แนวทางในการแก้ปัญหา

28 มิถุนายน 2517
เป็นตอนที่ 6 จาก 12 ตอนของ

แนวทางในการแก้ปัญหา

เราจะพิจารณาแก้ปัญหาจากจุดที่พูดไปเมื่อกี้นี้ คือว่า สังคมของไทยเราอยู่ในสภาพที่หลง ตื่นเต้น เคลิบเคลิ้มในการที่จะบริโภคเสวยผลผลิตของความเจริญใหม่ๆ แต่ในเวลาเดียวกัน เรามีความเฉื่อยชา มีความเพลิน ไม่ตื่นตัวในการที่จะแก้ไขปรับปรุงตนเอง สภาวะนี้บ่งถึงวิธีแก้ปัญหาว่าเราต้องทำให้ประชาชนตื่นตัวขึ้นมา ตื่นตัวในทางที่จะปรับปรุงตัวเองให้เป็นผู้คิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นแต่ผู้บริโภค เพราะภาวะนี้ก่อให้เกิดค่านิยมที่เราถือว่าผิดขึ้น คือค่านิยมที่ว่า สังคมไทยมีนิสัยชอบบริโภคมากกว่าชอบผลิต

เราต้องหาทางให้คนตื่นตัวขึ้นมา เพื่อจะได้พร้อมที่จะเป็นผู้ผลิตผู้สร้างความเจริญได้เองบ้าง การที่จะตื่นตัวก็ต้องทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและมีความกระตือรือร้นขึ้นมา ซึ่งวิธีการที่จะทำให้ตื่นตัวมีหลายแบบ แบบหนึ่งคือ แบบรุนแรง ซึ่งอาจจะผนวกเอาความฉับพลันเข้าด้วย อีกแบบหนึ่งคือ แบบสร้างตามลำดับขั้นในระยะยาวอย่างมั่นคง

แบบรุนแรงก็เช่น การให้มีความบีบคั้นกดขี่เกิดขึ้นเหมือนอย่างในบางประเทศ ความบีบคั้นกดขี่ทำให้ประชาชนตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับผู้ที่มาบีบคั้นกดขี่นั้น จึงมีมานะพยายามสร้างตัวเองขึ้นมาให้เข้มแข็ง เพื่อต่อสู้ต้านทาน และทำตนให้เป็นอิสระ เช่นที่ได้มีแล้วในประเทศเพื่อนบ้านของเราบางประเทศ แบบรุนแรงอีกอย่างหนึ่งเข้าใจว่าได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว ซึ่งเหตุการณ์ใหญ่ครั้งที่ผ่านมาแล้วนั้น1 จะถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญของการพยายามปลุกกันขึ้นมาให้เกิดความตื่นตัวก็ได้ จะยังไม่วิเคราะห์หรือวิจารณ์ว่า การตื่นตัวที่เป็นไปแล้วนี้มันดีหรือไม่ดี หรือมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เอาเป็นว่าได้ตื่นตัวแล้ว

การที่คนตื่นตัวแบบนี้มักเป็นการตื่นตัวแบบโครมคราม หรือตื่นตัวแบบตกใจ ที่จริงก็ไม่พร้อมเท่าไร คนที่ตื่นตัวขึ้นมาผลุนผลันโครมคราม ถ้าไม่ดูทิศทางให้ดี อาจจะไปเข้ารกตกเหวก็ได้ อีกอย่างหนึ่งอาจเป็นเพียงว่า เมื่อเห็นเขาวิ่งมา เราก็วิ่งตามไปเฉยๆ โดยไม่รู้ว่าเขาวิ่งไปที่ไหนก็ได้ เพราะเราไม่มีความรู้ในตัวเอง ความตื่นแบบนี้มันก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน คืออย่างน้อยก็ทำให้ลุกขึ้นมา แต่ถ้ายังไม่ตั้งสติให้ดี ต่อไปก็จะมีอันตรายมาก อาจจะพาไปสู่หายนะก็ได้ อาจเกิดเหตุร้ายยิ่งกว่ายังนอนหลับอยู่ด้วยซ้ำไป แต่ถ้าจะรีบตั้งสติแล้วคลำหาทิศทางให้ดีมันก็ไปได้

เพราะฉะนั้น การตื่นตัวแบบนี้ จะถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ได้ แต่ถ้าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วไปเข้าใจผิด จับเอาว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นการแก้ปัญหาที่มั่นคงยั่งยืนแล้วละก็ คงจะทำให้เกิดโทษเกิดภัยแน่ๆ เพราะฉะนั้น จะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้อย่างหนึ่ง การแก้ปัญหาระยะยาวที่มั่นคงอีกอย่างหนึ่ง

