๖. พระพุทธศาสนาในไทย

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 6 จาก 15 ตอนของ

๖.
พระพุทธศาสนาในไทย

 

ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย อาจแบ่งออกได้เป็น ๔ ยุค คือ

  1. ยุคเถรวาทแบบสมัยอโศก
  2. ยุคมหายาน
  3. ยุคเถรวาทแบบพุกาม
  4. ยุคเถรวาทแบบลังกาวงศ์

ยุคที่ ๑ เถรวาทแบบสมัยอโศก

พ.ศ. ๒๑๘

พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ ณ พระนครปาฏลีบุตร หลังจากเสร็จสิ้นการสังคายนาแล้ว ได้ทรงส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่างๆ รวม ๙ สาขา บรรดา ๙ สายนั้น พระโสณะ และ พระอุตตระ เป็นสายหนึ่ง (คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎกนับเป็นสายที่ ๘ แต่คัมภีร์ศาสนวงศ์นับย้อนเป็นสายที่ ๒) นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานใน อาณาจักรสุวรรณภูมิ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าได้แก่ จังหวัดนครปฐม โดยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ เป็นต้น เป็นประจักษ์พยานอยู่จนบัดนี้ (พม่าว่าสุวรรณภูมิได้แก่ เมืองสะเทิม ในพม่าภาคใต้)

 

ยุคที่ ๒ มหายาน

พ.ศ. ๖๒๐

พระเจ้ากนิษกะมหาราช ทรงอุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ ๔ ของฝ่ายมหายาน ณ เมืองชลันธร และทรงส่งสมณทูตออกประกาศพระศาสนาในอาเซียกลางเป็นต้น คราวนั้นพระเจ้ามิ่งตี่ ทรงนำพระพุทธศาสนาจากอาเซียกลางเข้าไปเผยแพร่ในประเทศจีน และได้ทรงส่งทูตสันถวไมตรีมายัง ขุนหลวงเม้า กษัตริย์ไทยผู้ครองอาณาจักรอ้ายลาว คณะทูตได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาด้วย ทำให้หัวเมืองไทยทั้ง ๗๗ มีราษฎร ๕๑,๘๙๐ ครอบครัว หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๑๓๐๐

กษัตริย์แห่งศรีวิชัย ในเกาะสุมาตราเรืองอำนาจ แผ่อาณาเขตเข้ามาถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี กษัตริย์ศรีวิชัยทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จึงทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเผยแพร่เข้ามาในภาคใต้ของประเทศไทย ที่อยู่ในอาณาจักรของพระองค์ ดังมีเจดีย์พระธาตุไชยาและพระมหาธาตุนครศรีธรรมราชเป็นประจักษ์พยานถึงบัดนี้

พ.ศ. ๑๕๕๐

กษัตริย์กัมพูชา ราชวงศ์สุริยวรมัน เรืองอำนาจ แผ่อาณาเขตลงมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย และตั้งเมืองละโว้หรือลพบุรีเป็นเมืองหลวงเมืองหนึ่งสำหรับปกครองดินแดนแถบนี้ (จึงเรียกสมัยนี้ว่าสมัย ลพบุรี) กษัตริย์กัมพูชาทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งได้เผยแพร่ต่อขึ้นมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่มหายานสมัยนี้ปนเปผสมกับศาสนาพราหมณ์มาก ประชาชนถิ่นนี้จึงได้รับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิมกับมหายานและศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ ทำให้มีผู้นับถือทั้งสองแบบ และมีพระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกาย ภาษาสันสกฤตก็เข้ามาเผยแพร่ มีอิทธิพลในภาษาและวรรณคดีไทยมากแต่บัดนั้น

 

ยุคที่ ๓ เถรวาทแบบพุกาม

พ.ศ. ๑๖๐๐

พระเจ้าอนุรุทธมหาราช หรืออโนรธามังช่อ กษัตริย์พุกามเรืองอำนาจขึ้น ทรงปราบรามัญรวมพม่าเข้าได้ทั้งหมด แล้วแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง จรดลพบุรี และทวาราวดี พระเจ้าอนุรุทธทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงทำนุบำรุงและเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้า

ย้อนกล่าวถึงชนชาติไทยในจีน ถูกจีนรุกราน อพยพลงมาทางใต้ตามลำดับ หลังจากอาณาจักรอ้ายลาวสลายตัว ก็ได้มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ครั้นถึงประมาณ พ.ศ. ๑๒๙๙ ขุนท้าวกวาโอรสขุนบรมแห่งอาณาจักรน่านเจ้า ได้มาตั้งอาณาจักรโยนก เชียงแสนในสุวรรณภูมิ กาลเวลาผ่านไปคนไทยก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน เมื่ออาณาจักรกัมพูชาเรืองอำนาจ คนไทยที่อยู่ในเขตล้านนาคือภาคพายัพได้รับอิทธิพลขอมน้อย แต่เมื่ออาณาจักรพุกามแผ่เข้ามาครอบงำ คนไทยในถิ่นนี้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาสืบๆ มาอยู่แล้ว ก็รับนับถือพระพุทธศาสนาแบบพุกามจนเจริญแพร่หลายขึ้นทั่วไปในฝ่ายเหนือ

 

ยุคที่ ๔ เถรวาทแบบลังกาวงศ์

พระพุทธศาสนาในยุคนี้ คือ แบบที่นับถือมาเป็นศาสนาประจำชาติของไทยจนถึงปัจจุบัน สำหรับยุคนี้ มีรายละเอียดที่ปรากฏในประวัติศาสตร์มากกว่ายุคก่อนๆ จึงแยกย่อยเป็นสมัยๆ ดังนี้

๑. สมัยสุโขทัย

พ.ศ. ๑๘๐๐

ระยะนี้ อาณาจักรพุกามและกัมพูชาเสื่อมอำนาจลงแล้ว คนไทยตั้งตัวเป็นอิสระขึ้นได้ ทางเหนือเกิดอาณาจักรล้านนา ใต้ลงมาเกิดอาณาจักรสุโขทัย

