๒. มองวันวิสาขบูชา

10 พฤษภาคม 2543
เป็นตอนที่ 2 จาก 2 ตอนของ

พุทธศาสนาเกิดขึ้นมา
โฉมหน้าของอารยธรรมก็เปลี่ยนไป

ถาม หลักการของพระพุทธศาสนา ช่วยสังคมและโลกอย่างไร

ตอบ พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของอารยธรรมที่สำคัญ อย่างง่ายๆ เช่น เมื่อเราพูดว่าพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป เราจะยกประวัติศาสตร์เพียงบางส่วนมาพูด ก็มองเห็นความสำคัญนี้ได้ เช่น เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอินเดีย

สังคมอินเดียเคยนับถือพระพรหมเป็นเจ้าสูงสุด ผู้สร้าง ผู้บันดาลทุกสิ่ง มีการบูชายัญเพื่อเอาอกเอาใจเทพเจ้า แล้วก็มีการกำหนดมนุษย์เป็นวรรณะต่างๆ โดยชาติกำเนิด เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร แล้วก็ถือว่าพราหมณ์เป็นผู้ที่ติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้า กับพระพรหม เป็นผู้รู้ความต้องการของพระองค์ เป็นผู้รับเอาคำสอนมารักษา มีการผูกขาดการศึกษาให้อยู่ในวรรณะสูง คนวรรณะต่ำเรียนไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้อย่างมากมาย เช่น เรื่องวรรณะ ๔ พุทธศาสนาก็ไม่ยอมรับ แต่ให้ถือหลักว่า คนมิใช่ประเสริฐหรือทรามเพราะชาติกำเนิด แต่จะประเสริฐหรือต่ำทรามก็เพราะการกระทำ แล้วก็ไม่ให้มัวหวังผลจากการอ้อนวอนบูชายัญ สอนให้เปลี่ยนการบูชายัญหรือเลิกการบูชายัญ ที่หวังผลสำเร็จจากการโปรดปรานบันดาลให้ เปลี่ยนให้หันมาหวังผลจากการกระทำ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ๆ ทั้งนั้น

เมื่อถือว่ามนุษย์จะดีจะประเสริฐอยู่ที่การกระทำ มนุษย์ก็ต้องพัฒนาชีวิตของตน ทั้งพัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญาขึ้นไป มนุษย์จึงประเสริฐได้ ดีงามได้ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตน ด้วยการศึกษาเรียนรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้องส่งเสริมปัญญา มนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษา เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงทำให้เกิดการศึกษาแบบที่เรียกว่า การศึกษามวลชน

ในประเทศอินเดียเราพูดได้ว่า การศึกษากลายเป็นการศึกษามวลชนได้เพราะการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา เพียงแค่นี้ก็แสดงว่าพระพุทธศาสนามีความสำคัญต่ออารยธรรมของโลก เพราะว่าเมื่ออินเดียเจริญขึ้นมาแล้ว อินเดียก็เป็นแหล่งกลางแห่งหนึ่งของอารยธรรมของโลก

ในด้านการศึกษามวลชนนี้ Encyclopedia Britannica ของฝรั่งเอง ก็เขียนไว้ว่า อินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมีสถิติผู้รู้หนังสือสูงกว่าสังคมอินเดียปัจจุบันด้วยซ้ำ เพราะว่าสังคมอินเดียได้ละทิ้งพระพุทธศาสนาไปนาน คือพุทธศาสนาถูกกำจัดหมดจากประเทศอินเดียไปเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๐๐ เมื่อเป็นสังคมฮินดูตามระบบวรรณะ การผูกขาดการศึกษาก็ย่อมกลับมา

นอกจากนั้น พระเจ้าอโศกได้นำหลักธรรมในพุทธศาสนามาใช้ มีการริเริ่มใหม่ คือการถือหลักการอยู่ร่วมกันโดยความสามัคคีระหว่างศาสนาต่างๆ พูดอย่างปัจจุบันว่าพระเจ้าอโศกให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ทั้งๆ ที่พระองค์เป็นราชาแบบสมัยโบราณซึ่งมีอำนาจเต็มที่ เมื่อนับถือพระพุทธศาสนาก็ถือหลักเมตตา อุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนา และให้ศาสนิกในศาสนาต่างๆ อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกัน ฟังหลักธรรมของกันและกัน ไม่ทะเลาะ ไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้ความรุนแรง

