๑๑. พระพุทธศาสนาในศรีลังกา

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 11 จาก 15 ตอนของ

๑๑.
พระพุทธศาสนาในศรีลังกา

 

ประวัติศาสตร์ลังกาเริ่มต้นพร้อมกับพุทธศักราช คัมภีร์มหาวงศ์ ซึ่งเป็นพงศาวดารและตำนานพระพุทธศาสนาของลังกา เล่าว่า เจ้าชายวิชัย โอรสของพระเจ้าสีหพาหุ กษัตริย์แห่งลาฬประเทศในชมพูทวีป (อยู่ในเขตแคว้นเบงกอล) ได้เสด็จโดยทางเรือพร้อมด้วยบริวารเจ็ดร้อยขึ้นสู่เกาะลังกา ณ ถิ่นที่เรียกว่า ตัมพปัณณิ ในวันเดียวกับที่พระบรมศาสดาเสด็จสู่ปรินิพพาน เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ชนเผ่าสิงหลเข้าสู่ลังกา และพระเจ้าวิชัยเป็นกษัตริย์องค์แรกของลังกาทวีป ในการเสด็จเข้าครองลังกาทวีป เจ้าชายวิชัยคงจะได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาด้วย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแพร่หลายอย่างใด

ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในลังกาทวีปที่แท้จริงเริ่มต้นในรัชกาลพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ (พ.ศ. ๒๓๖ – ๒๗๖) ผู้ครองราชย์ ณ เมืองอนุราธปุระ กษัตริย์พระองค์นี้ทรงมีไมตรีสนิทสนมกับพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งชมพูทวีป พระเจ้าอโศกทรงส่งพระมหินทเถระ พร้อมด้วยคณะ (พระภิกษุ ๔ รูป สามเณร ๑ รูป อุบาสก ๑ คน) มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในลังกาทวีป คณะศาสนทูตได้รับการต้อนรับจากพระมหากษัตริย์และประชาชนลังกาอย่างดียิ่ง พระพุทธศาสนาแพร่หลายอย่างรวดเร็ว มีผู้อุปสมบทมากมาย

พระนางอนุฬาเทวีมเหสีและสตรีบริวารจำนวนมากปรารถนาจะอุปสมบทบ้าง พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงทรงส่งคณะทูตไปสู่ราชสำนักของพระเจ้าอโศก ทูลขอพระสังฆมิตตาเถรี และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ด้านทักษิณมาสู่ลังกาทวีป

การอัญเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยามาในครั้งนี้ นับเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและชนชาติลังกา พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะโปรดให้ปลูกกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ไว้ ณ พระนครอนุราธปุระ ต้นโพธิ์นี้ปัจจุบันเป็นต้นไม้ประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากที่สุดในโลก สิ่งสำคัญนอกจากนี้คือ ได้ทรงสร้าง มหาวิหาร และ ถูปาราม อันเป็นเจดีย์องค์แรกของลังกาไว้ ณ พระนครเดียวกัน

หลังรัชกาลพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะแล้ว ลังกาทวีปตกอยู่ในความครอบครองของกษัตริย์ทมิฬ และกษัตริย์ต่างชาติอื่นๆ อยู่เกือบศตวรรษ ต่อมา พระเจ้าทุฏฐคามณี (พ.ศ. ๓๘๒ – ๔๐๖) ทรงกู้ราชบัลลังก์คืนได้ พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าได้ทรงสร้าง โลหปราสาท ๗ ชั้น เป็นโรงอุโบสถของมหาวิหาร และ มหาสถูป หรือเจดีย์รุวันเวลี ณ พระนครอนุราธปุระ

ยุคสำคัญอีกยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของลังกา คือรัชกาลพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย (พ.ศ. ๔๓๙ และ พ.ศ. ๔๕๔ – ๔๖๖) เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ไม่นาน พวกทมิฬชิงอำนาจได้และเข้าครองอนุราธปุระอยู่ ๑๔ ปี ระหว่างนี้ประเทศเกิดยุคเข็ญถึงต้องกินเนื้อมนุษย์ พระมหาเถระทั้งหลายจำนวน ๕๐๐ รูป เกรงพระศาสนาจะสูญสิ้นจึงประชุมกันที่ อลุวิหาร ณ มาตเล ทำการจารึกพุทธพจน์ลงในใบลานเป็นครั้งแรก (ไทยนับเหตุการณ์นี้เป็น สังคายนาครั้งที่ ๕ แต่วงการทั่วไปนับเป็น ครั้งที่ ๔) พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยทรงเที่ยวหนีซุกซ่อนอยู่ แต่ในที่สุดทรงเอาชนะทมิฬได้ แล้วได้ทรงสร้าง อภัยคีรีวิหาร ถวายแด่พระมหาติสสเถระผู้มีอุปการคุณแก่พระองค์และพวกขุนพลในคราวตกยาก

