– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 4 จาก 5 ตอนของ

ความเคร่งครัดในวินัย ประสานกับจิตใจที่ไม่ยึดมั่น
คำนึงแต่จะรักษาธรรมเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน

กิจกรรมหรือข้อยึดถือปฏิบัติที่ตกลงกันในสังคมมนุษย์ พระท่านใช้คำว่า “สมมติ” ทั้งนั้น

ตัวอย่างเช่น มีจีวรเกิดขึ้นในวัด พระภิกษุแต่ละรูปในวัดนั้นมีสิทธิ สิทธิก็เป็นของสมมติเหมือนกัน ญาติโยมอาจได้สิทธิมีของครอบครองมากมาย แต่พระมีสิทธิเพียงเครื่องใช้ที่เรียกว่า บริขารนิดเดียว เช่น มีไตรจีวรที่ถือได้จริงๆ ชุดเดียว นอกจากนั้นแล้วมีสิทธิครอบครองได้แค่ ๑๐ วันเป็นอย่างมาก เกินกว่านั้นเก็บไม่ได้ แล้วทีนี้จะทำอย่างไร

ถ้าจีวรเกิดขึ้นมากมาย ก็ให้มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำหรับเก็บ เรียกว่า จีวรนิทหกะ แปลว่าภิกษุเจ้าหน้าที่เก็บจีวร

ภิกษุองค์หนึ่งจีวรขาด อยากจะได้จีวรใหม่ จะไปหาภิกษุองค์ที่เก็บก็ไม่ได้ เพราะองค์เก็บไม่มีหน้าที่แจก ต้องไปหาพระภิกษุอีกองค์หนึ่งผู้มีตำแหน่งเรียกว่า จีวรภาชกะ แปลว่า ภิกษุเจ้าหน้าที่แจกจีวร

ภิกษุทั้ง ๒ รูปนี้ คือทั้งพระจีวรนิทหกะ (ผู้เก็บจีวร) และพระจีวรภาชกะ (ผู้แจกจีวร) ต้องได้รับแต่งตั้งจากสงฆ์ โดยมีกฎเกณฑ์บัญญัติว่า ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างนี้ๆ คือ ไม่มีอคติ ทั้ง ๔ และรู้งานในหน้าที่ โดยเข้าที่ประชุมพิจารณาแล้ว ที่ประชุมตกลงมีมติร่วมกัน แต่งตั้งภิกษุรูปนี้เป็นผู้เก็บจีวรหรือเป็นผู้แจกจีวร

การเลือกตั้งภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่อันใดอันหนึ่ง ให้มีตำแหน่งหน้าที่อย่างนี้ท่านเรียกว่า สมมติ

คำว่า “สมมติ” ของพระ ไม่ใช่เป็นเรื่องเหลวไหลอย่างที่ญาติโยมเข้าใจกัน แต่เป็นเรื่องที่จริงตามสมมติ คือตามที่ตกลงกันนั้น เมื่อภิกษุรูปนั้นได้รับการสมมติแล้ว ก็มีอำนาจหน้าที่จริงๆ (ตามที่ตกลงกัน) ในการที่จะเก็บจีวร หรือในการที่จะแจกจีวร เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง การสร้างโบสถ์จะต้องมีนิมิต คือเครื่องหมายเขต เวลาผูกสีมาคือตกลงกำหนดเขตนั้น ก็เรียกว่า “สมมติสีมา” สมมติ ก็คือมติร่วมกันดังที่กล่าวแล้ว

เรื่องของสังคมมนุษย์นั้น เป็นเรื่องของมติที่มนุษย์จะตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า “สมมติ” ทั้งสิ้น แต่กล่าวแล้วว่าสมมติเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อารยธรรมของมนุษย์ตั้งอยู่บนฐานของสมมติ เพราะมนุษย์มีความสามารถในการสมมติ จึงสามารถทำการสร้างสรรค์อารยธรรมให้เจริญงอกงามขึ้นมาได้ เพราะเหตุที่สมมติเป็นเรื่องจริงในระดับหนึ่ง และเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ในพระพุทธศาสนา ท่านจึงแสดงไว้ทั้งปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ

การเข้าถึงสมมติ คือการรู้เข้าใจตามเป็นจริงว่า กฎเกณฑ์เป็นต้นนี้ เป็นสิ่งที่เราตกลงกันกำหนดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์บางอย่าง เมื่อเรามีเหตุผลในการตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อประโยชน์อันนี้ เราก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสมมตินั้น เพราะฉะนั้น พระจึงมีลักษณะที่ว่ายิ่งพัฒนาไปก็จะยิ่งปฏิบัติตามวินัยได้เคร่งครัด

