เทคโนโลยีสู่สภาพโลกาภิวัตน์

1 มิถุนายน 2538
เป็นตอนที่ 4 จาก 16 ตอนของ

เทคโนโลยีสู่สภาพโลกาภิวัตน์

อย่างไรก็ตาม ที่บอกว่าเราขยายวิสัยต่างๆ ออกไปได้นั้น ยังไม่สามารถบ่งชัดว่าเป็นคุณหรือโทษ แม้ว่าที่พูดมาเมื่อกี้ทั้งหมดจะเป็นคุณทั้งนั้น แต่ต้องทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า มันอาจจะมิได้เป็นคุณเสมอไป เพราะว่าที่จริงนั้นเทคโนโลยีทำให้สะดวกและทำอะไรๆ ได้ผลมาก ทั้งในการทำความดีและความชั่ว คือ ได้ทั้ง ๒ ทาง เป็นการขยายวิสัยแห่งการทำความดีและความชั่ว คุณ-โทษ ประโยชน์และผลร้าย เราอาจใช้ได้ทั้ง ๒ แง่ ดังมีตัวอย่างมากมาย เช่น ในการตัดต้นไม้ เครื่องมือคือเลื่อยไฟฟ้าที่เป็นผลประดิษฐ์จากเทคโนโลยีนี้ เรามุ่งหวังว่าจะใช้ประโยชน์ในการตัดต้นไม้ใหญ่ได้ในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งเมื่อก่อนอาจใช้เวลาเลื่อยเป็นวัน แต่เวลานี้เรามีเลื่อยไฟฟ้าอย่างดีก็ตัดได้อย่างรวดเร็วไม่กี่นาที ซึ่งมีผลทั้งทางบวกและทั้งทางลบ ผลบวกคือเมื่อจำเป็นจะใช้ประโยชน์ ก็ตัดต้นไม้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ผลลบคือสามารถทำลายธรรมชาติแวดล้อมได้อย่างรวดเร็วมาก ป่าถูกทำลายหมดไป ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยและของโลกทั้งหมด เป็นต้น ปัจจุบันนี้ต้นไม้ที่ใช้เวลาปลูกเป็นร้อยเป็นพันปี ถูกตัดโค่นลงได้ในเวลาไม่กี่นาที

อย่างการประมงก็เหมือนกัน เราอาจมีเครื่องมือลากอวนสมัยใหม่ที่สามารถจับปลาจากท้องทะเลได้จำนวนมากมายมหาศาล ทำให้เราสามารถจับปลาได้หมดท้องทะเล ทำให้ปลาสูญพันธุ์ไปก็ได้ หรืออย่างการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศก็ทำนองนั้น ผู้ก่อการร้ายอยู่ในท้องถิ่นของประเทศต่างๆ หลายประเทศอาจนัดหมายวางแผนร่วมกันนัดกันทำการก่อการร้ายพร้อมกันหลายจุดเลยก็ได้ แม้กระทั่งอาวุธสงคราม ก็มีอานุภาพร้ายแรงอย่างที่เราก็ทราบกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีเมื่อใช้ในทางดีก็ดีมาก เมื่อใช้ในทางร้ายก็ร้ายมากเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความดีความชั่วเราจะยกไว้ก่อน จะพูดกว้างๆ ออกไปว่าในโลกแห่งวัตถุทั้งหลายนี้เทคโนโลยีมีบทบาทอย่างไร ที่เห็นชัด คือ เทคโนโลยีเป็นปัจจัยตัวเอกของความเจริญทางอุตสาหกรรมในยุคที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม จนบางคนอาจจะภาคภูมิใจว่า เราจะได้เป็น NIC เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่ก็ได้มีการถกเถียงกันมาก ว่าจะมีผลดีคุ้มกับผลเสียหรือไม่

การพัฒนาอุตสาหกรรมจะทำให้เกิดผลผลิตพรั่งพร้อม มนุษย์มีความสุขในความหมายว่ามีวัตถุอุดมสมบูรณ์ เมื่อความเจริญก้าวไปจนถึงขั้นหนึ่งแล้ว เขาก็บอกว่าพ้นยุคอุตสาหกรรมไปเลย อย่างปัจจุบันนี้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ได้เจริญจนเป็นสังคมพ้นยุคอุตสาหกรรม (post-industrial society) มาเป็นสังคมยุคบริโภค (consumer society) หรือว่าตามสภาพโลกาภิวัตน์ก็เป็นสังคมยุค information age อย่างที่กล่าวมานี้ เทคโนโลยีนี้หนุนอุตสาหกรรม และในทำนองเดียวกันอุตสาหกรรมก็หนุนเทคโนโลยีโดยเป็นปัจจัยเอื้อซึ่งกันและกัน คืออุตสาหกรรมเจริญได้เพราะอาศัยเทคโนโลยี เสร็จแล้วอุตสาหกรรมก็ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นอีก เทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีทั้งเทคโนโลยีฝ่ายเพื่อการผลิต ซึ่งเป็นตัวปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรม แล้วก็มีเทคโนโลยีเพื่อการบริโภคอีกด้านหนึ่ง

