พิสูจน์คุณค่าของการศึกษา ด้วยการช่วยพัฒนาคนคราววิกฤติ

19 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 8 จาก 14 ตอนของ

พิสูจน์คุณค่าของการศึกษา
ด้วยการช่วยพัฒนาคนคราววิกฤติ

ถึงตอนนี้ การดำเนินชีวิตอย่างที่เราต้องการ เช่น จะให้คนดำเนินชีวิตอย่างประหยัด ก็จะต้องมีการฝึกกัน ขอยกตัวอย่างสักนิดหน่อย เช่น การฝึกให้คนประหยัดซึ่งถือว่าจำเป็นในเวลานี้ ถ้าเราบอกว่าให้ประหยัด คนทั่วไปจะมีความรู้สึกว่า ให้ใช้จ่ายแต่น้อย แต่ก่อนเคยใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้อย่างสบาย มีความสุขด้วยการบำรุงบำเรอตัวเอง แต่ตอนนี้จะต้องใช้น้อยๆ อย่างจำกัด พอคิดอย่างนี้ก็มีความรู้สึกบีบคั้น พอพ่อแม่บอกลูกให้ประหยัด ให้ใช้จ่ายน้อยๆ ลูกจะรู้สึกบีบคั้นใจทันที แต่ถ้าเราให้การศึกษาที่ถูกต้อง การประหยัดจะมีความหมายในเชิงบวก

การประหยัดในความหมายเชิงบวกคืออะไร การประหยัดก็คือ การใช้ของน้อยที่สุดให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ถ้าเรามองในแง่นี้ก็กลายเป็นความหมายเชิงบวก แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ มันจะพ่วงมากับการฝึกฝนพัฒนาคน คนที่ใช้ของน้อยที่สุดให้ได้ประโยชน์มากที่สุด จะรู้สึกว่า ตนมีความสามารถและได้พัฒนาขึ้น เช่น ถ้าเราให้เงินเด็กไป ๑๐๐ บาท แล้วบอกว่า หนูลองคิดดูว่าหนูจะทำอย่างไรให้เงิน ๑๐๐ บาท เกิดมีประโยชน์มากที่สุด หนูจะใช้เงินจำนวนนี้ทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้เด็กจะใช้ความคิด เด็กจะต้องฝึกตนเองโดยใช้ปัญญา เช่น คิดวางแผนในการใช้เงิน

ต่อมาพอไปใช้เงินจริง ถ้าเด็กใช้ได้ประโยชน์เกิดขึ้นมาก แกจะมีความภูมิใจ ว่าแกประสบความสำเร็จ เด็กจะได้ทั้ง ๑. ใช้เงินน้อย ได้ของมาก ๒. ได้การเรียนรู้ การฝึกฝนพัฒนาตน ๓. มีสุขภาพจิตที่ดี คือ มีความภูมิใจได้ความสุขในการพัฒนาความสามารถของตน

เพราะฉะนั้นการประหยัดที่ดีจะต้องใช้ในเชิงบวก ให้เป็นเครื่องมือในการฝึกฝนพัฒนาคน เด็กจะไม่รู้สึกว่าบีบคั้นจิตใจ แต่จะรู้สึกมีความสุขและภูมิใจด้วยที่ว่าตนเองมีความสามารถ ในการใช้เงินน้อยนิดเดียวให้เป็นประโยชน์ได้มากที่สุด เขาจะได้ประโยชน์จากการประหยัดอย่างแท้จริง ประโยชน์ก็ได้มากด้วย พร้อมกันนั้นคนก็พัฒนาความสามารถและปัญญาก็เกิดขึ้น พร้อมทั้งความสุขความภูมิใจด้วย

