ปัญหาเกี่ยวกับค่านิยม

28 มิถุนายน 2517
เป็นตอนที่ 8 จาก 12 ตอนของ

ปัญหาเกี่ยวกับค่านิยม

ต่อไปในระยะยาวมีการแก้ไขเรื่องหนึ่งซึ่งถือว่าสำคัญมาก เรียกในปัจจุบันก็คือ เรื่องของค่านิยม ค่านิยมเป็นเรื่องสำคัญมาก ในระยะยาวถ้าแก้เรื่องนี้ไม่ได้ละก็ การสร้างความเจริญอะไรต่ออะไรจะเป็นไปได้ยาก

ปัจจุบันเรามีค่านิยมหลายอย่างซึ่งเราถือว่าเสีย ไม่จำเป็นต้องแจกแจงมาก แต่ที่พูดกันมากอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นหลักใหญ่ก็คือ ค่านิยมในการเป็นผู้บริโภคมากกว่าเป็นผู้ผลิต เรื่องนี้รู้สึกเป็นเรื่องใหญ่ที่จะขัดขวางการพัฒนาทั้งหลาย

ค่านิยมนี้ ถ้าหากมองในสายตาของพุทธศาสนาแล้ว พูดได้ว่าสังคมไทยเราเป็นสังคมที่มุ่งสวรรค์ คือมุ่งประโยชน์ของตนเอง หาความสุขความสำราญสำหรับตัวเอง คือเราต้องการผลได้ที่ตอบแทนตัวเราเอง

เมื่อเรามองสภาพปัจจุบัน ตั้งต้นแต่การศึกษาเป็นต้นไป เราจะเล่าเรียนศึกษาอะไร เราก็พิจารณาแง่ที่ว่าเราจะได้เงินเดือนมากๆ โดยเรียนวิชาการใด เรียนวิชาชีพสายไหน เราจึงจะได้ตำแหน่งงานที่ดีๆ อย่างนี้เป็นต้น หรือเรียนไปแล้ว บางทีไม่สมใจ ไปนึกได้ใหม่ตอนหลังอีกว่า เราจะไปทำตามอาชีพที่เราเรียนมานี้ เราจะไม่ได้เงินมาก ก็เปลี่ยนไปทำอีกอาชีพหนึ่ง ทั้งๆ ที่อาชีพนั้นตัวเองไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรง เป็นต้น เวลาทำงานเราก็คิดถึงผลประโยชน์ตอบแทน ว่าเราจะได้เงินมากหรือได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากเพียงใด แทนที่จะนึกถึงผลการสร้างสรรค์ที่เกิดจากงานนั้น ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็จะเป็นปัญหาสังคมไทยตลอดไป เพราะการเล่าเรียนศึกษาก็จะเป็นระบบที่เป็นไปเพื่อใบสำคัญ ใบปริญญาบัตร ใบประกาศนียบัตร ไม่ใช่เพื่อความรู้ หรือการสร้างสรรค์ความเจริญที่แท้จริง

ถ้ามองกันในแง่ที่จะสร้างความเจริญจริงๆ อย่างถูกต้องแล้ว เราจะต้องดูลักษณะแรงจูงใจในการทำงานต่างๆ เช่น ถ้าจะเป็นแพทย์ ก็อยากจะเห็นอยากรู้จักว่าโรคนี้โรคนั้นมันเป็นอย่างไร เป็นเพราะอะไร ทำไมจะแก้ให้มันหายได้ นึกขึ้นมาทีไรก็อยากให้เมืองไทยนี้ไม่มีโรค ไม่มีภัย ไม่มีคนเจ็บคนไข้ จิตใจนึกถึงแต่เรื่องอย่างนี้ เห็นคนไข้มาก็อยากเห็นเขาหายโรค อยากเห็นเขามีสุขภาพสมบูรณ์ ถ้านึกแต่เรื่องอย่างนี้ก็หมายความว่า เป็นแรงจูงใจในการทำงานที่ถูกต้อง และตรงกับหน้าที่ของตน

