๒) ความหมายของ เหตุ และ ปัจจัย

1 เมษายน 2548
เป็นตอนที่ 2 จาก 7 ตอนของ

๒) ความหมายของ เหตุ และ ปัจจัย

เบื้องแรกควรเข้าใจความหมายของถ้อยคำเป็นพื้นไว้ก่อน

ในที่ทั่วไป หรือเมื่อใช้ตามปกติ คำว่า “เหตุ” กับ “ปัจจัย” ถือว่าใช้แทนกันได้

แต่ในความหมายที่เคร่งครัด ท่านใช้ “ปัจจัย” ในความหมายที่กว้าง แยกเป็นปัจจัยต่างๆ ได้หลายประเภท ส่วนคำว่า “เหตุ” เป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ซึ่งมีความหมายจำกัดเฉพาะ กล่าวคือ

“ปัจจัย” หมายถึง สภาวะที่เอื้อ เกื้อหนุน ค้ำจุน เปิดโอกาส เป็นที่อาศัย เป็นองค์ประกอบร่วม หรือเป็นเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะให้สิ่งนั้นๆ เกิดมีขึ้น ดำเนินต่อไป หรือเจริญงอกงาม

ส่วนคำว่า “เหตุ” หมายถึง ปัจจัยจำเพาะ ที่เป็นตัวก่อให้เกิดผลนั้นๆ

“เหตุ” มีลักษณะที่พึงสังเกต นอกจากเป็นปัจจัยเฉพาะ และเป็นตัวก่อให้เกิดผลแล้ว ก็มีภาวะตรงกับผล (สภาวะ) และเกิดสืบทอดลำดับ คือตามลำดับก่อนหลังด้วย

ส่วน “ปัจจัย” มีลักษณะเป็นสาธารณะ เป็นตัวเกื้อหนุนหรือเป็นเงื่อนไข เป็นต้น อย่างที่กล่าวแล้ว อีกทั้งมีภาวะต่าง (ปรภาวะ) และไม่เกี่ยวกับลำดับ (อาจเกิดก่อน หลัง พร้อมกัน ร่วมกัน หรือต้องแยกกัน-ไม่ร่วมกัน ก็ได้)

ตัวอย่างเช่น เม็ดมะม่วงเป็น “เหตุ” ให้เกิดต้นมะม่วง และพร้อมกันนั้น ดิน น้ำ อุณหภูมิ โอชา (ปุ๋ย) เป็นต้น ก็เป็น “ปัจจัย” ให้ต้นมะม่วงนั้นเกิดขึ้นมา

มีเฉพาะเหตุคือเม็ดมะม่วง แต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่พร้อม หรือไม่อำนวย ผลคือต้นมะม่วงก็ไม่เกิดขึ้น

ในเวลาอธิบายเรื่องเหตุปัจจัย มีอีกคำหนึ่งที่ท่านนิยมใช้แทนคำว่าเหตุปัจจัย คือคำว่า “การณะ” หรือ “การณ์” ซึ่งก็แปลกันว่าเหตุ 1

ในพระอภิธรรม ท่านจำแนกความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย ที่เป็นเหตุปัจจัยแก่กันนี้ไว้ถึง ๒๔ แบบ เรียกว่า ปัจจัย ๒๔

เหตุ เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งใน ๒๔ นั้น ท่านจัดไว้เป็นปัจจัยข้อแรก เรียกว่า “เหตุปัจจัย”

ปัจจัยอื่นอีก ๒๓ อย่างจะไม่กล่าวไว้ทั้งหมดที่นี่ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือแก่ผู้เริ่มศึกษา เพียงขอยกตัวอย่างไว้ เช่น ปัจจัยโดยเป็นที่อาศัย (นิสสยปัจจัย) ปัจจัยโดยเป็นตัวหนุนหรือกระตุ้น (อุปนิสสยปัจจัย) ปัจจัยโดยประกอบร่วม (สัมปยุตตปัจจัย) ปัจจัยโดยมีอยู่ คือต้องมีสภาวะนั้น สิ่งนี้จึงเกิดมีได้ (อัตถิปัจจัย) ปัจจัยโดยไม่มีอยู่ คือต้องไม่มีสภาวะนั้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นได้ (นัตถิปัจจัย) ปัจจัยโดยเกิดก่อน (ปุเรชาตปัจจัย) ปัจจัยโดยเกิดทีหลัง (ปัจฉาชาตปัจจัย) ฯลฯ

ที่ว่านี้รวมทั้งหลักปลีกย่อยที่ว่า อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล (ชั่วเป็นปัจจัยให้เกิดดี) ก็ได้ กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล (ดีเป็นปัจจัยให้เกิดชั่ว) ก็ได้ด้วย

ปัจจัยข้ออื่น เมื่อแปลความหมายเพียงสั้นๆ ผู้อ่านก็คงพอเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ปัจฉาชาตปัจจัย คือปัจจัยเกิดทีหลัง คนทั่วไปจะรู้สึกแปลกและคิดไม่ออก จึงขอยกตัวอย่างง่ายๆ ด้านรูปธรรม เช่น การสร้างตึกที่จะดำเนินการภายหลัง เป็นปัจฉาชาตปัจจัยแก่การสร้างนั่งร้านที่เกิดขึ้นก่อน ส่วนในทางสภาวธรรมด้านนาม ท่านยกตัวอย่างว่า จิตและเจตสิกซึ่งเกิดทีหลัง เป็นปัจจัยแก่ร่างกายนี้ที่เกิดขึ้นก่อน

ขอสรุปความตอนนี้ว่า

ตามหลักธรรม ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติ การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเกิดมีขึ้นได้ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ หลากหลายประชุมกันพรั่งพร้อม (ปัจจัยสามัคคี)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑) บางส่วนของปฏิจจสมุปบาท ที่ควรสังเกตเป็นพิเศษ๓) ผลหลากหลาย จากปัจจัยอเนก >>

เชิงอรรถ

  1. คำบาลีที่แปลว่าเหตุปัจจัย ยังมีอีกหลายคำ เช่น มูล นิทาน สมุฏฐาน สมุทัย ปภวะ สัมภวะ/สมภพ

No Comments

Comments are closed.