ย้อนกล่าวทางฝ่ายพระศาสนาในประเทศลังกา พ.ศ. ๑๖๙๖ พระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ขึ้นครองราชย์ ทรงปราบทมิฬ ทำบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น ทรงอุปถัมภ์พระศาสนารวมพระสงฆ์เข้าเป็นนิกายเดียว และโปรดให้มีการสังคายนาครั้งที่ ๗ ขึ้น พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในลังกาทวีปทั้งการศึกษาและปฏิบัติ พระสงฆ์ประเทศต่างๆ เดินทางไปศึกษาธรรมวินัยและบวชแปลงใหม่ แล้วกลับไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในประเทศของตน บ้างก็นิมนต์พระลังกามาด้วย สำหรับประเทศไทยพระสงฆ์ไทยและลังกาเช่นนี้ได้มาตั้งสำนักเผยแพร่อยู่ ณ เมือง นครศรีธรรมราช ได้รับความนับถืออย่างรวดเร็ว

พ.ศ. ๑๘๒๐

พ่อขุนรามคำแหง เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสดับกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกาวงศ์แล้วอาราธนา พระมหาเถรสังฆราช จากนครศรีธรรมราชเข้ามาพำนัก ณ วัดอรัญญิก ในกรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ก็รุ่งเรืองแต่นั้นมา เบื้องต้นยังมีพระสงฆ์ ๒ พวก คือ คณะสงฆ์เดิมกับคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ แต่ในที่สุดได้รวมเข้ามาเป็นนิกายเดียวกัน ส่วนพระพุทธศาสนามหายานก็เสื่อมแล้วสูญไป ในรัชกาลนี้ได้นำ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งสร้างในลังกาขึ้นมาจากนครศรีธรรมราชไว้ ณ กรุงสุโขทัยด้วย (ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า ได้พระพุทธสิหิงค์มาใน พ.ศ. ๑๘๐๐ รัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์) ศิลปะแบบลังกาเริ่มเข้ามาแทนที่ศิลปะแบบมหายาน เช่น เจดีย์พระมหาธาตุนครศรีธรรมราชแปลงรูปเป็นสถูปแบบลังกา เป็นต้น

พ.ศ. ๑๘๙๗

พระเจ้าลิไท กษัตริย์องค์ที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ ทรงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชเมืองลังกานามว่า สุมนะ เข้ามาสู่สุโขทัย ใน พ.ศ. ๑๙๐๔ ครั้นออกพรรษาแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จออกผนวชชั่วคราว ณ วัดอรัญญิก ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง ทรงสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนด้วยพระองค์เอง และเผดียงพระสงฆ์เข้าไปเรียนพระไตรปิฎกในมหาปราสาท โปรดให้พิมพ์จำลองพระพุทธบาท ทรงสร้างพระมหาธาตุ บรรจุพระสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากลังกา และปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์จากลังกาไว้หลังพระมหาธาตุนั้น กับทรงเริ่มจัดระเบียบคณะสงฆ์ โดยแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็นสองฝ่าย คือ คามวาสี กับ อรัญวาสี

๒. สมัยลานนาไทย

สมัยลานนาไทยตรงกับสมัยสุโขทัย และคาบเกี่ยวเข้าไปในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่แยกต่างหากเพื่อสะดวกแก่การกำหนด

พ.ศ. ๑๘๐๒ – ๑๘๕๓

พระเจ้าเม็งราย ครองราชย์ ณ เมืองเชียงใหม่ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เช่น สร้างวัดเชียงมั่น เป็นต้น

พ.ศ. ๑๘๙๘ – ๑๙๒๘

ในรัชกาล พระเจ้ากือนา หรือตื้อนา หรือกือนาธรรมิราช พระองค์ทรงส่งราชทูตมายังพระเจ้าลิไท ทูลขออาราธนาพระสังฆราชสุมนเถร ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาและนำพระบรมสารีริกธาตุไปยังล้านนา ประมาณ พ.ศ. ๑๙๑๓ เป็นการเริ่มต้นพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในล้านนา กับมีการสร้างพระธาตุเจดีย์ที่วัดบุบผาราม (วัดสวนดอก เสร็จ พ.ศ. ๑๙๑๗) และพระธาตุดอยสุเทพ (เสร็จ พ.ศ. ๑๙๒๗) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่นำมานั้น

พ.ศ. ๑๙๗๗1

ในรัชกาลพระเจ้าสามฝั่งแกน พระสถูปใหญ่เก่าแก่องค์หนึ่ง ณ เมืองเชียงราย ต้องอสนีบาตพังลง ได้พบพระแก้วมรกต

พ.ศ. ๑๙๗๘ – ๒๐๓๐2

ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์พระองค์นี้เคยทรงผนวชชั่วคราว ณ วัดป่าแดงเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๐ ต่อมา พ.ศ. ๑๙๙๘ พระสงฆ์คณะหนึ่งได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศลังกา เมื่อกลับมาได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์มาด้วย จึงโปรดให้สร้างอารามถวายชื่อวัดโพธาราม หรือวัดเจ็ดยอด ครั้นถึง พ.ศ. ๒๐๒๐ โปรดอุปถัมภ์จัดการสังคายนาครั้งที่ ๑ ของประเทศไทย หรือนับต่อจากลังกาเป็นครั้งที่ ๘ ที่วัดโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด ช่วงเวลาระยะนี้ (ประมาณแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จนสิ้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ส่วนใหญ่ในรัชกาล พระเมืองแก้ว พ.ศ. ๒๐๓๘ – ๒๐๖๘) เป็นระยะรุ่งเรืองแห่งวรรณคดีพระพุทธศาสนาของลานนาไทย มีพระสงฆ์เป็นนักปราชญ์คัมภีร์ภาษาบาลีขึ้นมาก เช่น พระสิริมังคลาจารย์ (แต่งมังคลัตถทีปนี เวสสันตรทีปนี จักกวาฬทีปนี สังขยาปกาสกฎีกา) พระญาณกิตติ (โยชนาวินัย โยชนาอภิธรรม เป็นต้น) พระรัตนปัญญา (วชิรสารัตถสังคหะ และ ชินกาลมาลีปกรณ์) พระโพธิรังษี (จามเทวีวงศ์) พระนันทาจารย์ (สารัตถสังคหะ) พระสุวรรณรังสี (ปฐมสมโพธิสังเขป) เป็นต้น สันนิษฐานกันว่า ปัญญาสชาดก ก็แต่งในยุคนี้

๓. สมัยอยุธยา

มีข้อสังเกตว่า เท่าที่พบหลักฐาน ความนับถือพระพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา ไม่สู้โน้มไปในหลักธรรมชั้นสูงนัก โดยมากสนใจมุ่งไปแต่เรื่องการบุญการกุศล บำรุงพระสงฆ์ สร้างวัดวาอาราม ปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ พิธีกรรม งานฉลองงานนมัสการ เช่น ไหว้พระธาตุและพระพุทธบาท เป็นต้น การบำเพ็ญจิตภาวนาก็เน้นไปข้างความขลังศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มีเรื่องไสยศาสตร์ อาถรรพณ์เข้ามาปะปนเป็นอันมาก อย่างน้อยก็เป็นลักษณะที่เด่นในปลายสมัย

ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยานิยมแบ่งเป็น ๔ ตอน เพ่งในแง่ประวัติพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๔ รัชกาลที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับกิจการพระศาสนาอย่างสำคัญ แบ่งได้ตอนละรัชกาลดังนี้

ก. อยุธยาตอนแรก (พ.ศ. ๑๘๙๓ – ๒๐๓๑)

พ.ศ. ๑๙๙๑ – ๒๐๓๑

ในรัชกาล สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ทรงจัดการปกครองบ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยเข้มแข็ง แล้วทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ดูเหมือนว่าจะทรงดำเนินตามอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชและพระมหาธรรมราชาลิไท คือทรงสละราชสมบัติ ออกผนวช อยู่ ณ วัดจุฬามณีเป็นเวลา ๘ เดือน เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ (พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า พ.ศ. ๒๐๐๘ นอกจากทรงผนวชเองแล้ว ใน พ.ศ. ๒๐๒๗ ยังโปรดให้พระราชโอรสกับพระราชนัดดาผนวชเป็นสามเณรด้วย ข้อนี้สันนิษฐานว่า เป็นต้นประเพณีบวชเรียนของเจ้านายและข้าราชการ เป็นต้น) ต่อมาโปรดให้ประชุมกวีแต่งหนังสือ มหาชาติคำหลวง ใน พ.ศ. ๒๐๒๕ และทรงกันที่ในพระบรมมหาราชวังส่วนหนึ่ง สถาปนาเป็นวัดชื่อ วัดพระศรีสรรเพชญ์

ข. อยุธยาตอนที่สอง (พ.ศ. ๒๐๓๔ – ๒๑๗๓)

พ.ศ. ๒๑๖๓ – ๒๑๗๑

รัชกาลพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมชำนาญมาแต่ยังผนวช มีพระราชศรัทธาถึงเสด็จออกบอกหนังสือพระภิกษุสามเณรที่พระที่นั่งจอมทองสามหลังเนืองๆ (ข้อนี้เป็นหลักฐานว่า ประเพณีบอกหนังสือพระในพระบรมมหาราชวังได้มีมานานแล้ว) โปรดให้สร้างมณฑปสวมรอยพระพุทธบาทซึ่งมีผู้พบที่สระบุรี สร้างมณฑปสวมพระมงคลบพิตรที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงสร้างไว้แต่ พ.ศ. ๒๐๘๑ และโปรดให้ชุมนุมราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๐ และโปรดให้สร้างพระไตรปิฎกไว้จบบริบูรณ์

สมัยอยุธยาตอนที่สองนี้ ปรากฏว่าความนิยมสร้างวัดมีมากขึ้นไม่จำเพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น ผู้มีเงินมีฐานะพอ ก็มักสร้างวัดไว้ประจำตระกูล ไว้เก็บอัฐิบรรพบุรุษ และวัดเป็นสถานศึกษาจนมีคำกล่าวมาว่า “เมื่อบ้านเมืองดี เขาสร้างวัด ให้ลูกเล่น”

ค. อยุธยาตอนที่สาม (พ.ศ. ๒๑๗๓ – ๒๒๗๕)

พ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑

รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในรัชกาลนี้มีหลักฐานว่า ประเพณีการบวชเรียนคงจะได้รับความนิยมกันมามาก ปรากฏว่าในรัชกาลนี้ ผู้บวชได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์อย่างดี ทำให้คนหลบเลี่ยงราชการบ้านเมืองไปบวชกันมาก ถึงกับต้องมีรับสั่งให้ออกหลวงสรศักดิ์ เป็นแม่กองประชุมสงฆ์สอบความรู้พระภิกษุสามเณร ผู้ที่หลบลี้บวช สอบได้ความชัดว่าไม่มีความรู้ในพระศาสนา ถูกบังคับให้ลาสิกขาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่แสดงถึงการที่ผู้บวชแล้วเป็นผู้พ้นราชภัยเป็นต้น ดังปรากฏในรัชกาลนี้ว่า เมื่อประชวรจะสวรรคต พระเพทราชากับขุนหลวงสรศักดิ์ กำลังล้อมวังไว้เตรียมจะยึดอำนาจ พระองค์โปรดให้ช่วยชีวิตพวกข้าราชการฝ่ายในทั้งหลายไว้ด้วยการถวายพระราชวังเป็นวิสุงคามสีมา แล้วให้ประกอบพิธีอุปสมบทคนเหล่านั้น นำไปอยู่วัดเป็นอันพ้นภัย

เหตุการณ์สำคัญยิ่งในรัชกาลนี้คือ มีการติดต่อค้าขายกับชาวยุโรปมาก ชาวยุโรปเข้ามานอกจากเพื่อการค้าแล้ว ก็นำ คริสต์ศาสนา เข้ามาเผยแพร่ด้วย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระราชศรัทธามั่นในพระพุทธศาสนา แต่ก็ทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา นอกจากจะทรงออกพระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้ราษฎรนับถือศาสนาใดๆ ก็ได้แล้ว ยังทรงอุปถัมภ์ศาสนาอื่นๆ โดยเฉพาะคริสต์ศาสนาที่มากับชาวตะวันตกด้วย เช่น โปรดให้สร้างวัดเซนต์โยเซฟ ที่สถิตของสังฆนายกที่อยุธยา และสร้างวัดเซนต์เปาโลที่ลพบุรีและตะนาวศรี เป็นต้น

โดยเฉพาะเวลานั้นทรงมีสัมพันธไมตรีแน่นแฟ้นเป็นพิเศษกับพระเจ้าหลุยส์แห่งฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์และพวกบาทหลวงถึงกับคิดว่าพระองค์ทรงเลื่อมใสในคริสต์ศาสนา พระเจ้าหลุยส์ได้ทรงส่งเอกอัครราชทูตมาเจริญพระราชไมตรีและให้ทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตด้วย ใน พ.ศ. ๒๒๒๘ สมเด็จพระนารายณ์ทรงผ่อนผันโดยพระปรีชาญาณว่า “หากพระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยให้พระองค์เข้ารีตเมื่อใด ก็จะบันดาลศรัทธาให้เกิดขึ้นในพระทัยของพระองค์เมื่อนั้น” นี้นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับกิจการพระศาสนาอย่างหนึ่ง เพราะมิฉะนั้น กิจการบ้านเมืองคงผันแปรไปมากมาย

