พัฒนาคน หมายความว่า ไอที ต้องอยู่ใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา

1 มิถุนายน 2538
เป็นตอนที่ 15 จาก 16 ตอนของ

พัฒนาคน หมายความว่า ไอที ต้องอยู่ใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา

เป็นอันว่า ถ้าใช้ไม่เป็น เทคโนโลยีก็เป็นพิษ ที่เน้นมากในสังคมฝรั่งเวลานี้ก็คือเรื่อง violence คือปัญหาความรุนแรง ซึ่งเป็นพิษภัยมาก พร้อมทั้งเรื่อง advertising คือการโฆษณาล่อเหยื่อ สังคมไทยก็กำลังได้รับปัญหาเหล่านี้ในแทบทุกเรื่องที่ว่ามาแล้ว ทั้ง indulgence ความหมกหมุ่น ทั้ง dependence ความพึ่งพา และ violence ความรุนแรง ตลอดจน indolence ความเกียจคร้าน เฉื่อยชา ไม่อยากทำงาน รวมแล้วถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นปัญหา เกิดความสูญเสียทั้งกายคือ สุขภาพกาย ทั้งทางสังคมคือความสัมพันธ์ในโลกมนุษย์ เช่นการแย่งชิงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และการขาดความอบอุ่นในครอบครัวเป็นต้น ส่วนทางจิตใจเมื่อแข่งขันกันก็มีความเครียดความวุ่นวายใจ มีความทุกข์ง่ายสุขยากต่างๆ ที่ว่ามาแล้ว พร้อมกันนั้นในทางปัญญา ข่าวสารข้อมูลเกิดมาก็ไม่เป็นประโยชน์ กลับเป็นสิ่งเพิ่มโมหะทำให้หลงงมงายมากยิ่งขึ้น ตกเป็นทาสของข่าวสารข้อมูล ทุกอย่างเป็นปัญหา ซึ่งจะต้องแก้ไขกันให้ได้

การแก้ไขโดยเฉพาะสำหรับทีวีหรือสื่อมวลชนต่างๆ เหล่านี้ คือ

ในแง่ผู้จัด ทำอย่างไรจะใช้ปัญญาเต็มที่ในการที่จะสร้างสรรค์ โดยมีเจตนาที่ดีต่อผู้ชม ผู้ฟัง จัดรายการด้วยความรับผิดชอบ

ส่วนผู้รับบริการคือผู้ใช้ผู้ชมหรือผู้ดูผู้ฟัง ก็ต้องรับอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คือพัฒนาตนทั้งภาครับและภาคใช้ คือ

๑. ในภาครับ เริ่มด้วยมีความชัดเจนในการรับ โดยเข้าถึงความจริงของสิ่งเหล่านั้น รู้จักเลือกรู้จักรับ ว่าข่าวสารข้อมูลรายการใดจะเป็นประโยชน์ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตก็เลือกเอาอันนั้น ไม่ใช่ปล่อยตัวหลงไปตามความเพลิดเพลินอย่างเดียว

๒. นอกจากมีความเข้าใจชัดเจนแล้ว ในการรับข่าวสารข้อมูลนั้น ต้องจับประเด็นได้ ด้วย การจับประเด็นได้นี้เป็นเรื่องใหญ่ในยุคปัจจุบัน เช่น จะต้องรู้ว่าจุดปัญหาของเรื่องอยู่ตรงไหน ไม่ใช่พร่าไปหมด ทั้งๆ ที่รู้และตามทันก็จับประเด็นไม่ได้

๓. ในภาคการใช้ก็ต้องสื่อสารเป็น จากข่าวสารก็มาสู่การสื่อสาร บางคนได้แต่รับข่าวสารแต่สื่อสารไม่เป็น พูดไม่เป็น แสดงความต้องการให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ เขียนให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ ปัจจุบันการศึกษามีปัญหาเพราะทดสอบวัดผลกันเพียงด้วยแบบสอบถามที่ตอบด้วยการขีดถูกขีดผิด แบบปรนัย ทำให้คนไม่ได้ฝึกไม่ได้พัฒนาความสามารถในการสื่อสาร

๔. สามารถเอาความรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นมาเชื่อมโยงสร้างความคิด ความหยั่งเห็นใหม่ เพื่อใช้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์ให้พัฒนาต่อไปได้อย่างถูกทาง

ถ้าเราพัฒนาคนได้อย่างนี้ ข่าวสารข้อมูลก็จะพลิกจากโทษมาเป็นประโยชน์ได้ทันที เราก็จะเอาข่าวสารข้อมูลมาใช้พัฒนาชีวิตและสังคมได้

