๖) อยู่เพื่อพัฒนากรรม ไม่ใช่อยู่เพื่อใช้กรรม

1 เมษายน 2548
เป็นตอนที่ 6 จาก 7 ตอนของ

๖) อยู่เพื่อพัฒนากรรม ไม่ใช่อยู่เพื่อใช้กรรม

ที่พูดมานี้ เท่ากับบอกให้รู้ว่า เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องต่อกรรมที่แยกเป็น ๓ ส่วน คือ กรรมเก่า-กรรมใหม่-กรรมข้างหน้า

ขอสรุปวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อกรรมทั้ง ๓ ส่วนว่า

กรรมเก่า (ในอดีต) เป็นอันผ่านไปแล้ว เราทำไม่ได้ แต่เราควรรู้ เพื่อเอาความรู้จักมันนั้นมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น

กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) คือกรรมที่เราทำได้ และจะต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ

กรรมข้างหน้า (ในอนาคต) เรายังทำไม่ได้ แต่เราสามารถเตรียมหรือวางแผนเพื่อจะไปทำกรรมที่ดีที่สุด ด้วยการทำกรรมปัจจุบันที่จะพัฒนาเราให้ดีงามและงอกงามยิ่งขึ้น จนกระทั่งเมื่อถึงเวลานั้นเราก็จะสามารถทำกรรมที่ดีสูงขึ้นไปตามลำดับ จนถึงขั้นเป็นกุศลอย่างเยี่ยมยอด

นี่แหละคือคำอธิบายที่จะทำให้มองเห็นได้ว่า ทำไมจึงว่า คนที่วางใจ ว่าจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่กรรม (เก่า) นั้นแล กำลังทำกรรมใหม่ (ปัจจุบัน) ที่ผิด เป็นบาป คือความประมาท ได้แก่การปล่อยปละละเลย อันเกิดจากโมหะ และมองเห็นเหตุผลด้วยว่า ทำไมพุทธศาสนาจึงสอนให้หวังผลจากการกระทำ

ขอย้ำอีกครั้งว่า กรรมใหม่สำหรับทำ กรรมเก่าสำหรับรู้ อย่ามัวรอกรรมเก่าที่เราทำอะไรมันไม่ได้แล้ว แต่หาความรู้จากกรรมเก่านั้น เพื่อเอามาปรับปรุงการทำกรรมปัจจุบัน จะได้พัฒนาตัวเราให้สามารถทำกรรมอย่างเลิศประเสริฐได้ในอนาคต

มีคำเก่าได้ยินมานานแล้วประโยคหนึ่ง คือที่พูดว่า “คนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่า” ความเชื่ออย่างนั้นไม่ใช่พุทธศาสนา และต้องระวังจะเป็นลัทธินิครนถ์

ที่พูดกันมาอย่างนั้น ความจริงก็คงประสงค์ดี คือมุ่งว่าถ้าเจอเรื่องร้าย ก็อย่าไปซัดทอดคนอื่น และอย่าไปทำอะไรที่ชั่วร้ายให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยความโกรธแค้นเป็นต้น แต่ยังไม่ถูกหลักพระพุทธศาสนา และจะมีผลเสียมาก

ลัทธินิครนถ์ ซึ่งก็มีผู้นับถือในสมัยพุทธกาลจนกระทั่งในอินเดียทุกวันนี้ เป็นลัทธิกรรมเก่าโดยตรง เขาสอนว่า คนเราจะได้สุขได้ทุกข์อย่างไรก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน และสอนต่อไปว่า ไม่ให้ทำกรรมใหม่ แต่ต้องทำกรรมเก่าให้หมดสิ้นไปด้วยการบำเพ็ญตบะ จึงจะสิ้นกรรมสิ้นทุกข์ นักบวชลัทธินี้จึงบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ 1

คนที่พูดว่า เราอยู่ไปเพื่อใช้กรรมเก่านั้น ก็คล้ายกับพวกนิครนถ์นี่แหละ คิดว่าเมื่อไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไปๆ กรรมเก่าก็คงจะหมด ต่างแต่ว่าพวกนิครนถ์ไม่รอให้กรรมเก่าหมดไปเอง แต่เขาบำเพ็ญตบะเพื่อทำกรรมเก่าให้หมดไปด้วยความเพียรพยายามของเขาด้วย

มีคำถามที่น่าสังเกตว่า “ถ้าไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไปๆ กรรมเก่าจะหมดไปเองไหม?”

