— ๒. ตักบาตรเทโว

1 พฤศจิกายน 2520
เป็นตอนที่ 3 จาก 16 ตอนของ

๒. ตักบาตรเทโว

มีตำนานเล่าว่า ในพรรษาที่ ๗ หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา พร้อมทั้งเทวดาทั้งหลาย ครั้นสิ้นสุดพรรษาแล้ว ในวันมหาปวารณา (คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่เรียกกันว่าวันออกพรรษา) พระองค์ก็เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลงสู่มนุษยโลกที่เมืองสังกัสสะ ซึ่งเป็นนครสำคัญแห่งหนึ่งของแคว้นโกศล ครั้งนั้น เทวดามากมายได้ตามส่งเสด็จ ฝ่ายมนุษย์ทั้งหลายก็พากันตื่นเต้นดีใจ มาชุมนุมกันรอรับเสด็จอย่างคับคั่ง เป็นธรรมดาของพุทธศาสนิกชน เมื่อมาชุมนุมกันในโอกาสเช่นนี้ ก็ย่อมตักบาตร ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการทำบุญครั้งใหญ่ และถวายการต้อนรับแด่พระพุทธเจ้า

จากตำนานนี้ ก็ได้เกิดประเพณีตักบาตรเทโวสืบต่อมา ตักบาตรเทโวเป็นคำย่อ เรียกเต็มว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ เทโวโรหณะ แปลว่า การลงจากเทวโลก คือการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ตามตำนานที่เล่ามาแล้วนั้นเอง ตักบาตรเทโว จึงหมายถึง การตักบาตรเนื่องในการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก จะเห็นว่า ในพิธีตักบาตรเทโวนี้ มีการชักรถที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ นำแถวพระสงฆ์ที่รับบิณฑบาตด้วย เป็นเครื่องหมายว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงตามตำนานนั้น

เนื่องจากในการออกพรรษาไม่มีพิธีการอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ การตักบาตรเทโวนี้จึงเป็นพิธีที่เป็นเครื่องหมายของการออกพรรษา สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป

การตักบาตรเทโว บ่งบอกถึงความหมายที่ลึกซึ้งลงไปอีก หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับคืนมาสู่โลกมนุษย์ คือการที่มนุษย์ทั้งหลายได้ต้อนรับพระองค์กลับมาอีก ในระหว่างพรรษานั้น พระพุทธเจ้าจะเสด็จปลีกพระองค์ไปปฏิบัติพุทธกิจอย่างใด ณ ที่ใด หรือแก่ชุมชนใดโดยเฉพาะก็ตาม แต่เมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จออกมาบำเพ็ญพุทธกิจในหมู่ประชาชนทั่วไปอีก ประชาชนทั้งหลายจะได้พบได้เฝ้าพระองค์ นี้คือความหมายของการออกพรรษา หรือที่แท้จริงคือการเริ่มต้นของเวลานอกพรรษา เป็นเครื่องบ่งบอกว่าระยะเวลาที่พระสงฆ์อยู่ประจำที่เพื่อดำเนินการศึกษาอบรมภายในหมู่พระสงฆ์เองโดยเฉพาะ เพื่อซักซ้อมตระเตรียมฝึกฟื้นตนเองให้พร้อมยิ่งขึ้น และเพื่อสงเคราะห์ชุมชนหมู่หนึ่งโดยเฉพาะนั้น บัดนี้ ระยะเวลาแห่งศาสนกิจที่เน้นหนักในด้านนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว ต่อแต่นี้ไปเป็นการเริ่มต้นแห่งรอบเวลาใหม่ คือการที่พระสงฆ์จะออกปฏิบัติศาสนกิจจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขของหมู่ชน

ตักบาตรเทโว เป็นเรื่องของประเพณี ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ในวินัย บางวัดจัดในวันมหาปวารณา คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ที่เรียกว่าวันออกพรรษา เพราะถือตามตำนานอันมาในอรรถกถาว่าพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกในวันนั้น แต่บางวัดจัดหลังจากวันนั้น ๑ วัน คือในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ คงจะถือว่าพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาในวันมหาปวารณาก็จริง แต่ประชาชนได้มีโอกาสตักบาตรทำบุญในวันรุ่งขึ้น ประเพณีนี้ในบางวัดบางถิ่นก็เลือนหายไปแล้ว บางวัดหรือบางถิ่นยังปฏิบัติอยู่ แต่ส่วนมากดูจะค่อยๆ จืดจางและอ่อนกำลังลงโดยลำดับ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ๑. ปวารณา— ๓. กฐิน >>

No Comments

Comments are closed.