— ๓. กฐิน

1 พฤศจิกายน 2520
เป็นตอนที่ 4 จาก 16 ตอนของ

๓. กฐิน

เรื่องกฐิน มีคำสำคัญที่ควรทำความเข้าใจกันก่อน ๒ คำ คือ “กรานกฐิน” กับ “ทอดกฐิน”

กรานกฐิน เป็นพิธีกรรมในฝ่ายของพระภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะ ทอดกฐิน เป็นพิธีกรรมที่พุทธศาสนิกชนกระทำ เพื่อช่วยให้พระสงฆ์กรานกฐินได้สะดวกขึ้น แรกเริ่มทีเดียว มีกรานกฐินก่อน ต่อมาทอดกฐินจึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการกรานกฐินนั้น

กรานกฐิน เป็นบทบัญญัติในวินัยของสงฆ์ ทอดกฐินเป็นพิธีอันมีมาตามประเพณี

“กรานกฐิน” มีความเป็นมาแต่เริ่มต้นว่า ครั้งหนึ่งในพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน ในนครสาวัตถี มีพระภิกษุ ๓๐ รูป เดินทางออกจากเมืองปาฐาจะมาเฝ้า แต่เดินทางไม่ทัน เมื่อระยะทางยังเหลืออยู่ ๖ โยชน์ ก็ถึงเวลาเข้าพรรษาเสียก่อน จำเป็นต้องเข้าพรรษาที่นั่น และรอเวลาอยู่ พอออกพรรษา ทั้งที่ฝนยังตกชุกอยู่ ก็รีบออกเดินทางทันที ทำให้การเดินทางขลุกขลักลำบาก มาถึงวัดพระเชตวันอย่างเปียกปอนมอมแมม ครั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลให้ทรงทราบความแล้ว พระองค์ได้ทรงวางพุทธบัญญัติ อนุญาตให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบถ้วนแล้ว กรานกฐิน กรานกฐินจึงเกิดมีขึ้นอย่างนี้

การกรานกฐิน (เขียน กราลกฐิน ก็มี) มีความหมายว่า พระสงฆ์ผู้จำพรรษาครบถ้วนในวัดเดียวกันจำนวนตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป ประชุมกันมีมติมอบผ้าที่หามาได้ หรือได้รับมาโดยวิธีการที่ถูกต้องให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่งในคณะของตนนั้น พระภิกษุผู้ได้รับแล้วนำผ้าไปตัด เย็บ ย้อม ทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน ให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันเดียวนั้น แล้วมาแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ เมื่อที่ประชุมอนุโมทนา คือให้ความเห็นชอบแล้ว ก็เป็นเสร็จพิธี

สิ่งที่ควรทราบในที่นี้

– ผ้าซึ่งที่ประชุมพิจารณาให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในพิธีนี้ เรียกว่า ผ้ากฐิน

– ที่ว่าทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน อธิบายว่า ผ้า ๓ ผืนนี้ ศัพท์พระ เรียกว่า ไตรจีวร ได้แก่ อันตรวาสก (ภาษาสามัญเรียกว่า สบง) อุตราสงค์ (ภาษาสามัญ เรียกว่า จีวร) สังฆาฏิ เอาผ้ากฐินมาทำเป็นผ้าผืนใดใน ๓ ผืนนี้ก็ได้ แต่เอาเพียงผืนเดียว

– ในการตัดเย็บย้อม เป็นต้น เพื่อทำเป็นจีวรนั้น ท่านให้พระภิกษุทั้งหมดทุกรูปที่ประชุมกันนั้นช่วยกันทำจนเสร็จสิ้น

– ระยะเวลาที่จะกรานกฐินได้คือ ภายในเวลา ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดพรรษาแล้ว คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ความจริง เวลา ๑ เดือน ที่จะกรานกฐินได้นี้ ก็คือเดือนสุดท้ายของฤดู ตามปกติ วินัยสงฆ์อนุญาตให้ใช้เดือนที่กล่าวนี้ เป็นระยะเวลาสำหรับแสวงหาและทำจีวร ซึ่งนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งการตระเตรียมตัวสำหรับการออกเดินทางจาริกในช่วงยาวของเวลาค่อนปีที่เหลือ

