– ๑ – จิตใจของนักวิชาการ

23 กันยายน 2539
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

– ๑ –
จิตใจของนักวิชาการ

วิชาการต้องมีชีวิตชีวา จึงจะมีการแสวงปัญญาอย่างแท้จริง

ได้บอกเมื่อกี้ว่า ปัญญาเป็นคุณสมบัติเยี่ยมยอดของมนุษย์ เพราะมนุษย์นั้นเป็นอยู่ด้วยอาศัยสัญชาตญาณได้น้อย ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น มนุษย์ต้องอาศัยปัญญาที่รู้เข้าใจ จึงจะดำเนินชีวิตให้ดีได้ ในเมื่อปัญญาเป็นคุณสมบัติสูงสุด มันก็โยงไปหาคุณสมบัติอื่นในกระบวนการพัฒนามนุษย์ ถ้ามีการประสานหรือสัมพันธ์กับคุณธรรมหรือคุณสมบัติอื่นอย่างถูกต้อง ตัวปัญญา และกระบวนการพัฒนาปัญญานี่แหละ จะทำให้คุณธรรมเกิดขึ้นมาเอง หมายความว่า ถ้ากระบวนการพัฒนานั้นถูกต้อง มันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม บางทีเหมือนกับว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น แต่กลายเป็นว่า กระบวนการแสวงปัญญาในวงวิชาการ บางครั้งกลับทำให้เกิดมีปัญหาทางคุณธรรม การที่เป็นอย่างนั้นแสดงว่า กระบวนการพัฒนาปัญญานั้นไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นกระบวนการพัฒนาที่ถูกต้อง คุณธรรมจะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ แล้วก็ทำให้เกิดผลดีทั้งแก่ชีวิตและสังคม พูดง่ายๆ ว่า ผลดีที่เราต้องการก็เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาปัญญาที่ถูกต้องนี่เอง

เริ่มต้น ขอให้ลองมองดูปัญหาในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงเรื่องวิชาการ บางทีเราเกิดความรู้สึกทำนองว่า เป็นเรื่องแห้งแล้ง ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา บางทีก็ได้แต่รูปแบบ ขอยกตัวอย่าง ในทางวิชาการมีข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ หรือมาตรฐานอย่างนั้นๆ เช่น เราจะทำงานวิจัย หรือทำวิทยานิพนธ์ ก็จะต้องมีขั้นตอน มีลำดับ มีองค์ประกอบ มีวิธีการอ้างอิงอะไรต่างๆ ซึ่งจะต้องทำให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานอย่างนี้ๆ เป็นรูปแบบ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้งานมีคุณภาพ แต่ถ้าเราอยู่กับรูปแบบ เช่น กฎเกณฑ์ เป็นต้น อย่างเดียว ขาดองค์ประกอบที่จะสร้างความมีชีวิตชีวาที่แท้จริง รูปแบบก็เป็นเพียงรูปแบบ คนก็ทำพอให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มันก็จะคล้ายๆ กับเป็นต้นไม้เทียม

ต้นไม้เทียมก็เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานว่า ใบจะต้องมีรูปร่างอย่างนี้ มีดอก กิ่ง สีสันอย่างนี้ มองดูก็สมเป็นต้นไม้ แต่มันไม่มีชีวิตชีวา มันไม่สามารถผลิดอกออกผลขึ้นมาจริงๆ เพราะชีวิตมันไม่มี

วิชาการก็เหมือนกัน ถ้ามีแต่รูปแบบ ก็แห้งแล้ง ไม่มีชีวิตชีวา จะได้ผลเพียงระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้คุณค่าที่แท้จริง

ทีนี้จะทำอย่างไรให้วิชาการมีชีวิตชีวา ไม่แห้งแล้ง ไม่เป็นแต่เพียงรูปแบบ เช่นเพียงเป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกา แต่ให้รูปแบบมาเป็นตัวหนุน เป็นตัวเสริม ช่วยให้ดอกผลที่เราต้องการเกิดมีขึ้นมาจริงๆ คือมาช่วยเป็นหลักประกันเพิ่มขึ้น แต่หลักประกันที่แท้ที่จะให้เกิดผลจริงพร้อมด้วยความมีชีวิตชีวา จะต้องมาจากตัวคน อะไรทำให้วิชาการมีชีวิตชีวา ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญาที่แท้จริง

