๘. พระพุทธศาสนาในพม่า

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 8 จาก 15 ตอนของ

๘.
พระพุทธศาสนาในพม่า

 

ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนายุคแรกในพม่ายังเลือนลางอยู่ ตามตำนานฝ่ายลังกาและคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ เล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่ง พระโสณะ กับ พระอุตตระ มาประกาศพระศาสนาใน สุวรรณภูมิ ปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่า สุวรรณภูมิได้แก่ นครปฐม ในประเทศไทย แต่บางท่านว่า ได้แก่ เมืองสะเทิม ในพม่าตอนใต้ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าพระพุทธศาสนาได้เจริญแพร่หลายในพม่ายุคแรกนี้

ยุคที่พอจะแน่ใจได้ว่าพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามาในพม่าแล้ว ก็คือในพุทธศตวรรษที่ ๖ เพราะได้พบคำจารึกเป็นภาษาบาลีในพม่าภาคใต้ และ ตารนาถ นักประวัติศาสตร์ทิเบตก็ได้เล่าว่า มีการสั่งสอนพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในพะโค พม่า และ อินโดจีน มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก ต่อมาไม่นานศิษย์ของพระวสุพันธุ ได้นำพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้าไปเผยแพร่ ทำให้มหายานกับเถรวาทมีเคียงคู่กันมาในพม่าเป็นเวลาหลายศตวรรษ พระพุทธศาสนาซึ่งเผยแพร่เข้ามาในระยะที่ผ่านมานี้ คงเข้ามาโดยเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ และปรากฏว่ารุ่งเรืองอยู่ในอาณาจักรโบราณของพวก Pyus ที่เรียกว่าอาณาจักร ศรีเกษตร

เหตุการณ์สำคัญครั้งต่อมาคือ ใน พ.ศ. ๙๔๖ พระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อแปลอรรถกถาจากสิงหลเป็นมคธแล้ว ได้เดินทางออกจากลังกาและได้มาแวะที่เมืองสะเทิมของพม่า พร้อมกับนำเอาพระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ มาที่นั่นด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้คงจะเป็นเครื่องเร้าความสนใจให้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพม่าเข้มแข็งขึ้น หลังจากนั้นก็มีปราชญ์ภาษาบาลีเกิดในพม่าหลายคนเขียนตำราไวยากรณ์บาลีบ้างอภิธรรมบ้าง

มีหลักฐานซึ่งเชื่อได้ว่า ชาวมอญฮินดู หรือ ตะเลง ในเมืองพะโค (หงสาวดี) เมืองสะเทิม (สุธรรมวดี) และถิ่นใกล้เคียงที่เรียกรวมๆ ว่า รามัญประเทศ ได้นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทรุ่งเรืองมาเป็นเวลานานพอสมควร พอถึงพุทธศตวรรษ ที่ ๑๖ ก็ปรากฏว่า เมืองสะเทิมได้กลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาเถรวาทแล้ว ส่วนชนอีกเผ่าหนึ่ง คือ มรัมมะ หรือ พม่า (เผ่าทิเบต-ดราวิเดียน) ก็ได้มาตั้งอาณาจักรอันเรืองอำนาจของตนขึ้น มีเมืองหลวงอยู่ที่พุกามและเรียกชื่อประเทศของตนว่า พุกาม พวกมรัมมะนี้กักขฬะ ไร้การศึกษา นับถือพระพุทธศาสนาแบบ ตันตระ ที่เสื่อมทรามสืบมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ นั้นเอง พระเจ้าอนุรุทธ หรือ อโนรธามังช่อ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งมรัมมะ (พ.ศ. ๑๕๘๘ – ๑๖๒๑) ได้มีพระตะเลงแห่งเมืองสะเทิมรูปหนึ่งชื่อ พระอรหัน หรือ ธรรมทรรศี สามารถเปลี่ยนพระทัยพระเจ้าอนุรุทธให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทอันบริสุทธิ์ได้ พระเจ้าอนุรุทธได้ทรงร่วมกับพระธรรมทรรศีรอนลัทธิตันตระลง ทำพระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพุกามประเทศ

