(ปฏิบัติอย่างไรจึงจะปลอดภัย เข้าสู่ทางที่ถูกต้อง)

21 พฤศจิกายน 2538
เป็นตอนที่ 7 จาก 9 ตอนของ

มาถึงเรื่อง การปฏิบัติ การปฏิบัติก็จะพูดอย่างกว้างๆ เช่นเดียวกัน ปฏิบัติอย่างไรจึงจะดี หรือมีทางที่จะปลอดภัย เราจะไม่พูดกันถึงรายละเอียด ว่าจะปฏิบัติอย่างไรถูกต้อง เพราะเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัตินั้นมีมากมาย จะพูดถึงแนวการปฏิบัติว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะปลอดภัย หรือว่ามีโอกาสที่จะถูกต้องได้มาก

ผู้ที่ศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนา เมื่อเข้ามาแล้ว จะเห็นความกว้างขวางของพระพุทธศาสนา มีทั้งด้านศีล ด้านสมาธิ ด้านปัญญา บางคนบางพวกก็เน้นเรื่องศีล ชอบใจพอใจในเรื่องศีล

เราอาจจะแยกออกไปอีกเป็นขั้นต้นกว่านั้นคือ ทาน ชาวพุทธจำนวนมากมีชื่อเสียงว่ามีใจคอเสียสละโอบอ้อมอารี เวลาทำบุญบริจาคอะไรไม่อั้น หาเงินในเมืองไทยโดยการทำบุญนั้นหาได้ง่าย เพราะคนมีศรัทธาและมีความพร้อมที่จะบริจาคอยู่แล้ว คือมีความพร้อมที่จะให้ ทีนี้บางคนก็มาติดอยู่ในเรื่องทาน หนักในเรื่องทาน ชอบงานบุญ งานกุศล มีงานพิธีอะไรที่เกี่ยวกับการบริจาคไปไม่ขาด อย่างระยะนี้ก็มีงานกฐิน งานกฐินนี้ก็เป็นงานที่มีการบริจาคมาก มีการเรี่ยไรกัน คนก็ไปกันมาก ชาวพุทธพวกหนึ่งก็หนักในขั้นทาน

อีกพวกหนึ่งนั้นเน้นในเรื่อง ศีล ชอบในเรื่องความประพฤติ รักษาศีล รักษาศีล ๕ รักษาศีล ๘ รักษาอุโบสถ ทำให้เคร่งครัด ตลอดจนเลยจากศีลไปก็ถือวัตรปฏิบัติต่างๆ ศีล กับ วัตร นี้ก็เป็นคนละอย่าง แต่ว่าก็เกาะกันอยู่ด้วยกัน เป็นจำพวกเดียวกัน ถือทั้งศีลทั้งวัตร วัตรหรือข้อปฏิบัติต่างๆ ก็มีมากมาย ก็เลือกปฏิบัติเอา อย่างพระก็เช่นไปถือธุดงค์เป็นต้น นี่ก็เป็นวัตรเป็นข้อปฏิบัติพิเศษ พวกนี้ก็ชอบในเรื่องศีล

อีกพวกหนึ่งหนักในเรื่อง สมาธิ ชอบในเรื่องการทำจิตให้สงบ อย่างน้อยก็ทำให้จิตใจตัวเองสบาย อาจจะได้ความปีติ เอิบอิ่มใจ หรือนั่งสมาธิไปแล้วบางทีได้นิมิตต่างๆ มองเห็นภาพที่สวยงาม บางคนก็เห็นแสงสว่าง บางคนก็เห็นภาพอะไรๆ ที่เป็นสิ่งประณีตงดงาม บางคนก็เลยไปเที่ยวสวรรค์ บางคนเลยไปอีก บอกว่าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ก็มี เรียกว่าพวกหนักในสมาธิประเภทกรรมฐาน ประเภทสมถะ ที่จริงยังมีอีกชั้นคือ วิปัสสนา หรือว่ารวมกันไป จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ บางทีก็แยก ไม่ถูกว่าอันไหนเป็นสมถะ อันไหนเป็นวิปัสสนา เรียกวิปัสสนาเป็นสมถะ สมถะเป็นวิปัสสนา แล้วก็เถียงกันให้วุ่นหมด รวมความว่ากลุ่มนี้หนักในเรื่องสมาธิ

อีกกลุ่มหนักในด้าน ปัญญา ชอบขบคิดพิจารณาธรรม ตีความกัน แสดงความเข้าใจกันต่างๆ ในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มุ่งเน้นว่าจะต้องให้เห็นแจ้งความจริงต่างๆ มองเห็นอริยสัจจ์ มองเห็นรู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต ไม่ยึดติดในสิ่งทั้งหลาย ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใดในโลก นี้ก็หนักในเรื่องปัญญา เน้นปัญญาเป็นสำคัญ