การข้อนี้ได้กลายเป็นเหตุให้คณะสงฆ์ลังกาแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายมหาวิหาร ซึ่งเป็นผู้ยึดมั่นในคำสอนและแบบแผนประเพณีดั้งเดิม กับ ฝ่ายอภัยคีรีวิหาร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพวกนิกายธรรมรุจิ มีความคิดเห็นเป็นอิสระ ต้อนรับทัศนะใหม่ๆ จากต่างประเทศ ศึกษาทั้งเรื่องฝ่ายเถรวาทและมหายาน อภัยคีรีวิหารนี้ ต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนาอยู่สมัยหนึ่ง

ประวัติศาสตร์ยุคต่อมา มีความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งเกี่ยวพันกับคณะสงฆ์อีกเป็นอันมาก ถึงกับทำให้มหาวิหารที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งรกร้างไปคราวหนึ่ง แต่อิทธิพลอันมั่นคงลึกซึ้งก็เป็นเหตุให้ต้องมีการสร้างขึ้นใหม่ ส่วนอภัยคีรีวิหารก็ยังเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาต่อมา

ในรัชกาล พระเจ้าสิริเมฆวรรณ เมื่อครองราชย์มาได้ ๙ ปี (พ.ศ. ๘๕๔) ได้มีการอัญเชิญ พระทาฐธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากทันตปุระในกลิงครัฐมายังลังกาทวีป พระราชาโปรดให้รักษาไว้ภายในพระนคร และนำออกให้ประชาชนนมัสการที่อภัยคีรีวิหารเป็นประจำทุกปี (เมืองที่ตั้งวิหารพระทันตธาตุนี้ ปัจจุบันเรียกว่า เมืองแกนดี พระทันตธาตุเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาวลังกาตลอดมาจนปัจจุบัน) ครั้นถึงรัชกาล พระเจ้ามหานาม (พ.ศ. ๙๕๓ – ๙๗๕) พระพุทธโฆษาจารย์ อรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้เดินทางจากชมพูทวีปมาพำนัก ณ มหาวิหาร และแปลอรรถกถาภาษาสิงหลกลับเป็นภาษามคธ

หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งเดินทางมาในกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ เล่าไว้ว่า อภัยคีรีวิหารมีพระภิกษุ ๕ พันรูป ส่วนมหาวิหารมีพระภิกษุ ๓ พันรูป ช่วงเวลาระยะนี้นับว่าลังกาได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งของพุทธศาสนา วัดต่างๆ มีชื่อเสียงว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษา ทำให้มีปราชญ์จากแดนไกลมาเล่าเรียนค้นคว้า

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ การศึกษาอภิธรรมได้รับความนิยมและรุ่งเรืองขึ้น ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลังกาย้ายเมืองหลวงจากอนุราธปุระมาอยู่ที่ โปโลนนรุวะ หรือ ปุรัตถิปุระ เพราะเหตุผลในทางยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ จากนี้ศูนย์กลางวัฒนธรรมก็เปลี่ยนมารวมอยู่ที่เมืองหลวงใหม่ อนุราธปุระกลายเป็นเมืองเก่า มีความหมายไปทางศักดิ์สิทธิ์ เรื่องของมหาวิหาร อภัยคีรีวิหาร เป็นต้น ก็จางเลือนลง

ตอนต้นสมัยเมืองหลวงใหม่นี้ เกิดนิยมยกย่องพระพวกปังสุกูลิกะ (ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร) กันขึ้น ทำนองเป็นปฏิกิริยาต่อชีวิตที่สุขสบายมั่งมีของพระสงฆ์สมัยนั้น และต่อมาได้มีความนิยมนับถือข้อปฏิบัติในศาสนาพราหมณ์มากขึ้น มีการสร้างเทวรูป เทวสถาน และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์

