๓. พระพุทธศาสนาในจีน

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 3 จาก 15 ตอนของ

๓.
พระพุทธศาสนาในจีน

 

ตามตำนานฝ่ายจีนเล่าไว้ว่า พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศจีนตั้งแต่ ๒๑๗ ปีก่อน ค.ศ. (คือราว พ.ศ. ๓๒๖) แต่ตามที่ปรากฏหลักฐานในทางราชการ ค้นได้ว่าเมื่อ ค.ศ. ๖๕ (พ.ศ. ๖๐๘) พระจักรพรรดิมิ่งตี่ แห่งราชวงศ์ฮั่น ทรงส่งคณะทูต ๑๘ คนไปสืบศาสนา ณ เมืองโขตาน (ปัจจุบันอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลซินเกียงในประเทศจีน ในสมัยโบราณ โขตานเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดีย และพระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่โขตานตั้งแต่ ๒๑๗ ปี ก่อนคริสต์ศักราช) หลังจากนั้น ๒ ปี คณะทูตก็ได้กลับมายังประเทศจีน พร้อมด้วยพระภิกษุ ๒ รูป คือ พระกาศยปะมาตังคะ กับ พระธรรมรักษะ และ คัมภีร์พระพุทธศาสนาส่วนหนึ่ง พระภิกษุทั้ง ๒ รูปได้มาพำนักอยู่ ณ วัดม้าขาว แห่งนครโลยาง (ลกเอี๋ยง) และได้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาจีนหลายคัมภีร์

ในสมัยราชวงศ์ฮั่น นับแต่นั้นมา (ค.ศ. ๖๕ – ๒๒๐) แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะได้รับความเคารพเลื่อมใสและการอุปถัมภ์บำรุง แต่ก็ยังเสียเปรียบและถูกต่อต้านจากอิทธิพลของลัทธิศาสนาเดิมของจีน (คือ ขงจื้อและเต๋า) จนกระทั่งถึงปลายราชวงศ์นี้ จึงมีปราชญ์ผู้สามารถ เช่น โม่วจื้อ แสดงหลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้เห็นความลึกซึ้งจริงแท้เหนือกว่าลัทธิศาสนาเดิมของถิ่น กับได้อาศัยความประพฤติอันบริสุทธิ์ของพระสงฆ์เป็นเครื่องจูงศรัทธา พระพุทธศาสนาก็ได้รับความนิยมเลื่อมใสยิ่งกว่าลัทธิศาสนาอื่นๆ ครั้นถึงสมัยราชวงศ์เว (หรือ วุยก๊กในสมัยสามก๊ก) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๔ พระพุทธศาสนาก็ได้เป็นศาสนาประจำชาติของจีน ตั้งแต่รัชกาลของพระจักรพรรดิพระองค์แรก ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๔ และ ๕ นี่เอง พระภิกษุผู้ทรงเกียรติคุณเป็นปราชญ์หลายท่าน เช่น กุมารชีวะ เป็นต้น ได้เดินทางเข้ามาจากอาเซียกลางและอินเดีย ช่วยแปลพระคัมภีร์ รจนาอรรถกถา และเผยแพร่สั่งสอนธรรมแก่ประชาชนอย่างแพร่หลายกว้างขวาง ลัทธิอมิตาภะก็ได้เข้ามาเผยแพร่ในสมัยนี้ด้วย

เหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งคือ พระโพธิธรรม ได้นำพระพุทธศาสนานิกาย ฉาน (บาลีว่า ฌาน, สํสกฤตว่า ธยาน, ญี่ปุ่นว่า เซน) เข้ามาเผยแพร่เมื่อประมาณ ค.ศ. ๕๒๖

