เทคโนโลยีเจริญอาจเพิ่มภยันตราย

1 มิถุนายน 2538
เป็นตอนที่ 6 จาก 16 ตอนของ

เทคโนโลยีเจริญอาจเพิ่มภยันตราย

อย่างไรก็ตาม มาถึงปัจจุบันนี้เรื่องกลับกลายเป็นว่า การพิชิตธรรมชาตินั้นมีผลร้าย คือเป็นการทำร้ายธรรมชาติ การเอาชนะธรรมชาตินั้นมีความหมายเป็นการข่มเหงเบียดเบียนธรรมชาติ จนกระทั่งเวลานี้ธรรมชาติแวดล้อมได้เสื่อมโทรมลงไปและกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับมนุษย์ ทำให้แนวความคิดพิชิตธรรมชาตินี้ถูกตั้งข้อสงสัย อย่างน้อยตอนนี้เขาถือว่าแนวความคิดที่ทางตะวันตกมองมนุษย์แยกต่างหากกับธรรมชาติต้องเปลี่ยนใหม่ เวลานี้ตำราด้านสิ่งแวดล้อมจะเน้นเลยว่าให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

เมื่อพูดมาถึงขั้นนี้ก็กลายเป็นว่า ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ส่งผลร้ายให้แก่มนุษยชาติไม่น้อย ดังที่มีคนบ่นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงผลเสียต่อสภาพแวดล้อมที่ชัดมาก แม้แต่ผลเสียต่อชีวิตจิตใจของมนุษย์เองก็หนักทีเดียว เช่น ปัญหาต่อสุขภาพร่างกาย ปัญหาของจิตใจเริ่มแต่ความเครียด ซึ่งบ่นกันมากโดยเฉพาะในสังคมตะวันตก จนทำให้คนบางกลุ่มเกิดอาการที่เรียกว่า technophobia คือเป็นโรคกลัวเทคโนโลยี แต่พวกที่เป็นอย่างนั้น เขาก็ถือว่าเขาอยู่กับความจริง แต่อีกฝ่ายหนึ่งหาว่าเขาเป็น technophobia จะได้ยินว่าในตะวันตกมีมนุษย์ที่รวมกันต่อต้านเทคโนโลยีและขออยู่ตามธรรมชาติ แม้ว่าความคิดนี้จะเป็นการเอียงสุดไปด้านหนึ่ง แต่ก็เป็นสิทธิ์ของเขาเพราะว่าเป็นความจริงอย่างนั้น อยู่ส่วนหนึ่งที่ว่า เทคโนโลยีได้ทำลายสิ่งแวดล้อม และทำลายสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ

จะขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ต้องหันมาพิจารณาไตร่ตรองถึงผลดีและผลเสียของเทคโนโลยี ซึ่งเกี่ยวโยงมาถึงจิตใจของมนุษย์และการพัฒนามนุษย์ด้วย อย่างเวลานี้มีเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถรู้เพศของเด็กในครรภ์ได้ เด็กยังไม่ทันคลอดก็รู้ว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ในอเมริกาตอนนี้ก็มีรายงานของแพทย์เพิ่มขึ้นว่า มีการทำลายเด็กในครรภ์ เพราะเด็กคนนั้นมีเพศไม่ตรงกับความประสงค์ของบิดามารดามากขึ้น เพราะเรารู้ล่วงหน้าแล้ว พอพ่อแม่รู้ว่าไม่เป็นเพศที่ตรงกับความต้องการก็อาจจะให้ทำลาย อันนี้ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