อาจมีผู้สงสัยว่า ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เรียกว่าการรักษาสิกขาบทนั้นก็เป็นข้อฝึกเท่านั้น พระอรหันต์เป็นผู้ฝึกเสร็จแล้ว ไม่ต้องฝึกอีกต่อไปแล้ว ทำไมจะต้องปฏิบัติด้วย ก็กลายเป็นว่าพระอรหันต์ยึดถือสมมติมากใช่ไหม

ตอบว่า ตามปกติคนเรานั้น แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ ผู้ที่ยังฝึกกับผู้ที่ฝึกแล้ว หรือผู้ที่กำลังศึกษากับผู้จบการศึกษา หรือผู้ที่กำลังพัฒนากับผู้ที่จบการพัฒนาแล้ว พระอรหันต์นั้นจบการพัฒนาแล้ว แต่ปรากฏว่าเป็นผู้ที่ถือวินัยจริงจังมาก เพราะอะไร มีเหตุผลในเรื่องนี้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑. เป็นผู้นำ พระอรหันต์ในฐานะที่เป็นผู้สมบูรณ์แล้ว จึงต้องปฏิบัติตนเป็นผู้นำเขาในความเคร่งครัดในสิกขาบท ขอยกตัวอย่างว่า (วินย.๔/๑๕๓/๒๐๘) เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระภิกษุลงอุโบสถสวดปาติโมกข์ทุก ๑๕ วัน มีพระอรหันต์องค์หนึ่งดำริว่า หลักการนี้บัญญัติขึ้นเพื่อจะตรวจสอบความบริสุทธิ์ เราเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ควรจะต้องไปหรือไม่ พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงตัวเลยตรัสว่า ถ้าเธอผู้บริสุทธิ์แล้วไม่เคารพกฎ แล้วใครจะเคารพกฎ ถ้าเธอผู้บริสุทธิ์แล้วไม่ถือสำคัญ ใครจะเห็นสำคัญ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงต้องเป็นผู้นำในการรักษาสิกขาบท

๒. เป็นแบบอย่าง ซึ่งก็อยู่ในฐานะผู้นำด้วยเหมือนกัน ท่านเรียกว่าปฏิบัติเพื่อให้ชนรุ่นหลังถือเป็นแบบอย่าง ข้อนี้สำคัญมาก หมายความว่า ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อตัวเอง เพราะตัวเองพัฒนาสมบูรณ์แล้ว สำหรับตัวเองทำให้พอแล้ว เต็มแล้ว เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็คิดแต่จะทำเพื่อผู้อื่น อะไรจะเป็นการดีแก่คนรุ่นหลัง ก็ทำให้เป็นตัวอย่างไว้

ดังเช่น พระมหากัสสปะ ท่านแก่มากอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่ท่านก็ยังถือธุดงค์ เช่น อยู่ป่าเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นต้น พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพระมหากัสสปะว่า เธอถือธุดงค์เคร่งครัดมาเป็นเวลายาวนาน บัดนี้เธอก็ชราแล้ว เรี่ยวแรงกำลังก็ไม่ค่อยมี ผ้าบังสุกุลนี้เนื้อไม่ดีและหนักมาก เธอรับจีวรที่ญาติโยมถวายมาใช้เถิด แต่พระมหากัสสปะได้ทูลขอปฏิบัติถือธุดงค์เช่นนั้นต่อไป พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่ามีเหตุผลอะไร เพราะหากยอมใช้จีวรเนื้อดีก็จะเบาสบาย พระมหากัสสปะชี้แจงเหตุผลว่า เพื่อเป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลัง เรียกว่า ปจฺฉิมา ชนตา ทิฏฺฐานุคตึ อาปชฺเชยฺย แปลว่า ประชุมชนภายหลังจักได้ถือเป็นแบบอย่าง (สํ.นิ.๑๖/๔๘๑/๒๓๙) จะได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่คนเหล่านั้นเอง

๓. เป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน หรือเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน เพราะวินัย กฎหมาย และกฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยเฉพาะเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการสร้างสรรค์พัฒนาชีวิตและสังคมที่ดีงามดังกล่าวแล้ว พระอรหันต์นั้นเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีก ท่านจึงปฏิบัติเพื่อผู้อื่นและเพื่อส่วนรวมได้เต็มที่ ตามคติที่ว่า พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ คือ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของโลก

อย่างในเรื่องพระมหากัสสปะ เมื่อท่านทูลชี้แจงเหตุผลแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานสาธุการว่าท่านปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน (สํ.นิ.๑๖/๔๘๒/๒๓๙; ฯลฯ) ด้วยเหตุนี้พระอรหันต์จึงปฏิบัติเคร่งครัดในพระวินัย

