๒. มองวันวิสาขบูชา

10 พฤษภาคม 2543
เป็นตอนที่ 2 จาก 2 ตอนของ

การปกครองโดยมีเสรีภาพทางศาสนา
ต้องมากับการศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาของคน

ตัวอย่างที่พระเจ้าอโศกได้ใช้ความรู้ทางพุทธศาสนาในการสร้างอารยธรรมนั้นมีมากมาย อย่างเมื่อกี้ที่พูดถึงเรื่องของเสรีภาพในการนับถือศาสนา ก็เป็นวิวัฒนาการสำคัญของสังคมมนุษย์ เรื่องการเกิดขึ้นของการศึกษามวลชน การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัย แล้วก็เรื่องของการปกครองรัฐให้มีความหมายในทางสร้างสรรค์ความสุขความเจริญ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ไม่ใช่มัวแต่ยุ่งกับทรัพย์และอำนาจ ก็เป็นคติตามหลักพระพุทธศาสนา

แต่ก่อนนั้นพระเจ้าอโศกก็ลุ่มหลงมัวเมา ต้องการความยิ่งใหญ่ จึงยกทัพไปปราบดินแดนต่างๆ เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ผู้เดียวในชมพูทวีป กษัตริย์ทั้งหลายในสมัยโบราณมักปรารถนาจะเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือได้ครอบครองทั้งโลก เมื่อได้ความยิ่งใหญ่ก็หาความสุขมาบำรุงบำเรอตัวเอง

พระเจ้าอโศกเมื่อนับถือพระพุทธศาสนา ทรงมองเห็นเรื่องนี้แล้วทรงได้คิดและสลดพระทัย จึงทรงเปลี่ยนนโยบาย จากที่เรียกว่า “สังคามวิชัย” เอาชนะด้วยสงคราม มาเป็น “ธรรมวิชัย” เอาชนะด้วยธรรม คือปราบความทุกข์ยากเดือดร้อน เอาชนะปัญหาด้วยการใช้หลักธรรม ที่สั่งสอนแนะนำให้สร้างสรรค์ประโยชน์ ทำความดี ฉะนั้น แทนที่จะแผ่อำนาจ พระองค์ก็ใช้อำนาจและใช้โภคสมบัติหรือทรัพย์นั่นแหละ สร้างสรรค์ความดีงามให้แก่ประชาชน

การปกครองสมัยพระเจ้าอโศกจึงขึ้นชื่อลือเลื่องมาก เพราะว่าทั้งขยายการศึกษา ทำศิลาจารึกไปวางไว้ในท้องถิ่นต่างๆ บอกนโยบายของรัฐและสั่งสอนธรรมให้การศึกษาแก่ประชาชนไปในตัว แล้วก็สร้างถนนหนทาง สร้างโรงพยาบาลคน สร้างโรงพยาบาลสัตว์ สร้างอ่างเก็บน้ำ ช่วยให้ประชาชนได้ปลูกพืชพรรณธัญญาหารอยู่กันด้วยดี แล้วก็ปลูกสวนปลูกป่า สร้างที่พักคนเดินทาง พร้อมทั้งทำนุบำรุงพระศาสนา อุปถัมภ์การสังคายนา ส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่างๆ

ที่พูดมานี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมที่สำคัญ รวมทั้งการที่พระเจ้าอโศกส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนา ในท้องถิ่นดินแดนต่างๆ ทั้ง ๙ สาย สายหนึ่งมาสุวรรณภูมิ ที่รวมทั้งไทย ทั้งพม่า และดินแดนในแถบนี้ สายหนึ่งไปลังกา สายอื่นๆ ไปทางด้านอาเซียน้อย ไปทางกรีก ทางอิยิปต์ ก็คือทำให้อารยธรรมมนุษย์แผ่ไปนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบต่อมา หลายอย่างก็จมอยู่ในความลึกลับของประวัติศาสตร์ จนกระทั่งไปค้นพบศิลปวัตถุโบราณทางโบราณคดี จึงได้รู้ว่าพระพุทธศาสนาไปถึงที่นั้นๆ

