ปัญหาจากความไม่รู้ของปัญญาชน

28 มิถุนายน 2517
เป็นตอนที่ 7 จาก 12 ตอนของ

ปัญหาจากความไม่รู้ของปัญญาชน

ทำไมจึงว่าปัญญาชนนักวิชาการไทยยังไม่มีความพร้อม ไม่เข้าใจสภาพของไทยเอง เราน่าจะยอมรับอย่างหนึ่งคือ สังคมไทยเราในช่วงที่ผ่านมา คนที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นได้แยกตัวหรือถูกแยกตัวออกมาจากชุมชนของตน เพราะระบบการศึกษา เป็นต้น

เมื่อเราได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่ เราจะเข้าใจเรื่องตะวันตกมากขึ้นโดยลำดับ แล้วเราจะเป็นคนที่แปลกออกไปในสายตาของชุมชนของตน คนไทยในสังคมไทยจะรู้สึกว่าเรานี้เป็นคนอีกพวกหนึ่ง หรือเป็นคนในสังคมอื่น เราเองก็ไม่ค่อยเข้าใจชุมชนไทย ไม่เข้าถึงวัฒนธรรมของตน เสร็จแล้วเมื่อสำเร็จการศึกษาแบบสมัยใหม่แล้วออกไปทำงาน ก็ปรากฏว่าเราไปปรับตัวเข้ากับประชาชนไม่ได้เต็มที่

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในขณะนี้มีปัญหาข้าราชการปรับตัวเข้ากับประชาชนไม่ได้ ก็โทษกันว่าเป็นเพราะติดมาจากระบบเจ้าขุนมูลนาย ไปต่อว่าโน่น ไปโทษระบบศักดินา อันนั้นมีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่อาตมภาพว่าเป็นเพียงส่วนเอื้ออำนวยเท่านั้น คือข้าราชการเอาระบบนั้นมาอำนวยในการที่ตนจะสร้างฐานะปกป้องตนเองและปิดบังปมปัญหาของตน แต่สาเหตุที่สำคัญคือการเข้าไม่ถึงกัน คือการที่ข้าราชการไทยปรับตัวให้เข้าถึงประชาชนไม่ได้

การเข้าถึงประชาชนไม่ได้ ไม่ใช่เพราะระบบศักดินา แต่เพราะขาดความสามารถที่จะเข้าถึง ไม่สามารถเข้าถึงเพราะขาดความเป็นผู้นำที่แท้จริง คือไม่เข้าใจประชาชนจริงและประชาชนไม่วางใจสนิท การที่ไม่สามารถเข้ากันได้นั้นทำให้ต้องมีการรักษาศักดิ์ศรี ข้าราชการก็ต้องรักษาศักดิ์ศรีของตน รักษาฐานะของตน ก็เอาระบบนั้นมาใช้ เพื่อแยกตัวให้มีฐานะมีศักดิ์ศรีพิเศษเด่นออกมา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน นักวิชาการเราไม่เข้าใจ สภาพของสังคมไทยเรา

ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อเราไปพูดกับประชาชน เราไปพูดใช้ศัพท์ภาษาสมัยใหม่ บางทีมีอังกฤษคำ ไทยคำ อะไรนั้น ชาวบ้านย่อมไม่รู้เรื่อง และเข้ากับเราไม่ได้ ชาวบ้านอาจมีความชื่นชม เช่นบอกว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีวิชาการชั้นสูงก็ได้ แต่ไม่สามารถเข้ากันได้สนิท เป็นคนละพวกอยู่นั่นเอง อย่างนี้ก็เป็นการแยกตัวหรือแบ่งฐานะแบบหนึ่ง คือ เป็นคนเจริญกับชาวบ้าน เป็นการแยกตัวโดยที่ไม่ต้องอาศัยระบบเจ้าขุนมูลนายเลยก็ได้1

ถ้าข้าราชการมีความเข้าใจในวัฒนธรรมของตนเอง ปรับตัวเข้ากับชาวบ้านได้ พูดภาษาแบบชาวบ้าน ใช้ธรรมะธัมโมบ้าง เช่น ไปพูดถึงเมตตากรุณา เรื่องกรรม เรื่องอะไรก็ได้ ถ้าเราศึกษาให้ดีก็จะเข้ากันได้กับชาวบ้าน โดยวิธีนี้จะชักนำประชาชนเข้ามาได้ ไม่เช่นนั้นจะตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กัน ทำไมจึงต้องโทษกันอยู่

อย่างนักวิชาการ หรือปัญญาชนปัจจุบัน โทษชาวบ้านว่ามีค่านิยมไม่ถูกต้อง นับถือเรื่องกรรมเรื่องอะไรที่ขัดต่อการพัฒนา นี่เป็นเพราะเราเองก็ไม่เข้าใจเรื่องกรรม เมื่อเห็นว่าชาวบ้านเชื่ออย่างนั้น แล้วเราก็ว่าการเชื่ออย่างนั้นมีผลร้าย ขัดต่อความเจริญ เราก็ต่อว่าเขา ชาวบ้านเห็นว่า เราไปว่าเขาๆ ก็ไม่เข้าใจเราได้ ทางที่ดีที่สุด คือ ประสานเสีย ปัญญาชนนั่นเองเป็นฝ่ายที่ควรศึกษาเรื่องกรรมให้เข้าใจชัด พอศึกษาให้ดีแล้วไปพูดกับชาวบ้านได้ แนะนำชาวบ้านได้ ชาวบ้านเห็นว่าเรารู้ดีกว่าในเรื่องที่เขารู้เขาเชื่ออยู่ ก็เชื่อถือไว้วางใจ แล้วเขากลับจะแก้ไขความเชื่อเรื่องกรรมให้เข้ามาทางเราด้วยซ้ำ

