ระบบไตรสิกขาเพื่อให้องค์รวมพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ

23 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 12 จาก 14 ตอนของ

ระบบไตรสิกขาเพื่อให้องค์รวมพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ

ได้กล่าวแล้วว่า ในกระบวนการพัฒนาของไตรสิกขานั้น องค์ทั้ง ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จะทำงานประสานโยงส่งผลต่อกัน หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เมื่อมองไตรสิกขานี้ โดยภาพรวมที่เป็นระบบใหญ่ของการฝึก ก็จะเห็นองค์ ๓ นั้นเด่นขึ้นมาทีละอย่างตามลำดับ คือช่วงแรกเด่นที่ศีล ก็เป็นขั้นศีล ขั้นที่สองเด่นที่สมาธิ ก็เป็นขั้นสมาธิ ช่วงที่สามเด่นที่ปัญญา ก็เป็นขั้นปัญญา แต่ในทุกขั้นนั้นเอง องค์อีก ๒ อย่างก็ทำงานร่วมอยู่ด้วยโดยตลอด การมองเป็นภาพรวมของระบบใหญ่อย่างนี้ ขอเรียกว่า รอบใหญ่

เมื่อเราไม่มองภาพรวมของรอบใหญ่อย่างนั้น แต่มาดูการทำงานของกระบวนการศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนานั้นในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ตาม เราก็จะเห็นองค์ทั้งสาม คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั้นทำงานอยู่ด้วยกันและสัมพันธ์กันตลอดเวลา ขอเรียกการมองการทำงานในช่วงสั้นๆ นี้ว่า รอบเล็ก

ในการฝึกไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แบบรอบเล็กนั้น สามารถเริ่มจากจุดไหนก่อนก็ได้ เช่น ถ้าเรามีความพอใจ จิตแนบสนิทหรือสนิทใจกับพฤติกรรมอย่างใด (สมาธิ) เราก็จะมีความโน้มเอียงไปสู่การทำพฤติกรรมอย่างนั้น (ศีล) หรือถ้าเราพิจารณาเห็นโดยเหตุผลว่า พฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งดีกว่า เราเห็นว่าทำอย่างนั้นจะดีกว่า จะเป็นประโยชน์กว่า (ปัญญา) เราก็จะทำพฤติกรรมตามที่เราคิดว่าดีกว่านั้น (ศีล) แต่บางทีอาจจะมีพฤติกรรมเกิดขึ้นก่อน เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ โรงเรียน หรือสถาบันทางสังคม เขาจัดระเบียบความเป็นอยู่คือวางระเบียบวินัยเป็นกฎเกณฑ์กติกาขึ้นมาแล้ว เราเข้าไปอยู่ในหมู่ในพวกก็ทำตามเขาไป (ศีล) ต่อมา จากความเคยชินในการทำพฤติกรรมอย่างนั้นไปเรื่อย โดยไม่ขัดขืนฝืนใจ เราก็เกิดความพอใจสนิทใจกับพฤติกรรมนั้น (สมาธิ) แล้วบางทีก็เลยมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เป็นระเบียบหรือกฎเกณฑ์กติกาของพฤติกรรมนั้นว่าดีมีประโยชน์ (ปัญญา) พอปัญญาเห็นคุณค่าของพฤติกรรมอย่างนั้นแล้ว ก็ยิ่งทำพฤติกรรมอย่างนั้นหนักแน่นขึ้นอีก (ศีล) แล้วก็ยิ่งมีความสุขความพอใจสนิทใจกับพฤติกรรมนั้นมากขึ้น (สมาธิ) ฯลฯ เพราะเหตุที่มีการโยงส่งผลต่อกันไปมาอย่างนี้ ก็ทำให้เรามีการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมมีผลดียิ่งขึ้นได้อีก

ในการฝึกนี้จะเห็นว่า ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ๓ อย่างนี้ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งไม่พร้อมหรือไม่ร่วมประสานก็จะทำให้กระบวนการฝึกไม่ได้ผลดี เช่น ในการฝึกระเบียบวินัย ถ้าจิตใจของผู้ถูกฝึกไม่มีความสุข ทำให้เกิดการฝืนใจขึ้น ก็เสียองค์ประกอบ การฝึกนั้นก็มีความโน้มเอียงที่จะได้ผลยาก แต่ถ้าในการฝึกพฤติกรรมนั้นจิตใจของผู้ถูกฝึกมีความพึงพอใจ มีความสุขในการกระทำพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมนั้นก็จะมั่นคง ยิ่งถ้าเขาได้มีปัญญามองเห็นคุณค่าของการฝึกพฤติกรรมนั้นว่าเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า เกื้อกูล เป็นประโยชน์ด้วย ก็จะยิ่งมีความมั่นคงและมั่นใจ พร้อมทั้งมีความสุขในการทำพฤติกรรมนั้นมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นองค์ทั้ง ๓ อย่างจึงต้องสัมพันธ์กัน