ในสมัยอยุธยาตอนที่สามนี้ มีวรรณคดีพุทธศาสนาเหลือมาถึงปัจจุบันจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นของแต่งในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พระนารายณ์มหาราช และพระเพทราชา แต่ก็เป็นประเภทหนังสือแปล หรือแต่งเป็นภาษาไทย ไม่ปรากฏเป็นคัมภีร์ภาษามคธ

ง. อยุธยาตอนสี่ (พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๑๐)

พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑

ในรัชกาล พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ การบวชเรียนกลายเป็นประเพณีถึงกับว่า ผู้ที่จะเป็นขุนนางมียศบรรดาศักดิ์ต้องเป็นผู้ได้บวชแล้วจึงจะทรงตั้ง ถึงเจ้านายในพระราชวงศ์ก็ผนวชทุกพระองค์เหมือนกัน สมัยนี้เกิดวรรณคดีทางพระศาสนาหลายเรื่อง ที่สำคัญ เช่น นันโทปนันทสูตร พระมาลัยคำหลวง ปุณโณวาทคำฉันท์ และพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์ เป็นต้น

ในระยะเดียวกันนี้ ทางด้านลังกาทวีป ศาสนวงศ์ได้สูญสิ้น ไม่มีพระภิกษุที่จะประกอบพิธีอุปสมบท พระเจ้ากีรติสิริราชสิงหะจึงทรงส่งคณะทูตมาใน พ.ศ. ๒๒๙๓ เพื่อขอพระสงฆ์ไทยไปอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวลังกา คณะสงฆ์ไทยมีพระอุบาลีเป็นหัวหน้า ได้เดินทางไปใน พ.ศ. ๒๒๙๖ พำนักอยู่ ณ วัดบุพพาราม ในเมืองแกนดี ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา และอุปสมบทกุลบุตรสืบศาสนวงศ์ในลังกาต่อมา ทำให้เกิดคณะสงฆ์ อุบาลีวงศ์ หรือ สยามวงศ์ หรือ สยามนิกาย อันเป็นคณะสงฆ์ใหญ่ที่สุดในลังกา

อนึ่ง ตอนปลายสมัยนี้ปรากฏหลักฐานว่า มีความเชื่อหมกมุ่นในเรื่องโชคลางและไสยศาสตร์มาก ซึ่งแสดงถึงความไม่สงบของเหตุการณ์บ้านเมือง และอาจจะเป็นสาเหตุของความอ่อนแอของชาติได้อย่างหนึ่ง ต่อมากรุงศรีอยุธยาก็ได้เสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐

๔. สมัยธนบุรีถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ถึง ร.๔)

พ.ศ. ๒๓๑๐

สมเด็จพระเจ้าตากสิน เสด็จขึ้นครองราชย์ ณ กรุงธนบุรี แม้จะเป็นระยะตั้งเมืองใหม่ แต่ก็ทรงเอาพระทัยใส่บำรุงกิจการพระศาสนาเท่าที่ทรงมีโอกาส ทรงสร้างวัดใหม่เฉพาะวัดบางยี่เรือเหนือ (วัดราชคฤห์) วัดเดียว แต่ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดเก่าบางวัด และจัดวัดต่างๆ ในกรุงขึ้นเป็นวัดหลวง อาราธนาพระภิกษุผู้รู้ธรรมมีศีลาจารวัตรเข้ามาตั้งเป็นราชาคณะ ช่วยรับภาระบำรุงพระศาสนา ทรงรวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกจากหัวเมือง มาเลือกคัดจัดเป็นฉบับหลวง แต่ยังไม่ทันเรียบร้อยบริบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน ใน พ.ศ. ๒๓๑๙ โปรดให้จัดสร้าง สมุดภาพไตรภูมิ อันวิจิตรขนาดใหญ่คลี่ได้ยาวเกิน ๓๔ เมตร และทรงเริ่มฝึกวิปัสสนาในปีเดียวกันนี้ ต่อมา พ.ศ. ๒๓๒๒ กองทัพไทยได้อัญเชิญ พระแก้วมรกต มาแต่เมืองเวียงจันทน์ ตอนปลายรัชกาล ทรงใฝ่พระทัยในการบำเพ็ญกรรมฐานมาก และท้ายที่สุด ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ มีเรื่องว่าทรงมีพระสติฟั่นเฟือน ถึงกับพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ด้วยการให้ดำน้ำ และทรงเข้าพระทัยว่าพระองค์เป็นพระอริยบุคคลทรงให้พระสงฆ์กราบไหว้พระองค์ พระสงฆ์ที่ไม่ยอมทำตามก็ถูกลงโทษและเกิดเหตุวุ่นวายในกรุง จนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องมาระงับเรื่อง พระองค์ถูกสำเร็จโทษ เป็นอันสิ้นแผ่นดิน

พ.ศ. ๒๓๒๕

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาพระองค์ได้ทรงสร้างเมืองหลวงใหม่ทางฝั่งตะวันออก ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดหลายวัด มี วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ และ วัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น เจ้านายขุนนางข้าราชการก็พากันสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้าง วัดมหาธาตุฯ เป็นต้น ใน พ.ศ. ๒๓๓๑ โปรดให้ประชุมพระสงฆ์และราชบัณฑิตทำการ สังคายนาครั้งที่ ๙ ณ วัดมหาธาตุ เสร็จแล้วคัดลอกสร้างเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวง เรียกว่า ฉบับทองใหญ่ ต่อมาทรงสร้างเพิ่ม ๒ ฉบับ คือ ฉบับรองทอง และ ฉบับทองชุบ โปรดให้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนตามวังเจ้านาย และบ้านข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงตรา กฎหมายพระสงฆ์ เพื่อกวดขันความประพฤติของพระสงฆ์ ชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ และทรงสืบต่อประเพณีพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์

