สู่ยุคใหม่ แห่งการสร้างสรรค์สังคมไทย

19 ธันวาคม 2540
เป็นตอนที่ 14 จาก 14 ตอนของ

สู่ยุคใหม่ แห่งการสร้างสรรค์สังคมไทย

ตอนนี้เวลาหมดแล้ว ขอพูดสั้นๆ ว่าสิ่งสำคัญที่จะต้องทำต่อไป ขอยกเป็นคำสรุปว่า

“อย่ามองแคบแค่ไทย อย่ามองใกล้แค่คราวทุกข์”

เวลานี้ เมือถึงคราววิกฤติ เกิดความทุกข์ขึ้น มันชวนให้เรามองแคบ มองแต่ตัว บางทีไม่มองแค่เมืองไทยด้วยซ้ำ มองแค่ตัวเองคนเดียวเลย มองแค่ไทยก็ยังดี แต่มองแค่ไทยก็ยังไม่พอ ต้องมองไปทั่วโลก ถ้าเราจะแก้ปัญหาโดยเฉพาะระยะยาว จะต้องมองไปทั่วโลก และมองด้วยความรู้เท่าทัน อย่างน้อยไม่ถูกพัดพาให้ไหลไปตามกระแส ไม่ถูกอิทธิพลภายนอกครอบงำ ต้องรู้ทัน แล้วคิดที่จะก้าวไปสู่การร่วมรับผิดชอบสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ต้องรับผิดชอบโลกด้วย อย่าคิดแค่รับผิดชอบเมืองไทยเท่านั้น

๑. ในการมอง อย่ามองแคบแค่ไทย และ

๒. ทำจิตทำปัญญาให้สมกับโลกาภิวัตน์

พูดกันว่าเป็นโลกาภิวัตน์ แต่คิดแคบนิดเดียว มองแค่ตัวเองคนเดียว มองแค่เมืองไทย ไม่สอดคล้องกัน เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นโลกาภิวัตน์ อะไรๆ ก็ไร้พรมแดน เราก็ต้องทำจิตปัญญาให้สมกัน คือ ทำใจให้กว้าง และใช้ปัญญามองให้ไกลไปทั่ว ให้เป็นจิตปัญญาที่ไร้พรมแดนด้วย ต้องรู้เท่าทันโลก รู้เหตุปัจจัยของความเคลื่อนไหวในโลก รู้กระแสเหตุปัจจัย เช่น รู้ฝรั่งก็รู้ให้ถึงเหตุปัจจัยของฝรั่ง อย่ารู้แค่ผล หรือรู้แค่ปรากฏการณ์ของฝรั่งไม่ได้ ต้องมองกว้าง และคิดลึก คิดไกล

พร้อมกันนั้นก็อย่ามองใกล้แค่คราวทุกข์ ไม่ใช่ว่าคราวทุกข์ก็มองอยู่แค่ยามวิกฤตินี้ ต้องมองยาวต่อไปข้างหน้าว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะสร้างสรรค์ประเทศชาติโดยมีจุดหมายอย่างไร แล้วก็ไม่ใช่มองแค่เศรษฐกิจ สิ่งดีงามที่จะต้องทำมีอีกมากมาย ไม่ใช่ว่าพอแก้เศรษฐกิจได้ เดี๋ยวเราก็จะสบาย พอสบายก็ลงนอนอีกแล้ว แล้วก็ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยอีก ต้องมองต่อไปอีก เศรษฐกิจเป็นเพียงปัจจัย พระบอกว่า วัตถุและเศรษฐกิจเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้เราก้าวไปทำสิ่งที่ดีงาม ทำการสร้างสรรค์สิ่งอื่นต่อไป

การที่จะเป็นผู้นำในโลก ไม่ใช่นำแค่ทางวัตถุ แต่จะต้องนำทางจิตปัญญา การนำที่แท้ยั่งยืน คือการนำทางจิตใจและทางปัญญา ฉะนั้น สังคมไทยนี้อย่ามุ่งหมายแคบๆ ใกล้ๆ ต่ำๆ พอเห็นเขาเป็นผู้นำในโลกเศรษฐกิจ ก็อยากจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจบ้าง มันยังต่ำเกินไป เศรษฐกิจนั้นสำคัญมาก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเศรษฐกิจเป็นปัจจัย เราต้องอาศัยมันก้าวต่อไป ถ้าติดอยู่แค่เศรษฐกิจก็ผิด เรียกว่า ใฝ่ต่ำ เราจะต้องเป็นผู้นำทางปัญญาให้ได้