ถ้าไม่มีพุทธบัญญัติเกี่ยวกับกฐินนี้ ย่อมอาจเป็นได้ว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว พระภิกษุแต่ละรูปต่างองค์ต่างก็แสวงหาและทำจีวรของตน องค์ไหนพร้อมก็ออกเดินทางไป องค์ไหนทำจีวรไม่เสร็จภายในเวลา ๑ เดือน ก็หมดโอกาสทำจีวร จนกว่าจะถึงฤดูกาลนี้ใหม่ แต่เมื่อมีพุทธบัญญัติให้กรานกฐินแล้ว พระสงฆ์ทุกรูปจะต้องเอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือกัน เป็นการปฏิบัติธรรม คือความสามัคคี ซึ่งเป็นหลักสำคัญแห่งชีวิตของหมู่คณะ สามัคคีอย่างไร? ประการแรก เป็นการพิสูจน์ความพร้อมเพรียงของพระสงฆ์ที่อยู่ร่วมกันมาตลอด ๓ เดือน ที่จะขวนขวายหาผ้ามาเป็นของกลางผืนหนึ่ง เสร็จแล้วต้องมีความพร้อมใจกัน ตกลงกันได้ที่จะมอบให้แก่รูปใดรูปหนึ่ง แล้วต้องพร้อมใจกันขมีขมันตัดเย็บย้อมเป็นต้น ทำจีวรนั้นด้วยกันจนเสร็จ การปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้ต้องเอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ของกันและกันไปด้วย เพราะข้อกำหนดสำคัญที่จะเป็นคุณสมบัติของผู้ควรได้รับผ้ากฐินนั้น นอกจากความประพฤติที่ดีงามและความรู้ธรรมวินัย ก็คือความเป็นผู้มีจีวรเก่าที่สุด ผ้าของกลางนั้นจึงได้เป็นสมบัติของผู้ขาดแคลนที่สุด หรือมีความจำเป็นที่สุด

การกรานกฐินย่อมจะเป็นเหตุให้พระภิกษุในวัดนั้นๆ มีภาระผูกพันที่ทำให้ออกเดินทางช้าลงไปสักหน่อย ช้าเท่าไรก็ขึ้นกับความขวนขวายพร้อมเพรียงกันนั้น อีกประการหนึ่ง ทำให้ได้สละเวลาเพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะคือช่วยเหลือผู้ขาดแคลนผู้จำเป็นที่สุด เมื่อออกเดินทางก็ไปด้วยความสบายใจว่าได้แสดงน้ำใจสามัคคีกันแล้ว และสบายใจว่าท่านที่พำนักมาด้วยกันนั้น แยกย้ายกันไปอย่างผู้ไม่มีความเดือดร้อน

นอกจากนั้น พระภิกษุทุกรูปที่เข้าร่วมกรานกฐิน ยังได้รับ อานิสงส์ คือสิทธิพิเศษทางวินัยอีกด้วย คือขยายเขตแสวงหาและทำจีวรออกไปได้อีก แทนที่จะหมดเขตเพียงกลางเดือน ๑๒ ก็ต่อออกไปจนกลางเดือน ๔ บางทีมัวมาขวนขวายช่วยหาผ้ากฐินเพื่อให้แก่พระองค์ที่จีวรขาดหรือเก่านั้น เลยไม่มีเวลาทำจีวรสำหรับตนเอง เมื่อช่วยกันแล้ว ก็ได้สิทธิพิเศษนี้ คือถ้ายังทำจีวรของตนเองไม่สำเร็จ ก็ยืดเวลาต่อได้อีกเรื่อยไปจนกว่าจะเสร็จ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกลางเดือน ๔ นอกเหนือจากนี้ยังได้อานิสงส์อื่นๆ อีก ๕ อย่าง ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องของการผ่อนผันข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวินัยของพระสงฆ์ เพื่อไม่ต้องสับสน จึงจะไม่กล่าวในที่นี้

การกรานกฐิน มีสาระที่ควรทราบโดยย่อเท่านี้ ต่อจากนี้ควรทราบเรื่องการทอดกฐินต่อไป

“ทอดกฐิน” เกิดจากความคิดของชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์ ที่จะช่วยเหลือสนับสนุนการกรานกฐินของพระสงฆ์ จุดสำคัญของเรื่องอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรจะช่วยให้พระสงฆ์ได้ผ้ากฐินผืนที่จะนำมาประชุมตกลงมอบกันนั้น โดยไม่ให้พระสงฆ์ต้องยุ่งยากลำบากมากนัก เมื่อคิดดังนี้ จึงมีชาวบ้านบางท่านจัดหาผ้ามา แล้วนำไปมอบให้แก่สงฆ์ผู้จะกรานกฐิน การกระทำอย่างนี้เรียกว่า ทอดกฐิน เมื่อนิยมทำตามกันสืบมา ก็กลายเป็นประเพณีทอดกฐิน