เป็นอันว่าชาวพุทธก็มีการปฏิบัติกันต่างๆ มีการเน้นมาก ต่างเรื่องต่างด้านกัน แต่ว่าทั้งหมดนั้นก็อยู่ในชื่อส่วนรวมว่าเป็นพระพุทธศาสนา เป็นองค์ประกอบร่วมกัน ข้อสำคัญก็คือว่า ถ้าเน้นด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อหลายคนเน้นต่างที่กัน บางทีก็เกิดความเห็นขัดแย้งกันขึ้น ก็มาถกเถียงกัน แทนที่จะเป็นหน่วยย่อยที่มาประกอบกันเข้าเป็นพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแท้จริง ก็กลายเป็นพระพุทธศาสนาแบบต่างๆ ที่ลงกันไม่ได้ แล้วก็เกิดทะเลาะเบาะแว้งกัน อย่างนี้ก็มี

ขอให้พิจารณาดูว่าทั้งหมดนี้ จะเป็นทานก็ดี ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดีนั้น เป็นส่วนประกอบที่รวมกันเข้าเป็นพระพุทธศาสนา ทีนี้จะทำอย่างไรจึงจะกลมกลืนกัน ประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา เพราะว่าที่จริงแล้ว การศึกษาและปฏิบัติที่เน้นไปในด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียวนั้น จะทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาไม่ได้ ต้องมีพร้อมเพรียงบริบูรณ์

สำหรับการปฏิบัตินั้น จะปฏิบัติอย่างไร ให้ถูกต้องให้พอดี ก็คือปฏิบัติให้มีครบทุกอย่าง การปฏิบัติที่ถูกต้องก็ต้องอาศัยการศึกษาที่ว่ามาเมื่อกี้ เมื่อศึกษาถูกต้องก็มีแนวทางมีโอกาสที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าศึกษาไม่ถูกต้องก็มีโอกาสที่จะปฏิบัติผิดได้มาก

ในการปฏิบัตินี้ก็มีเรื่องที่น่ากลัวข้อที่หนึ่ง ก็คือมีพื้นในทางปริยัติหรือในการศึกษาเล่าเรียนพอหรือไม่ ถ้าหากมีพื้นในการเล่าเรียนน้อย ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นมา คือ การที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือ ความคับแคบในการปฏิบัติ ปฏิบัติได้แง่เดียว การปฏิบัตินั้น บางทีก็เป็นไปตามความถนัด บางคนอาจจะหนักในสมาธิ ในศีลก็มี ในปัญญาก็มี ก็ไปได้ หรือบางคนอาจจะหนักในศีล แต่เขาก็ไม่ได้ทิ้งสมาธิ ไม่ได้ทิ้งปัญญา ก็มีทางไปได้ บางคนหนักในทางปัญญา แต่เขาไม่ได้ทิ้งศีล ไม่ได้ทิ้งสมาธิ ก็มีทางไปได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นแบบเดียวตายตัวไปหมด

แม้แต่ในเรื่องลักษณะบุคคล ก็ต้องเข้าใจความแตกต่าง พระพุทธเจ้านั้น คำสอนก็ดี การศึกษาเล่าเรียน และการปฏิบัติก็ดี พระองค์จัดให้เหมาะสมกับความแตกต่างระหว่างบุคคล ถือความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น ความเหมาะสมระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์บางทีก็ไม่เหมือนกัน ความเหมาะสมในวิธีปฏิบัติบางทีก็ไม่เหมือนกัน

พระสารีบุตร พระโมคคัลลาน์ พระมหากัจจายน์ พระมหากัสสปะ ก็มีแนวทางปฏิบัติในการที่จะบรรลุธรรมไม่เหมือนกัน เมื่อบรรลุธรรมแล้วก็ปฏิบัติไม่เหมือนกัน เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน มีความหลุดพ้นจากกิเลสเหมือนกัน แต่วิธีการดำรงชีวิตหรือดำเนินชีวิตไม่เหมือนกัน พระมหากัสสปะนั้นอยู่ป่าตลอดชีวิต หรือเกือบตลอดชีวิต แต่พระสารีบุตรอยู่ในเมืองเกือบตลอดชีวิต พระอานนท์อยู่ในเมืองอยู่กับผู้คน จนกระทั่งพระมหากัสสปะเคยเตือนบอกว่า ปลีกตัวออกไปวิเวกเสียบ้างนะ อย่าคลุกคลีกับชาวบ้านนัก แต่ท่านเอาประโยชน์ของชาวบ้านเป็นสำคัญ จะต้องเข้าใจว่า แค่ไหนและในเรื่องใดต้องเหมือนกัน แค่ไหนและในเรื่องใดแตกต่างกันได้