พระพุทธศาสนาในประเทศจีนได้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก โดยได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากราชวงศ์ถังและราชวงศ์ต่อๆ มาโดยลำดับ แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ได้มีผู้นำลัทธิลามะ (พระพุทธศาสนานิกายหนึ่งแบบในทิเบต) เข้ามาเผยแพร่ในจีนเหนือ และทางฝ่ายอาณาจักรได้สนับสนุนลัทธินั้น ต่อนั้นมาพิธีกรรมต่างๆ ก็เจริญแพร่หลายออกหน้า ส่วนศาสนธรรมที่แท้ก็เลือนรางจืดจางไปจากความสนใจ

 

ลำดับเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในประเทศจีน

๑. สมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ. ๓๔๒ – ๗๖๓)

พ.ศ. ๔๒๓

พระเจ้าบู่ตี่ ทรงได้รับรายงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอาณาจักรกุษาณ (อินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ)

พ.ศ. ๖๐๘

พระเจ้ามิ่งตี่ หรือ เม่งตี่ ทรงส่งทูต ๑๘ คนไปสืบศาสนาในปัจจิมทิศ ทูตกลับมาพร้อมด้วย พระกาศยปะมาตังคะ ใน พ.ศ. ๖๑๐ ทรงสร้างวัดถวายชื่อวัดแปะเบ๊ยี่ (วัดม้าขาว) พระกาศยปะมาตังคะ แปล “พระสูตรพุทธวจนะ ๔๒ บท” เป็นสูตรแรก

พ.ศ. ๖๙๘

พระเจ้าฮ่วงตี่ โปรดให้หล่อพระพุทธรูปครั้งแรก (เป็นพระพุทธรูปทองแดง)

พ.ศ. ๗๓๔

ในสมัย พระเจ้าเฮี่ยนตี่ พระพุทธศาสนาเริ่มแพร่หลายเข้าสู่ภาคใต้ของจีน และมีปราชญ์ชื่อ โม่วจื้อ เขียนคำบรรยายแสดงหลักธรรมเปรียบเทียบกับลัทธิเต๋า เป็นข้อเขียนแสดงหลักธรรมเรื่องแรกของชาวจีน

 

๒. สมัยสามก๊ก (พ.ศ. ๗๖๓ – ๘๐๘)

พ.ศ. ๘๐๐

ในรัชกาล พระเจ้าฮุ่ยตี่ มีการแปลคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร ในปีต่อมา (๘๐๑) มีการอุปสมบทพระภิกษุจีนรูปแรก (ก่อนหน้านี้ราชการห้ามชาวจีนอุปสมบท พระเจ้าโจผี เป็นผู้ทรงยกเลิกข้อห้ามนี้)

 

๓. สมัยราชวงศ์จิ้น (พ.ศ. ๘๐๘ – ๙๖๓)

พ.ศ. ๘๕๓

ในรัชกาล พระเจ้าไว่ตี่ มีพระภิกษุชาวอาเซียกลางชื่อโฟเถอเตง จาริกมายังนครโลยาง นำหลักธรรมนิกายมนตรยานเข้ามาเผยแพร่ และมีการบวชภิกษุณีรูปแรกของจีน

พ.ศ. ๙๑๕

ในรัชกาล พระเจ้าเฮาบูตี่ ประเทศเกาหลีส่งทูตมาขอพระพุทธรูปและพระคัมภีร์ เป็นแรกเริ่มที่พระพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่เกาหลี

พ.ศ. ๙๓๔

มีพระภิกษุชื่อ ฮุ่ยเอี้ยง เริ่มประกาศหลักธรรมในนิกายสุขาวดี ณ ภูเขาโลซาน

พ.ศ. ๙๔๒

ในรัชกาล พระเจ้าอ่านตี่ หลวงจีนฟาเหียน (ฮวบเฮี้ยน) ออกจาริกไปสืบศาสนาในชมพูทวีป

พ.ศ. ๙๔๔

พระกุมารชีวะ จากแคว้นกุฉะหรือกูจา มาถึงนครเชียงอาน ปฏิบัติศาสนกิจอยู่จนถึงมรณภาพ ใน พ.ศ. ๙๕๖

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๒. พระพุทธศาสนาในเกาหลี๔. พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น >>

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.