เมื่อเราพูดถึงวิชาการในปัจจุบัน เรามักจะมองอย่างหนึ่งว่า การศึกษาหาความรู้จะต้องมีลักษณะที่เรียกว่า เป็น objective โดยเฉพาะวิชาการทางวิทยาศาสตร์ อันนี้เป็นจุดที่อาจจะพลาด คือต้องระวัง ความเป็น objective นี่ บางทีก็ทำให้เราแยกออกจากความมีชีวิตชีวาไปสู่เรื่องของรูปแบบ กฎเกณฑ์ กติกา อย่างเดียว แล้วความเป็น objective นั้น ก็เลยเป็นการขาดชีวิตชีวาไปด้วย ลักษณะที่เป็น objective นี้ จะเห็นชัดในเรื่องของวิทยาศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาหาปัญญาที่เน้นความเป็น objective มาก คือ ไม่ขึ้นต่ออัตวิสัย ไม่ขึ้นต่อตัวเอง ไม่ขึ้นต่อเรื่องคุณค่า แต่เอาความจริงที่สังเกต พิสูจน์ ทดลองได้

แต่ความเป็น objective ที่ว่านี้ ซึ่งจะใช้ภาษาไทยว่าเป็นปรวิสัย หรือสภาววิสัย หรืออะไรก็แล้วแต่ ความจริงมันไม่ได้แยกจากคุณค่าในใจของคน ความมีชีวิตชีวาที่อยู่ในจิตใจคนนี้มีความสำคัญ แต่ทำอย่างไรจะให้สองอย่างนี้มาสัมพันธ์เอื้อต่อกันได้

ศรัทธาสร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่วิชาการ

ลองไปดูนักวิทยาศาสตร์เอง ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าเป็น objective ในการที่จะศึกษาหาปัญญา ให้รู้วิชาการที่เป็น objective นั้น ตัวผู้ศึกษาเป็นอย่างไร เขาก็ต้องมีคุณสมบัติในตัวเอง ลองยกไอน์สไตน์เป็นตัวอย่าง

ไอน์สไตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ ผลงานของเขาก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ซึ่งแน่นอนก็ต้องเป็น objective เป็นวิชาการที่เป็นสภาววิสัย แต่ตัวนักวิชาการหรือตัวนักวิทยาศาสตร์ คือ ไอน์สไตน์เองนั้น ดูซิว่าเขามองเรื่องนี้อย่างไร

ไอน์สไตน์มองว่า นักวิทยาศาสตร์ที่แท้ ผู้หาความรู้วิทยาศาสตร์ หรือค้นคว้าหาความจริงของธรรมชาตินั้น จะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าขาดคุณสมบัติภายในที่เขาถือว่าสำคัญมาก คือ ศรัทธา ไอน์สไตน์จึงเน้นศรัทธามาก และ ณ จุดนี้เขาได้โยงศาสนาเข้ากับวิทยาศาสตร์ แต่หมายถึงศาสนาในความหมายที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ในความหมายที่ออกมาเป็นสถาบัน คือหมายถึงศาสนาที่เป็นสภาพจิตใจ เป็นตัวสภาวะทางธรรมชาติในจิตใจของมนุษย์ และจิตใจมนุษย์นั้นก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง

ในด้านคุณสมบัติคือสภาพจิตใจที่เป็นธรรมชาตินี้ มาดูกันว่าจิตใจอย่างไรที่จะแสวงหาความรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งถ้าไม่มีสภาพจิตใจนี้ การหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะไม่เกิดขึ้น ไอน์สไตน์บอกว่า จะต้องมีจิตใจที่ประกอบด้วยศรัทธา ซึ่งเป็นคุณสมบัติด้านศาสนาของมนุษย์ แต่ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นศาสนาในความหมายที่แท้ทางนามธรรม ไม่ใช่ศาสนาในความหมายที่เป็นรูปแบบ

ศรัทธา ที่ต้องการในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์คืออะไร ไอน์สไตน์บอกว่า คือ ความเชื่อในระบบของธรรมชาติว่า ต้องมีความเป็นไปที่แน่นอนแห่งความเป็นเหตุเป็นผล คือต้องมีกฎเกณฑ์ ด้วยความเชื่อนี้ จึงทำให้เขาแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ไอน์สไตน์บอกว่า