ฝรั่งได้พยายามสู้เพื่อสร้างหลักการแห่งเสรีภาพทางศาสนาขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เพราะประเทศตะวันตกนั้นเป็นดินแดนของการรบราฆ่าฟันทางศาสนา มีการข่มเหง เบียดเบียนบีฑาเพราะนับถือศาสนาต่างกัน ที่เรียกว่า persecution และมีสงครามศาสนา คือ religious wars มากมาย เขาได้พยายามดิ้นรนที่จะให้เกิด tolerance หรือขันติธรรมขึ้นมา แต่เพียงแค่นั้นก็ยากแสนเข็ญ ต่างจากของอินเดียที่ง่ายเหลือเกิน พระเจ้าอโศกมหาราชประกาศให้ศาสนิกทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกัน ในดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล คืออาณาจักรของพระเจ้าอโศกนั้น ซึ่งกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาอารยธรรมมนุษย์ที่นักประวัติศาสตร์โลกมาศึกษา ซึ่งก็เป็นพวกฝรั่งนั้นแหละ เพราะว่าประเทศอินเดียก็เหมือนกับอารยธรรมโบราณต่างๆ

ทางเมืองฝรั่ง พวกกรีกล่มไป โรมันก็ขึ้นมา แล้วโรมันก็ล่มไป พวกฝรั่งบาเบเรี่ยน ซึ่งเป็นคนป่าเถื่อนที่เจริญขึ้นในปัจจุบันก็เข้ามาครอง ก็เป็นกันมาอย่างนี้

ในอินเดีย อารยธรรมเก่าแก่ก็ล่มสลายไป แล้วก็กลายเป็นว่าพวกโน้นมาครอง พวกนี้มาครอง สมัยราชวงศ์นันทะผ่านไป ต่อมายุคราชวงศ์โมริยะก็ผ่านอีก พวกศกะมาตีพวกเชื้อสายกรีกลง พวกกุษาณมาตีศกะได้ พวกคุปตะเรืองอำนาจขึ้นมา พวกฮั่นเข้ามาโค่นคุปตะลง เวลาผ่านไปๆ พวกมุสลิมเตอร์กเข้ามา พวกโมกุลขึ้นครอง ต่อมาก็ฝรั่งเข้ามา จนกระทั่งพวกอังกฤษยึดเป็นอาณานิคม ปกครองอยู่นาน

อังกฤษเป็นผู้ค้นพบประวัติศาสตร์ของอินเดีย ค้นพบเรื่องพระเจ้าอโศก แล้วนำไปยกย่อง หนังสือของฝรั่งมีการตีพิมพ์เรื่องของพระเจ้าอโศกมากมาย แม้แต่คนไทยก็ไปรู้จักเรื่องอินเดียจากหนังสือของฝรั่งกันมาก การที่พวกฝรั่งพากันยกย่องสรรเสริญ ก็เพราะเขารู้ตระหนักว่า พุทธศาสนาได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอารยธรรมของโลกอย่างไร และพระเจ้าอโศกเมื่อได้เปลี่ยนมาเป็นผู้นับถือพุทธศาสนาแล้ว

หนึ่ง ได้ทำให้อินเดียเป็นแดนของเสรีภาพทางศาสนา ให้ศาสนิกทุกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างประสานสามัคคี

สอง ทำให้เกิดการศึกษามวลชน โดยใช้ระบบของพุทธศาสนา คือใช้วัดวาอารามเป็นศูนย์กลางของการเล่าเรียน

 

จากการศึกษามวลชน
สู่การศึกษานานาชาติ

พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างวัดขึ้นทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ วัด เรียกว่า วิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง วิหารในที่นี้หมายถึงวัด อย่างที่คนไทยเรานำคำว่าวิหารมาใช้เรียกชื่อวัดมากมาย แม้แต่วัดสมัยพุทธกาลต่อมาก็เรียกว่าวิหาร เช่น เชตวันมหาวิหาร