นี่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี แต่มันสัมพันธ์กับตัวคน เราต้องมองในลักษณะที่ว่า มีปัจจัยสองด้าน แต่ในด้านของเทคโนโลยีเองก็เป็นตัวเอื้อต่อการเกิดปัญหา ปัญหานี้จะมีผลกว้างไกลอย่างไร ในเมื่อความเป็นไปในระบบของธรรมชาติบางอย่างมนุษย์ยังรู้ไม่พอ ในการเกิดของลูกบางครอบครัวมีแต่ลูกชาย บางครอบครัวมีแต่ลูกหญิง แต่พอมองสังคมทั้งโลก ธรรมชาติมันจัดอย่างไร (ที่จริงคือสัมพันธ์กันอย่างไร) ไม่รู้ จนทำให้จำนวนคนทั้งชายและหญิงค่อนข้างสมดุลกัน ไม่ค่อยผิดกันเท่าไร อันนี้มีกลไกอะไร วิทยาศาสตร์เข้าถึงหรือยัง แต่ถ้ามนุษย์จัดการเรื่องนี้ตามความต้องการของตน ผลอะไรจะเกิดขึ้น ระบบของธรรมชาติที่สร้างดุลยภาพในเรื่องของเพศชายเพศหญิง ที่ถูกมนุษย์จัดการตามใจชอบของตนนี้ อาจจะเกิดความเสียดุลเป็นอย่างยิ่งก็เป็นได้ สมมติว่าสังคมหนึ่งต้องการลูกผู้ชายอย่างเดียว ลูกผู้หญิงทำลายหมด อย่างในประเทศจีนสมัยก่อนก็เคยได้ยินใช่ไหมว่าเขาไม่ต้องการลูกผู้หญิง แต่ตอนนั้นเมื่อเกิดเป็นคนแล้วก็ทำลายยาก แต่ต่อไปนี้ทำลายได้ง่ายตั้งแต่อยู่ในท้องยังไม่ทันได้เห็น คนสามารถใช้เทคโนโลยีโดยไม่ทันได้รู้สึกอะไรเพราะยังไม่เคยเห็นกัน คนนี้ถ้าไม่เคยเห็นกันก็ทำลายได้ง่าย

ทีวีก็มีอิทธิพลอย่างยิ่งในสังคม มันเป็นเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่ง และมีอิทธิพลอาจเรียกว่าสูงสุดก็ได้ ที่จริงมันเป็นเทคโนโลยีประเภทปลุกเร้าบันเทิงอย่างสำคัญ ในสังคมอเมริกันกำลังมีการถกเถียงกันในเรื่องอิทธิพลของทีวีในด้าน violence คือความรุนแรง ซึ่งในสังคมอเมริกันขณะนี้มีปัญหามากเหลือเกิน จนกระทั่งเป็นปัญหาของชาติ ต้องไปถกเถียงกันในรัฐสภาว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร จะมีกฎหมายห้ามมีอาวุธปืนส่วนตัวไหม เพราะมีเด็กประถมเอาปืนไปยิงกันที่โรงเรียน ขนาดเด็กก็ยังใช้สิทธิเสรีภาพในทางที่ผิด ปัญหา violence คือความรุนแรงนี้ ถือว่าเกิดจากอิทธิพลของทีวีมาก จนกระทั่งใหม่ๆ สดๆ นี้ก็เกิดการเคลื่อนไหวใหม่ในวงการการศึกษา มีกลุ่มที่อาจเรียกว่าขบวนการ TV-Free America แปลได้ว่าขบวนการอเมริกาที่ปลอดทีวี เอาละซิ ในเมืองไทยใครเคยคิดบ้างว่าจะมีความเคลื่อนไหวขนาดนี้ พวกครูอาจารย์ในเมืองอเมริกาบอกว่าไม่ไหวแล้ว ทีวีนี่มีผลร้ายต่อชีวิตจิตใจของเด็กและต่อสังคมมาก ผลดีผลร้ายบวกลบกันแล้ว ไม่เอาทีวีดีกว่า ตอนนี้เอาเป็นว่าอย่างน้อยเขาพยายามให้มีสัปดาห์ที่ปลอดทีวีสักสัปดาห์หนึ่ง ก็เลยมีการเคลื่อนไหวและชวนกัน ในโรงเรียนบางแห่งก็เริ่มแล้ว เรียกว่าอยากจะให้มี National TV-Turn-Off Week สัปดาห์ปิดทีวีแห่งชาติ อย่างน้อยปีละครั้ง บางโรงเรียนประกาศว่าปีหน้าจะให้มี ๒ สัปดาห์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< วิทยาศาสตร์กับเบื้องหลังความเจริญของเทคโนโลยีสังคมไทยกับเทคโนโลยี : เรามีฐานแห่งความสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่ >>

No Comments

Comments are closed.