ฉะนั้น จะต้องเริ่มต้นกันในครอบครัว อย่าพูดในเชิงลบว่า อย่าซื้อนั่นอย่าซื้อนี่ ถ้าพูดอย่างนี้ เด็กใจไม่สบายเลย ถูกกดถูกบีบตลอดเวลา แล้วทุกข์ก็ตามมา แต่ต้องเอาการศึกษาเข้ามาที่ตรงนี้ โดยบอกว่า หนูลองคิดดูซิว่าจะใช้เงินจำนวนน้อยที่สุดนี้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร แกก็เริ่มคิด และเมื่อทำได้แกจะภูมิใจมาก คนก็พัฒนาไปพร้อมด้วยจิตใจที่เป็นสุข และประโยชน์ก็เกิดขึ้นแก่ชีวิตและแก่สังคม นี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง

การดำเนินชีวิตอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทำตัวแบบที่สภาพร้ายจะไม่กระทบกระเทือนเรา หรือกระทบน้อยที่สุด อย่างผู้ที่มีชีวิตอยู่เวลานี้สังคมของเรามีพื้นฐานดีพอสมควร เช่นมีทุนเดิมในทางทรัพยากรธรรมชาติที่นับว่าดี สินค้าภายในประเทศเราด้านปัจจัย ๔ ที่เป็นของจำเป็นพื้นฐานของชีวิต เราก็มีพร้อม ถ้าเราดำเนินชีวิตถูกต้อง เราไม่จำเป็นต้องใช้ของนอกมาก การดำเนินชีวิตจะถูกกระทบกระเทือนค่อนข้างน้อย แต่คนไหนพึ่งสินค้าภายนอกมาก ก็ถูกกระทบกระเทือนมาก นี่เป็นตัวอย่างของการรู้จักดำเนินชีวิต เป็นการทำตัวชนิดที่ว่าให้สภาพวิกฤติกระทบได้น้อยที่สุด

พร้อมกันนั้น ในทางจิตใจ นอกจากให้กระทบกระเทือนทางกายน้อยแล้วก็ให้เกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจน้อยด้วย กล่าวคือ ทางจิตใจก็ให้รู้เท่าทันความจริง รู้เท่าทันโลกธรรม ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำใจให้ถูกกระทบกระเทือนจากโลกธรรมให้น้อยที่สุด ท่านบอกว่าคนเราอยู่ในโลกย่อมถูกกระทบกระเทือนด้วยโลกธรรม มีทั้งได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ เป็นเรื่องธรรมดา เราจะต้องรู้เท่าทันว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เอามาใช้เป็นบทฝึกหัดในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง ยามดีก็เป็นโอกาสในการที่จะสร้างสรรค์ ก็เอาสิ่งที่ได้มา คือลาภยศนั้นไปใช้ทำการสร้างสรรค์ ทำความดีให้มากขึ้น ส่วนยามที่เสื่อมกระทบ พบสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ก็ใช้เป็นบททดสอบตัวเอง มันก็กลายเป็นเครื่องมือฝึกฝนพัฒนาตนเอง หรือใช้เป็นบทเรียน ก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น

ในทางธรรมถือว่า ถ้ามีโยนิโสมนสิการแล้ว ก็เอาประโยชน์ได้จากทุกสถานการณ์ ไม่ว่าเคราะห์ไม่ว่าโชค เพราะฉะนั้นเรื่องของทุกข์ เรื่องของเคราะห์ เรื่องของโชคจะดีหรือร้าย บางทีก็อยู่ที่การปฏิบัติต่อมัน คนที่มีปัญญาไม่ประมาทก็ทำเคราะห์ให้เป็นโอกาสได้ หรือทำเคราะห์ให้เป็นโชคได้ แต่ถ้าประมาทเสียอย่างเดียวก็ทำโอกาสนั้นให้เป็นเคราะห์ไป แม้แต่โอกาสที่มาถึงก็กลายเป็นเคราะห์ร้าย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ต้องจัดการศึกษาที่ทำให้คนสามารถดำเนินชีวิตได้ถูกต้องถึงแม้เศรษฐกิจจะวิกฤติ แต่ถ้าจิตปัญญาไม่วิกฤติ ก็จะแก้ปัญหาได้ ให้เศรษฐกิจพ้นวิกฤติ >>

No Comments

Comments are closed.