อันนั้นก็เป็นรากฐานของความเจริญที่สืบมาในดินแดนต่างๆ เรื่องเหล่านี้ยิ่งสืบไปก็ยิ่งมาก จึงเป็นที่แน่นอนว่าพุทธศาสนาได้มีความสำคัญเป็นรากฐานของอารยธรรมของโลก ที่มวลมนุษย์ได้สะสมเหตุปัจจัยกันมา ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการพูดเพื่อให้เข้าใจอย่างง่ายๆ

ถาม การที่พระเจ้าอโศกมหาราชประกาศการอยู่ร่วมระหว่างศาสนา แนวคิดนี้เกิดจากพระเจ้าอโศกมานับถือพุทธ และก็ได้นำความคิดทางพุทธไปใช้ ใช่ไหม

ตอบ แน่นอน พระพุทธศาสนาไม่มีการแบ่งแยกในเรื่องศาสนาต่างๆ แต่ถือเสมอเหมือนกันว่ามนุษย์ก็เป็นมนุษย์ หลักการของพุทธศาสนาเราไม่มีการแบ่งแยกในเรื่องนี้อยู่แล้ว หลักพุทธศาสนาบอกว่าพระไปสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน เป็นที่รู้กันว่าไม่ได้มีคำบอกว่าให้ไปเปลี่ยนศาสนาของเขา อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า “คอนเวิร์ต” (convert) มีแต่คำว่า

“จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย”

เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ความสุขความร่มเย็นของชาวโลก

หมายความว่า ไปเพื่อทำประโยชน์แก่เขา ไปสอนธรรม ให้รู้หลักรู้ความจริง เมื่อเขาเข้าใจแล้ว เขาพัฒนาขึ้นมา เขาก็เปลี่ยนความคิดของเขาได้ เกิดความเห็นถูกต้องไปเอง สอดคล้องกับหลักการของอารยชนที่ว่า มีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องมี persecution คือไม่ต้องมีการใช้กำลังบังคับ คือเป็นไปเองโดยธรรมชาติ

พุทธศาสนาถือหลักของธรรมชาติว่า มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ต้องศึกษาให้เกิดความดีงามและปัญญา คุณสมบัติต่างๆ ในตัวมนุษย์นั้น เอาไปยัดเยียดใส่ให้ไม่ได้ เมื่อบังคับไม่ได้ก็ต้องให้เขาพัฒนาตัวเอง โดยศึกษาเรียนรู้ขึ้นมา เราจะช่วยได้ก็ด้วยการเข้าไปเป็นเพื่อนที่ดี หรือเป็นกัลยาณมิตร ไปแนะนำให้ความรู้ ไปช่วยจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อหนุน ช่วยให้เขาพัฒนาตัวขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงต้องอยู่ร่วมกันด้วยเมตตา

หลักเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือเสรีภาพทางปัญญา จึงมาคู่กับหลักเมตตา ให้มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมนุษย์ที่ปรารถนาดีต่อกัน การเผยแผ่ศาสนาเป็นไปตามหลักการคู่นี้ คือ การให้เสรีภาพทางปัญญา พร้อมกับมีเมตตาที่จะช่วยให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อเขาจะได้พัฒนาปัญญานั้นได้ในตนเอง

เมื่อหลักการเป็นอย่างนี้ คือถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ จึงเป็นไปเองที่พระเจ้าอโศกมหาราชผู้นับถือพุทธศาสนาจะไม่ไปเบียดเบียนบังคับใคร เพราะมองว่ามนุษย์ ก็คือมนุษย์ ท่านไม่ได้ไปแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาใด เมื่อฆ่ามนุษย์ไม่ว่าคนไหนก็เป็นบาป อย่าว่าแต่ฆ่ามนุษย์เลย สัตว์อื่น ก็ไม่ควรไปเบียดเบียน ไม่ควรไปรังแกอยู่แล้ว

 

ความเสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษา
เข้าคู่กันดีกับการปกครองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

ถาม เมื่อกี้ที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์พูดถึงการศึกษามวลชน ก็แสดงว่ามหาวิทยาลัยนาลันทานี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการศึกษามวลชนใช่ไหม