พ.ศ. ๒๓๕๒

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๒ วัดที่ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ในรัชกาลนี้มีวัดอรุณราชวราราม วัดโมลีโลก วัดสุทัศน์ฯ เป็นต้น ใน พ.ศ. ๒๓๕๗ ทรงจัดส่งสมณทูต ๘ รูป ไปสืบสวนศาสนวงศ์ในลังกาทวีป ขากลับคณะได้นำหน่อ พระศรีมหาโพธิ์ มา ๖ ต้น โปรดให้นำไปปลูกที่นครศรีธรรมราช ๒ ต้น วัดมหาธาตุ ๑ ต้น วัดสุทัศน์เทพวราราม ๑ ต้น วัดสระเกศ ๑ ต้น และมีผู้ขอไปปลูกที่กลันตัน ๑ ต้น ทรงมีพระราชดำริกับด้วย สมเด็จพระสังฆราช (มี) ให้ทำ พิธีวิสาขบูชา เป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์เป็นนักขัตตฤกษ์ใหญ่ของปี ใน พ.ศ. ๒๓๖๐ และโปรดให้มีการสังคายนาสวดมนต์ ใน พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชกาลนี้ สมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้ ขยายหลักสูตรการเรียนภาษาบาลี จาก ๓ ชั้น (๓ ชั้น คือ เปรียญตรี-โท-เอก) เป็น ๙ ประโยค

พ.ศ. ๒๓๖๗

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๓ โปรดให้สร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงเพิ่มจำนวนขึ้นไว้อีกหลายฉบับครบถ้วนสมบูรณ์กว่าในรัชกาลก่อนๆ โปรดให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย โดยเฉพาะในส่วนพระสูตรไว้มาก ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามหลวง และทรงอุปการะอุดหนุนให้มีผู้สร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามขึ้นเป็นจำนวนมากเป็นพิเศษกว่ารัชกาลก่อนๆ วัดที่สร้างในรัชกาลนี้คือ วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดาราม แล้วโปรดให้รวบรวมตำรับตำราต่างๆ เช่น อักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ โบราณคดี เป็นต้น แล้วให้จารึกไว้ในพระอารามหลวงต่างๆ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคราราม วัดราชโอรส วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นต้น ทรงส่งเสริมและขยายการบอกพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวังให้เข้มแข็งบริบูรณ์ยิ่งขึ้น โปรดให้จ้างอาจารย์บอกพระปริยัติธรรมทุกพระอารามหลวง พระราชทานอุปถัมภ์แก่พระภิกษุสามเณรที่สอบได้ตลอดไปถึงโยมบิดามารดา โปรดให้จ้างอาจารย์สอนหนังสือไทยแก่เด็ก นับเป็นการตั้งโรงเรียนหลวงครั้งแรก และทรงสืบต่อประเพณีมีพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์หลายเรื่อง

ในรัชกาลนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อก่อนครองราชย์) ซึ่งได้ผนวชเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ และผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ (ในรัชกาลที่ ๒) ประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ทรงสอบได้เปรียญ ๕ ประโยค ได้ทรงเลื่อมใสในความเคร่งครัดวินัยของพระมอญชื่อ ซาย ฉายา พุทธวังโส (เป็นพระราชาคณะที่พระสุเมธาจารย์ อยู่วัดบวรมงคล) มีพระประสงค์จะประพฤติเคร่งครัดเช่นนั้น จึงเสด็จย้ายไปประทับ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ ทรงอุปสมบทใหม่ แยกไปตั้งคณะ ธรรมยุติกา หรือ ธรรมยุติกนิกาย ขึ้น กำหนดด้วยการฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมาใหม่ของวัดสมอรายว่าเป็นการตั้งคณะธรรมยุตใน พ.ศ. ๒๓๗๖ จากนั้นได้เสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศ ตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติกาต่อมา

พ.ศ. ๒๓๙๔

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์พระชนม์ได้ ๔๗ พรรษา (ภายหลังจากผนวชอยู่ได้ ๒๗ พรรษา) การที่ได้ทรงผนวชอยู่นานนั้นเป็นประโยชน์แก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมาก เพราะได้ทรงมีโอกาสเสด็จไปในถิ่นต่างๆ เข้าถึงประชาชน ทรงทราบเหตุการณ์บ้านเมืองและข้อบกพร่องต่างๆ ทรงเรียนรู้เรื่องราวสถานการณ์ทั่วไปทันต่อเหตุการณ์ รู้ภาษาอังกฤษ รู้นิสัยใจคอของฝรั่ง ซึ่งจะต้องสัมพันธ์ในทางราชการต่อไป พระองค์ได้ทรงสร้างวัดใหม่ คือ วัดบรมนิวาส วัดโสมนัสวิหาร วัดปทุมวนาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และวัดมกุฏกษัตริยาราม กับทรงบูรณะพระปฐมเจดีย์ เป็นต้น ทรงโปรดให้มี “พิธีมาฆบูชา” ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๓๙๔ ทรงสร้างพระไตรปิฎกฉบับล่องชาด ทรงอุปถัมภ์สงฆ์ญวน นับเป็นการให้ความรับรองเป็นทางการแก่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานขึ้นใหม่เป็นครั้งแรก

๕. สมัยปัจจุบัน (ร.๕ ถึงปัจจุบัน)

พ.ศ. ๒๔๑๑

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๑๖ ได้ทรงผนวชอยู่ ๑๕ วัน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงสร้างวัดขึ้นใหม่คือ วัดราชบพิธ วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดอัษฎางคนิมิตร วัดจุฑาทิศราชธรรมสภา และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ทรงปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุโดยพระราชทานทรัพย์ส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เพิ่มสร้อยนามพระอารามว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์” และทรงปฏิสังขรณ์วัดอื่นๆ หลายวัด ทรงสนพระทัยศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับพระศาสนาไว้หลายเรื่อง ทรงส่งเสริมและโปรดริเริ่มการเกี่ยวกับหนังสือทางพระศาสนา เป็นเหตุให้เกิดหนังสืออันเป็นประโยชน์ในการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เช่น นวโกวาท การพิมพ์คัมภีร์อรรถกถา การแปลนิบาตชาดก เป็นต้น กิจการพระศาสนาที่ควรกำหนดเป็นพิเศษยังมีอีก ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๑๔

ในคราวเสด็จไปต่างประเทศ เมื่อถึงประเทศอินเดียทรงแสวงหาศาสนวัตถุและรูปพระพุทธเจดีย์มาหลายอย่าง ทำให้นักศึกษาพุทธศาสนาเปลี่ยนวิถีจากลังกาหันไปสนใจเรื่องอินเดียแต่นี้สืบมา และในรัชกาลนี้ก็ได้พันธุ์พระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาโดยตรงไม่ผ่านลังกา โปรดฯ ให้ปลูกไว้ ณ วัดเบญจมบพิตร และวัดอัษฎางคนิมิตร