วัดที่พระเจ้าอโศกสร้างขึ้นรวมทั้งวัดที่เกิดมีตั้งแต่ก่อนนั้น ในเวลาต่อมา หลังจากสมัยพระเจ้าอโศกแล้ว วัดซึ่งเป็นแหล่งการศึกษาก็มีการพัฒนาต่อมา เช่นมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ จนบางแห่งหลายวัดมารวมกันเข้าเป็นวัดใหญ่เรียกว่า “มหาวิหาร” อย่างเช่นวัดที่พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยนาลันทา ก็เกิดจาก ๖ วัดอยู่ในเขตใกล้เคียงกัน ร่วมมือช่วยกันในการศึกษา ก็เลยมารวมกันเข้าเป็นวัดเดียว จากวัดต่างๆ ๖ วัด มาเป็นวัดเดียว แล้วพัฒนาต่อมาเป็นนาลันทามหาวิหาร

นาลันทามหาวิหาร ที่ตำราฝรั่งมักเรียกว่า University of Nalanda นี้ มีการเล่าเรียนวิชาการต่างๆ มากมาย เป็นศูนย์กลางการศึกษาระหว่างชาติ มีคนจากประเทศต่างๆ ไปเล่าเรียน เช่นจากอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย พระถังซัมจั๋งจากประเทศจีน ก็มาเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทา มีนักศึกษาเป็นหมื่น

มหาวิทยาลัยต่างๆ ของอินเดียโบราณ เช่นอย่างนาลันทาเหล่านี้ ทำให้การศึกษาของอินเดียเจริญมาก ทำให้วิชาความรู้พัฒนาไปมากมาย เช่น คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และเทคโนโลยีต่างๆ

ส่วนทางตะวันตก ชาวมุสลิมที่ขยายอำนาจตีเข้ามาในอินเดียก็ดี มาโดยการค้าก็ดี โดยการเข้ามาติดต่อด้วยวิธีต่างๆ ก็ดี ก็ได้รับเอาความรู้ไป แล้วนำไปสู่ตะวันตก พวกตะวันตกก็ได้รับความรู้จากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาสมัยโบราณ เช่น นาลันทา วิกรมศิลา โอทันตปุรี ชคัททละ วาเรนทรี เป็นต้น ได้เจริญมายาวนาน

เป็นที่รู้กันว่าความรู้ต่างๆ ที่ได้จากอินเดีย ผ่านไปทางมุสลิมแล้วจึงไปถึงตะวันตก อย่างตัวเลขอารบิก คือ ตัวเลขที่เราใช้กันปัจจุบัน ซึ่งบางคนเรียกว่าเลขฝรั่ง ที่เขียน 1-2-3-4-5-6-7-8-9-0 นั้น ฝรั่งเรียกกันมาว่าเลขอารบิก เพราะเข้าใจว่าเป็นเลขอาหรับ แต่ตอนหลังฝรั่งจึงค้นพบว่า ไม่ใช่ตัวเลขของอาหรับ แต่อาหรับนั้นรับมาจากอินเดียอีกที ก็เลยกลายเป็นว่าที่จริงเป็นเลขอินเดีย

ตำราบางเล่มของฝรั่งปัจจุบันก็ไม่เรียกเลขอารบิกแล้ว แต่เรียกเป็นฮินดู-อารบิก นิวเมอรัล (Hindu-Arabic numerals) คือเป็นตัวเลขอินเดีย-อาหรับ หมายความว่า จากอาหรับนั้นมาถึงฝรั่ง แต่จากอินเดียจึงไปถึงพวกอาหรับอีกทีหนึ่ง รับต่อกันไป ซึ่งเป็นเรื่องของอารยธรรมที่ต่อเชื่อมถึงกัน

ระยะที่ชาวมุสลิมมาถึงอินเดียนั้นก็ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา ซึ่งตอนนั้น มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในอินเดียกำลังอยู่ในช่วงที่เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4

เรื่องอย่างนี้พวกฝรั่งยอมรับกันดี เพราะฝรั่งเองนั้นแหละมาสืบรู้เรื่องเก่าๆ อย่างในเรื่องคณิตศาสตร์ ตำราฝรั่งเขียนว่า (ดู “India” ตอนว่าด้วย Society and culture ใน Encyclopedia Britannica, 2000)

“(ในอินเดีย) คณิตศาสตร์เจริญก้าวหน้าเป็นพิเศษ น่าจะยิ่งกว่าดินแดนใดๆ ในโลกเวลานั้น”

ตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 มีนักคณิตศาสตร์สำคัญของอินเดียที่โด่งดังมาก โดยเฉพาะอารยภัฏ ที่ ๑ และต่อมาลูกศิษย์ของเขาชื่อภาสกร ที่ ๑ นักคณิตศาสตร์อินเดียเหล่านี้ เป็นผู้ริเริ่มใช้เลข O และระบบทศนิยม ตลอดจนเริ่มใช้วิชาพีชคณิตที่ยุโรปเรียกว่า algebra ตามคำที่นักคณิตศาสตร์มุสลิมใช้ว่า al-jabr

อารยภัฏเป็นผู้คำนวณค่าของ “pi” ให้ถูกต้องลงไปได้ว่า = 3.1416

จากอินเดีย ระบบทศนิยมมาถึงเมโสโปเตเมีย ราว ค.ศ. 670 แล้วจึงมาถึงยุโรป ระบบทศนิยมนี้ช่วยให้คณิตศาสตร์ก้าวหน้าไปได้อย่างก้าวกระโดด มีผู้ยกย่องว่าประดิษฐกรรมของอินเดียคือระบบทศนิยมนี้ เป็นการค้นพบสำคัญที่ชาญฉลาดกว่าของกรีก

ผลงานทางคณิตศาสตร์ของปราชญ์ยุโรป เพิ่งจะเริ่มปรากฏในคริสต์ศตวรรษที่ 13 คือ ต่อพอดีกับการเสื่อมสูญสิ้นยุคมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาในอินเดีย

ในทางดาราศาสตร์ อารยภัฏก็เป็นผู้คำนวณจำนวนวันในปีสุริยคติว่า ๑ ปี = ๓๖๕.๓๕๘๖ วัน

อารยภัฏเช่นกันได้สอนไว้ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ว่าโลกเป็นลูกกลม หมุนรอบแกนของมันเอง และเคลื่อนที่วนไปรอบดวงอาทิตย์ กับทั้งได้พัฒนาทฤษฎีว่าด้วยอุปราคา (จันทรคราส และสุริยคราส)

ต่อมา หลังจากนั้นอีกประมาณ ๑,๐๐๐ ปี เมื่อสิ้นยุคมืด เข้าสู่ยุคคืนชีพ (Renaissance) ในยุโรปแล้ว โคเปอร์นิคัส (Copernicus, ค.ศ. 1473-1543) ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโบโลญญา จึงได้ประกาศทฤษฎีที่เป็นการปฏิวัติความคิดความเชื่อของโลกตะวันตก ในหนังสือ “De revolutionibus orbium coelestium” ที่พิมพ์ออกมาในปีที่เขาสิ้นชีวิต ว่าโลกหาใช่เป็นศูนย์กลางของจักรวาลไม่ ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล และโลกหมุนไปรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งต่อมาได้เป็นเหตุให้กาลิเลโอ (Galileo, ค.ศ. 1564-1642) ผู้เผยแพร่ความคิดนี้ ถูกจับขึ้นไต่สวนในศาล Inquisition และถูกคริสต์ศาสนจักรบังคับให้สละความเชื่อต่อทฤษฎีของโคเปอร์นิคัส แล้วลงโทษอย่างเบาให้ขังตัวอยู่แต่ในบ้านจนตาย

ในทางการแพทย์ อินเดียยุคนั้นได้มีการผ่าตัดเสริมแต่ง (plastic surgery) ขึ้นแล้ว (การผ่าตัดแม้แต่สมอง มีเรื่องปรากฏมาก่อนแล้วว่า หมอชีวกโกมารภัจได้กระทำตั้งแต่ครั้งพุทธกาล)

ในด้านโลหศาสตร์ ก็มีความก้าวหน้ามากมาย เช่น ทำเหล็กที่ไม่เป็นสนิมได้ ดังปรากฏหลักฐานเป็นพยานชัดเจน คงอยู่ถึงปัจจุบัน คือเสาเหล็กสูง ๗ เมตรใกล้กรุงนิวเดลี ที่ Qutb Minar ซึ่งนับแต่สร้างมาเมื่อประมาณ ค.ศ. 400 ไม่เคยมีสนิมขึ้นแต่อย่างใดเลย

