ปัญหาขั้นพื้นฐานของสังคมไทย ในช่วงต่อแห่งความเปลี่ยนแปลง

28 มิถุนายน 2517
เป็นตอนที่ 5 จาก 12 ตอนของ

ปัญหาขั้นพื้นฐานของสังคมไทย
ในช่วงต่อแห่งความเปลี่ยนแปลง

เมื่อเรามีการปรับตัวแบบนี้ คือ สถาบันต่างๆ ที่มีหน้าที่นำสังคมในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่แล้ว ก็หมายความว่า ประชาชนต้องปรับตัวกันเอง ต่างคนต่างทำ ใครทำได้ทำเอา การปรับตัวก็ไม่เป็นระเบียบ เมื่อไม่เป็นระเบียบ สภาพจะเป็นอย่างไร

เท่าที่มองเห็นก็คือ ประชาชนมีความตื่นเต้นที่จะรับความเจริญใหม่ๆ นั้น มีความตื่นเต้นที่จะรับคือ อยากจะเสวยหรือบริโภคผลผลิตของความเจริญใหม่ๆ นั้น แต่ไม่มีความตื่นตัวในการที่จะทำหรือที่จะสร้างสรรค์ คือไม่ตื่นตัวที่จะแก้ไขปรับปรุงตนเพื่อจะเป็นผู้ผลิตหรือเป็นผู้สร้างความเจริญเหล่านั้นเอง หรือแม้แต่เพื่อให้เป็นผู้พร้อมที่จะใช้ผลผลิตนั้น ความเจริญนั้นเราอยากจะรับแน่ เราตื่นเต้นอยากจะเห็น อยากจะเสวย แต่เราไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่จะรับมาเสวยนั้น หรือแม้แต่เพียงสนใจที่จะรู้เนื้อหาสาระของสิ่งที่จะรับนั้นอย่างจริงจัง ไม่ต้องพูดถึงการที่คิดอดทนจะทำให้ได้เองก่อนเสวย จากท่าทีนั้นก็ทำให้เกิดปัญหานี้ และจากปัญหานี้ก็นำไปสู่ปัญหาอื่น

แม้แต่ค่านิยมต่างๆ ก็คิดว่ามีมูลมาจากภาวะนี้ด้วย พอมาถึงนักวิชาการรุ่นหลังก็เกิดปัญหาขึ้นอีก คือไม่สามารถแยกแยะวิเคราะห์ปัญหาของสังคมไทยได้ชัดเจน เช่น ในเรื่องค่านิยม เป็นต้นว่า ค่านิยมอย่างนั้นๆ เกิดในตอนไหนกันแน่ เราสับสน เช่น ในปัจจุบันเราบอกว่า เราไม่สามารถสร้างความเจริญหรือพัฒนาได้ดี เพราะมีปัญหาเรื่องค่านิยมของสังคมไทยที่ไม่ดีไม่งามต่างๆ ขัดขวางถ่วงไว้ แต่ค่านิยมเหล่านี้เป็นค่านิยมที่เกิดตอนไหนแน่ เป็นค่านิยมของสังคมไทยโดยแท้ หรือเป็นค่านิยมที่เกิดขึ้นในช่วงต่อของการเปลี่ยนแปลงที่เราปรับตัวไม่ถูกต้องนั้น อันนี้เราก็ยังไม่รู้แจ่มแจ้ง เราก็ตีขลุมว่านี้เป็นค่านิยมของสังคมไทยเดิมที่ขัดต่อการพัฒนา อย่างนี้เป็นต้น

อาตมภาพว่าเรายังขาดการศึกษาอย่างจริงจัง แล้วไม่เพียงเท่านั้น ค่านิยมอันเดียวกันนั้นบางทีก็แปรผันคลาดเคลื่อน ค่านิยมอันหนึ่งในสังคมไทยปัจจุบัน อาจเป็นอันเดียวกันกับค่านิยมในสังคมนิยมไทยเดิม แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงแล้ว มันเหลืออยู่หรือยังคงมีอยู่ในรูปที่คลาดเคลื่อนไปแล้วจากเดิม ความคลาดเคลื่อนนั้นก็เกิดโทษได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยมเรื่องบุญ เป็นต้น อาตมาว่าเป็นค่านิยมคลาดเคลื่อน คือเป็นค่านิยมในสังคมไทยเดิม แต่ปัจจุบันเรารู้จักในรูปที่คลาดเคลื่อนไปแล้ว หลังจากช่วงต่อของความเปลี่ยนแปลงนั้น นักสังคมจำนวนมากในปัจจุบันก็ติเตียนค่านิยมเรื่องบุญว่าเป็นค่านิยมที่ขัดขวางต่อการพัฒนา1 ทำให้เกิดโทษในทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่เจริญก้าวหน้าเป็นต้น ความเข้าใจในเรื่องนี้ถูกหรือผิดมีเหตุปัจจัยอย่างไร อาจยกมาเป็นปัญหาที่จะพูดกันต่อไป

ตกลงว่าสังคมไทยในระยะที่เราจะปรับตัวเข้าสู่ความเจริญสมัยใหม่ สถาบันต่างๆ ไม่ได้ร่วมมือ ไม่ได้ประสานโดยพร้อมเพรียงกัน และเมื่อเปลี่ยนแปลงโดยความไม่เป็นระเบียบ ก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะคือ การที่มีแต่ตื่นเต้นรับความเจริญมา เอาผลผลิตของความเจริญนั้นมาเสวยบริโภค โดยที่ไม่ได้ตื่นตัวในการที่จะแก้ไขปรับปรุงตนให้เป็นผู้สร้างความเจริญนั้นขึ้นเอง หรือในการที่จะทำตนให้พร้อมที่จะใช้ความเจริญเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์อย่างดีที่สุด นั่นเป็นปัญหาสำคัญ หรือกล่าวได้ว่าเป็นตัวเหตุของปัญหา ก่อนที่จะพูดถึงแนวทางแก้ปัญหา ในตอนนี้ขอให้ยอมรับอันนี้ก่อน ถ้าไม่ยอมรับค่อยค้านกันทีหลัง เมื่อรับว่าอันนี้เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา ก็จะได้ไปสู่แนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสงฆ์แนวทางในการแก้ปัญหา >>

เชิงอรรถ

  1. ดู บันทึกที่ ๒ ‘ปัญหาเกี่ยวกับค่านิยมคลาดเคลื่อน’ หน้า ๖๔

No Comments

Comments are closed.