๓) ผลหลากหลาย จากปัจจัยอเนก

1 เมษายน 2548
เป็นตอนที่ 3 จาก 7 ตอนของ

๓) ผลหลากหลาย จากปัจจัยอเนก

ตามหลักแห่งความเป็นไปในระบบสัมพันธ์นี้ ยังมีข้อควรทราบแฝงอยู่อีก โดยเฉพาะ

• ขณะที่เราเพ่งดูเฉพาะผลอย่างหนึ่ง ว่าเกิดจากปัจจัยหลากหลายพรั่งพร้อมนั้น ต้องทราบด้วยว่า ที่แท้นั้น ต้องมองให้ครบทั้งสองด้าน คือ

๑. ผลแต่ละอย่าง เกิดโดยอาศัยปัจจัยหลายอย่าง

๒. ปัจจัย (ที่ร่วมกันให้เกิดผลอย่างหนึ่งนั้น) แต่ละอย่าง หนุนให้เกิดผลหลายอย่าง

ในธรรมชาติที่เป็นจริงนั้น ความสัมพันธ์และประสานส่งผลต่อกันระหว่างปัจจัยทั้งหลาย มีความละเอียดซับซ้อนมาก จนต้องพูดรวมๆ ว่า “ผลหลากหลาย เกิดจากเหตุ (ปัจจัย) หลากหลาย” หรือ “ผลอเนก เกิดจากเหตุอเนก” เช่น จากปัจจัยหลากหลาย มีเมล็ดพืช ดิน น้ำ อุณหภูมิ เป็นต้น ปรากฏผลอเนก มีต้นไม้ พร้อมทั้งรูป สี กลิ่น เป็นต้น

• ย้ำว่า ความเป็นเหตุปัจจัยนั้น มิใช่มีเพียงการเกิดก่อน-หลังตามลำดับกาละหรือเทศะเท่านั้น แต่มีหลายแบบ รวมทั้งเกิดพร้อมกัน หรือต้องไม่เกิดด้วยกัน ดังกล่าวแล้ว

เมื่อเห็นสิ่งหรือปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง เช่นตัวหนังสือบนกระดานป้ายแล้ว มองดูโดยพินิจ ก็จะเห็นว่าที่ตัวหนังสือตัวเดียวนั้น มีเหตุปัจจัยแบบต่างๆ ประชุมกันอยู่มากมาย เช่น คนเขียน (เจตนา+การเขียน) ชอล์ก แผ่นป้าย สีที่ตัดกัน ความชื้น เป็นต้น แล้วหัดจำแนกว่าเป็นปัจจัยแบบไหนๆ

• นอกจากเรื่องปัจจัย ๒๔ แบบ ที่เพียงให้ตัวอย่างไว้แล้ว ขอให้ดูตัวอย่างคำอธิบายของท่านสักตอนหนึ่งว่า

แท้จริงนั้น จากเหตุเดียว ในกรณีนี้ จะมีผลหนึ่งเดียว ก็หาไม่ (หรือ) จะมีผลอเนก ก็หาไม่ (หรือ) จะมีผลเดียวจากเหตุอเนก ก็หาไม่; แต่ย่อมมีผลอเนก จากเหตุอันอเนก 1

ตามหลักการนี้ ท่านสอนไว้ด้วยว่า ในปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เพราะอวิชชา (อย่างนั้น) เป็นปัจจัย สังขาร (อย่างนั้น) จึงมี, เพราะสังขาร (อย่างนั้น) เป็นปัจจัย วิญญาณ (อย่างนั้น) จึงมี, ฯลฯ” ดังนี้

– จะต้องไม่เข้าใจผิดไปว่าพระองค์ตรัสเหตุเดียว-ผลเดียว หรือปัจจัยอย่างหนึ่ง → ผลอย่างหนึ่งเท่านั้น

– ที่จริงนั้น ในทุกคู่ทุกตอน แต่ละเหตุ แต่ละผล มีปัจจัยอื่นและผลอื่นเกิดด้วย

ถ้าอย่างนั้น เหตุใดจึงตรัสช่วงละปัจจัย ช่วงละผล ทีละคู่? ตอบว่า การที่ตรัสเหตุ/ปัจจัย และผล เพียงอย่างเดียวนั้น มีหลัก คือ

บางแห่งตรัส เพราะเป็นปัจจัยหรือเป็นผล ตัวเอกตัวประธาน

บางแห่งตรัส เพราะเป็นปัจจัยหรือเป็นผล ตัวเด่น

บางแห่งตรัส เพราะเป็นปัจจัยหรือเป็นผล จำเพาะ (อสาธารณะ)