การที่นิยมทำกันมาก เพราะนอกจากเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนพระสงฆ์ในการกรานกฐินแล้ว ยังเป็นการบำเพ็ญบุญกุศลอย่างมากด้วย เพราะการถวายผ้ากฐิน เป็นสังฆทาน คือการถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม หรือส่วนกลาง ไม่จำเพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง แล้วแต่สงฆ์จะมอบให้แก่พระภิกษุรูปใดต่อไป และเป็นกาลทาน คือทานที่ถวายได้เฉพาะกาลในเวลาจำกัดเพียง ๑ เดือนที่กำหนดไว้ ในช่วงท้ายฝนเท่านั้น

กิริยาที่ให้ผ้ากฐิน ใช้คำว่า “ทอด” ซึ่งแปลกจากการถวายของอื่นๆ เพราะไม่ได้ประเคน ไม่ได้ถวายแก่พระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด ถวายเป็นของกลางต่อหน้าสงฆ์ทั้งหมดหรือท่ามกลางสงฆ์ทั้งหมด โดยวางปล่อยไว้ จึงเรียกว่า ทอดกฐิน

สาระสำคัญของการทอดกฐิน คือเป็นการขยายขอบเขตของความสามัคคีออกไปถึงชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์ด้วย การทอดกฐินเท่ากับเป็นหลักฐานแสดงความร่วมมือของชาวบ้านแก่พระสงฆ์ ว่าเขายังสนับสนุนพระสงฆ์หมู่นั้นอยู่ด้วยดี อีกอย่างหนึ่ง เป็นสัญญาณบ่งบอกศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระสงฆ์ในวัดนั้นๆ ศรัทธานี้มีความหมายลึกซึ้ง อาจหมายถึงปฏิปทาจริยาวัตรของพระสงฆ์ในวัดนั้นๆ ว่า เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนหรือไม่ ถ้าพระสงฆ์ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ถ้าพระสงฆ์กับประชาชนพร้อมเพรียงสามัคคีกันดี ผ้ากฐินก็จะเกิดมีขึ้นแก่พระสงฆ์ ให้พร้อมที่จะทำการกรานกฐินได้ทันที พระสงฆ์ไม่ต้องยุ่งยากลำบากหาอีก

ชาวบ้านรับภาระครึ่งแรก คือจัดหาผ้ากฐินมาทอด พระสงฆ์รับภาระครึ่งหลัง คือนำผ้ากฐินไปกราน เป็นสัญญลักษณ์แห่งการช่วยกันสืบต่อพระพุทธศาสนาของพุทธบริษัททั้งสองฝ่าย

ตอนแรกก็ถวายแต่ผ้ากฐิน ซึ่งเป็นหลักของพิธี ต่อมาคงรู้สึกว่าไม่เต็มอิ่มแห่งศรัทธา พุทธศาสนิกชนจึงถวายสิ่งอื่นๆ ด้วย นานเข้าของที่ถวายในการทอดกฐินก็มากเข้าทุกที จนกระทั่งบางแห่งกลายเป็นโอกาสสำหรับรวบรวมทุนไว้ทำการใหญ่อื่นๆ เช่น สร้างโรงเรียนพระประยัติธรรม เป็นต้น แต่จะถวายสิ่งของต่างๆ มากมายเท่าใดก็ตาม ตัวกฐินก็ยังคงเป็นผ้าผืนเดียวเท่านั้น ของนอกนั้นไม่ว่าใหญ่น้อยเท่าใด เรียกว่าเป็นบริวารกฐิน ทั้งสิ้น

ระยะแรกก็เป็นงานเฉพาะพิธีโดยหมู่คนมีศรัทธา ต่อมาก็ขยายเป็นงานของหมู่ชน ของชุมชน งานร่วมระหว่างต่างชุมชน จากงานเฉพาะพิธี ขยายเป็นมีงานสมโภชฉลอง มีการเดินทางสนุกสนาน บางแห่งขยายจนกลายเป็นโอกาสแห่งการท่องเที่ยว จากพิธีที่เรียกว่าสังฆกรรมของพระสงฆ์ กลายเป็นงานบุญของพุทธศาสนิกชน จากงานพิธีทางพระศาสนา ขยายออกไปเป็นกิจกรรมที่มีความหมายกว้างขวางทางสังคม

สิ้นฤดูกฐินเมื่อผ่านกลางเดือน ๑๒ มีพิธีลอยกระทงแล้ว ก็เป็นอันจบสิ้นเทศกาลท้ายฝน ได้พูดถึงมหาปวารณา พูดถึงตักบาตรเทโว พูดถึงกฐิน มาแล้วพอสมควร สามอย่างนี้ มีพื้นฐานทางพระพุทธศาสนามาก ส่วนลอยกระทงหนักไปทางพิธีของชาวบ้าน ขอเอ่ยถึงไว้แต่เพียงชื่อ