เมื่อไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไป กรรมเก่าก็น่าจะหมดไปเอง แต่ไม่หมดหรอก ไม่ต้องอยู่เฉยๆ แม้แต่จะชดใช้กรรมเก่าไปเท่าไรๆ ก็ไม่มีทางหมดไปได้

เหตุผลง่ายๆ คือ

๑. คนเรายังมีชีวิต ก็คือเป็นอยู่ ต้องกินอยู่ เคลื่อนไหวอิริยาบถ ทำโน่นทำนี่ เมื่อยังไม่ตาย ก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ

๒. คนเหล่านี้เป็นมนุษย์ปุถุชน ก็มีโลภ โกรธ หลง โดยเฉพาะความหลง หรือโมหะนี้มีอยู่ประจำในใจตลอดเวลา เพราะยังไม่ได้รู้เข้าใจความจริงถึงสัจธรรม

เมื่อรวมทั้งสองข้อนี้ก็คือ คนที่อยู่เพื่อใช้กรรมนั้น เขาก็ทำกรรมใหม่อยู่ตลอดเวลา แม้แต่โดยไม่รู้ตัว แม้จะไม่เป็นบาปกรรมที่ร้ายแรง แต่ก็เป็นการกระทำที่ประกอบด้วยโมหะ เช่นกรรมในรูปต่างๆ ของความประมาท ปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อย

ถ้ามองลึกเข้าไปในใจ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ผุดโผล่ขึ้นมาในใจของเขาอยู่เรื่อยๆ ในลักษณะต่างๆ เช่น เศร้า ขุ่นมัว กังวล อยากโน่นอยากนี่ หงุดหงิด เหงา เบื่อหน่าย กังวล คับข้อง ฯลฯ นี่ก็คือทำกรรมอยู่ตลอดเวลา แถมเป็นอกุศลกรรมเสียด้วย เพราะฉะนั้นอย่างนี้จึงไม่มีทางสิ้นกรรม ชดใช้ไปเท่าไรก็ไม่รู้จักสิ้นสุด มีแต่เพิ่มกรรม

“แล้วทำอย่างไรจะหมดกรรม?” การที่จะหมดกรรม ก็คือ ไม่ทำกรรมชั่ว ทำกรรมดี และทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น คือแม้แต่กรรมดีก็เปลี่ยนให้ดีขึ้น จากระดับหนึ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

พูดเป็นภาษาพระว่า เปลี่ยนจากทำอกุศลกรรม เป็นทำกุศลกรรม และทำกุศลระดับสูงขึ้นไป จนถึงขั้นเป็นโลกุตตรกุศล

ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ ก็พูดว่า พัฒนากรรมให้ดียิ่งขึ้น เราก็จะมีศีล มีจิตใจ มีปัญญา ดีขึ้นๆ ในที่สุดก็จะพ้นกรรม

พูดสั้นๆ ว่า กรรมไม่หมดไปด้วยการชดใช้กรรม แต่หมดกรรมด้วยการพัฒนากรรม คือปรับปรุงตัวให้ทำกรรมที่ดียิ่งขึ้นๆ จนพ้นขั้นของกรรมไป ถึงขั้นทำ แต่ไม่เป็นกรรม คือทำด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์ ไม่ถูกครอบงำหรือชักจูงด้วยโลภะ โทสะ โมหะ จึงจะเรียกว่า พ้นกรรม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๕) ทำกรรมเก่าให้เกิดประโยชน์๗) กรรมระดับบุคคล-กรรมระดับสังคม >>

เชิงอรรถ

  1. ดู เทวทหสูตร, ม.อุ.๑๔/๑/๑ (เคยอ้างแล้วข้างต้น)

No Comments

Comments are closed.