กล่าวโดยสรุป ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึง ๑๗ เป็นยุคที่ลังกาเดือดร้อนวุ่นวายเพราะการรุกรานจากอินเดียบ้าง ความไม่สงบภายในบ้าง ในระหว่างยุคนี้เองที่ภิกษุณีสงฆ์สูญสิ้น และพระภิกษุสงฆ์เสื่อม จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ ทรงมีพระราชประสงค์จะฟื้นฟูศาสนาใน พ.ศ. ๑๖๐๙ ทรงหาพระภิกษุที่อุปสมบทถูกต้องได้แทบไม่ครบ ๕ รูป และต้องทรงอาราธนาพระสงฆ์จากพม่าตอนใต้มากระทำอุปสมบทกรรมในลังกา

ต่อมาถึงสมัยแห่งมหาราชที่สำคัญที่สุดพระองค์หนึ่งของลังกา คือ พระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๗ – ๑๗๓๐) ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ พระองค์ทรงเป็นทั้งนักรบและนักปกครองที่สามารถ ทรงจัดการปกครองได้เรียบร้อย จัดการชลประทานและการเกษตรได้ดี กล่าวกันว่าพระองค์มีดำรัสว่า จะไม่ยอมให้หยาดน้ำฝนแม้น้อยหนึ่งไหลลงคืนสู่ทะเลโดยมิได้ทำให้บังเกิดประโยชน์แก่ประชาชน

ในด้านการพระศาสนา ทรงชำระการพระศาสนาให้บริสุทธิ์ ยังคณะสงฆ์ให้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อีกครั้งหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชปกครองสงฆ์ทั้งประเทศเป็นครั้งแรก ทรงสร้างวัดวาอาราม เป็นยุคที่มีศิลปกรรมงดงาม และลังกาได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ปรากฏเกียรติคุณแพร่ไปทั่ว มีพระสงฆ์และปราชญ์เดินทางจากประเทศใกล้เคียงมาศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกา แล้วนำไปเผยแพร่ในประเทศของตนเป็นอันมาก พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองอยู่ระยะหนึ่ง แต่ภายหลังรัชกาลนี้แล้ว พวกทมิฬจากอินเดียก็มารุกรานอีกและได้เข้าตั้งถิ่นฐานมั่นคงขยายอาณาเขตออกเรื่อยๆ อาณาจักรสิงหลต้องถอยร่นลงทางใต้ ต้องย้ายเมืองหลวงอยู่บ่อยๆ ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญได้ยาก นอกจากจะเพียงธำรงรักษาความมั่นคงเข้มแข็งไว้เท่านั้น เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งคือ ใน พ.ศ. ๒๐๑๙ พระภิกษุคณะหนึ่งจากพม่าได้มารับอุปสมบทกรรมที่ลังกา และนำคัมภีร์ภาษาบาลีเท่าที่มีอยู่ไปยังพม่าโดยครบถ้วน

ระหว่างที่ลังกาอ่อนแอเพราะการต่อสู้แข่งอำนาจระหว่างคนสองเผ่าอยู่นี้ พอถึงประมาณ พ.ศ. ๒๐๕๐ ชนชาติโปรตุเกสก็เข้ามารุกรานซ้ำเติม ชนชาติโปรตุเกสเข้ามาค้าขาย พร้อมกันนั้นก็แสวงประโยชน์จากความขัดแย้งของชนสองเผ่านั้น เข้าครอบครองดินแดนบางส่วนไว้ได้ และพยายามบีบบังคับประชาชนที่อยู่ในยึดครองให้เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก คราวหนึ่งถึงกับยึดอำนาจกษัตริย์ลังกาได้ สถานการณ์พระพุทธศาสนาได้เสื่อมทรามลง ถึงกับว่าต้องนำพระสงฆ์จากพม่ามาประกอบอุปสมบทกรรมอีกครั้งหนึ่ง

