สังคมไทยกับเทคโนโลยี : เรามีฐานแห่งความสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่

1 มิถุนายน 2538
เป็นตอนที่ 7 จาก 16 ตอนของ

สังคมไทยกับเทคโนโลยี : เรามีฐานแห่งความสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่

ลองคิดดู นี่ก็เป็นเรื่องของไอทีโดยตรง เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น อเมริกาเป็นอย่างไรประเทศไทยน่าจะได้บทเรียนของเขามาใช้ประโยชน์ นี่คือบทเรียนของประเทศอเมริกา ถ้าเราเดินอย่างปัจจุบันก้าวหน้าไปในทิศทางนี้ สภาพที่รออยู่ข้างหน้าของสังคมไทยจะเป็นคล้ายๆ สังคมอเมริกาที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบัน จะต้องถามว่าสังคมอเมริกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันน่าเป็นหรือน่าเอาอย่างไหม ที่ว่าน่าเป็นนั้นเราได้ศึกษาดีหรือยัง คนไทยเราน่าจะใช้ไอทีแบบหนามบ่งหนาม คือใช้มันให้เป็นประโยชน์แบบย้อนกลับในการศึกษาให้รู้เท่าทันอย่างจริงจัง ให้รู้เข้าใจสังคมที่พัฒนาแล้วว่าเขาเป็นอย่างไรทั้งด้านดีและด้านร้าย และกลั่นกรองเลือกเอาแต่ประโยชน์ ไม่ใช่มัวแต่ติดตามเฉพาะผลผลิตทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่จะเอามาเสพบริโภคเท่านั้น เราต้องรู้เข้าใจสภาพสังคมของเขาด้วยว่ามีดีมีด้อยอย่างไร มีส่วนที่เป็นความเจริญและความเสื่อมอย่างไร อย่างน้อยเราควรแยกได้ว่าด้านไหนควรเป็นอย่างเขา ด้านไหนไม่ควรเป็น ขอพูดอย่างเบาะๆ ว่า ถ้าเราเดินตามทางนี้ต่อไปเราจะเป็นอย่างอเมริกา ที่จริงเราอาจจะไม่เป็นอย่างอเมริกา แต่อาจร้ายยิ่งกว่าที่อเมริกาเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะอะไร เพราะว่าสังคมไทยมีจุดอ่อนที่แย่กว่าอเมริกาอยู่บางอย่าง ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สัมพันธ์กับเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ที่ว่าอเมริกาแย่ปัญหาเยอะ ถ้าไทยไม่ระวังจะแย่ยิ่งกว่าเขา จะขอยกตัวอย่างในส่วนของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ประการแรก สังคมไทยเป็นสังคมที่แทบจะถือได้ว่าไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เลย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เสียฐานเลยทีเดียว วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ก็คือวิถีชีวิตจิตใจของมนุษย์หรือผู้คนที่มีความใฝ่รู้ คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล ไม่เชื่อง่าย ไม่หลงงมงาย ชอบค้นคว้า ชอบพิสูจน์ทดลอง พบอะไรแล้วพยายามวิเคราะห์องค์ประกอบสืบสาวหาเหตุปัจจัยให้เข้าถึงความจริงให้ได้ ลักษณะอย่างนี้ถ้าเกิดมีขึ้นเป็นนิสัยจิตใจของผู้คนเราเรียกว่ามีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ สภาพนี้สังคมไทยมีไหม พูดได้ว่าแทบตรงข้ามเลย เราไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ผู้คนชอบเชื่ออะไรง่ายๆ หลงงมงาย ตื่นข่าว ใช้เทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลก็ไม่เป็น อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันต่อไป แต่อย่างน้อยเราบอกว่าขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ถ้าอย่างนี้แล้วฐานเราเสีย เราจะแย่กว่าเขา อเมริกายังมีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์อยู่พอสมควร

ขอทำความเข้าใจก่อนว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ไม่ใช่วัฒนธรรมเทคโนโลยี ต้องแยกให้ได้ หลายคนเข้าใจผิด พอถามว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร ความหมายที่เขาให้คือเทคโนโลยี อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย แม้แต่ผู้บริหารชั้นสูงไม่น้อยก็ยังแยกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ออก นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง วัฒนธรรมเทคโนโลยีไม่ใช่วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เดี๋ยวจะต้องพูดกันต่อไป แต่ในที่นี้จะพูดไว้ก่อนว่า ในแง่นี้เทคโนโลยีนั้นตรงกันข้ามกับวิทยาศาสตร์เลย ยกตัวอย่างเช่นเทคโนโลยีไปกันได้กับไสยศาสตร์และความเชื่องมงาย แต่วิทยาศาสตร์ไปกันไม่ได้กับไสยศาสตร์และความเชื่อแบบนั้น เราอาจใช้เทคโนโลยีผลิตวัตถุมงคลได้ทีละเป็นหมื่นเป็นแสน แทนที่จะทำได้ช้าๆ โดยปั้น เสียเวลามากกว่าจะได้ชิ้นหนึ่งๆ หรือถ้าเราพรมน้ำมนต์ด้วยมือไม่พอหรือไม่ทัน ก็ใช้เทคโนโลยีฉีดเลยทีเดียวได้ทั่วห้องประชุม หรือจะใช้เทคโนโลยีด้านสื่อสารข้อมูลโฆษณาฤทธิ์เดชของวัตถุมงคลก็ได้ ทำให้แพร่หลายไปไกลและมีผลกว้างขวางต่อสังคม เป็นโลกาภิวัตน์อย่างแท้จริง พูดสั้นๆ ว่าเทคโนโลยีเอื้อต่อไสยศาสตร์ได้มาก

ผลข้างเคียงของเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งคือการหนุนวัฒนธรรมบริโภค เทคโนโลยีไปกันได้ดีกับการบริโภค โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีที่ผลิตและใช้กันเน้นในด้านการเสพบริโภค ทำให้คนหันไปมุ่งหาสิ่งบำรุงบำเรอความสะดวกสบาย สร้างนิสัยที่เป็นนักบริโภคมากยิ่งขึ้น ไม่เป็นนักผลิต อันจะเป็นเรื่องที่มีผลร้ายแรงมาก ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นจะต้องพูดต่อไปถึงวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยขาด ที่พูดไปเมื่อกี้คือการขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ พูดสั้นๆ ก็คือ ขาดความใฝ่รู้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เทคโนโลยีเจริญอาจเพิ่มภยันตรายรู้จักไทย เข้าใจฝรั่ง : ผลต่างที่เกิดจากเทคโนโลยี >>

No Comments

Comments are closed.