เร่งแก้ปัญหาระยะสั้น ให้สัมพันธ์กับการแก้ปัญหาระยะยาว

19 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 5 จาก 14 ตอนของ

เร่งแก้ปัญหาระยะสั้น ให้สัมพันธ์กับการแก้ปัญหาระยะยาว

ในการแก้วิกฤตินั้นบอกแล้วว่าเรามักจะมองเฉพาะหน้า ซึ่งเป็นระยะสั้น แต่ในการแก้ปัญหาระยะสั้นนั้นถ้าไม่มองระยะยาวประกอบไปด้วย แม้แต่การแก้ปัญหาระยะสั้นก็จะไม่ได้ผลจริง ฉะนั้นจึงต้องมองยาวมองไกล แต่ก็ต้องพูดเป็นขั้นเป็นตอน

ตอนแรกนี่พูดถึงการแก้วิกฤติเฉพาะหน้าก่อน เวลาเรือแตก เวลาไฟไหม้ จะทำอย่างไร? ก็ต้องช่วยคนที่จะตายก่อนซิ อันนี้สำคัญ แต่อย่าลืมว่าเราก็อยู่ในเรือที่แตกด้วยกัน ไม่ใช่คนนอก เดี๋ยวจะไปนึกว่าเราเป็นคนนอกจะเข้ามาช่วยคนที่ติดไฟ คนที่จะจมน้ำ เป็นต้น

เราก็อยู่ในเรือที่แตกด้วย เราก็อยู่ในตึกที่ไฟไหม้ด้วย เราจะทำอย่างไร เราก็จะต้องช่วยตัวเองให้ดีด้วย คือตัวเองก็ต้องมีความแข็งแรงตั้งตัวได้ พร้อมกันนั้นก็ไม่ทอดทิ้งคนอื่น และพยายามช่วยเหลือเขา แต่สิ่งสำคัญก็คือสำหรับคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมนี้ต้องช่วยคนที่จะตายให้รอด ให้เขามีทางไป อย่างน้อยก็ช่วยชี้นำบอกทางออกให้พ้นไฟ หนีไฟไปทางนี้นะ ชวนกันไป ไม่ใช่เอาตัวรอดคนเดียว ทั้งนี้ก็ต้องสุดแต่สถานการณ์ด้วย แต่หมายความว่าจะต้องมีการคำนึงคิดถึงกันในการที่จะช่วยคนที่สิ้นทางหมดทาง เรื่องนี้มีความสำคัญมากในขณะนี้ เพราะถ้าปล่อยปละละทิ้งเขา ก็จะทำให้สังคมเริ่มตั้งต้นในทางที่ไม่ดี การตั้งต้นที่ดีก็คือ ช่วยกันในขณะนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ แล้วความสามัคคีก็จะมีมา

อีกอย่างหนึ่ง ในสถานการณ์อย่างที่กล่าวคือคนกำลังแตกตื่นตระหนกตกใจนี้ ก็จะต้องมีการรักษาความสงบและความมีสติมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ทำอย่างไรจะให้คนที่อยู่ในสถานการณ์นี้ตั้งสติได้ โดยเฉพาะการวางตัวและการทำหน้าที่ของผู้ที่เป็นผู้นำ แต่ก็ต้องเริ่มจากตัวเองของทุกคน เริ่มแต่จะต้องตั้งสติให้ได้ อย่าแตกตื่น อย่าตระหนกตกใจอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ถ้าเป็นหัวหน้าหมู่ชนก็พยายามปลุกใจให้ปัญญา ที่จะให้เกิดกำลังใจกันขึ้นมา พร้อมทั้งให้มองเห็นอะไรๆ เข้าใจสถานการณ์ชัดขึ้น และให้สติที่จะไม่แตกตื่นมัวแต่ตระหนก

อีกอย่างหนึ่งก็คือ สถานการณ์ที่เรียกว่าการช่วงชิง การแย่งกันออก การหาทางรอดให้กับตัวเอง ในสถานการณ์อย่างนี้ สิ่งที่น่ากลัวคืออาชญากรรม ซึ่งจะต้องเตรียมป้องกันให้ดี เรื่องอาชญากรรมนี่ก็รวมอยู่ในเรื่องของการรักษาความสงบมั่นคง ไม่ให้ตื่นตระหนกตกใจ เป็นการรักษาพื้นฐานของสังคมไว้ ใครมีหน้าที่อะไรก็แบ่งกันไปทำเรื่องนั้น แต่ลึกลงไปก็คือในจิตใจต้องมีกำลังใจ เอาทุกข์มาปลุกใจ