ตอบ นาลันทาอยู่ในระยะที่วัดขยายตัวออกไปมากแล้ว กลายเป็นแหล่งการศึกษาระดับสูง ที่จริงการศึกษามวลชนก็อยู่ที่วัดทั่วไปทุกวัดนั่นแหละ หมายความว่าวัดแต่เดิมมาเป็นแหล่งที่ประชาชนทุกชั้น เพศ วัย ได้เล่าเรียนศึกษา

วัดเกิดขึ้นมาอย่างไร ก็เป็นเรื่องตามหลักการ คือเมื่อพระพุทธเจ้าสอนคน มีผู้ที่ฟังพระพุทธเจ้าแล้วอยากจะรู้ยิ่งขึ้น เกิดความเลื่อมใสว่าพระพุทธเจ้ามีความจริง มีปัญญา มีความดีงามมาให้เขา ถ้าเขาศึกษา ฟังพระองค์มากขึ้น เขาจะได้ความรู้ ได้ปัญญามากขึ้น ก็อยากอยู่กับพระองค์ คืออยากศึกษายิ่งๆ ขึ้นไป จึงมาขออยู่ด้วย ก็เลยเกิดเป็นชุมชน เกิดเป็นวัดขึ้นมา

พระที่เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีคนฟังคำสอนของท่านแล้วเลื่อมใส ก็ขอมาศึกษาคำสอน มาศึกษาหาปัญญา มาเพื่ออาศัยท่านในการพัฒนาตัวเขาเอง ก็เลยเกิดมีสงฆ์และวัดที่

๑. มีคนมาขอบวชอยู่ศึกษา คือเล่าเรียนและปฏิบัติ

๒. พระที่อยู่ในชุมชนสงฆ์นั้นก็ได้สั่งสอนประชาชนโดยรอบวัด

กาลเวลาผ่านมาก็เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ คือวัดกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษา

เมื่อวัดแต่ละวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของแต่ละชุมชนแล้ว ต่อมาบางวัดมีการร่วมมือกันและมีคนมาศึกษามาก หลายวัดก็เลยรวมเข้าเป็นวัดเดียว อย่างเรื่องประวัติของนาลันทาก็คือ เกิดจาก ๖ วัดมารวมกัน รวมอยู่ในกำแพงเดียวกัน แล้วใหญ่ขึ้นมาก็เป็นมหาวิหาร จากวิหารที่แปลว่าวัดธรรมดา ก็เป็นมหาวิหารคือวัดใหญ่

มหาวิหารนั้นเจริญขึ้นมาจนมีลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่ามหาวิทยาลัย (University) ความจริงชาวพุทธเราเรียกตามชื่อเดิมว่านาลันทามหาวิหาร แต่เวลาฝรั่งเขียนเรื่องนาลันทา เขาเรียกว่ามหาวิทยาลัยนาลันทา แต่เป็นมหาวิทยาลัยสมัยโบราณ ซึ่งได้ถูกทำลายไปแล้วเมื่อ พ.ศ. ประมาณ ๑๗๐๐ ลองคิดดูว่านานเท่าไรแล้ว

ถ้าอยากได้ความรู้คร่าวๆ เกี่ยวกับมหาวิหาร หรือ universities เหล่านี้ ก็หาอ่านได้ง่าย เช่น หัวข้อ “History of Education” ตอนที่ว่าด้วย Ancient India: Classical India ใน Encyclopaedia Britannica ปี 1999 หรือ 2000 ก็ได้

ถาม ถือว่านาลันทาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก ได้หรือเปล่า

ตอบ ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ฝรั่งเขาอยู่ในฝ่ายโน้นเขาศึกษาเรื่องของเขาก่อน เขามีเรื่องมหาวิทยาลัยโบโลญญา ที่ตั้งขึ้นปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 และมหาวิทยาลัยปารีส ที่ตั้งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 12 เขาเพิ่งมีการศึกษาระดับนี้ และขนาดนี้ ก็เลยเอาพวกนั้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรก แต่พอมาเจอเรื่องนาลันทาเป็นต้นนี้ ซึ่งเกิดตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 ที่จริงต้องถามใหม่แล้วว่า มหาวิทยาลัยที่ไหนเป็นแห่งแรกในโลกกันแน่ อาจจะต้องจำกัดสั้นลงไปว่า โบโลญญา ปารีส นี่เป็นมหาวิทยาลัยแรกของยุโรป และของยุโรปภาคเหนือตามลำดับ