ในปีเดียวกันนี้มีพระบรมราชโองการ “โปรดเกล้าฯ จะให้มีอาจารย์สอนหนังสือไทยและสอนเลขทุกๆ พระอาราม” เหตุการณ์นี้เป็นการเริ่มต้นการศึกษาแบบสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยให้พระสงฆ์รับภาระช่วยการศึกษาของชาติ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๒๗ โปรดให้จัดการตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นตามวัด เริ่มที่ วัดมหรรณพาราม เป็นแห่งแรก ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ มีพระบรมราชโองการประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมือง เป็นการประกาศเผดียงให้พระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร เอาใจใส่สั่งสอนธรรมแก่ประชาชน และฝึกสอนวิชาความรู้ต่างๆ แก่กุลบุตร ทรงอาราธนากรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเจ้าคณะใหญ่ บังคับการพระอารามในหัวเมืองในส่วนการพระศาสนาและการศึกษา และทรงมอบหมายกรมหมื่นดำรงราชานุภาพเป็นเจ้าหน้าที่จัดการอนุกูลในฝ่ายกิจการของฆราวาส

พ.ศ. ๒๔๓๐

โปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งกรมศึกษาธิการ สำหรับบังคับบัญชาการฝ่ายเล่าเรียนทั้งปวง ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดให้รวมกรมธรรมการสังฆการี กรมศึกษาธิการ กรมพยาบาล กรมแผนที่ และพิพิธภัณฑ์ เข้าในกรมธรรมการ และต่อมาวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกรมธรรมการขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ พร้อมกับกระทรวงอื่นรวมเป็น ๑๐ กระทรวง การศึกษาทั้งฝ่ายชาติและพระศาสนาเนื่องอยู่ในนโยบายอันหนึ่งอันเดียวกัน

พ.ศ. ๒๔๓๑

โปรดให้พิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยจบละ ๓๙ เล่ม จำนวน ๑,๐๐๐ จบ เป็นครั้งแรกที่มีการพิมพ์ พระไตรปิฎกเป็นอักษรไทย เสร็จและฉลองใน พ.ศ. ๒๔๓๖ พร้อมกับงานรัชดาภิเษก กับโปรดให้แต่งและพิมพ์คัมภีร์เทศนา พระราชทานพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ ทั้งในกรุงและหัวเมืองทั่วกัน ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ นั้น

พ.ศ. ๒๔๓๒

โปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาจัดเป็นบาลีวิทยาลัยขึ้นที่วัดมหาธาตุ ขนานนามว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” เป็นครั้งแรกที่ใช้นามวิทยาลัยในประเทศไทย และต่อมาในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๓๙ เสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย ประกาศพระราชปรารภเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็น “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ให้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรม และวิชาชั้นสูงต่อไป

พ.ศ. ๒๔๓๖

เสด็จไปทรงเปิด มหามกุฏราชวิทยาลัย ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงริเริ่มจัดตั้งขึ้น

พ.ศ. ๒๔๔๑

อุปราชอังกฤษผู้ปกครองประเทศอินเดีย ได้ส่งพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งขุดพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ มาถวายถึงประเทศไทย โปรดให้บรรจุในพระสถูปบนยอดบรมบรรพต ภูเขาทอง วัดสระเกศ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒

พ.ศ. ๒๔๔๕

ณ วันที่ ๑๖ มิถุนายน มีพระบรมราชโองการประกาศ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ เพื่อให้ฝ่ายพุทธจักรมีการปกครองคู่กันกับฝ่ายพระราชอาณาจักรที่ได้ทรงแก้ไขขึ้นแล้ว พ.ร.บ. นี้เป็นผลสืบเนื่องจากประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมืองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ โดยพระราชดำริว่า การจัดการตามประกาศฉบับนั้นได้ผลดี สมควรตั้งเป็นแบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ให้มั่นคงเรียบร้อยได้

พ.ศ. ๒๔๕๓

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในความรู้ทางพระศาสนามาก ถึงกับทรงเทศนาสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วยพระองค์เอง และทรงพระราชนิพนธ์หนังสือแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร แสดงคุณานุคุณ เป็นต้น

พ.ศ. ๒๔๕๖

โปรดให้ใช้ พุทธศักราช เป็นศักราชทางราชการแทนรัตนโกสินทร์ศก ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน

พ.ศ. ๒๔๖๒

โปรดให้เปลี่ยนเรียกกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ และย้ายกรมธรรมการออกไปรวมอยู่ในราชสำนักตามประเพณีเดิม นับเป็นการแยกการศึกษาฝ่ายบ้านเมืองให้เป็นต่างหากและต่างสังกัดกันด้วย

พ.ศ. ๒๔๕๔

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนำวิธีแปลโดยเขียนมาใช้ในการสอบบาลีสนามหลวงเป็นครั้งแรก เริ่มด้วยประโยค ๑-๒ และประกาศใช้เป็นทางการสำหรับทุกประโยคใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ครบถึงประโยค ๙ ใน พ.ศ.๒๔๖๙ ทรงเริ่มการศึกษาพระปริยัติธรรมใหม่ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง เรียกว่า “นักธรรม” สอบครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๕๔ (ตอนแรกเรียก “องค์ของสามเณรรู้ธรรม”)

พ.ศ. ๒๔๕๙

โปรดให้ย้าย หอพระสมุดสำหรับพระนคร มาตั้งที่ตึกสังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๔๖๒ – ๒๔๖๓

โปรดให้พิมพ์คัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกเพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระพันปีหลวง และเนื่องในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส นอกจากนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ยังได้ทรงบริจาคทรัพย์พิมพ์อรรถกถาชาดกและคัมภีร์อื่นๆ เช่น วิสุทธิมรรค และมิลินทปัญหา เป็นต้น ในโอกาสต่างๆ

พ.ศ. ๒๔๖๘

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดให้จัดพิมพ์ พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ จบละ ๔๕ เล่ม จำนวน ๑,๕๐๐ จบ เพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปในนานาประเทศประมาณ ๔๐๐ – ๔๕๐ จบ โปรดให้จัดงานฉลองในวันที่ ๒๕ – ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓

ยังมีคัมภีร์อื่นๆ ที่พิมพ์ต่อๆ มาในรัชกาลนี้ คือ อภิธัมมัตถวิภาวินี และ ฎีกาวิสุทธิมรรค