ไทยจะต้องมุ่งหมายเป็นผู้นำทางปัญญา ยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนากันต่อไป คุณค่าของเศรษฐกิจอยู่ตรงนี้ คือเอามันมาเป็นฐาน เป็นปัจจัยเอื้อในการก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำทางปัญญานั้น อย่าใฝ่ต่ำแค่เอาดีทางเศรษฐกิจ แต่ต้องใฝ่สูง มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ชีวิต สังคมและโลกที่ดีงาม มีสันติสุขแท้จริงให้ได้

สุดท้ายก็คงจะบอกว่า เตรียมสร้างฐานของสังคมใหม่ให้ดี ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างสังคมใหม่ หรือถ้าพูดไม่เอาใหญ่เกินไปก็เป็น ‘สังคมยุคใหม่’ เมืองไทยต้องขึ้นยุคใหม่แล้ว จึงต้องสร้างฐานของสังคมไทยยุคใหม่นั้นให้ดี

ขณะนี้เมืองไทยมาถึงโค้งใหม่แห่งประวัติศาสตร์แล้ว โค้งนี้ของประวัติศาสตร์เป็นโค้งสำคัญ จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เราจะไปดีหรือไปร้าย ก็ถึงโอกาสละคราวนี้ ต้องไปให้ดี โค้งนี้ต้องทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะก็คือการถือโอกาสที่จะให้การศึกษาที่ถูกต้อง ด้วยการฝึกฝนอบรมเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะมาสร้างชาติ

เด็กที่จะเป็นผู้สร้างชาติได้ ต้องเป็นนักสร้างสรรค์ ตอนนี้เด็กของเราส่วนใหญ่เป็นนักบริโภค ถ้ามัวแต่เสพบริโภค ไม่เป็นนักสร้างสรรค์ จะสร้างชาติได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จะต้องพัฒนาเด็ก ให้เป็นนักสร้างสรรค์ให้ได้ การที่เด็กจะเป็นนักสร้างสรรค์ได้ ก็จะต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำ ใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ บากบั่นสู้สิ่งยาก อย่างน้อยต้องเป็นนักผลิต ถ้ามัวแต่เป็นนักเสพนักบริโภคก็เดินหน้าไปไม่ได้ เป็นแค่นักผลิตคือเป็นนักสร้างสรรค์ขั้นต่ำก็ยังดี แต่ถ้าจะให้งามควรก้าวไปเป็นนักสร้างสรรค์ที่แท้จริง

คนเรามีเรื่องเสพ เรื่องศึกษา และเรื่องสร้างสรรค์ ๓ อย่างนี้ เราอย่าหยุดแค่เสพ ถ้าวงจรจบแค่เสพ ก็เป็นอันว่าวนและตันแน่ เสพต้องเอามาทำให้เป็นปัจจัยแก่การศึกษา แล้วการศึกษาก็จะเป็นปัจจัยแห่งการสร้างสรรค์ ไม่ใช่เสพเพียงเพื่อเพลิดเพลินบำรุงบำเรอตัวเองให้สุขสบาย แล้วก็จบ เป็นจุดหมายอย่างที่ว่าข้างต้น

ต้องถามว่า เราเสพบริโภคเพื่ออะไร คำตอบก็คือ เพื่อเราจะได้พร้อม เพื่อเราจะได้มีกำลังที่จะเดินหน้า เพราะวัตถุเป็นปัจจัยหรือเป็นฐาน เมื่อฐานพร้อมแล้ว เราจะได้ศึกษา พอศึกษาแล้ว เราจะได้พร้อมที่จะทำการสร้างสรรค์ เพราะเราจะมีปัญญาที่จะทำอะไรเป็น ถ้าเราใช้วัตถุโดยเฉพาะอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อเสพ เราก็จบแค่หาความสุข เอาคอมพิวเตอร์มาเล่นเกมส์ท่าเดียว ดูทีวีแต่ละวันก็ดูแต่การบันเทิง ใช้ไอทีเพื่อเสพ