บางแห่งตรัส ตามความ เหมาะกับทำนองเทศนา (เช่นคราวนั้น กรณีนั้น จะเน้น หรือมุ่งให้ผู้ฟังเข้าใจแง่ไหนจุดใด) หรือให้ เหมาะกับเวไนย์ คือผู้รับคำสอน (เช่นยกจุดไหน ประเด็นใดขึ้นมาแสดง บุคคลนั้นจึงจะสนใจและเข้าใจได้ดี)

ในที่นี้ ตรัสอย่างนั้น เพราะจะทรงแสดงปัจจัยและผล ที่เป็นตัวเอกตัวประธาน เช่นในช่วง “เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี” ตรัสอย่างนี้ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยตัวประธานของเวทนา (กำหนดเวทนาตามผัสสะ) และเพราะเวทนาเป็นผลตัวประธานของผัสสะ (กำหนดผัสสะตามเวทนา)

หลักความจริงนี้ปฏิเสธลัทธิเหตุเดียว ที่เรียกว่า “เอกการณวาท” ซึ่งถือว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากต้นเหตุอย่างเดียว โดยเฉพาะลัทธิที่ถือว่ามี มูลการณ์ เช่น มีพระผู้สร้าง อย่าง อิสสรวาท (=อิศวรวาท คือลัทธิพระผู้เป็นเจ้าบันดาล) ปชาปติวาท (ลัทธิถือว่าเทพประชาบดีเป็นผู้สร้างสรรพสัตว์) ปกติวาท (ลัทธิสางขยะ ที่ถือว่าสิ่งทั้งปวงมีกำเนิดจากประกฤติ) เป็นต้น

แม้แต่ในสมัยปัจจุบัน คนก็ยังติดอยู่กับลัทธิเหตุเดียวผลเดียว ตลอดจนลัทธิผลเดียว และประสบปัญหามากจากความยึดติดนี้ ดังปรากฏชัดในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งผลเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วศึกษาและนำความรู้ความเข้าใจในเหตุปัจจัยมาประยุกต์ให้เกิดผลที่ต้องการ แต่เพราะมองอยู่แค่ผลเป้าหมาย ไม่ได้มองผลหลากหลายที่เกิดจากปัจจัยอเนกให้ทั่วถึง (และยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะมองเห็นอย่างนั้นด้วย) จึงปรากฏบ่อยๆ ว่า หลังจากทำผลเป้าหมายสำเร็จผ่านไป บางที ๒๐–๓๐ ปี จึงรู้ตัวว่า ผลร้ายที่พ่วงมากระทบหมู่มนุษย์อย่างรุนแรง จนกลายเป็นได้ไม่เท่าเสีย

วงการแพทย์สมัยใหม่ แม้จะถูกบังคับจากงานเชิงปฏิบัติการ ให้เอาใจใส่ต่อผลข้างเคียงต่างๆ มากสักหน่อย แต่ความรู้เข้าใจต่อความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของปรากฏการณ์ต่างๆ โดยส่วนใหญ่ ก็ยังเป็นเพียงการสังเกตแบบคลุมๆ ไม่สามารถแยกปัจจัยแต่ละอย่างที่สัมพันธ์ต่อไปยังผลแต่ละด้านให้เห็นชัดได้

พูดโดยรวม แม้ว่ามนุษย์จะพัฒนาความรู้ในธรรมชาติได้ก้าวหน้ามามาก แต่ความรู้นั้นก็ยังห่างไกลจากการเข้าถึงธรรมชาติอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ในด้านนามธรรม มนุษย์ควรใช้ประโยชน์จากความรู้ในความจริงของระบบปัจจัยสัมพันธ์ ที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ได้มาก

โดยเฉพาะในการดำเนินชีวิตของตน คือในระดับกฎแห่งกรรม ความเข้าใจหลัก “ผลหลากหลาย จากปัจจัยอเนก” จะช่วยให้จัดการกับชีวิตของตน ให้พัฒนาทั้งภายใน และดำเนินไปในโลกอย่างสำเร็จผลดี

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๒) ความหมายของ เหตุ และ ปัจจัย๔) วิธีปฏิบัติต่อกรรม >>

เชิงอรรถ

  1. วิภงฺค.อ. ๑๕๗; เทียบ วิสุทฺธิ. ๓/๑๔๑

No Comments

Comments are closed.