รัชกาลพระเจ้าอนุรุทธนี้ เป็นยุคสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและชาติพม่า เมื่อพระองค์หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทแล้ว ก็ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้า ได้ทรงมีพระราชสาส์นไปขอคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากกษัตริย์แห่งสะเทิม แต่กษัตริย์สะเทิมไม่ยินยอม พระองค์จึงกรีฑาทัพไปตีเมืองสะเทิมได้ ทรงนำพระไตรปิฎก ๓๐ จบ วัตถุเคารพบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ กับพระภิกษุชาวตะเลงผู้รู้ธรรมแตกฉาน บรรทุก ๓๒ หลังช้างกลับมานครพุกาม เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พม่ารวมเข้าเป็นอาณาจักรอันเดียว และพุกามผู้ชนะก็รับเอาวัฒนธรรมตะเลงเกือบทั้งหมดมาเป็นของตน ตั้งแต่ตัวอักษร ภาษา วรรณคดี และศาสนาเป็นต้นไป พระเจ้าอนุรุทธทรงแลกเปลี่ยนศาสนทูตกับลังกา ทรงนำพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์มาจากลังกา ๓ จบ และนำมาชำระสอบทานกับฉบับที่ได้จากเมืองสะเทิม ทรงอุปถัมภ์ศิลปกรรมต่างๆ การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทำให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของชนชาวพม่าทั่วทั้งประเทศ กษัตริย์พระองค์ต่อๆ มา ก็ได้เจริญรอยพระปฏิปทาในการทำนุบำรุงพระศาสนาเช่นเดียวกับพระองค์ ส่วนศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูก็เสื่อมหมดไป และในระหว่างสมัยที่พุกามรุ่งเรื่องนี้ พระภิกษุจำนวนมากได้เดินทางไปศึกษาในลังกาทวีป บางท่านไปศึกษาแล้วรับอุปสมบทใหม่กลับมาตั้งคณะสงฆ์เถรวาทคณะใหม่ๆ สายลังกา แยกออกไปก็มี เช่น พระจปฏะ ใน พ.ศ. ๑๗๒๕ ซึ่งทำให้มีการแข่งขันกันระหว่างสงฆ์ต่างคณะมาเป็นเวลาประมาณ ๓ ศตวรรษ

อาณาจักรพุกามได้สลายลงเพราะถูกทอดทิ้งหลังจากการรุกรานของ กุบไลข่าน ใน พ.ศ. ๑๘๓๑ หลังจากนี้แม้บ้านเมืองจะระส่ำระสายแต่พระพุทธศาสนาก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองสืบมา จนถึงรัชกาล พระเจ้าธรรมเจดีย์ (พ.ศ. ๒๐๐๔ – ๒๐๓๕) สมัยนั้นในพม่ามีคณะสงฆ์เถรวาท ๖ คณะ (จากเขมร ๑ จากลังกา ๕) พระองค์ได้อาราธนาพระสงฆ์มาจากลังกา แล้วให้พระสงฆ์พม่าทั้งหมดอุปสมบทใหม่รวมเข้าเป็นนิกายเดียวกันแต่นั้นมา พระพุทธศาสนาก็ประดิษฐานมั่นคง และการศึกษาพระอภิธรรมได้รุ่งเรืองขึ้น

สองศตวรรษต่อมา ได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในเรื่องการครองจีวรออกนอกวัด ทำให้พระสงฆ์แตกแยกเป็น ๒ พวก คือ ฝ่ายห่มคลุมพวกหนึ่ง กับฝ่ายลดไหล่ขวาพวกหนึ่ง พระมหากษัตริย์โปรดฝ่ายห่มคลุม และได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นปกครองสงฆ์เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในทางพระวินัย

ในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ พระพุทธศาสนาในพม่ามั่นคงแข็งแรงดี จนมีพระสงฆ์จากลังกามารับอุปสมบทกรรมใหม่ไปตั้งคณะสงฆ์แบบพม่าขึ้นในประเทศของตน มีการแปลพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ มีการสังคายนาครั้งที่ ๕ ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ พระเจ้ามินดง ณ กรุงมันดะเล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ และจารึกพุทธพจน์ทั้ง ๓ ปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น ในระยะตั้งแต่นี้มีการเลือกตั้งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ชั่วสมัยหนึ่ง

อังกฤษได้เข้ามาแสวงอาณานิคมและมีอำนาจในพม่าเริ่มแต่ พ.ศ. ๒๓๖๘ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าคือ พระเจ้าธีบอ แห่งราชวงศ์อลองพญาได้สิ้นวงศ์ลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ประเทศพม่าได้คืนสู่เอกราช เกิดเป็นสหภาพพม่าเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๒ (เซ็นต์สัญญาอิสรภาพ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๙๑)

เมื่อพม่าเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้ว ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็เลิกล้มไป รัฐบาลได้แต่งตั้งประมุขขึ้นใหม่สำหรับนิกายสงฆ์ทั้งสามของพม่านิกายละ ๑ รูป ตลอดระยะเวลาเหล่านี้ มีพระภิกษุพม่าที่เป็นปราชญ์มีความรู้แตกฉาน รจนาหรือนิพนธ์ตำรับตำราพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นจำนวนมาก รัฐบาลพม่าได้เป็นเจ้าภาพจัดการ ฉัฏฐสังคีติ คือสังคายนาครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงร่างกุ้ง เนื่องในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้อาราธนาพระสงฆ์และผู้แทนชาวพุทธในประเทศต่างๆ ไปร่วมศาสนกิจครั้งนี้เป็นจำนวนมาก และได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกพร้อมด้วยคัมภีร์อรรถกถา และปกรณ์พิเศษต่างๆ ขึ้นใหม่ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้

(พุทธศักราชในเรื่องนี้นับแบบพม่า ถ้านับแบบไทยให้หักออก ๑ ปี ทุกแห่ง)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๗. พระพุทธศาสนาในเนปาล๙. พระพุทธศาสนาในลาว >>

No Comments

Comments are closed.