ขณะนี้อาจเรียกได้ว่าเราขาดความเป็นผู้นำนั่นเอง ไม่มีผู้นำที่จะทำให้ประชาชนสนิทใจที่จะชักจูงประชาชนออกมาได้ ก็เลยมีแต่ผู้ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน คนสมัยใหม่ก็ติเตียนคนพื้นบ้านว่า มีค่านิยมผิดๆ หลังจากนั้นก็สืบต่อไปว่า อะไรเป็นเหตุให้ประชาชนมีค่านิยมผิดๆ ก็ว่าศาสนาสิ แล้วก็เลยได้แต่ว่า ได้แต่ติเตียนกันไป ตกลงเข้ากันไม่ได้ และแก้ปัญหาไม่ได้ อันนี้เป็นปัญหาที่สำคัญมาก คือ การที่เกิดจากความไม่รู้ คือ ไม่รู้ตั้งแต่ชาวบ้านมาถึงปัญญาชน ปัญญาชนเองเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะที่มาตั้งตัวเป็นผู้แก้ปัญหา ก็ต้องรับหนักหน่อย หมายความว่าควรได้รับการโจมตีบ้างว่า เป็นผู้ขาดความรู้ความเข้าใจในการที่จะสร้างความเป็นผู้นำที่จะให้ประชาชนเชื่อถือ และที่จะจูงประชาชนออกมาจากความเข้าใจในเรื่องที่ถือผิดๆ นั้น

ขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง คือ ไปได้ยินนักวิชาการซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ไปพูดในที่สาธารณะบอกว่า พระพุทธศาสนาสอนธรรมะเป็นประชาธิปไตยนั้นไม่จริงหรอก ธรรมะอะไร จะเป็นอปริหานิยธรรม ทศพิธราชธรรม ก็อยู่ในระบบเดียวกัน ระบบเดียวกันหมายถึงสังคมไทยเดิมก็เป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ธรรมที่พระพุทธศาสนาสอนอยู่ในระบบกษัตริย์ จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

อย่างนี้ถ้ามองจากสายตาของผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะ ก็ต้องเห็นว่าเป็นการพูดที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะว่าได้ศึกษาระบบการเมืองแต่ของฝรั่ง รู้แต่ระบบการเมืองของกรีกของโรมัน ว่าเป็นมาอย่างนั้น การปกครองเป็นมาอย่างนั้น ประชาธิปไตยเป็นมาแบบนั้น แต่ในสายวัฒนธรรมของตนเองไม่รู้เลย แล้วก็มาพูดโดยอาจจะนึกภาคภูมิใจด้วยซ้ำไป

ความจริงนั้น ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือแบบกษัตริย์ ทั้ง 2 แบบนั้น มีทั้งในตะวันตกและตะวันออกในยุคเดียวกัน ยุคที่เกิดประชาธิปไตยในกรีก ในอินเดียโบราณก็มีการปกครองแบบประชาธิปไตยและแบบกษัตริย์ควบคู่กันไป ซึ่งในระบบกษัตริย์ก็มีหลักธรรมสำหรับการปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม เป็นต้น และขณะเดียวกันมีระบบการปกครองอีกรูปหนึ่งที่เราเรียกว่าระบบสามัคคีธรรม ซึ่งพวกนี้ใช้หลักอปริหานิยธรรม มีการประชุมพิจารณาตัดสินเรื่องราวต่างๆ การที่พูดอย่างนั้นก็แสดงถึงความที่ไม่ได้ศึกษาอะไรเลย เหมือนอย่างที่เราจะพูดในปัจจุบันว่า จะอยู่ในรัสเซียหรือในอเมริกาก็อยู่ในเมืองฝรั่งเหมือนกัน มันก็เหมือนกันทั้งนั้น อะไรทำนองนี้

นักวิชาการในปัจจุบันไปพูดถึงเรื่องเก่าของไทยเราแล้ว แม้แต่พูดผิดๆ ก็กลายเป็นโก้ไป อย่างนี้เป็นภาพที่เห็นกันอยู่ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราจะแก้ปัญหาสังคมของเรายาก เพราะกลายเป็นว่าผู้ที่จะนำสังคมหรือแก้ปัญหาสังคมนั้น ไม่ได้เข้าใจเรื่องของตัวเอง หรือพูดให้ชัดว่าไม่เข้าใจตัวสิ่งที่เป็นปัญหานั้นเลย อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งขอพูดไว้ในที่นี้ อาจเป็นการโจมตีนักวิชาการหรือปัญญาชนไปหน่อย แต่บางคราวก็ควรโจมตีกันบ้าง มิฉะนั้น จะไม่มีการแก้ไขกันเลย จะหลงคิดว่านักวิชาการเป็นผู้วินิจฉัยและแก้ไขผู้อื่นฝ่ายเดียว2

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แนวทางในการแก้ปัญหาปัญหาเกี่ยวกับค่านิยม >>

เชิงอรรถ

  1. ดู ‘บันทึกที่ ๔ ปัญหาเรื่องระบบศักดินา และการขาดความรู้ความเข้าใจ’ หน้า ๙๑
  2. ดู บันทึกที่ ๔ ‘ปัญหาเรื่องระบบศักดินาและการขาดความรู้ความเข้าใจ’ หน้า ๙๑

No Comments

Comments are closed.