นี้คือหลักการในการรักษาวินัย กฎหมาย และระเบียบแบบแผนต่างๆ ซึ่งคนที่อยู่ในระดับต่างๆ ของสังคมควรจะมีท่าทีที่ถูกต้อง แต่ปรากฏว่าในสังคมไทยมีการยึดถือเข้าใจผิดกันบ่อยๆ เช่น บางทีมีการอ้างว่า พระภิกษุท่านนั้นท่านนี้เป็นพระอริยะ ท่านหมดกิเลสแล้ว ไม่มีกิเลสแล้ว ท่านจะทำอะไรก็ได้เพราะท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น เอาหลักความไม่ยึดมั่นถือมั่นมาอ้าง (รายหนึ่งถึงกับว่าให้หญิงสาวนวดให้) ญาติโยมหลายท่านฟังแล้วว่าน่าจะจริงนะ เพราะพระอรหันต์ท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น จะไปเอาอะไรกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งไม่จริงแท้แน่นอน เป็นสิ่งสมมติ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่แหละ ระวังจะตกหลุม

ที่ว่าต้องระวังก็คือ ความไม่ยึดมั่นที่แท้ กับความไม่ยึดมั่นเทียมหรือความไม่ยึดมั่นอย่างปลอม เป็นคนละอย่างกัน การที่พระอรหันต์ท่านไม่ยึดมั่นนั้น ท่านไม่ยึดมั่นแท้ด้วยปัญญาที่รู้ความจริง แต่ในการดำเนินชีวิตท่านยอมรับความจริงตามเหตุตามผล

ได้กล่าวแล้วว่า สมมติ นั้น คือสิ่งที่มนุษย์ตกลงกัน มีมติร่วมกัน โดยกำหนดวางไว้ตามเหตุผล เพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาลอยๆ พระอรหันต์อยู่ด้วยปัญญาที่เข้าใจเหตุผลนั้น และท่านไม่มีอะไรที่เป็นการเห็นแก่ประโยชน์ของตัวท่านเองด้วย เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้ที่พร้อมที่สุดที่จะปฏิบัติตามสมมตินี้ จึงกลายเป็นว่า พระอรหันต์เป็นผู้พร้อมที่สุด ที่จะปฏิบัติตามวินัยหรือกฎกติกาที่เป็นสมมติ เพราะไม่มีกิเลสที่ทำให้เห็นแก่ตัวหรือทำเพื่อตัว

ถ้าคนยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว กฎเกณฑ์กติกาจะขัดขวางผลประโยชน์ของเขา อย่างน้อยก็ตามใจตัวที่ขี้เกียจทำ หรือเป็นการไม่สบายที่ต้องไปทำตามกฎ กิเลสเช่นความขี้เกียจ และความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวต่างๆ เหล่านี้ จะมาขัดขวาง ทำให้คนไม่ปฏิบัติตามกติกาสังคม เพราะฉะนั้น คนที่ยังมีกิเลสจึงปฏิบัติตามกฎได้ยาก ส่วนพระอรหันต์ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านไม่มีเรื่องส่วนตัวที่จะเข้ามากีดกั้น มาทำให้จิตใจต้องฝืนหรือหลบซ่อน ท่านไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองแล้ว ท่านพร้อมที่จะทำตามสิ่งที่มีเหตุผลทุกอย่าง เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามสมมติที่ชอบธรรม

บางคนบอกว่า อะไรมันก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันเลย แล้วก็ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร กลับไปบ้านก็ว่าเงินทองไม่ใช่ของเรา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลูกก็ไม่ใช่ของเรา ภรรยาก็ไม่ใช่ของเรา บอกว่าไม่ยึดมั่น นี่แหละ เจอความยึดมั่นอย่างหนักเข้าไปแล้ว ความยึดมั่นเกิดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว นี่ก็คือ “ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น” เพราะว่าความไม่ยึดมั่นที่เขาอ้างนั้น เป็นเพียงความไม่ยึดมั่นที่เป็น concept หรือเป็นสัญญาที่รับเอามาถือไว้ แล้วก็ยึดมั่นว่าฉันจะไม่ยึดมั่น เท่านั้นเอง

ส่วนความไม่ยึดมั่นที่แท้จริง เกิดจากปัญญาที่รู้ความจริงแล้วใจไม่ติด ใจเป็นอิสระอยู่ แล้วก็ปฏิบัติไปตามเหตุผลอย่างจริงจังตามหน้าที่หรือตามเหตุผลที่ได้ตกลงเห็นชอบร่วมกัน เพื่อความดีงามบางอย่าง มีอะไรเป็นไป ใจก็ไม่ตกเป็นทาส ไม่ถูกครอบงำ อันนี้สิที่สำคัญ ส่วนการปฏิบัติในทางรูปธรรมดำเนินตามแบบแผนกติกาที่ตกลงไว้ ถ้ามันชอบธรรมสมเหตุสมผล ดังนั้น พระอรหันต์จึงเป็นผู้ปฏิบัติจริงจังตามสมมติ และเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด

วินัยนี้ ในแง่หนึ่งเป็นการสร้างแบบแผนชีวิตตัวอย่างสำหรับผู้ที่จะมีชีวิตที่ดีงามอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า ทั้งที่พระพุทธเจ้าสอนหลักความไม่ยึดมั่น แต่วินัยของพระทำไมกลับให้เอาจริงเอาจังกับสิ่งต่างๆ มากนัก นี่แหละวินัยเป็นตัวแสดงให้เห็นชัดว่า ในระบบการฝึกมนุษย์ที่แท้จริงนั้น ความไม่ยึดมั่นที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้

จะขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับความไม่ยึดมั่น ซึ่งอาจจะซ้อนกันอยู่เป็น ๒ ชั้น คือ

ในชั้นที่ ๑ ท่านสอนให้ไม่ยึดติด เช่น ไม่เห็นแก่ลาภ ไม่โลภ ไม่หมายมั่นในการที่จะต้องได้จีวรอย่างนี้อย่างนั้น ที่จะเอาแต่ใจ หรือจะมีของในครอบครองให้มาก เพราะฉะนั้นจึงมีสิกขาบทในวินัยที่บัญญัติว่าให้ภิกษุมีสิ่งของเครื่องใช้ได้จำกัดเท่านั้นเท่านี้ เพียงเท่าที่พอแก่การใช้ประโยชน์ที่แท้จริง

ในเวลาเดียวกัน มองอีกขั้นหนึ่ง ก็จะเห็นความไม่ยึดมั่นในชั้นที่ ๒ คือสิ่งของอย่างไหนที่ตกลง (สมมติ) ว่าเป็นของท่านแล้ว ท่านต้องมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่

ตัวอย่างเช่น วินัยกำหนดว่า พระภิกษุรูปหนึ่ง(มีสิทธิ)มีจีวรได้ชุดเดียว ดูจะเป็นการไม่ให้ความสำคัญแก่เรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ จึงไม่ให้มีมาก แต่พระจะบอกว่า เรื่องจีวรนี้ไม่สำคัญ ฉันไม่ยึดมั่นถือมั่น มันไม่ใช่ของของเราจริง เราเกิดมามันก็ไม่ได้มีติดมาด้วย ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ แล้วก็ไม่เอาใจใส่ ปล่อยสกปรก ไม่ซัก หรือว่าปล่อยให้ขาดเป็นรู ไม่ปะชุน

พระภิกษุจะปล่อยปละละเลยอย่างนั้นไม่ได้ วินัยกำหนดไว้ว่า ภิกษุปล่อยให้จีวรขาด ไม่ปะชุน แม้จะเป็นรูเท่าหลังเล็บนิ้วก้อย ก็มีความผิด เป็นอาบัติ (วินย.อ. ๒/๑๖๘) เอาล่ะซิ จีวรผืนเดียว ต้องรักษาอย่างดีขนาดนี้ ปล่อยให้ขาด ไม่ปะ ก็โดนปรับความผิดแล้ว

ในทำนองเดียวกัน ภิกษุมีจีวรชุดเดียวต้องรักษาไว้ให้ดี ถ้าอยู่ปราศจากมันแม้แต่ราตรีเดียว ก็เป็นอาบัติ (วินย. ๒/๑๐/๗) ท่านเรียกว่าขาดครอง ญาติโยมไม่เข้าใจหลักการนี้ก็จะพูดว่า พระทำไมมายึดมั่นถือมั่นกะเรื่องจีวรแค่นี้ สำคัญอะไรนักหนา

เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจหลักการนี้ให้ถูก วินัยเป็นระบบแห่งวิถีชีวิตของการฝึกตน ถ้าเรามองเห็นธรรม คือความจริงแท้แห่งความถูกต้องดีงาม ที่เข้ามาสู่วินัย คือระบบการจัดตั้งของมนุษย์ ในรูปของระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิตแล้ว ก็ผ่านตอนนี้ไปได้ จึงจะขอเลยต่อไปสู่เรื่องในระดับการบัญญัติและการใช้กฎหมาย และเรื่องอื่นๆ อีกสัก ๓-๔ อย่าง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – หลักการพื้นฐานบทส่งท้าย มองอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7

No Comments

Comments are closed.