“. . . ความเชื่อ (faith) ในความเป็นไปได้ว่า กฎเกณฑ์ที่มีผลจริงต่อสากลพิภพนี้ เป็นสิ่งที่มีเหตุผล คือสามารถเข้าใจได้ด้วยปัญญาที่ไตร่ตรองพิจารณา ข้าพเจ้ามองไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้คนใดเลย ที่จะไม่มีศรัทธาอันลึกซึ้งที่ว่านั้น (that profound faith)”1

ถ้าไม่มีความเชื่อนี้ คนก็ไม่ค้นหาความรู้ วิทยาศาสตร์ก็ไม่เกิดขึ้น ศรัทธาหรือความเชื่อนี้แยกเป็น ๒ ชั้น คือ

ชั้นที่ ๑ เชื่อว่า ในธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ มีความเป็นเหตุเป็นผล และ

ชั้นที่ ๒ เชื่อว่า กฎเกณฑ์ คือความเป็นไปในธรรมชาตินี้สามารถเข้าถึงได้ด้วยปัญญามนุษย์

ที่ว่านี้ หมายความว่า เชื่อทั้งในธรรมชาติ หรือความจริงของธรรมชาติ และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ด้วย คือเชื่อว่ามนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนี้ได้ด้วยปัญญา ความเชื่อยิ่งมั่น ก็ยิ่งทำให้ค้นคว้าหาความรู้จริงจัง ฉะนั้นไอน์สไตน์จึงย้ำว่า นักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงทุกคน มีตัวความเชื่ออย่างลึกซึ้ง ที่เรียกว่าศรัทธานี้ และยังเขียนต่อไปอีกตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นการอธิบายที่ยิ่งชัดขึ้นไปอีกว่า

บุคคลที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จในทางสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ทุกคน มีความเชื่อมั่นทางศาสนาอย่างแท้จริง (truly religious conviction — ศาสนาในความหมายของไอน์สไตน์นะ ไม่ใช่ความหมายอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ)ว่า สากลจักรวาลของเรานี้เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์ และสามารถรับรู้ได้ด้วยการแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุผล ถ้าศรัทธา (conviction) นี้ไม่เกิดเป็นความรู้สึกอันแรงกล้าขึ้นมาแล้ว…บุคคลเหล่านั้น ก็คงยากที่จะเกิดมีความมุ่งมั่นอุทิศตนอย่างไม่ลดละถดถอย ซึ่ง(เป็นคุณสมบัติ)เอกอันเดียว ที่ทำให้คนสามารถบรรลุผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาได้2

นี่เป็นวาทะของไอน์สไตน์

เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติในตัวมนุษย์ คือ ศรัทธา ที่นำไปสู่การแสวงปัญญา อันนี้คือความสัมพันธ์ที่น่าสังเกตระหว่าง ศรัทธา กับ ปัญญา ขอแทรกนิดหนึ่งว่า เราจะต้องเห็นความสำคัญของศรัทธาในกระบวนการพัฒนาปัญญา ซึ่งหมายถึงกระบวนการพัฒนามนุษย์ทั้งหมด เพราะปัญญาไม่สามารถพัฒนาแยกต่างหากจากด้านอื่นๆ ของชีวิต

ศรัทธาเป็นไฟชนวนในกระบวนการพัฒนาปัญญา

การพัฒนาปัญญาอาศัยศรัทธาอย่างไร? ศรัทธาอย่างของไอน์สไตน์นี้คือ ความเชื่อมั่นในความจริงของกฎธรรมชาติ ว่าต้องมีกฎเกณฑ์ความเป็นระเบียบในธรรมชาติ และปัญญามนุษย์ก็เข้าถึงความจริงนั้นได้

ในวิชาการอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีศรัทธา เราเชื่อว่าวิชาการที่เรากำลังศึกษา จะทำให้เราได้ปัญญา และจะทำให้เกิดความดีงามในสังคมได้จริง คือสามารถสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมมนุษย์ได้ จะทำให้เด็กของเราเป็นคนดีได้ ถ้านักการศึกษามีศรัทธาคือความเชื่อมั่นอันนี้ว่า สิ่งที่เขาเรียนจะทำให้เขาเกิดปัญญาที่สามารถมาจัดสรร สั่งสอน อบรมเด็กให้เป็นคนดีได้ ซึ่งเป็นจุดหมายในการพัฒนามนุษย์ หรือการศึกษาเล่าเรียนนั้น ถ้าเขามีความเชื่ออันนี้ เขาจะตั้งใจศึกษาค้นคว้าวิชาการอย่างจริงจัง แต่ถ้าไม่มีศรัทธานี้ เขาก็จะเรียนอย่างแห้งแล้ง กฎเกณฑ์ว่าอย่างไรก็ทำไปพอให้ได้ตามกฎเกณฑ์ และเป็นครูอาจารย์เพียงรูปแบบ