เทคโนโลยีสำคัญ ที่เป็นระบบใหญ่คือ การสื่อสารและขนส่งคมนาคมที่ทำให้ข่าวสารกระจายไปทั่วโลก และทำให้สิ่งบริโภคผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแพร่หลายไปในที่ต่างๆ ให้คนเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และทั่วโลก นี่ก็คือสภาพโลกาภิวัตน์ ในด้านสิ่งบริโภคต่างๆ สืบเนื่องจากการที่ว่า เทคโนโลยีหนุนอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมหนุนเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจึงนำความเจริญไปทั่วอย่างรวดเร็ว ด้วยความถี่สูงขึ้นทุกที สมัยแรกเริ่มที่เกิดเทคโนโลยีขึ้นมา กว่าความเจริญจะแพร่จากตะวันตก เข้ามาถึงเมืองไทยต้องใช้เวลานาน ยกตัวอย่าง เช่น ทีวีเกิดขึ้นในโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ หรือ ค.ศ. ๑๙๒๖ แล้วได้ออกรายการเป็นประจำ ในเยอรมันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ หรือ ค.ศ. ๑๙๓๕ ต่อมาอีก ๓ ปี จึงได้ออกรายการประจำในอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ หรือ ค.ศ. ๑๙๓๘ ทีวีเข้ามาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ หรือ ค.ศ. ๑๙๕๕ ห่างจากอเมริกา ๑๗ ปี ทีวีเราพึ่งมีได้ ๔๐ ปี เดี๋ยวนี้เจริญไปมากมายแล้ว สภาพความรวดเร็วจะสูงขึ้นทุกที เวลานี้เทคโนโลยีอะไรที่เกิดขึ้นในเมืองฝรั่งจะมาถึงเมืองไทยได้รวดเร็วขึ้น

สภาพโลกาภิวัตน์มีความเจริญไม่เฉพาะกว้างขวางทั่วโลกอย่างเดียว แต่มันรวดเร็วขึ้นด้วย จนกระทั่งฝรั่งบอกว่าจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นทันกาลทันเวลา จนเรียกว่าถึงยุค real time หมายความว่าทันทีทันใดในขณะนั้นเลย ฉะนั้นเรื่องโลกาภิวัตน์จึงไม่ใช่เป็นโลกาภิวัตน์อย่างเดียว แต่เป็น “กาลาภิวัตน์” ด้วย อันนี้น่าสังเกต บางที่เราไม่ได้นึกถึงในแง่ของกาลเวลาซึ่งสำคัญมาก โลกาภิวัตน์อย่างเดียวยังไม่สำคัญเท่าไร ที่เพิ่มความสำคัญก็คือความเร็ว ถ้าไม่เร็วเรายังคิดทัน แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นทั่วโลก สมมติว่าเกิดในอเมริกา กว่าจะถึงเมืองไทย ๑๗ ปี เราก็ยังมีเวลาคิดว่าจะทำอย่างไรกับมัน แต่เวลานี้มันเร็วจนเราไม่มีเวลาคิดแล้ว มันถึงตัวทันที ดังนั้นน่าจะคิดศัพท์ใหม่มาคู่กับโลกาภิวัตน์ อาจจะเรียกว่า “กาลาภิคัต” หรืออะไรทำนองนี้ อันนี้อย่าเพิ่งถือลงตัว เป็นศัพท์ที่พูดกึ่งเล่นๆ ไปหน่อย แต่เป็นอันว่าปัจจุบันนี้ ประเทศพัฒนาแล้วอย่างประเทศตะวันตกมีอะไร เดี๋ยวเดียวเมืองไทยก็รู้แล้วก็มีด้วย และความเร็วก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามลำดับ ขณะนี้ความเร็วยังไม่เต็มที่ ต่อไปจะเร็วกว่านี้ เอาละที่ว่ามานี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ควรตั้งเป็นข้อสังเกต

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทบาทและอิทธิพลของเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์กับเบื้องหลังความเจริญของเทคโนโลยี >>

No Comments

Comments are closed.