— วัดมีบทบาทในสังคมไทยอย่างไร?

21 กรกฎาคม 2518
เป็นตอนที่ 14 จาก 16 ตอนของ

วัดมีบทบาทในสังคมไทยอย่างไร?

ย้อนกลับไปพูดถึงหน้าที่ของวัด ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า วัดเป็นทั้งสถานที่ดำเนินกิจการในหมู่ของพระสงฆ์เอง และเป็นที่ประกอบกิจกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชน กิจการและกิจกรรมเหล่านี้ อิงอยู่กับหน้าที่ หรือศาสนกิจหลักของพระสงฆ์ คือ การศึกษา การปฏิบัติธรรม และการเผยแผ่สั่งสอนประชาชน

จากการปฏิบัติกิจหน้าที่และดำเนินกิจการเหล่านี้ บทบาทของวัดได้พัฒนาขึ้นโดยลำดับตามกาลเวลา จนในที่สุด วัดได้กลายเป็นศูนย์กลางของสังคม เป็นที่รวมจิตใจของประชาชน ทำหน้าที่ทั้งทางศาสนา ทางการศึกษา ทางวัฒนธรรม และทางสังคมโดยตรง มีบทบาทที่เป็นรายละเอียดมากมาย

ในที่นี้จะตัดตอนพูดถึงเฉพาะบทบาทของวัดที่มีในสังคมไทย เท่าที่ดำเนินมาก่อนความเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก เมื่อกล่าวโดยสรุป บทบาทเหล่านั้นมีดังนี้

๑. เป็นสถานศึกษาและฝึกอบรมศีลธรรม สั่งสอนวิชาการต่างๆ เท่าที่มีในสมัยนั้นๆ ทั้งโดยตรง คือ แก่ผู้มาบวชตามประเพณี และแก่เด็กที่มาอยู่วัด และโดยอ้อม แก่ผู้มาทำกิจกรรมต่างๆ ในวัด หรือมาร่วมกิจกรรมในวัด ทั้งวิชาหนังสือและวิชาช่างต่างๆ

๒. เป็นสถานก่อกำเนิดและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เป็นที่สืบทอดวัฒนธรรม ที่รวบรวมศิลปกรรม ตลอดจนเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์

๓. เป็นสถานสงเคราะห์ ช่วยให้บุตรหลานชาวบ้านที่ยากจนได้มาอาศัยเลี้ยงชีพพร้อมไปกับได้ศึกษาเล่าเรียน เป็นที่รับเลี้ยงฝึกอบรมเด็กที่มีปัญหา เด็กอนาถา ตลอดจนผู้ใหญ่ซึ่งไร้ที่พักพิง

๔. เป็นสถานที่ปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับปัญหาชีวิต เป็นที่ระบายความทุกข์ความเดือดร้อน ความรุ้สึกคับแค้นข้องใจต่างๆ และ ปรึกษาหารือรับคำแนะนำสั่งสอนเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหา

๕. เป็นสถานที่ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท โดยอาศัยความเคารพนับถือเชื่อฟัง ทำให้พระสงฆ์สามารถทำหน้าที่ประดุจศาลตัดสินความ แต่มุ่งในทางสมัครสมานสามัคคีเป็นสำคัญ

๖. เป็นสถานบันเทิง ที่จัดงานเทศกาล งานสนุกสนานร่าเริง และมหรสพต่างๆ ของชุมชน รวมทั้งเป็นที่เล่นที่สนุกสนานของเด็กๆ

๗. เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำหน้าที่อย่างสวน ที่ให้ความร่มรื่นสดชื่นของธรรมชาติ พร้อมไปกับให้บรรยากาศที่สงบเยือกเย็นทางจิตใจของพระศาสนา

๘. เป็นสถานที่พบปะ ประดุจสโมสร ที่ชาวบ้านบางคนนัดพบ หรือบางคนมาพบปะกันเป็นประจำ บางคนได้มีโอกาสเจอะเจอกันเป็นครั้งคราว ทำให้ไม่ลืมกันไป โดยเฉพาะเป็นที่ชุมนุมสังสรรค์สนทนาปรึกษาหารือกันในกิจการที่เหมาะสม และผ่อนคลาย

๙. เป็นสถานที่แจ้งข่าว แพร่ข่าว และสื่อสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจการของชุมชน ข่าวภายในชุมชนก็ดี ข่าวจากภายนอกชุมชน เช่นข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ของประเทศชาติบ้านเมืองก็ดี อาศัยวัดเป็นศูนย์เผยแพร่ที่สำคัญที่สุด และวัดหรือศาลาวัดเป็นที่สำหรับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนนายอำเภอ เรียกชาวบ้านหรือลูกบ้านมาประชุม หรือถือโอกาสที่มีชุมนุมในงานวัด แจ้งข่าวคราวกิจการต่างๆ

๑๐. เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชน ตลอดจนดำเนินกิจการบางอย่างของบ้านเมือง เช่น เป็นที่กล่าวปราศรัยหาเสียงของนักการเมือง ที่จัดลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือยามสงครามสมัย โบราณ เป็นที่ชุมนุมทหาร ก็มีบ่อยครั้ง

๑๑. เป็นสถานพยาบาล ที่รวบรวมสืบทอดตำรายาแผนโบราณ ยากลางบ้าน ที่รักษาผู้ป่วยเจ็บตามภูมิรู้ซึ่งถ่ายทอดสืบๆ มา

๑๒. เป็นสถานที่พักคนเดินทาง ทำหน้าที่ดุจโรงแรมฟรี สำหรับผู้เดินทางไกล โดยเฉพาะจากต่างถิ่น และไม่มีญาติเพื่อนพ้อง

๑๓. เป็นคลังพัสดุ สำหรับเก็บอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งชาวบ้านจะได้ใช้ร่วมกันเมื่อมีงานที่วัด หรือยืมไปใช้เมื่อตนมีงาน

๑๔. เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม หรือให้บริการด้านพิธีกรรม ซึ่งผูกพันกับชีวิตของทุกคนในระยะเวลาและเหตุการณ์ต่างๆ ของชีวิต ตามวัฒนธรรมประเพณี

ชุมชนไทยแต่ละชุมชน เช่น แต่ละหมู่บ้าน มีวัดประจำชุมชนของตน และต่างก็ยึดถือว่าวัดนั้นเป็นวัดของตน เป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งหมดในชุมชน วัดแต่ละวัดจึงเป็นเครื่องผนึกชุมชนให้รวมเป็นหน่วยหนึ่งๆ ของสังคม วัดที่สำคัญมีปูชนียสถานที่ประชาชนเคารพอย่างกว้างขวาง ก็เป็นเครื่องรวมใจประชาชนทั้งเมือง ทั้งจังหวัด ทั้งภาค หรือทั้งประเทศ พระสงฆ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ก็ได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในระบบการรวมพลังและควบคุมทางสังคม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — วัดเป็นสมบัติของใคร?— วัดมีฐานะและภาวะแตกต่างกันอย่างไร? >>

No Comments

Comments are closed.