึ้น หรือฝึกอบรม ภาวนาจัดเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. กายภาวนา การพัฒนากาย คือ การมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

๒. ศีลภาวนา การพัฒนาศีล คือ การมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับเพื่อนมนุษย์ในสังคม

๓. จิตภาวนา การพัฒนาจิต คือ การทำจิตใจให้เจริญงอกงามขึ้นในความดีงาม ความเข้มแข็งมั่นคงสงบสุข และเป็นอิสระ

๔. ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา คือ การเสริมสร้าง ความรู้ความเข้าใจ ความคิดเหตุผล และการหยั่งรู้ความจริง จนเข้าถึงอิสรภาพ มีชีวิตที่ดีงามปลอดทุกข์ปราศปัญหา

ภาวนา ๔ นี้ จะพูดถึงในหัวข้อต่อไปข้างหน้า

คำศัพท์อีกคำหนึ่งที่ใช้แทนสิกขาได้คือคำว่า ทมะ ซึ่งก็แปลว่า การฝึก ทมะเป็นคำที่มาจากการที่เรามองมนุษย์ โดยเทียบกับสัตว์ทั้งหลายในแง่ของการฝึก ซึ่งจะเห็นได้ว่ามี ๒ ขั้นตอน คือ ขั้นที่หนึ่ง เป็นการฝึกในแง่ของการปราบพยศ ทำให้หมดสัญชาตญาณป่า เป็นแง่ลบ อีกขั้นหนึ่งมองในแง่บวก เป็นการฝึกให้ทำอะไรต่ออะไรได้อย่างพิเศษ หรือที่ดีงามเป็นประโยชน์ ทมะ เป็นการฝึก ถ้าเป็นคนก็เป็นทัมมะ แปลว่า ผู้ที่จะต้อง (ได้รับการ) ฝึก ดังที่ปรากฏในบทพุทธคุณที่ยกมาให้ดูข้างต้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ศักยภาพของมนุษย์: ธรรมชาติที่เอื้อต่อการพัฒนาปฏิบัติการด้วยสิกขา แล้ววัดผลด้วยภาวนา >>

No Comments

Comments are closed.