เมื่อทัพเตอร์กส์มุสลิมยกเข้าทำลายสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนา (รวมทั้งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทุกแห่ง) ในระยะ ค.ศ. 1200 (พ.ศ. ๑๗๐๐) นั้น เขาเขียนเล่าไว้ว่า หอสมุดของมหาวิหาร หรือมหาวิทยาลัยบางแห่ง ใช้เวลาเผากว่าจะไหม้หมดถึง ๓ เดือน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เป็นเรื่องรูปธรรม ซึ่งมองเห็นง่ายหน่อย แต่คนก็ไม่ค่อยรู้กัน เพราะผลที่ปรากฏย่อมมารวมอยู่ในอารยธรรมที่รับทอดต่อมา ซึ่งคนจำนวนมากก็จะรู้จักเฉพาะอารยธรรมที่ล่าสุด

แม้ว่าอารยธรรมชมพูทวีปยุคโบราณจะล่มสลายไปแล้ว และผลงานสร้างสรรค์มากมายจะเลือนลางหายไป แต่ก็ได้ส่งผลโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ต่ออารยธรรมยุคต่อมา เช่นส่วนที่ชาวมุสลิมรับทอดนำเข้ามาสู่ยุโรป ซึ่งในที่สุดก็เข้ารวมอยู่ในกระแสธารแห่งอารยธรรมของโลก

เรื่องอย่างนี้ถ้าสืบกันไปจะเห็นว่าพระพุทธศาสนามีบทบาทมาก แต่ถ้ามองกว้างๆ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมอินเดียที่เขาอาจจะไม่พูดแยกออกไปเป็นเรื่องศาสนา แต่พูดรวมๆ ว่าเป็นอารยธรรมอินเดีย ซึ่งมีมาจากฮินดูด้วย และโดยทั่วไปนั้นฝรั่งพอพูดถึงอินเดีย ก็นึกว่าเป็นฮินดู จึงใช้คำว่าฮินดูไปหมด

ศาสตร์บางอย่างก็อาจจะมีมาตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนา เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้น เพราะเป็นศาสนาที่ส่งเสริมการศึกษา จึงทำให้พัฒนาวิชาความรู้เหล่านั้นขึ้นมา สหประชาชาติเมื่อมาพิจารณาเรื่องนี้ ก็ต้องมองเห็นว่า อารยธรรมของโลกนี้มีความเป็นมาอย่างไร อินเดียเป็นแหล่งอารยธรรมของโลกอย่างไร พุทธศาสนามีบทบาทอย่างไรในการทำให้อารยธรรมอินเดียเจริญขึ้นมา

มนุษย์ที่เจริญแล้ว เขาจะมองภูมิหลังความเป็นมาต่างๆ ของอารยธรรม เพื่อให้เห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะว่าผลรวมของอารยธรรม ก็คือการกระทำของมนุษย์ที่สร้างสมเป็นเหตุปัจจัยมา ไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ

ฉะนั้น คนมีปัญญาที่จะสร้างสรรค์ความเจริญ จึงไม่ใช่คนที่มัวแต่มองแบบนักเสวยผล ที่คอยดูปรากฏการณ์ว่ามีความเจริญที่นั่นที่นี่ มีอะไรจะเสพบริโภค แล้วก็ไปตื่นเต้นอยู่แค่นั้น ถ้าคนเป็นอย่างนี้ การที่จะพัฒนาก็หวังได้ยาก แต่ถ้ามองด้วยความคิดว่า พวกมนุษย์เหล่านั้นๆ สร้างสรรค์ความเจริญมาอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่ต้องใช้สติปัญญาศึกษา การที่จะพัฒนาก็มีทางเป็นไปได้

คนโง่มัวตื่นเต้นอยู่กับภาพความเจริญที่มองเห็นต่อหน้า แต่คนฉลาดมองหาประโยชน์จากเหตุปัจจัยที่สืบเนื่องตลอดมาแต่อดีต

พระเจ้าอโศกนี้เป็นตัวอย่างที่เด่นชัด แต่ที่จริงนั้นมีบุคคลอื่นมากหลายตลอดจนสถาบันองค์กรต่างๆ มากมาย ที่มีส่วนร่วมในการทำให้พุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมไทยหรือจะเป็นรากฐานของอารยธรรมภาคตะวันออกในเอเซีย หรือของโลก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑. วันวิสาขบูชา

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.