ศักยภาพของมนุษย์: ธรรมชาติที่เอื้อต่อการพัฒนา

23 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 9 จาก 14 ตอนของ

ศักยภาพของมนุษย์: ธรรมชาติที่เอื้อต่อการพัฒนา

เมื่อจะให้การศึกษา พุทธศาสนาจะเน้นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในจุดที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เช่น ในพุทธคุณ บทหนึ่งว่า “อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ” [๑๒/๙๕] (แปลว่า เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม)

มีคำตรัสของพระพุทธเจ้ามากมายที่เน้นย้ำหลักการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ และเร้าเตือนพร้อมทั้งส่งเสริมกำลังใจให้ทุกคนมุ่งมั่นในการฝึกอบรมตนจนถึงที่สุด เช่น

    วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา
    กุญฺชรา จ มหานาคา อตฺตทนฺโต ตโต วรํ    [๒๕/๓๓]
    อัสดร สินธพ อาชาไนย กุญชร และช้างหลวง ฝึกแล้วล้วนดีเลิศ แต่คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐยิ่งกว่านั้น
    ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ     [๒๕/๓๓]
    ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ประเสริฐสุดคือคนที่ฝึกแล้ว
    วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส     [๑๖/๗๒๔]
    ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจริยะ เป็นผู้ประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และทวยเทพ
    มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ
    . . . . . . . . เทวาปิ นมสฺสนฺติ     [๒๒/๓๑๔]
    พระสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่เป็นผู้ได้ฝึกตนแล้ว อบรมจิตถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ

ความหมายที่ต้องการในที่นี้ก็คือ การมองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรือต้องฝึก และกระตุ้นเตือนให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการฝึกฝนพัฒนาตนนั้น โดยระลึกอยู่เสมอว่า มนุษย์นั้นถ้าไม่ฝึกก็จะไม่ประเสริฐ แต่ถ้าฝึกแล้วจะมีขีดความสามารถสูงสุด เพราะมนุษย์มีความสามารถในการฝึกตัวเองได้จนถึงที่สุด ใช้คำศัพท์ทางวิชาการสมัยปัจจุบันว่า มนุษย์มีศักยภาพสูง มีความสามารถที่จะฝึกตนได้จนถึงขั้นเป็นพุทธะ ศักยภาพนี้เรียกว่า โพธิ ซึ่งแสดงว่าจุดเน้นอยู่ที่ปัญญา เพราะโพธินั้น แปลว่า ปัญญาตรัสรู้ ก็คือ ปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะนั่นเอง

ในการศึกษาตามหลักพุทธศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องมีคือ ความเชื่อในโพธิ เรียกว่า โพธิศรัทธา ซึ่งถือว่าเป็นศรัทธาพื้นฐาน เมื่อมนุษย์เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์เป็นพุทธะได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเอง ส่วนการที่บุคคลจะแจ้งประจักษ์โพธิได้หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคล ดังเช่นในหลักบุคคล ๔ ประเภท และขึ้นอยู่กับการพัฒนาศักยภาพของเขาตามที่ได้สั่งสมกรรมไว้ ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าคำว่า โพธิ นั้นให้จุดเน้นทั้งในด้านของศักยภาพที่มนุษย์ฝึกได้จนถึงที่สุด และในด้านของปัญญา ให้เห็นว่าแกนนำของการพัฒนานั้นอยู่ที่ปัญญา และศักยภาพสูงสุดนั้นก็แสดงออกที่ปัญญา เพราะตัวแทนหรือจุดศูนย์รวมของการพัฒนาอยู่ที่ปัญญา

เพื่อจะให้โพธินี้ปรากฏขึ้นมาทำบุคคลให้กลายเป็นพุทธะ เราจึงต้องมีกระบวนการพัฒนาที่เรียกว่าสิกขา ซึ่งก็คือ การศึกษา สิกขาคือกระบวนการพัฒนามนุษย์ หรือฝึกมนุษย์ให้โพธิปรากฏขึ้น ทำให้มนุษย์นั้นกลายเป็นพุทธะ

ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่ดำเนินในแนวทางของโพธิ ชีวิตที่ดีอย่างนี้เรียกว่ามรรค ส่วนวิธีการหรือกระบวนการฝึกมนุษย์ให้มีชีวิตที่ดีเรียกว่าสิกขา เมื่อเราฝึกคนให้มีชีวิตที่ดี ชีวิตที่ดีหรือวิถีชีวิตที่ดีนั้นก็เป็นมรรค มรรคกับสิกขาก็เลยมีความหมายเกือบจะเหมือนกัน มรรคคือการดำเนินชีวิตที่ดี แต่จะมีชีวิตที่ดีได้ก็ต้องมีการฝึกฝนพัฒนา ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกที่เรียกว่าเป็นสิกขา เพราะฉะนั้น สิกขาก็คือการฝึกให้มีชีวิตที่ดีที่ดำเนินตามมรรค และมรรคมีองค์ ๘ นั้นก็สรุปลงได้เป็นสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นตัวแกนของการฝึก เป็นอันว่าจะต้องจับแยกและโยงให้ถูกต้องว่า มรรคกับสิกขาเป็นเรื่องที่สัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน แต่เป็นคนละแง่กัน เพราะสิกขาเป็นตัวการฝึกหรือการพัฒนามนุษย์ เมื่อฝึกได้ผล จนสิ่งที่ฝึกนั้นกลายเป็นวิถีชีวิตของเขา มันก็กลายเป็นมรรคไป พอมรรคเกิดขึ้นแล้ว ก็พาเข้าถึงจุดหมายของการศึกษาหรือการพัฒนานั้น คืออิสรภาพที่ปลอดทุกข์ปราศปัญหา หรือจะเรียกว่าสันติสุขก็แล้วแต่พอใจ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< กระบวนการของการศึกษา หรือระบบการพัฒนาบุคคลไตรสิกขา: หลักการสำคัญของการพัฒนามนุษย์ >>

No Comments

Comments are closed.