— ๑. ปวารณา

1 พฤศจิกายน 2520
เป็นตอนที่ 2 จาก 16 ตอนของ

๑. ปวารณา

ปวารณา แปลว่า การเปิดโอกาสเชิงเชิญชวนให้ขอหรือให้ว่ากล่าวตักเตือน ในที่นี้ หมายถึงการที่พระสงฆ์พูดเปิดโอกาสแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวชี้ข้อบกพร่องและตักเตือนแนะนำกัน

ปวารณา เป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง คือ เป็นกิจที่พระสงฆ์จะต้องทำ เพราะเป็นบทบัญญัติในวินัย ในปัจจุบัน ปวารณายังเป็นพิธีกรรมที่กระทำในหมู่พระสงฆ์โดยเฉพาะ ชาวบ้านไม่เกี่ยวข้องและไม่ใคร่ทราบ

ปวารณา คือการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวชี้ข้อบกพร่องแนะนำกันได้นั้น เป็นเรื่องธรรมดาของพระสงฆ์อยู่แล้ว ครั้นถึงวันสิ้นสุดพรรษานี้ ทำกันเป็นครั้งสำคัญพร้อมกันทุกรูป เป็นครั้งใหญ่ จึงเรียกว่า มหาปวารณา

มหาปวารณา ทำเฉพาะในวันสิ้นสุดพรรษา ที่เรียกว่า วันออกพรรษา (คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) วันเดียวเท่านั้น เพราะเหตุที่มหาปวารณาเป็นกิจกรรมสำคัญในวันสุดท้ายของพรรษา ในทางวินัย จึงเรียกชื่อวันสิ้นสุดพรรษานี้ว่า “วันมหาปวารณา” หาเรียกว่าวันออกพรรษาไม่

สาระสำคัญของมหาปวารณาคือ พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ๓ เดือน ย่อมได้รู้เห็น เข้าใจนิสัยใจคอ ความประพฤติปฏิบัติของกันและกันพอสมควร บางทีอาจได้เห็น ได้ยิน หรือมีเหตุให้ระแวงสงสัยเกี่ยวกับความบกพร่อง ความประพฤติเสียหายของกันและกันบ้าง ก่อนที่จะเดินทางออกจาริกปฏิบัติศาสนกิจ แยกย้ายกันไปในที่ต่างๆ จึงมีบทบัญญัติในวินัยกำหนดให้พระสงฆ์มาประชุมพบปะพร้อมกันทั้งหมดในวันสุดท้ายของพรรษานั้น ทุกรูป ไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย กล่าวคำเปิดโอกาสเชิญชวนกันให้ว่ากล่าวชี้ข้อบกพร่องแนะนำตักเตือนกัน เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ เป็นการได้ช่วยกันสำรวจตนเอง จะได้แก้ไขปรับปรุงตน เตรียมตัวพร้อม และมีความมั่นใจในการที่จะเดินทางออกปฏิบัติศาสนกิจต่อไป

คำปวารณาว่า “สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ, ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา, วทนฺตุ มํ, อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย, ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ”

แปลเป็นภาษาไทยว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอปวารณากะสงฆ์ ไม่ว่าจะเกี่ยวด้วยสิ่งที่ได้เห็นก็ตาม สิ่งที่ได้ยินมาก็ตาม หรือระแวงสงสัยก็ตาม ขอท่านทั้งหลายจงมีใจอนุเคราะห์ ว่ากล่าวบอกข้าพเจ้าเถิด เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น จะแก้ไข”

ปวารณานี้ ถ้าปฏิบัติกันจริงจัง และถ้าชาวบ้านจะเอาอย่าง นำไปปฏิบัติในกิจการและการดำเนินชีวิตทางสังคม ให้เป็นเรื่องสามัญของวงการชาวพุทธ ก็จะเป็นความเจริญก้าวหน้าของพระพุทธศาสนาที่นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่พหูชนสมตามวัตถุประสงค์ของการเผยแผ่ธรรมวินัยอย่างหนึ่ง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑. เรื่องของชาวพุทธ — เทศกาลท้ายฝน— ๒. ตักบาตรเทโว >>

No Comments

Comments are closed.