ขอเน้นอีกนิดเดียวว่า ในการปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลขั้นพื้นฐานคือการศึกษา ผู้จัดสรรข่าวสารข้อมูลให้แก่เด็กในฐานะที่เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร จะต้องทำหน้าที่โดยพยายามจัดสิ่งที่ดีที่สุด เช่นเป็นพ่อแม่ ก็พยายามหาสิ่งแวดล้อมข่าวสารข้อมูลที่ดีที่สุด หาสื่อที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก แต่ในเวลาเดียวกัน บุคคลนั้นหรือเด็กก็ควรได้รับการศึกษาชนิดที่ว่าจะทำให้เป็นคนที่สามารถเอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่เลวที่สุด สองอย่างนี้ คู่กัน ย้อนแย้งกัน แต่สำคัญมาก คือ

๑. ในฐานะผู้จัดให้ ต้องจัดสิ่งที่ดีที่สุด

๒. แต่ในฐานะผู้รับคือผู้ศึกษา จะต้องสร้างความสามารถในการที่จะเอาประโยชน์ได้จากสิ่งแวดล้อมและข่าวสารข้อมูลที่เลวที่สุด

ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะอยู่ได้อย่างดี มีความรอดปลอดภัย เป็นสุขอย่างอิสระ และเป็นผู้พัฒนาสังคมนี้ได้

ตกลงว่าจะต้องพัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยี ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเจริญไปเท่าไรก็ต้องพัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยีนั้น อย่าให้ต่ำกว่า อย่าให้คนเป็นทาสของเทคโนโลยี ถ้าเทคโนโลยีเหนือกว่าคนเมื่อไรอันตรายก็จะเกิดขึ้น ถ้าคนยังเหนือเทคโนโลยีก็มีทางรอด เพราะคนยังรักษาอิสรภาพอยู่ได้ ฉะนั้น ข้อที่หนึ่งในแง่ของคนก็เป็นอันว่า พัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยีเพื่อรักษาอิสรภาพไว้ให้ได้ตลอด

ต่อไปในแง่ของธรรมชาติแวดล้อม งานของเราคือ ทำอย่างไรเราจะใช้เทคโนโลยีเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้โดยไม่เบียดเบียนและทำลายธรรมชาติ ให้การได้ประโยชน์จากธรรมชาติเป็นการเกื้อกูลธรรมชาติด้วย

สองจุดนี้ถ้าทำได้ก็เป็นความสำเร็จของอารยธรรมมนุษย์ที่สำคัญ และการที่จะทำให้สำเร็จได้ก็จะต้องมีการแก้กันอีกมาก ในหัวข้อต่อไปคิดว่าจะพูดเรื่องนี้ แต่หมดเวลาแล้วแน่นอน ไม่สามารถยืดต่อไปได้ ฉะนั้นหัวข้อต่อไปซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาคนเพื่อให้อยู่ในยุควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงต้องทิ้งค้างไว้ก่อน แต่เท่าที่พูดไปก็คงจะได้แนวทางพอสมควร อาตมภาพหวังว่าที่ได้พูดมาก็อาจเป็นประโยชน์บ้างในการที่เราจะช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาของสังคมแห่งมนุษยชาติ โดยเฉพาะสังคมไทยของเราที่กำลังมีปัญหาจากการที่ได้รับอิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ แต่แล้วเรากลับมีปัญหาจากสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทยโดยเฉพาะ พร้อมกับที่เป็นปัญหาร่วมกันของชาวโลกทั้งหมดด้วย เราจะต้องแก้ปัญหาให้กับสังคมของเรา พร้อมกันนั้นถ้าเป็นไปได้ เราในฐานะที่เป็นสมาชิกของประชาคมโลก เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ ก็ควรจะพยายามแก้ไขปัญหาให้แก่โลกมนุษย์นี้ด้วย

เราต้องมุ่งสร้างการศึกษาให้เด็กของเราเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ อย่ามองแคบแค่สังคมไทยเท่านั้น เวลานี้เป็นโลกาภิวัตน์แล้ว อารยธรรมก็ต้องสร้างให้ทันกัน อารยธรรมที่ทันก็คือการที่มนุษย์ทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการแก้ปัญหาของโลกและสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ

ขอจบปาฐกถาเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เทคโนโลยีสารสนเทศที่อาจกลายเป็นโทษสารจากคณะผู้จัดทำ >>

No Comments

Comments are closed.