เดี๋ยวนี้ถามเด็กไทย เด็กยอมรับว่า ฉันใช้ทีวี ใช้ไอที ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อเสพ ๙๐% ใช้เพื่อการศึกษาไม่ถึง ๑๐% เมื่อสนทนากันไป เด็กบอกว่าต่อไปนี้จะแก้ไขปรับปรุง เอา ๕๐ – ๕๐ คือจะใช้เพื่อเสพ ๕๐% ใช้เพื่อศึกษา ๕๐% แต่ไม่ต้องเอาถึงขนาดนั้นหรอก ตอนนี้ยอมให้ เห็นใจเด็ก เพราะผู้ใหญ่ทำไว้ผิด ให้เด็กใช้ไอทีเพื่อเสพ ๗๐% ขอเพื่อศึกษาแค่ ๓๐% ถ้าเด็กใช้ทีวีเพื่อศึกษา ๓๐% ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาเพื่อสร้างสรรค์ สัก ๓๐% เมืองไทยจะเริ่มตั้งตัวได้ เอาแค่นี้ก่อน ฉะนั้น ต้องให้เสพเป็นปัจจัยแก่ศึกษา และให้ศึกษาเป็นปัจจัยแก่สร้างสรรค์ เมื่อไรเด็กไทยเป็นนักสร้างสรรค์ เขาจะสร้างชาติไทยได้แน่นอน

สำหรับยุคที่ผ่านมา เราคงต้องยอมรับว่าเราคงเดินทางมาผิด ไม่ใช่ผิดหมด แต่ก็ผิดมาก เช่น เห็นผิด คิดผิด เป็นอยู่ผิด ดำเนินชีวิตผิด เราเพลินกับยุคกินบุญเก่า เลยเสวยผลและนอนสบาย ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ เป็นนักบริโภค แถมบางทีผลบุญที่เสวย หรือสมบัติที่บริโภคนั้น เป็นของที่ยืมเขามาชื่นชมเสียด้วย ไม่ใช่สมบัติของตัวเอง ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยเรี่ยวแรงการผลิตของตน ความสุขความพรั่งพร้อมที่มีก่อนวิกฤตินั้น เป็นสมบัติที่ยืมเขามา ใช่หรือเปล่า ไม่ใช่สมบัติที่ตัวสร้างขึ้น ถ้าสร้างขึ้นมาเองแล้ว ชื่นชมเสวยผลบุญเก่าไม่สร้างต่อ ก็ยังแย่แล้ว นี่ไปเอาสมบัติของคนอื่นมาชื่นชมเสียอีก ก็ยิ่งแย่ใหญ่

ฉะนั้น ต่อนี้ไปต้องสร้างของตัวเองให้ได้ ต่อไปนี้ต้องเป็นยุคแห่งการสร้างสรรค์ เราจะต้องสร้างเด็กไทยรุ่นใหม่ ให้เป็นประชากรของยุคแห่งการสร้างสรรค์สังคมใหม่ให้ได้ ด้วยการพัฒนาเด็ก ให้การศึกษาเด็ก ให้เป็นนักสร้างสรรค์ เริ่มตั้งแต่ ให้เป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำ ใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ เป็นนักผลิตที่บากบั่น สู้สิ่งยาก ไม่กลัวงานหนัก

“ทางข้างหน้าอีกยาวไกล ไทยพร้อมที่จะเดินไปหรือยัง?” ขอถามเท่านี้

ขอจบปาฐกถาวันนี้ไว้ เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ทุกท่าน ทั้งในที่ประชุม และนอกที่ประชุม ขอทุกท่านจงมีความสุขความเจริญก้าวหน้า ในปีใหม่ ๒๕๔๑ และตลอดไป โดยทั่วกันทุกท่าน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ไม่ว่าจะเป็น “ขาขึ้น” หรือ “ขาลง” ก็ต้องเตรียมขาของเราไว้ก้าวให้ดี

No Comments

Comments are closed.