ชีวิตของพระอรหันต์ทั้งหลายที่เป็นมหาสาวกนั้น พระองค์ยกย่องให้เป็นเอตทัคคะในคนละด้านคนละฝ่าย มีความถนัดไม่เหมือนกัน ดำเนินชีวิตคนละอย่าง เพราะฉะนั้น จะเอาแบบเดียวตายตัวไม่ได้ แต่มีหลักอย่างหนึ่ง คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสเหมือนกันหมด ส่วนอัธยาศัย ความถนัด หรือการดำเนินชีวิตไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราควรจะยกย่องให้เกียรติซึ่งกันและกัน

นอกจากความแตกต่างในความถนัดความสามารถแล้ว แม้แต่ความเคร่งครัดก็ไม่เหมือนกัน พระสาวกหลายองค์เคร่งครัดกว่าพระพุทธเจ้าในบางเรื่องบางอย่าง

เคยมีผู้มาสรรเสริญยกย่องพระพุทธเจ้า บอกว่าพระองค์เป็นผู้ประพฤติเคร่งครัด น่ายกย่องนับถือ เป็นผู้สันโดษในปัจจัย ๔ อยู่วิเวก อะไรต่างๆ เขาก็ว่าของเขาไป พระพุทธองค์ตรัสแย้งว่า เดี๋ยวก่อนอย่าเพิ่ง ที่ท่านว่าเราเป็นผู้ประพฤติเคร่งครัดอย่างนั้น แล้วท่านเคารพยกย่องนับถือเราด้วยเหตุนั้นน่ะไม่ถูกต้อง ถ้าหากสาวกจะนับถือเรา ด้วยเหตุที่เคร่งครัดในข้อที่ท่านกล่าวมาแล้ว สาวกของเราบางท่านที่มีความเคร่งครัดกว่าเราในเรื่องนั้นๆ ก็คงไม่นับถือเรา

อย่างเช่นเรื่องฉันน้อย สาวกบางท่านก็เคร่งครัดกว่าพระพุทธเจ้าเรื่องความสันโดษในจีวร สาวกบางท่านก็ถือธุดงค์ข้อว่าใช้จีวรเพียง ๓ ผืน ตลอดชีวิตหรือ ตลอดระยะเวลาหนึ่ง เรียกว่าถือ เตจีวริกังคะ ถือจีวร ๓ ผืนเป็นเกณฑ์ ไม่ใช้จีวรที่เรียกว่าอาศัยหรืออดิเรก บางองค์ก็ถือจีวรบังสุกุล ผ้าบังสุกุลคือผ้าที่เขาทิ้งแล้วพระไปเก็บมา แล้วเอามาต้มมาซักมาเย็บมาย้อมทำเป็นจีวรขึ้นมา แล้วก็ถือวัตรหรือถือธุดงค์ว่าจะใช้แต่ผ้าบังสุกุลเท่านั้น

แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงถือเคร่งครัดอย่างนั้น พระพุทธเจ้ามักทรงใช้คฤหบดีจีวร คือจีวรที่ชาวบ้านเขาถวาย พระราชา มหาเศรษฐีเขามาถวาย คฤหบดีจีวรพระองค์ก็ใช้ พระสาวกหลายองค์อยู่ป่าเป็นประจำ วิเวกมาก แต่พระพุทธเจ้าทรงอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ คอยช่วยแก้ปัญหาสงเคราะห์ให้คนทั่วไป พระองค์ทรงดำเนินชีวิตอย่างที่เรียกว่า ถ้าเทียบในหมู่สาวก ก็ค่อนข้างจะเป็นกลางๆ หน่อยในเรื่องเหล่านี้

ส่วนสาวกของพระองค์ก็เคร่งครัดกันไปคนละด้าน ซึ่งเคร่งครัดกว่าพระองค์ในบางแง่บางส่วน เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่า ถ้านับถือพระองค์ เพราะความเคร่งครัดเหล่านี้ละก็ สาวกเหล่านั้นก็ไม่ต้องนับถือเรา แต่การที่เขานับถือเราก็เพราะเราเป็นผู้ค้นพบสัจธรรม นำมาเปิดเผย เป็นผู้แนะนำสั่งสอนข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ทำให้เหล่าสาวกเกิดความรู้ความเข้าใจปฏิบัติได้สำเร็จผล เข้าถึงสัจธรรมดังกล่าวมาแล้วนั้น

ในการปฏิบัตินี้ เราก็คำนึงถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น ความถนัดเป็นต้น สำหรับในแนวทางทั่วไปนั้น จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องวินิจฉัยสำหรับผู้ปฏิบัติ ในเมื่อบางคนก็เน้นทาน บางคนเน้นศีล บางคนเน้นสมาธิ บางคนเน้นปัญญา