ถาม เราจะพูดได้หรือไม่ว่า การศึกษามวลชนเริ่มต้นตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้เผยแพร่พระพุทธศาสนา

ตอบ จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ คือ ก่อนหน้านั้นศาสนาพราหมณ์จำกัดการศึกษา โดยผูกขาดอยู่ในวรรณะสูง โดยเฉพาะวรรณะพราหมณ์ พวกวรรณะต่ำชั้นศูทรจะมาเรียน แม้แต่ฟังพระเวทไม่ได้ คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ที่คนไทยเอามาใช้เป็นหลักในเรื่องกฎหมาย ซึ่งเป็นคัมภีร์ของฝ่ายฮินดู ที่ถือวรรณะ ก็จึงมีกฎเกณฑ์เรื่องนี้ด้วย มีการออกกฎ ซึ่งเราเห็นชัดว่าเป็นการกีดกันในเรื่องการศึกษา

มีกฎในมนูธรรมศาสตร์ว่า คนวรรณะศูทรจะฟังสาธยายพระเวทไม่ได้ ถ้าคนศูทรฟังสาธยายพระเวท จะต้องให้เอาตะกั่วหลอมหยอดหูมัน ถ้าคนวรรณะศูทรสาธยายพระเวท ให้ตัดลิ้นมันเสีย ถ้ามันเรียนพระเวท ให้ผ่ากายมันเป็นสองซีก ก็คือฆ่า รวมความก็เป็นการกีดกันไม่ให้ศึกษานั่นเอง

ระบบวรรณะทำให้คนชั้นต่ำในอินเดียถูกกีดกันและขาดการศึกษา เมื่อพระพุทธศาสนาล่มสลาย ถูกกำจัดสูญสิ้นจากอินเดียไปแล้ว ระบบวรรณะก็กลับเฟื่องฟูขึ้นมาอีก พราหมณ์ก็ยิ่งต้องเอาระบบวรรณะมาผูกมัดคนของตนเองไว้ เพื่อกีดกั้นพุทธศาสนาเป็นต้น เพราะฉะนั้นระบบวรรณะตอนหลังก็ยิ่งแน่นหนักเข้าไปอีก การศึกษาก็เสื่อมโทรม คนวรรณะต่ำไม่มีโอกาสได้เล่าเรียน

ให้ดูแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ คนที่เคยไปอยู่ในอินเดียบอกว่า คนวรรณะศูทรอยู่กันอย่างกับสัตว์ อันนี้ก็แสดงถึงบทบาทของพระพุทธศาสนาในการพัฒนาอารยธรรม ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า เมื่อสังคมมีและไม่มีพระพุทธศาสนาจะมีสภาพต่างกันอย่างไร

ถาม ถ้าพูดถึงเรื่องการปกครอง หมายความว่าหลังจากพระเจ้าอโศกมหาราช ถือพุทธแล้ว ก็เปลี่ยนจากการปกครองเพื่อแสวงหาอำนาจ ความยิ่งใหญ่ ทรัพย์สิน หันมาใช้การปกครองเพื่อให้แก่ประชาชน

ตอบ ต้องเข้าใจว่าสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นยังเป็นการปกครองแบบโบราณ ตามแบบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นราชาธิปไตย แต่มีแนวคิดและวิธีการปกครองที่ต่างออกไปจากเดิม กลายเป็นว่ามีเป้าหมายอยู่ที่ประโยชน์สุขของประชาชน

เมื่อเป้าหมายเป็นอย่างนี้ ปฏิบัติการต่างๆ ก็ต้องมาสนองเป้าหมายนั้น แม้ว่าตัวระบอบการปกครองจะยังเป็นระบอบแบบเดิม แต่การที่มุ่งประโยชน์สุขแก่ประชาชนนั้นเป็นตัวจำกัดพฤติกรรม และจำกัดวิธีการ หรือว่ามันให้ทิศทางแก่วิธีปฏิบัติ ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร คือราชาผู้ปกครองจะทำทุกอย่างเพื่อสนองวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑. วันวิสาขบูชา

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.