ในระยะนี้ ชาวฮอลันดาได้ประกอบการค้าขายมีอำนาจมากขึ้นในดินแดนแถบนี้ ลังกาจึงต้อนรับชาวฮอลันดาเพื่อให้เข้ามาช่วยขับไล่โปรตุเกสจนสำเร็จใน พ.ศ. ๒๒๐๐ แต่แล้วฮอลันดาก็ครอบครองดินแดนส่วนที่ตนยึดไว้ได้ เข้าแทนที่โปรตุเกส ฮอลันดาพยายามประดิษฐานคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ และห้ามกันพระพุทธศาสนา แต่ไม่สำเร็จ กษัตริย์ลังกาได้รับคำแนะนำจาก พระสรณังกร เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๔ (ไทยนับ ๒๒๙๓ ตรงกับรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ให้ส่งคณะทูตไปยังประเทศไทย แล้วนำพระภิกษุคณะหนึ่งจำนวน ๑๐ รูป มี พระอุบาลี เป็นหัวหน้า มาประกอบอุปสมบทกรรม ณ เมืองแกนดี มีผู้เข้ารับการอุปสมบทถึงสามพันคน พระสรณังกรซึ่งได้รับการอุปสมบทใหม่คราวนี้ได้รับสถาปนาจากพระมหากษัตริย์ให้เป็น สมเด็จพระสังฆราช เป็นการประดิษฐานคณะสงฆ์ อุบาลีวงศ์ หรือ สยามวงศ์ หรือ สยามนิกาย ในลังกาทวีป

ฮอลันดาครองอำนาจอยู่ไม่นานก็เสื่อมลง อังกฤษได้เข้าครองอำนาจแทนในแถบชายทะเลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐ และอีก ๑๙ ปีต่อมาอำนาจปกครองของอังฤษก็ขยายออกไปทั่วลังกาทวีป โดยอังกฤษรบชนะกษัตริย์แห่งแกนดี และกระทำสนธิสัญญารับประกันสิทธิของฝ่ายลังกาและการคุ้มครองพระศาสนา ต่อมา พ.ศ. ๒๓๖๒ เกิดกบฏรุนแรงขึ้น ครั้นอังกฤษปราบกบฏสำเร็จ และดัดแปลงข้อความในสนธิสัญญาเสียใหม่ วงศ์กษัตริย์ลังกาแต่โบราณก็ถึงอวสานลง

เมื่อลังกาทวีปตกอยู่ในปกครองของอังกฤษระยะแรก คณะสงฆ์ได้อิสรภาพมากขึ้น เนื่องมาแต่สนธิสัญญาให้ความคุ้มครองแก่พระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว ได้มีพระสงฆ์หลายคณะไปรับอุปสมบทกรรมใหม่ในพม่า กลับมาตั้งศูนย์กลางสืบอุปสมบทวงศ์ของตน อิสรภาพของพระพุทธศาสนาเป็นไปได้ประมาณกึ่งศตวรรษเท่านั้น รัฐบาลก็ถูกบีบจากคริสต์ศาสนาให้ยกเลิกความเกี่ยวข้องทุกประการในกิจการพระพุทธศาสนา บาทหลวงคริสเตียนได้ดำเนินการเผยแพร่ศาสนาของตนและต่อต้านพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ถึงกับโจมตีพระพุทธศาสนาในที่สาธารณะ นับว่าพระพุทธศาสนาได้รับภยันตรายเป็นอันมากจากขบวนการต่อต้านและทำลายพระพุทธศาสนาที่รัฐบาลต่างชาติสนับสนุน เป็นเวลากว่า ๓๐๐ ปี ข้อนี้เป็นเหตุสำคัญให้ชาวลังกาดิ้นรนต่อสู้แสวงอิสรภาพ เพื่อนำศาสนาประจำชาติของตนกลับคืนมา ลังกาได้อิสรภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ (นับแบบไทย ๒๔๙๐) การโจมตีบีบกดจากผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา ก่อปฏิกิริยากระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูในพระพุทธศาสนา และทำให้เกิดความเข้มแข็งกระตือรือร้นและความเอาจริงเอาจังในการคุ้มครองรักษาศาสนาวัฒนธรรมประจำชาติของตนยิ่งขึ้น ซึ่งอาการเช่นนี้ เป็นไปอยู่จนถึงทุกวันนี้

คณะสงฆ์ในลังกาปัจจุบันมี ๓ นิกายคือ สยามวงศ์ หรือ อุบาลีวงศ์ อมรปุระนิกาย และ รามัญวงศ์ ข้อแตกต่างกันมีเพียงเล็กน้อย และเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ คือ เกิดจากการที่ว่า อุปสมบทวงศ์สืบมาจากสายไทยหรือพม่า.

 

_____________

หมายเหตุ: (พ.ศ. ในเรื่องนี้นับอย่างลังกา ถ้านับอย่างไทย ให้หักออก ๑ ปี ทุกแห่ง)

 

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑๐. พระพุทธศาสนาในเวียดนาม๑๒. พระพุทธศาสนาในอาเซียกลาง >>

No Comments

Comments are closed.