ถ้าเป็นพระเป็นสงฆ์ก็มานึกแต่ว่าธรรมะทั้งหลายนั้น ข้อไหนมีความหมายอย่างไรกันแน่ ความจริงของโลกมันคืออะไรกันแน่ ทำอย่างไรจะให้ประชาชนเป็นคนดีมีศีลธรรม ใจก็นึกอยู่เสมออย่างนี้ หรือเป็นพนักงานเทศบาลทำความสะอาดกวาดถนน อยากจะเห็นถนนหนทางสวยสะอาดงดงาม เห็นเศษสิ่งของบนถนนแล้วไม่สบายใจ ทนดูอยู่ไม่ได้ นึกถึงแต่ว่า ทำอย่างไรถนนจะสะอาดทั่วไปทั้งหมด เราจะกวาดอย่างไร ใจนึกอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ละก็ไม่เป็นไร เรียกว่า มีแรงจูงใจในการทำงานที่ถูกต้อง มุ่งตรงต่อจุดหมายของงาน หรือมุ่งที่ตัวธรรม คือ ตัวแท้ตัวจริงของสิ่งที่กระทำนั้น เป็นสัจจะตรงไปตรงมา ผลประโยชน์ตอบแทนก็เป็นเพียงเครื่องค้ำจุนในการดำรงชีวิต

แต่ในสภาพสังคมของเรา ปัจจุบันมันตรงกันข้าม คือว่า แรงจูงใจในการทำงานไม่ได้อยู่ที่ผลงาน มันไปอยู่ผลเงิน เพราะเราต้องการเป็นเงินไปหมด จากจุดนี้มันก็เสียตั้งแต่ระบบการศึกษาเป็นต้นไป การศึกษาของเราก็เป็นเพียงสิ่งสนองความต้องการในการที่จะหาทางไต่ไปสู่ผลประโยชน์ เป็นบันไดสวรรค์ที่จะให้บุคคลนั้นได้เงินได้ทองอะไรมากที่สุด อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ขอเรียกสังคมไทยว่าเป็นสังคมที่มุ่งสวรรค์

คำว่า ‘สวรรค์’ หมายความว่าอะไร สวรรค์คืออารมณ์ที่ดี อารมณ์ที่เลิศ หมายความว่า สิ่งที่ให้ความสุข สนองความต้องการทางประสาททั้งห้า สังคมที่มุ่งสวรรค์คือสังคมที่มุ่งหาผลตอบแทนเป็นความสุขความสบายของตนเอง ซึ่งมี 2 ชั้น สังคมไทยเดิมอาตมภาพว่ายังดีกว่า ในแง่ที่มันมุ่งสวรรค์อุดมคติ แต่ปัจจุบันนี้ เรามามุ่งสวรรค์ชั้นต่ำลงมาอีก

เดิมมุ่งสวรรค์อุดมคตินั้นอย่างไร คือ สวรรค์นั้นยังอยู่ในท้องฟ้า อยู่ในชาติหน้า เราก็หาเครื่องค้ำมาวางหลักประกันไว้อีกขั้นว่าทำอย่างไรจะไปถึงนั่นได้ ก็วางข้อกำหนดว่าให้ทำสิ่งที่ดีๆ คนอยากได้สวรรค์ ก็ต้องพยายามสร้างสิ่งที่ดีงามนั้นเป็นบันไดขึ้นไป ข้อดีข้อเสียความถูกต้องผิดพลาดของสวรรค์แบบนี้ อยู่ที่ฐานที่วางบันไดสวรรค์ คืออยู่ที่ว่าจะพาดบันไดไว้ที่ไหน

ในแง่สวรรค์แบบอุดมคตินั้น ข้อผิดพลาดมันอยู่ตอนที่สังคมเปลี่ยนแปลง เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง ถึงช่วงต่อเราไม่เข้าใจ เราก็ไปโทษว่าการมุ่งสวรรค์แบบนั้นทำให้ผิด เพราะว่าทำไงเราจะไปสวรรค์ได้ก็ต้องทำบุญ ทำบุญคือทำอย่างไร ก็ต้องไปสร้างโบสถ์สิ สร้างโบสถ์ที่วัด สร้างโบสถ์เสร็จแล้วก็จะได้บุญและไปสวรรค์

ทีนี้ การสร้างโบสถ์ไม่ได้เป็นประโยชน์จริงจังแก่สังคม มองตามสภาพปัจจุบันก็กลายเป็นว่า คตินิยม หรือค่านิยมเรื่องทำบุญนี้ มันเกิดโทษในทางเศรษฐกิจ หมายความว่า เรามาติดเรื่องบุญนี้เพราะเราอยากไปสวรรค์ เราก็เอาทุนทรัพย์ไปสร้างสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่เกิดประโยชน์แก่สังคมเลย ไปสร้างโบสถ์ที่ปีหนึ่งใช้เพียงน้อยครั้ง แต่เสียเงินนับล้านอะไรทำนองนี้เป็นต้น ก็กลายเป็นการทำลายเศรษฐกิจ คติเรื่องบุญเลยเสียไป นี่เป็นเพราะไม่เข้าใจ