การพัฒนาไตรสิกขาในระดับรอบเล็ก ที่ควรปฏิบัติให้ได้เป็นประจำ และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริงโดยไม่ยากเลย ก็คือ การนำไตรสิกขาเข้าสู่การพิจารณาของโยนิโสมนสิการ หรือการโยนิโสมนสิการในไตรสิกขา กล่าวคือ

ในการกระทำทุกครั้งทุกอย่าง ไม่ว่าจะแสดงพฤติกรรมอะไร หรือมีกิจกรรมใดๆ ก็ตาม เราสามารถฝึกฝนพัฒนาตนและสำรวจตรวจสอบตนเอง ตามหลักไตรสิกขานี้ ให้มีการศึกษาครบทั้งสามอย่าง ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา พร้อมกันไปทุกครั้งทุกคราว คือเมื่อทำอะไรก็พิจารณาดูว่า

พฤติกรรมหรือการกระทำของเราครั้งนี้ มีการเบียดเบียน จะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ใครหรือไม่ หรือว่าเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสร้างสรรค์ (ศีล)

ในการกระทำเดียวกันนี้ จิตใจของเราเป็นอย่างไร เราทำด้วยจิตใจที่เห็นแก่ตัว มุ่งร้ายต่อใคร ทำด้วยความโลภ โกรธ หลง หรือไม่ หรือทำด้วยความเมตตา มีความปรารถนาดี ทำด้วยศรัทธา ทำด้วยสติ มีความเพียร มีความรับผิดชอบ เป็นต้น และในขณะที่ทำเรามีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร เร่าร้อน กระวนกระวายขุ่นมัว เศร้าหมอง หรือว่ามีจิตใจที่สงบ ร่าเริง เบิกบาน เป็นสุข เอิบอิ่ม ผ่องใส (สมาธิ)

การกระทำครั้งนี้ เราทำด้วยความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ทำ มองเห็นเหตุผล รู้เข้าใจหลักเกณฑ์และความมุ่งหมาย มองเห็นผลดีผลเสีย และหนทางแก้ไขปรับปรุงพร้อมดีแล้วหรือไม่ (ปัญญา)

เพราะฉะนั้น คนที่ฉลาดจึงสามารถบำเพ็ญสิกขา คือฝึกฝนพัฒนาตน และสำรวจตรวจสอบวัดผลการพัฒนาตนได้เสมอตลอดทุกครั้งทุกเวลา เป็นการบำเพ็ญไตรสิกขาในระดับรอบเล็ก (คือครบทั้งสามสิกขาในพฤติกรรมเดียวหรือกิจกรรมเดียว) พร้อมกันนั้นก็เจริญไตรสิกขาในระดับรอบใหญ่ (คือค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปทีละส่วน) ไปด้วย ชนิดที่ดูภายนอกก็เหมือนศึกษาไปตามลำดับทีละอย่าง โดยที่การบำเพ็ญไตรสิกขาในระดับรอบเล็กนี้ก็จะช่วยให้การเจริญไตรสิกขาในระดับรอบใหญ่ก้าวหน้าไปด้วยดี แล้วในทางย้อนกลับการเจริญไตรสิกขาในระดับรอบใหญ่ ก็จะส่งผลให้การบำเพ็ญไตรสิกขาในระดับรอบเล็กมีความมั่นคงและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นจนเต็มเปี่ยมในที่สุด

ตามที่กล่าวมานี้ต้องการให้มองเห็นความสัมพันธ์อย่างอิงอาศัยซึ่งกันและกันขององค์ประกอบที่เรียกว่าสิกขา ๓ ในกระบวนการศึกษาและพัฒนาพฤติกรรม เป็นการมองรวมๆ อย่างสัมพันธ์ถึงกันหมดในรอบเล็ก โดยไม่ได้แยกออกเป็นเรื่องๆ แต่ถ้ามองในแง่ของช่วงยาว จุดเน้นจะต่างกันในกระบวนการฝึกนี้ กล่าวคือ เริ่มต้นจุดเน้นจะอยู่ที่ศีล ส่วนสมาธิและปัญญาจะเป็นตัวแทรกเสริมหรือแฝงอยู่ ต่อมาในช่วงที่ ๒ เมื่อศีลมั่นคงดีแล้วก็จะเน้นเรื่องสมาธิ โดยมีศีลเป็นฐานรองรับและปัญญาก็คอยดูแลอยู่ จึงมองเห็นเป็นภาพรวมแบบหยาบๆ ว่า ขั้นแรกฝึกศีล ขั้นที่สองฝึกสมาธิ และขั้นสุดท้ายฝึกปัญญา คนที่จะฝึกปัญญาได้ดีนั้น ด้านศีล ด้านสมาธิ ต้องมั่นคงเป็นฐานอยู่แล้ว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปฏิบัติการด้วยสิกขา แล้ววัดผลด้วยภาวนาวินัยคือการจัดสรรให้เกิดโอกาสในการพัฒนา >>

No Comments

Comments are closed.