หลักหนึ่งก็คือว่า ควรจะมีการปฏิบัติให้ครบทุกอย่าง แต่ว่าอาจจะเน้นหนักต่างกันบ้าง

แต่ข้อสำคัญยิ่งก็คือ หลักการตัดสินว่าเมื่อปฏิบัติไปๆ เราก้าวหน้าในธรรมได้แค่ไหน ความก้าวหน้าในธรรมวัดด้วยอะไร สมมุติว่าเรานั่งสมาธิเสมอ นั่งสมาธิจนได้เห็นนิมิตต่างๆ จิตเราเป็นสมาธิดี แน่วแน่ แล้วเราก็ได้เห็นภาพที่สวยงาม ตลอดจนกระทั่งบอกว่าได้ไปเที่ยวนรกสวรรค์ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ตาม อันนั้นก็อาจจะบอกว่าขออนุโมทนาด้วย เป็นความสามารถพิเศษที่ทำได้

แต่สิ่งที่ชาวพุทธจะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอก็คือว่า เมื่อเราปฏิบัติไปนั้น โลภะ โทสะ โมหะ ในใจของเราลดลงบ้างหรือเปล่า ไม่ว่าท่านจะได้ไปไหนได้เห็นอะไรดีแค่ไหน จิตของท่านจะเป็นสมาธิ ได้ฌาน ได้สมาบัติแค่ไหน แต่ถ้าท่าน ปฏิบัติแล้ว สำรวจตัวเอง ความโลภที่เคยมีมันก็ยังมีอยู่ ความโกรธที่เคยมีมันก็ยังมีอยู่ ความหลงที่เคยมีมันก็มี นี่ไม่สำเร็จ ยังไม่ชื่อว่าปฏิบัติถูกต้องแน่นอน เป็นการปฏิบัติที่ได้ผล ไม่ได้เถียง พระพุทธเจ้าก็ทรงยกให้ อย่างไรก็ตาม จะต้องตระหนักว่าแม้แต่ฤษีชีไพรอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เขาก็ได้ฌานสมาบัติมาแล้วในยุคก่อนพระพุทธเจ้า แต่ไหนแต่ไรมา อาฬารดาบส กาลามโคตร ที่พระพุทธเจ้าไปเรียนโยคะด้วย นั่นได้ถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นอรูปฌานชั้นที่ ๓ อุททกดาบส รามบุตร นั้น ก็ได้สมาบัติถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เรื่องสมาธิสูงๆ ได้ฌาน ได้สมาบัติ จึงไม่ใช่เป็นเครื่องวัดที่แท้จริง แต่เป็นความสามารถพิเศษ

พระสาวกของพระพุทธเจ้าที่ได้ อภิญญา เป็นความสามารถพิเศษ ที่ว่ามีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์ มีหูทิพย์ตาทิพย์ เห็นสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ ฟังเสียงที่คนธรรมดาฟังด้วยหูธรรมดาไม่ได้ ตลอดจนกระทั่งมีความสามารถรู้จิตใจของคนอื่น อภิญญาเหล่านี้ฤษีก่อนพุทธกาลก็ทำกันมาได้ แต่ว่าเขาติดอยู่อันเดียว คือไม่สามารถทำจิตให้หลุดพ้นเป็นอิสระ

การทำจิตของตนเองให้เป็นอิสระปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานได้เสมอ พ้นจากกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ นี่คือตัวตัดสินที่แท้จริง

เพราะฉะนั้น จะปฏิบัติอย่างไรก็ตาม ถ้าได้อะไรขึ้นมาก็เป็นข้อที่น่าอนุโมทนา ในแง่ที่ว่าได้ผลขึ้นมาเป็นความสามารถพิเศษ แต่อย่าเพิ่งภูมิใจว่าเราได้บรรลุจุดหมายแล้ว จะต้องตัดสินด้วยการตรวจดูตัวเองว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ของเราลดน้อยลงหรือไม่ มันหมดไปไหม ถ้ายังไม่หมดแล้ว ยังไม่ชื่อว่าบรรลุจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา ไม่ว่าท่านจะมีความสามารถไปไหนก็ตาม จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จะไปคุยกับพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้าที่เป็นกายเนื้อหรือกายทิพย์ หรือกายธรรม อย่างไรๆ ก็ตาม ไม่สำเร็จ

เรื่องของการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะพูดถึงเพียงแค่นี้ ส่วนรายละเอียดวิธีปฏิบัติก็ไม่ต้องพูดกันมากมาย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (ตื่น รู้ สู่การศึกษาที่เปิดกว้าง นำทางสู่ปัญญา)(ต้องมีหลัก ไม่ให้เขวไป แล้วเป็นโทษภัยแก่ตนและคนรอบข้าง) >>

No Comments

Comments are closed.