ไปร่วมพิธีกรรมหรืองานพิธี มีจิตใจสงบเบิกบานผ่องใส ด้วยบรรยากาศแห่งงานนั้น นับว่าเป็นบุญกุศลชั้นต้น

เข้าใจความหมาย เนื้อหาสาระของพิธีกรรมและงานพิธีนั้นด้วย เป็นบุญกุศลชั้นกลาง

นำเอาความหมาย และเนื้อหาสาระนั้น ไปปฏิบัติ หรือประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตด้วย เป็นบุญกุศลชั้นสูงสุด

 

คำถวายผ้ากฐิน

อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ,โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมัง, สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฏิคคัณฺหาตุ, ปะฏิคคะเหตฺวา จะ, อิมินา ทุสเสนะ, กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.

คำแปล

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน กับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้วจงกรานกฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ.

 

คำอปโลกน์กฐิน

แบบ ๒ รูป

รูปที่ ๑

ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ เป็นของ . . . พร้อมด้วย . . . ผู้ประกอบด้วยศรัทธา อุตสาหะพร้อมเพรียงกันนำมาถวาย แด่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในอาวาสนี้

ก็แลผ้ากฐินทานนี้เป็นของบริสุทธิ์ดุจเลื่อนลอยมาโดยนภากาศ แล้วแลตกลงในที่ประชุมสงฆ์ จะได้จำเพาะเจาะจงลงว่าเป็นของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็หามิได้ มีพระบรมพุทธานุญาตไว้ว่า ให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง เพื่อจะทำซึ่งกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาต และมีคำพระอรรถกถาจารย์ ผู้รู้พระบรมพุทธาธิบายสังวรรณนาไว้ว่า ภิกษุรูปใดประกอบด้วยศีลสุตาธิคุณ มีสติปัญญาสามารถ รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพกิจ เป็นต้น ภิกษุรูปนั้น จึงสมควร เพื่อจะกระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตได้

บัดนี้ พระสงฆ์ทั้งปวง จะเห็นสมควรแก่ภิกษุรูปใด จงพร้อมกันยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปนั้น เทอญ.

(ไม่ต้อง สาธุ)

รูปที่ ๒

ผ้ากฐินทาน กับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นสมควรแก่ . . . ซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถ เพื่อกระทำกฐินัตถารกิจให้ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตได้ ถ้าพระภิกษุรูปใดเห็นไม่สมควร จงทักท้วงขึ้นในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ (หยุดนิดหนึ่ง) ถ้าเห็นสมควรแล้วไซร้จงให้สัททสัญญาสาธุการขึ้นให้พร้อมกัน เทอญ.

(สาธุ)

 

แบบกรรมวาจาให้ผ้ากฐิน

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ, ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ,

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต สัมมา, -สัมพุทธัสสะ.

สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ. อิทัง สังฆัสสะ กะฐินะทุสสัง อุปปันนัง, ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง, สังโฆ อิมัง กะฐินะทุสสัง อายัสฺมะโต (อิตถันนามัสสะ) ทะเทยยะ, กะฐินัง อัตถะริตุง. เอสา ญัตติ.

สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ. อิทัง สังฆัสสะ กะฐินะทุสสัง อุปปันนัง, สังโฆ อิมัง กะฐินะทุสสัง อายัสฺมะโต (อิตถันนามัสสะ), เทติ, กะฐินัง อัตถะริตุง. ยัสสายัสฺมะโต ขะมะติ,อิมัสสะ กะฐินะทุสสัสสะ, อายัสฺมะโต (อิตถันนามัสสะ), ทานัง, กะฐินัง อัตถะริตุง, โส ตุณฺหัสสะ, ยัสสะ นักขะมะติ, โส ภาเสยยะ.

ทินนัง อิทัง สังเฆนะ, กะฐินะทุสสัง อายัสฺมะโต (อิตถันนามัสสะ), กะฐินัง อัตถะริตุง. ขะมะติ สังฆัสสะ ตัสฺมา ตุณฺหี, เอวะเมตัง, ธาระยามิ.

หมายเหตุ ในวงเล็บ อิตถันนามัสสะ นั้น ให้ใส่ชื่อผู้ครองกฐินแทน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ๒. ตักบาตรเทโวกฐิน: บทฝึกวิถีชีวิตประชาธิปไตย บนฐานแห่งการให้และการร่วมมือ >>

No Comments

Comments are closed.