พ.ศ. ๒๔๖๙

โปรดให้ย้ายกรมธรรมการกลับเข้ามารวมกับกระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็น กระทรวงธรรมการ อย่างเดิม โดยมีพระราชดำริว่าการศึกษาไม่ควรแยกจากวัด

พ.ศ. ๒๔๗๑

กระทรวงธรรมการประกาศเพิ่มหลักสูตรทางด้านจริยศึกษาสำหรับนักเรียน

พ.ศ. ๒๔๗๒

โปรดให้ราชบัณฑิตยสภาเปิดการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็กในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา หนังสือเล่มแรกที่ได้รับรางวัลคือ “ศาสนาคุณ” ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ในปีนี้เริ่มเปิดโอกาสให้ฆราวาสเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม โดยแยกจากแผนกนักธรรมสำหรับพระภิกษุและสามเณร เรียกว่า “ธรรมศึกษา”

พ.ศ. ๒๔๗๕

คณะราษฎร์ได้ทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ ๘

พ.ศ. ๒๔๘๓

เริ่มงาน แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือแปลโดยอรรถ พิมพ์เป็นเล่มสมุด ๘๐ เล่ม เรียก “พระไตรปิฎกภาษาไทย” อย่างหนึ่ง กับแปลโดยสำนวนเทศนาพิมพ์ในใบลาน แบ่งเป็น ๑,๒๕๐ กัณฑ์ เรียก “พระไตรปิฏกเทศนาฉบับหลวง” อย่างหนึ่ง อย่างหลังสำเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ แต่อย่างแรกค้างอยู่ และได้นำมาดำเนินงานต่อโดยจัดเป็นผลงานเนื่องในงานฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษใน พ.ศ. ๒๕๐๐ จำนวน ๒๕๐๐ จบ

พ.ศ. ๒๔๘๔

รัฐบาลสร้าง วัดพระศรีมหาธาตุ ขึ้นที่อำเภอบางเขน อาราธนาพระสงฆ์ทั้งสองนิกายไปอยู่ร่วมกัน เพื่อเริ่มรวมนิกายสงฆ์สองคณะเข้าเป็นอันเดียว แต่ต่อมาปรากฏว่าไม่สำเร็จ

พ.ศ. ๒๔๘๔

เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็น กระทรวงศึกษาธิการ และกรมธรรมการมีชื่อใหม่ว่า กรมการศาสนา ในปีเดียวกันนี้รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับการปกครองฝ่ายบ้านเมือง

พ.ศ. ๒๔๘๘

มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ชื่อ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๘ และเปิดการศึกษาตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๘๙ เป็นต้นมา ให้ปริญญาเรียกว่า ศาสนศาสตร์บัณฑิต

พ.ศ. ๒๔๘๙

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ถูกลอบปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๙ สืบมา ในรัชกาลนี้ความสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นโดยลำดับในหมู่พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ มีสมาคมทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น พุทธสมาคม ยุวพุทธิกสมาคม เป็นต้น แม้ในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้มีนิสิตนักศึกษาจัดตั้งกลุ่มหรือชุมนุมทางพระพุทธศาสนาในชื่อต่างๆ เกิดขึ้นมากมายหลายสถาบัน

พ.ศ. ๒๔๙๐

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นแต่ พ.ศ. ๒๔๓๒ และได้ชื่อปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยฝ่ายพระพุทธศาสนา ในวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๙๐ และเปิดการศึกษาตั้งแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ให้ปริญญาเรียกว่า พุทธศาสตร์บัณฑิต

พ.ศ. ๒๔๙๙

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม และประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลา ๑๕ วัน จึงทรงลาผนวช

พ.ศ. ๒๕๐๐

มีงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในวันที่ ๑๒-๑๘ พฤษภาคม ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๐๑

เริ่มเกิดมี โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ขึ้นเป็นแห่งแรก ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ต่อนั้นมา ก็ได้มีผู้นิยมจัดตั้งโรงเรียนประเภทนี้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว

พ.ศ. ๒๕๐๕

รัฐบาลออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๕ เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๐๖ เป็นต้นไป โดยมีเหตุผลจะปรับปรุงการดำเนินกิจการคณะสงฆ์ ให้สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคมโดยตรง มิให้เป็นการแบ่งแยกอำนาจเพื่อถ่วงดุลย์แห่งอำนาจ อย่างใน พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔

พ.ศ. ๒๕๐๗

คณะสงฆ์ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมตามที่ได้ปรับปรุงใหม่ หรือเรียกง่ายๆ ว่า บาลีแผนใหม่ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม

พ.ศ. ๒๕๐๘

องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ได้มาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทยตามกำหนดเวลา ๔ ปี ต่อมาในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๙ ขององค์การเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ที่ประชุมได้มีมติให้สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวรสืบไป

พ.ศ. ๒๕๐๙

ณ วันที่ ๑ สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเป็นประธานทรงเปิดวัดพุทธปทีป ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศตะวันตก

พ.ศ. ๒๕๑๒

มหาเถรสมาคมออกคำสั่งเรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ณ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม และออกคำสั่งสภาการศึกษาของคณะสงฆ์ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๒

พ.ศ. ๒๕๑๔

กระทรวงศึกษาธิการ โดยความเห็นชอบและร่วมมือของคณะสงฆ์ ได้จัดทำ หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๔ ณ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม

พ.ศ. ๒๕๑๔

ณ วันที่ ๒๒ ธันวาคม กำเนิดวัดไทยแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา ที่นครลอสแองเจลิส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีชื่อเมื่อแรกตั้งว่า “ศูนย์พุทธศาสนาเถรวาท” (เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไทยลอสแองเจลีส” เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๒๒) ระยะเวลานับแต่นี้เป็นต้นมา ได้มีพระสงฆ์ไทยเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก และมีวัดไทยเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว (ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ มีวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ประมาณ ๑๕ วัด ประเทศอื่นๆ ที่มีวัดไทย เช่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีชาวตะวันตกเดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งได้บวชเป็นพระภิกษุบำเพ็ญสมณธรรมเจริญกรรมฐานอยู่ในถิ่นต่างๆ ถึงกับมีวัดหนึ่งที่เป็นสำนักของพระภิกษุชาวต่างประเทศโดยเฉพาะ คือ วัดป่านานาชาติ ในจังหวัดอุบลราชธานี (สาขาของวัดหนองป่าพง ที่พระโพธิญาณเถร หรืออาจารย์ชา เป็นเจ้าอาวาส)

