ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ศึกษา เมื่อพัฒนาคนด้วยไตรสิกขา ชีวิตก็ก้าวไปในอริยมรรคา

1 สิงหาคม 2544
เป็นตอนที่ 3 จาก 11 ตอนของ

ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ศึกษา
เมื่อพัฒนาคนด้วยไตรสิกขา ชีวิตก็ก้าวไปในอริยมรรคา

ชีวิตนั้นเป็นอันเดียวกันกับการศึกษา เพราะชีวิตคือการเป็นอยู่ และการที่ชีวิตเป็นอยู่ดำเนินไป ก็คือการที่ต้องเคลื่อนไหว พบประสบการณ์ใหม่ๆ และเจอสถานการณ์ใหม่ๆ ซึ่งจะต้องรู้จัก ต้องเข้าใจ ต้องคิด ต้องปฏิบัติ หรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหาทางแก้ไขปัญหาให้ผ่านรอดหรือลุล่วงไป ทำให้ต้องมีการเรียนรู้ มีการพิจารณาแก้ปัญหาตลอดเวลา ทั้งหมดนี้พูดสั้นๆ ก็คือสิกขา หรือการศึกษา

ดังนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ถ้าจะเป็นอยู่ได้หรือจะเป็นอยู่ให้ดี ก็ต้องสิกขาหรือศึกษาตลอดเวลา พูดได้ว่า ชีวิตคือการศึกษา หรือ ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีการศึกษา มีการเรียนรู้ หรือมีการฝึกฝนพัฒนาไปด้วย

การศึกษาตลอดชีวิตในความหมายที่แท้ คืออย่างนี้ ถ้าจะพูดให้หนักแน่น ก็ต้องว่า “ชีวิต คือการศึกษา”

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า การดำเนินชีวิตที่ดี จะเป็นชีวิตแห่งสิกขาไปในตัว ชีวิตขาดการศึกษาไม่ได้ ถ้าขาดการศึกษาก็ไม่เป็นชีวิตที่ดี ที่จะอยู่ได้อย่างดี หรือแม้แต่จะอยู่ให้รอดไปได้

ตรงนี้เป็นการประสานเป็นอันเดียวกัน ระหว่าง การศึกษาพัฒนามนุษย์ หรือการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาคน ที่เรียกว่าสิกขา กับ การดำเนินชีวิตที่ดีของมนุษย์ ที่เรียกว่ามรรค คือการดำเนินชีวิตชนิดที่มีการศึกษาพัฒนาชีวิตไปด้วยในตัว จึงจะเป็นชีวิตที่ดี

สิกขา ก็คือการพัฒนาตัวเองของมนุษย์ ให้ดำเนินชีวิตได้ดีงามถูกต้อง ทำให้มีวิถีชีวิตที่เป็นมรรค

ส่วน มรรค ก็คือทางดำเนินชีวิต หรือวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามของมนุษย์ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแห่งการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนคือสิกขา

มรรค กับ สิกขา จึงประสานเป็นอันเดียวกัน

จึงให้ความหมายได้ว่า สิกขา/การศึกษา คือการเรียนรู้ที่จะให้สามารถเป็นอยู่ได้อย่างดี หรือฝึกให้สามารถมีชีวิตที่ดี

เป็นอันว่า ชีวิตคือการศึกษานี้ เป็นของแน่นอน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะศึกษาเป็นหรือไม่ ถ้าคนไม่รู้จักศึกษา ก็มีชีวิตเปล่าๆ หมายความว่า พบประสบการณ์ใหม่ๆ ก็ไม่ได้อะไร เจอสถานการณ์ใหม่ๆ ก็ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่มีการเรียนรู้ ไม่มีการพัฒนา ไม่มีการแก้ปัญหา เป็นชีวิตที่เลื่อนลอย เป็นชีวิตที่ไม่ดี ไม่มีการศึกษา ทางธรรมเรียกว่า “พาล” แปลว่า มีชีวิตอยู่เพียงแค่ด้วยลมหายใจเข้าออก

เพราะมองความจริงอย่างนี้ ทางธรรมจึงจัดไว้ให้การศึกษา กับชีวิตที่ดี เป็นเรื่องเดียวกัน หรือต้องไปด้วยกัน

ท่านถือว่า ชีวิตนี้เหมือนกับการเดินทางก้าวไปๆ และในการเดินทางนั้นก็พบอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อย จึงเรียกว่า “มรรค” หรือ “ปฏิปทา” แปลว่า ทางดำเนินชีวิต หรือเรียกว่า “จริย/จริยะ” แปลว่า การดำเนินชีวิต

มรรค หรือ ปฏิปทา จะเป็นทางดำเนินชีวิต หรือวิถีชีวิตที่ดี จริยะ จะเป็นการดำเนินชีวิตที่ดี ก็ต้องมีสิกขา คือการศึกษา เรียนรู้ และพัฒนาตนเองตลอดเวลา ดังกล่าวแล้ว

มรรคที่ถูกต้อง เรียกว่า “อริยมรรค” (มรรคาอันประเสริฐ หรือทางดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ) ก็เป็นจริยะที่ดี เรียกว่า “พรหมจริยะ” (จริยะอย่างประเสริฐ หรือการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ) ซึ่งก็คือมรรค และจริยะ ที่เกิดจากสิกขา หรือประกอบด้วยสิกขา

สิกขา ที่จะให้เกิดมรรค หรือจริยะอันประเสริฐ คือสิกขาที่เป็นการฝึกฝนพัฒนาคนครบทั้ง ๓ ด้านของชีวิต ซึ่งเรียกว่า ไตรสิกขา แปลว่า การศึกษาทั้ง ๓ ที่จะกล่าวต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ศักยภาพของมนุษย์ คือจุดเริ่มของพระพุทธศาสนาชีวิตมี ๓ ด้าน การฝึกศึกษาก็ต้องประสานกัน ๓ ส่วน พัฒนาคนแบบองค์รวม จึงเป็นเรื่องธรรมดาของการศึกษา >>

No Comments

Comments are closed.