การแก้ปัญหาที่มั่นคงระยะยาวเป็นอย่างไร คือการแก้ปัญหาที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจหรือปัญญาที่แท้ ไม่ใช่เพียงว่าตื่นกันขึ้นมาโครมคราม แล้วก็อาจวิ่งตามเขาไปบ้าง หรือวิ่งเองโดยไม่รู้ทิศทางบ้าง การจะแก้ปัญหาระยะยาว ก็ต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจ รู้ว่าทิศไหนไปไหน ควรจะไปทิศไหน เราต้องการอะไร ไปแล้วจะได้อะไร จะไปอย่างไร ทางเป็นอย่างไร สภาพสังคมไทยในปัจจุบันก็มีปัญหาขึ้นอย่างหนึ่ง คือ เต็มไปด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ ผู้ฟังอาจเข้าใจว่ามองไปในแง่ร้าย แต่เชื่อว่าต้องถูกมากทีเดียว

สังคมไทยในปัจจุบันมีสภาพเต็มไปด้วยความไม่รู้ ตั้งต้นตั้งแต่ชาวบ้าน ชาวบ้านไม่รู้ว่าความเจริญสมัยใหม่ที่ตนจะไปเข้าหา ไปรับนั้น มันคืออะไร มันมีโทษมีคุณแค่ไหน แม้สูงขึ้นไปในชั้นนักวิชาการ ปัญญาชน ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้อะไร? ไม่รู้ไม่เข้าใจสภาพสังคมของตนเอง ไม่เข้าใจสังคมที่ตนจะแก้ไขปัญหานั้น ไม่รู้ตั้งต้นตั้งแต่ตัวปัญหาเองจนถึงจุดมุ่งหมาย คือไม่รู้ความมุ่งหมายว่า เราจะแก้ปัญหาสังคมนั้น เราจะนำสังคมไปสู่สภาพอะไร สังคมที่ดีนั้นคือสังคมอย่างไร

ขณะนี้ก็ยังเป็นปัญหาว่า เราจะสร้างความเจริญไปทางไหนกันแน่ จะเอาแบบไหน อันนี้ความมุ่งหมายก็ยังไม่แน่นอน และยังมีความลังเลอยู่มาก เพราะฉะนั้น ในสภาพที่เต็มไปด้วยความไม่รู้นี้ ย่อมทำให้เกิดความไม่แน่ใจ การที่จะทำอะไรโดยไม่มั่นใจตนเองและเกิดความตื่น ทำให้ไม่ดำเนินไปด้วยดีเท่าที่ควร และอาจมีความผิดพลาดได้ง่ายด้วย

ที่ว่าเต็มไปด้วยความไม่รู้นั้นอย่างไร ทำไมจึงมาโทษแม้แต่นักวิชาการซึ่งเป็นปัญญาชน ปัญญาชนซึ่งปัจจุบันนี้ตั้งตัวจะเป็นผู้แก้ปัญหาสังคม จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบมากที่สุด ในการที่จะทำตนให้พร้อมในการที่จะแก้ปัญหาสังคมนั้น แต่ในสายตาของอาตมภาพในฐานะพระสงฆ์เห็นว่า นักวิชาการและปัญญาชนเอง ยังขาดความพร้อมอยู่มาก เราจะแก้ปัญหาอะไร เราแก้ปัญหาสังคม สังคมไหน สังคมไทย

พอพูดถึงสังคมไทยกลับเป็นสังคมที่เราเองยังไม่ค่อยรู้ ขณะนี้เราได้นักวิชาการปัญญาชนที่รู้เรื่องความเจริญของตะวันตกมาก รู้ความเจริญแบบต่างประเทศ (ซึ่งก็รู้ไม่ชัดไม่จริง) เสร็จแล้วเราไม่เข้าใจสังคมของเราอย่างแท้จริง เราก็จะเอาความเจริญอีกแบบหนึ่งมายัดเยียดให้แก่ประเทศไทย2

ถ้ามองไปแง่หนึ่งก็เหมือนกับการจะเอาต้นไม้ของเมืองฝรั่งมาปลูกในแผ่นดินไทย โดยที่ว่าดินฟ้าอากาศก็เป็นของไทย แต่เราจะบังคับให้ดินฟ้าอากาศไทยนี้ รับเอาต้นไม้นั้นมาขึ้นงอกงามให้ได้ โดยไม่ศึกษาองค์ประกอบทุกอย่างของดินฟ้าอากาศไทยให้เข้าใจชัดเจน เพื่อทำการปรับปรุงแก้ไข เราก็จะบังคับขนเอาดินฝรั่งมาใส่ใต้ฟ้าอากาศไทย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญหาขั้นพื้นฐานของสังคมไทย ในช่วงต่อแห่งความเปลี่ยนแปลงปัญหาจากความไม่รู้ของปัญญาชน >>

เชิงอรรถ

  1. หมายถึง เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
  2. ดู บันทึกที่ ๓ ‘ปัญหาเกี่ยวกับการสร้างสรรค์รากฐานของความเจริญที่แท้’ หน้า ๖๙

No Comments

Comments are closed.