พ.ศ. ๒๕๒๒

ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ พระโพธิญาณเถร หรือ อาจารย์ชา แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับนิมนต์จาก English Sangha Trust (มูลนิธิซึ่งชาวพุทธอังกฤษได้ตั้งขึ้นในกรุงลอนดอน เมื่อปี ๒๔๙๙ เพื่อประดิษฐานคณะสงฆ์ในประเทศอังกฤษ) ให้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ พระโพธิญาณเถรได้นำพระสุเมโธศิษย์ชาวอเมริกันไปด้วย และได้มอบหมายให้พระสุเมโธปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในกรุงลอนดอน ต่อมาพระสุเมโธได้เป็นผู้นำในการตั้ง วัดป่าจิตตวิเวก หรือ Chithurst Forest Monastery ขึ้นเป็นวัดป่าวัดแรกในประเทศอังกฤษ ที่ West Sussex ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ การเผยแพร่พระพุทธศาสนาดำเนินไปด้วยดี ต่อมาในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๗ ก็ได้ตั้งวัดแห่งใหม่ขึ้นเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่และปฏิบัติธรรมใกล้กรุงลอนดอนชื่อว่า วัดอมราวดี (Amaravati Buddhist Center) นอกจากนั้น ยังได้เปิดสำนักสาขาขึ้นที่ฮาร์นัม (Harnham) ในปี ๒๕๒๔ ที่เดวอน (Devon) ในปี ๒๕๒๖ ที่เวลลิงตัน ในนิวซีแลนด์ ในปี ๒๕๒๘ และจะเปิดต่อๆ ไปในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี่ เป็นต้น

ศิษย์อีกรูปหนึ่งของพระอาจารย์ชา ชื่อพระชาคโร เป็นชาวออสเตรเลีย ก็ได้ตั้งวัดป่าขึ้นที่เซอร์เพนไทน์ ในออสเตรเลียตะวันตก เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๒๖ ได้ชื่อว่าวัดโพธิญาณ โดยมีศูนย์งานเผยแผ่อยู่ที่พุทธสมาคม ในเมืองเพิร์ธ (Perth)

พ.ศ. ๒๕๒๕

มีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในปีอันสำคัญนี้ ได้มีพิธีสมโภชพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้านมัสการและชมสถานที่ ณ บริเวณพุทธมณฑล อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงประกอบพิธีเปิดป้ายพระนามพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล (พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ สูง ๒,๕๐๐ กระเบียด) ณ วันอังคารที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ (พุทธมณฑลมีเนื้อที่ ๒,๕๐๐ ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พระพุทธมณฑล ณ ตำแหน่งฐานพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๙๘)

พ.ศ. ๒๕๒๗

ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๕ – ๒๕๐๘ ศาสนจักรคาทอลิกได้จัดประชุมใหญ่เรียกว่า สังคายนาวาติกัน ครั้งที่ ๒ (Vatican Council II) และได้มีประกาศฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดท่าทีและแนวปฏิปักษ์ของศาสนาคริสต์ต่อศาสนาอื่นๆ โดยเปลี่ยนจากความเป็นปฏิปักษ์มาเป็นความกลมกลืน ต่อมาหน่วยงานเผยแพร่ของศาสนจักรคาทอลิกก็ได้จัดวาง นโยบายศาสนสัมพันธ์ แบบกล่อมและกลืนต่อพุทธศาสนา เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ ๒๐ ปี ชาวพุทธบางกลุ่มในประเทศไทยจึงได้พบว่า นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ได้ใช้อุบายปฏิบัติการต่างๆ ในการที่จะกล่อมและกลืนพระพุทธศาสนาไปแล้วเป็นอันมาก เช่น ปรุงแต่งทฤษฎีว่าพระพุทธเจ้าเป็นประกาศกของพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น ชาวพุทธเหล่านี้ได้ตื่นตัวขึ้น และเคลื่อนไหวในการที่จะปกป้องพระพุทธศาสนา ผลอย่างหนึ่งจากการเคลื่อนไหวนี้ คือ เป็นแรงผลักดันให้มีการจัดงาน สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ในช่วงวิสาขบูชา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา

พ.ศ. ๒๕๓๐

คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมปรึกษา เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ เห็นชอบด้วยในหลักการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับหลวง ทั้งภาษามคธและภาษาไทย เพื่อพิมพ์ขึ้นเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ตามพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช งานตรวจชำระได้เริ่มดำเนินการในกลางปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อถึงพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ ได้ตีพิมพ์ฉบับภาษามคธเสร็จ ๑ เล่ม ฉบับภาษาไทยเสร็จ ๓ เล่ม

ปัจจุบัน ผู้มีการศึกษาและชาวตะวันตกได้หันมาสนใจศึกษาปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนามากขึ้น และจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองหรือการได้รับคำแนะนำอธิบายจากเอกชนบางกลุ่ม ก็ได้มีผู้หันมานับถือพระพุทธศาสนาโดยการตัดสินใจด้วยสติปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คราวละคนสองคนตามลำดับ อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนในระดับชาวบ้านทั่วไปโดยเฉพาะชาวชนบท ไม่เข้าถึงแหล่งการศึกษาเหล่านี้ และไม่มีกิจกรรมเผยแพร่พระพุทธศาสนาเข้าไปถึง จึงถูกดึงให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นโดยทางการแต่งงานทีละรายสองรายบ้าง โดยการหันเหไปตามอามิสและเครื่องล่อต่างๆ เนื่องจากความยากจนและความขาดการศึกษาคราวละทั้งหมู่บ้านหรือทั้งกลุ่มบ้าง จำนวนประชาชนชาวพุทธในประเทศไทยจึงลดลงไปเรื่อยๆ

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร ๕๓,๕๖๕,๕๗๑ คน ในจำนวนนี้เป็นพุทธศาสนิกตามสถิติของทางการ ๕๐,๘๒๘,๐๒๔ คน หรือ ร้อยละ ๙๔.๘๘ % (ปี ๒๕๓๐)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๕. พระพุทธศาสนาในทิเบต๗. พระพุทธศาสนาในเนปาล >>

เชิงอรรถ

  1. บางท่านว่า พ.ศ. ๑๙๗๙
  2. บางท่านว่า พ.ศ.๑๙๗๕-๒๐๓๑

No Comments

Comments are closed.