ฉะนั้น ศรัทธาจึงสำคัญอย่างยิ่ง แต่จะต้องระลึกไว้ว่า ศรัทธามี ๒ แบบ

แบบที่ ๑ คือศรัทธาที่ปิดกั้นปัญญา

แบบที่ ๒ คือศรัทธาที่เกื้อหนุนปัญญา

ศรัทธาที่ปิดกั้นปัญญาหรือขัดขวางการพัฒนาปัญญา ได้แก่

ก) ศรัทธาแบบงมงาย หรือศรัทธาตาบอด คือ ความเชื่องมงาย แล้วแต่เขาจะบอก ความยอมเชื่อไปเสียหมด ตามข้อที่เขากำหนดมาให้ โดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องค้น ไม่ต้องสอบ ไม่ต้องถาม ไม่ได้ใช้ปัญญาของตนเอง

ข) ศรัทธาแบบบังคับ หรือศรัทธาปิดตา คือศรัทธาที่ถามไม่ได้ ห้ามสงสัย บังคับให้เชื่อ ด้วยอำนาจที่มองเห็นก็ตาม มองไม่เห็นก็ตาม เช่น ขู่ว่าเป็นบาป ถ้าสงสัยว่าอันนี้อันนั้นมีจริงหรือเปล่าก็เป็นบาปไปหมด จะตกนรก หรือถูกลงโทษ ถามไม่ได้เลย อย่างนี้ก็เป็นศรัทธาที่ปิดกั้นขัดขวางปัญญา

ศรัทธาที่แท้จริงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างปัญญา เป็นตัวเกื้อหนุนและจำเป็นในกระบวนการพัฒนาปัญญา อย่างศรัทธาของไอน์สไตน์ที่ว่าเมื่อกี้

ตามหลักพุทธศาสนา กระบวนการของการศึกษา เริ่มต้นด้วยศรัทธาพื้นฐาน ที่เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โพธิสัทธา” แปลว่า ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ กล่าวคือ ความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ ได้แก่ความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่เรียนรู้ได้ ฝึกฝนพัฒนาได้ จนสามารถบรรลุสัจจธรรมและมีชีวิตที่ดีงามสูงสุด ที่เรียกว่าเป็น “พุทธะ” บุคคลผู้มีศรัทธานี้จะสามารถก้าวหน้าต่อไปในกระบวนการศึกษาแห่งการพัฒนาทั้ง ๓ ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ที่เรียกว่าไตรสิกขา

จะเห็นชัดว่า โพธิสัทธา เป็นศรัทธาที่เชื่อมต่อกับปัญญาโดยตรง เพราะเป็นความเชื่อในตัวปัญญานั้นเอง โดยโยงสู่จุดหมายคือการบรรลุความเป็นพุทธะ ผู้รู้ความจริงและมีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ โดยนัยนี้ ศรัทธาที่เกื้อหนุนปัญญา จึงแยกได้เป็น ๒ ด้าน คือ

๑. ศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ คือ เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาได้ ซึ่งสามารถที่จะพัฒนาปัญญาของตน จนเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ และดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามมีความสุขที่สมบูรณ์

๒. ศรัทธาในความจริงของธรรมชาติ คือ เชื่อว่าธรรมชาติหรือสรรพสิ่งมีภาวะและความเป็นไปอันเป็นระเบียบแน่นอน ซึ่งเป็นความจริงแท้ที่มนุษย์ควรจะรู้ และด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของธรรมชาตินั้น จะทำให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามมีความสุขที่สมบูรณ์

เมื่อมีศรัทธาขั้นพื้นฐานนี้แล้ว ก็ก้าวไปสู่ศรัทธาในระดับปฏิบัติการ โดยมีศรัทธาที่เกื้อหนุนปัญญา หรือเอื้อต่อการพัฒนาปัญญา ซึ่งจะทำหน้าที่ที่สำคัญ คือ