เรื่อง เอาทุกข์มาปลุกใจ นี้คือการเอาส่วนดีของทุกข์มาใช้ อย่างที่ในพระพุทธศาสนาท่านสอนเริ่มต้นด้วยทุกข์ เพราะอย่างน้อยคนที่จะแก้ปัญหาก็ต้องรู้จักทุกข์รู้จักปัญหาก่อน แต่อีกอย่างหนึ่งที่ว่าทุกข์มีประโยชน์ก็คือ คำว่าทุกข์นี้แปลว่าบีบคั้น ทุกข์เป็นตัวบีบตัวคั้น การบีบคั้นกดดันทำให้เกิดแรงดิ้น แรงดิ้นนี้ดีตอนที่ว่าทำให้คนไม่ประมาท ไม่นอนไม่เฉย แต่จะลุกขึ้นดิ้นรน พยายามที่จะหาทางออกแล้วก็เกิดกำลัง ถ้าเราใช้แรงดิ้นหรือพลังดิ้นให้เป็นประโยชน์ เราก็จะเดินหน้าต่อไปได้ แต่คนที่มีทุกข์นี้ ในตอนที่ดิ้นรน ถ้าอยู่ในอาการตระหนกตกใจ ก็จะเตลิดกลายเป็นซ้ำเติมตัวเองให้ยิ่งเสียหาย เพราะฉะนั้น ตอนนี้ทำอย่างไรจะมีสติด้วยพร้อมกับเอาพลังดิ้นหรือแรงดิ้นจากความทุกข์มาใช้ประโยชน์ให้ได้ เรียกว่าเป็นการเอาทุกข์มาเป็นเครื่องปลุกใจ ถ้าเราใช้เป็นก็เป็นประโยชน์

ทุกข์นั้นคู่กับสุข คนเรามุ่งหมายสุข ตามวงจรปกติของปุถุชนมีคติว่า เมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย อันนี้เป็นธรรมดา แต่พอทำสำเร็จแล้ว พอผ่านพ้นทุกข์ภัยไปได้ สมใจสุขสบายแล้ว ตอนนี้ก็มีแนวโน้มจะเฉื่อยลงหรือจะนอนเสวยความสุข คนที่สุขสบายจึงมักกลายเป็นคนหยุด พอหยุดแล้วก็เลยขี้เกียจเฉื่อยชา ก็เลยกลายเป็นว่า ความสุขกลับมีโทษ เพราะทำให้คนหยุดนอนสบาย แต่ความทุกข์ทำให้คนดิ้น มีกำลัง ดังนั้นคนที่ประสบความสำเร็จจึงมาจากคนที่ประสบทุกข์หรือถูกบีบคั้น มากกว่าคนที่มีความสุข เพราะคนที่มีความสุขมักจะหลงเพลิดเพลินนอนสบาย เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราก็เอาทุกข์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ นี่คือการรู้จักใช้ทุกข์ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะต้องคอยระลึกว่าทุกข์นั้นต้องใช้ให้เป็น ส่วนความสุขนั้น เดี๋ยวจะพูดต่อไป แต่ตอนทุกข์นี่ เมื่อใช้เป็นก็เป็นประโยชน์มาก นี่เป็นด้านจิตใจ ที่ว่าต้องมีจิตใจเข้มแข็ง และรู้จักวางใจต่อความทุกข์ให้ถูกต้อง ให้เป็นเครื่องปลุกใจ

อีกด้านหนึ่งก็คือปัญญา ซึ่งคู่กับกำลังใจ ปัญญานี้เริ่มตั้งแต่การมองเหตุการณ์ให้ถูกต้อง การไม่มองผิวเผินแค่เพียงปรากฏการณ์แล้วตื่นตูมไป แต่มองให้ลึกซึ้งลงไปถึงองค์ประกอบที่ซ้อนอยู่ข้างใต้หรือภายใน เช่นเหตุปัจจัยเป็นต้น ว่าส่งผลต่อกันมาอย่างไร แม้แต่เหตุปัจจัยในคนไทยแต่ละคนที่มาร่วมมาปรุงแต่งกันเป็นสังคมนี้ อย่างที่พูดแล้วว่าที่เราเป็นอยู่มามีความฟุ้งเฟ้อกันมาก เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม ถ้าเรามองสถานการณ์ได้ถูกต้องโดยวิเคราะห์เหตุปัจจัยได้ เราก็จะพร้อมที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นทุนในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เมื่อมองลึกเข้ามาแล้ว ก็มองกว้างออกไป พร้อมทั้งตั้งจุดมุ่งหมายระยะยาวด้วย

การตั้งจุดมุ่งหมายก็เป็นเรื่องของปัญญา แต่ต้องเป็นการตั้งจุดหมายจากความเข้าใจในสถานการณ์ และเป็นจุดหมายระยะยาวเพื่อจะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ขณะนี้เป็นระยะเวลาสำหรับการใช้ปัญญาในแนวทางนี้ ทั้งวิเคราะห์อดีต ทั้งวางแผนอนาคต ที่พูดมาแล้วนั้นเป็นเรื่องของการตั้งตัวระยะสั้น แต่ต่อไปนี้ สิ่งที่สำคัญก็คือ การแก้ปัญหาระยะยาว คิดว่าเราน่าจะสนใจเรื่องการแก้ปัญหาระยะยาวมากกว่า

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถึงแม้วิกฤติมา ถ้าสำรวจตัวเอง ก็เริ่มตั้งตัวได้ปรับแก้การดำเนินชีวิตของคนไทยเสียใหม่ ก็จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน กลมกลืนกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว >>

No Comments

Comments are closed.