ไม่เข้าใจอย่างไร เกิดจากความไม่รู้ของทุกคน ไม่รู้ว่าในสังคมของเราเองมีวิวัฒนาการของค่านิยมต่างๆ เดิมนั้นชาวบ้านมีค่านิยมเรื่องบุญ ซึ่งมีความหมายสัมพันธ์อยู่กับประโยชน์ส่วนรวม บุญที่ไปสวรรค์เป็นอุดมคติแน่ๆ เดิมเมื่อวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนนั้น การสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนที่สุด ก็คือสร้างสิ่งก่อสร้างในวัด แล้วแต่ก่อนก็ไม่ได้ถือว่าสร้างโบสถ์แล้วจะดีที่สุด แต่สร้างสิ่งก่อสร้างในวัดแล้วเป็นดีที่สุด เพราะเป็นประโยชน์แก่ชุมชนมากที่สุด มันจึงได้บุญมากที่สุด

ต่อมา การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้ความหมายคลาดเคลื่อนไป วัดไม่ได้เป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างเดิม แต่เราก็ยังยึดถือในค่านิยมนี้โดยไม่มีความเข้าใจ มันก็คลาดเคลื่อน สิ่งก่อสร้างในวัด ไม่ได้มีคุณค่าในแง่ประโยชน์แก่ชุมชนเหมือนเดิม แต่ความยึดถือว่า การสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดได้บุญมากยังคงอยู่ เมื่อพูดว่าได้บุญ ความรู้สึกก็ไม่เต็มอิ่ม โดยมีสวรรค์เป็นอุดมคติ ครอบคลุมตลอดถึงประโยชน์ปัจจุบัน เหมือนอย่างที่พูดในสมัยก่อน การไปสวรรค์ก็ถูกดึงลงมาเป็นคุณค่าตอบแทนโดยตรงของบุญ ความหมายของบุญจึงถูกตรึงอยู่กับสวรรค์หรือผลตอบแทนในชาติหน้าอย่างเดียว และต้องมีการย้ำคุณค่านี้ให้เด่นยิ่งขึ้น เพื่อให้ความหมายที่ยึดไว้ดูสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น

ในเวลาเดียวกัน คุณค่าในทางประโยชน์ปัจจุบันที่ชาวบ้านจะจัดแยกความสำคัญของสิ่งก่อสร้างในวัดก็หมดไปแล้ว การวัดคุณค่าของสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น จึงเคลื่อนมาอยู่ที่ความเด่นความวิจิตรพิสดาร และคุณค่าในทางศาสนพิธี เมื่อว่าจะสร้างอะไรดี ก็บอกสร้างโบสถ์ได้บุญที่สุด นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของค่านิยมที่คลาดเคลื่อน

รวมความแล้วก็คือ ตามค่านิยมของสังคมไทย อย่างน้อยในระยะที่มองเห็นนี้ สังคมไทยเป็นสังคมที่มุ่งสวรรค์ ถ้าเก่าหน่อยก็เป็นสวรรค์ในอุดมคติ ปัจจุบันก็เป็นสวรรค์ชั้นต่ำ

สวรรค์ชั้นต่ำหมายความว่า สวรรค์ที่มองเห็นอยู่นี้ ที่มุ่งได้ความสุขทางเนื้อหนัง ได้ทรัพย์สินเงินทองตอบแทนเฉพาะหน้า เอามาบำรุงบำเรอตัว หาความสุขในปัจจุบัน ถ้าแบบนี้ละก็ เห็นท่าจะไปไม่รอด หมายความว่า คนเราก็จะพยายามแสวงหาในทางเห็นแก่ตัวให้มากขึ้น บุญแบบอุดมคติยังดีที่มีเครื่องยับยั้งบ้าง แต่บุญแบบสวรรค์ชั้นต่ำนั้นไม่มีอะไรยับยั้งเลย คือจะเอาแต่ตัวเป็นประมาณ เห็นแก่ตัวไม่มียั้ง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญหาจากความไม่รู้ของปัญญาชนทางเลือกที่เกี่ยวกับอุดมคติของสังคมไทย >>

No Comments

Comments are closed.