๑. ศรัทธาเป็นตัวจับจุดให้ พอเรามองเห็นว่าในบรรดาสิ่งที่เราพบเห็น หรือได้ยินมากมายนี้ อันไหนมีเค้าว่าจะทำให้เราบรรลุผลที่ประสงค์ ที่เราต้องการ เช่นจะทำให้ได้ผลสำเร็จในการที่จะไปพัฒนาเด็กให้เป็นคนดี ศรัทธาก็จับที่จุดนี้ คือเกิดความเชื่อว่าอันนี้จะให้ผลที่ต้องการได้ พอเกิดความเชื่อนี้ตั้งเค้าขึ้นมานิดหน่อย ท่านเรียกว่าเป็น “อาการวตี สทฺธา” แปลว่าศรัทธาที่มีเค้า ศรัทธาก็จับจุดเป็นเป้าให้แก่ปัญญาแล้วก็เจาะที่นี่ แต่ถ้าไม่มีศรัทธา ศรัทธาไม่จับจุดให้ ปัญญาก็จับจด อันโน้นก็เอา อันนี้ก็เอา ไปเรื่อยๆ ไม่เจาะลึกลงไป แต่พอศรัทธาจับให้ปั๊บ ปัญญาก็เจาะที่นั่นเลย

๒. ศรัทธาช่วยให้ปัญญามีทิศทาง และเดินหน้าไปในทิศทางสู่เป้าหมายที่ต้องการ เพราะเชื่อว่าอันนี้แหละจะให้ผลที่เรามุ่งหมาย ให้เกิดความสำเร็จ เช่นอย่างนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ถ้าค้นไปถึงนั่นได้ เราจะเข้าใจธรรมชาติได้ เราจะสามารถตอบปัญหา หรือคลายปมที่เราติดอยู่ได้ อันนี้แน่แล้ว เราค้นมุ่งหน้าไปให้ถึงนั่นเถอะ ศรัทธาก็กำหนดทิศทางให้ เราก็แน่วไป

๓. ศรัทธาทำให้เกิดพลัง เป็นธรรมดาว่าคนมีศรัทธา มีความเชื่อมั่น จะเกิดกำลัง การที่จะแสวงปัญญาได้สำเร็จจะต้องมีพลัง มีความเข้มแข็งในการที่จะเอาจริงเอาจัง ถ้าไม่มีความจริงจัง ไม่มีความเข้มแข็งอันนี้ ความเพียรพยายามก็ไม่มา ไม่อยากจะไปเคลื่อนไหวทำการต่างๆ แต่พอมีศรัทธาว่า อันนี้แหละคือสิ่งที่ให้คุณค่าหรือความหมายสูงสุดแก่ชีวิต หรือว่าอันนี้แหละจะให้บรรลุจุดหมายที่ใฝ่ปรารถนา ก็เกิดแรงใจ เป็นพลังยิ่งใหญ่ แม้แต่จะข้ามน้ำข้ามทะเลไป บุกป่าไป ไปขั้วโลก ก็เอาหมด สละชีวิตให้ก็ยังได้เลย ฝรั่งเขาปลูกฝังคุณสมบัตินี้ไว้ได้มาก เขาต้องการความรู้อะไร สามารถที่จะยอมสละชีวิตให้ทั้งชีวิต สามารถที่จะเดินทาง บุกป่าฝ่าดงกันดาร ถึงจะมีภัยอันตรายก็เสี่ยงไปได้ เพื่อหาความรู้ด้วยศรัทธา ฉะนั้น คุณสมบัติในใจที่ว่าเป็นตัวสร้างพลัง ก็คือศรัทธานี่แหละ

ตกลงว่า ศรัทธาให้ทั้งจุดที่ปัญญาจะเจาะ ทั้งให้ทิศทางที่ปัญญาจะเดินก้าวไปสู่จุดหมาย และทั้งให้พลังในการที่จะเดินหน้าไปด้วย แต่ก่อนอื่นต้องแยกได้ ระหว่างศรัทธา ๒ อย่าง คือ ศรัทธาที่ขัดขวางปิดกั้นปัญญา กับศรัทธาที่เป็นตัวเกื้อหนุนปัญญา ในทางที่ถูกต้องนั้น ศรัทธาเป็นองค์ประกอบและเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากในกระบวนการพัฒนาปัญญา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)– ๒ – ความเป็นอยู่อย่างนักวิชาการ >>

เชิงอรรถ

  1. Albert Einstein, Ideas and Opinions (New York : Bonanza Books, 1954), p.46.
  2. Ibid., p.52.

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.