(ต้องมีหลัก ไม่ให้เขวไป แล้วเป็นโทษภัยแก่ตนและคนรอบข้าง)

21 พฤศจิกายน 2538
เป็นตอนที่ 8 จาก 9 ตอนของ

ในการปฏิบัติ ถ้าหากชาวพุทธเราไม่มีหลักอย่างที่ว่ามาตั้งไว้ให้ดีแล้ว ก็จะเขวได้ง่าย

การเขวนั้น ไม่ใช่เป็นโทษแก่ตัวเองเท่านั้น ตัวเองผิดพลาดไขว้เขวก็เป็นเฉพาะตนเองหลงทางไปไม่บรรลุจุดหมาย แต่บางที่มันมาเป็นโทษแก่ส่วนรวม คือ หนึ่ง ได้แก่ ชักพาคนอื่นให้ไขว้เขวหลงทางไปด้วย และในหมู่ชาวพุทธด้วยกัน โทษอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการถกเถียงทะเลาะวิวาทกัน

ปัจจุบันเป็นยุคที่ชาวพุทธต้องยอมรับกันตามความเป็นจริงว่า มีปัญหาในเรื่องความแตกแยกในทางความคิดเห็นกันมาก ทั้งในความเชื่อถือ การศึกษาเล่าเรียนและการปฏิบัติ การปฏิบัติก็อย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ คือเน้นในด้านต่างๆ แล้วก็เอามาว่ากัน ซึ่งการแบ่งแยกในเรื่องเหล่านี้ บางทีก็เกิดปัญหาขึ้นโดยไม่สมเหตุสมผล

ขอยกตัวอย่างการแยกเรื่องความถูกผิดกับความดีไม่ดี แม้แต่แยกถูกผิดกับดีไม่ดี ถ้าแยกไม่เป็น ก็เสีย ก็ยุ่ง ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันได้ ถูกผิดกับดีไม่ดี มันไม่เหมือนกัน ข้อปฏิบัตินี้ถูก ข้อปฏิบัตินี้ผิด ทำอย่างนี้ถูก ทำอย่างนี้ผิด ทำอย่างนี้ดี ทำอย่างนั้นไม่ดี ทำอย่างนี้ดี ทำอย่างนั้นก็ดี ทำอย่างนั้นยิ่งดียิ่งขึ้น

ขอยกตัวอย่างเช่นว่า ถ้าท่านเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียน มีระเบียบวินัยของนักเรียนที่นักเรียนจะต้องประพฤติปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นถูกผิดก็มีมากมาย เช่นเขากำหนดว่า ก่อนเข้าโรงเรียนจะต้องมาเข้าแถว นักเรียนคนใดก่อนเข้าเรียนไม่มาเข้าแถว นักเรียนคนนั้นก็ปฏิบัติผิด คนไหนมาเข้าแถวก็ปฏิบัติถูก

หรือมีกฎของโรงเรียนว่า เมื่อจะหยุดเรียน มีเหตุมีธุระจำเป็นก็ให้ลา ถ้าไม่ลาก็ถือว่าขาด การขาดเรียนก็ถือว่าเป็นความผิดอย่างหนึ่ง นักเรียนคนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎนี้ ไม่มาโรงเรียนแล้วก็ไม่ได้ลา ก็ถือว่าปฏิบัติผิด ถ้าเขาลา ทำใบลาให้ถูกต้องก็ปฏิบัติถูก หรือไปเข้าใช้ห้องสมุด ปฏิบัติตามกฏถือว่าถูก ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎก็ถือว่าผิด เป็นต้น นี่เป็นเรื่องของความถูกผิด

ส่วนเรื่องดีไม่ดีหรือดียิ่งๆ ขึ้นไป มีตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งมีความขยันมาก และมีเวลา นอกจากจะช่วยทำเวรในชั้นเรียน กวาดเก็บทำความสะอาดในห้องแล้ว ยังมีเวลาไปช่วยกวาดบริเวณโรงเรียนอีก ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎว่าจะต้องทำ แล้วนักเรียนส่วนมากก็ไม่ได้ทำ เพราะไม่มีเวลา นักเรียนคนนี้ทำดีใช่ไหม เป็นความถูกนั่นแน่นอนอยู่แล้ว และยังเป็นความดีอีกด้วย

แต่ทีนี้นักเรียนที่ไม่ได้ทำอย่างนี้จะถือว่าผิดไหม ไม่ผิด นักเรียนคนอื่นไม่ได้ผิด แต่นักเรียนคนนี้ทำดีน่ายกย่อง นักเรียนคนอื่นควรจะเอาอย่างด้วย ถ้าหากว่านักเรียนนั้นจะทำให้ดีอย่างนี้ยิ่งๆ ขึ้น ก็อาจจะจูงใจนักเรียนคนอื่นให้ทำดีด้วย หรือครูอาจจะเอามาพูดชักจูงแนะนำนักเรียนคนอื่นให้ประพฤติตามอย่างเพื่อเป็นคนดียิ่งๆ ขึ้นไป

อีกตัวอย่างหนึ่งนักเรียนทั้งหลายในห้องต่างก็ตั้งใจเล่าเรียน อ่านหนังสือหนังหากันได้ครบถ้วน ทั้งหนังสือในเวลาและนอกเวลา ทีนี้นักเรียนคนหนึ่งขยันมากเป็นพิเศษ สามารถอ่านหนังสือความรู้ทั่วๆ ไปได้อีกด้วย อันนี้ก็เป็นความดีพิเศษของเขาซึ่งน่ายกย่อง แต่คนอื่นไม่ได้ทำอย่างนี้ก็ไม่ผิดถูกไหม อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องของความดี

ข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน บางอย่างนั้นถ้าทำแล้วดี น่าอนุโมทนา ควรชักชวนคนอื่นให้ปฏิบัติ ทำกันยิ่งมากยิ่งดี แต่ใครไม่ปฏิบัติก็ไม่ผิด การที่จะทำให้ถูกต้องในเรื่องนี้ก็คือการจูงใจ การชักชวนสนับสนุน แต่ถ้านักเรียนคนที่ทำดีนั้น จะเป็นคนที่กวาดบริเวณโรงเรียนก็ดี หรือคนที่ขยันอ่านหนังสือมากก็ดี ถ้าตนทำอย่างนั้นแล้ว เที่ยวติเตียนนักเรียนคนอื่นๆ ว่าทำผิด บอกว่าการที่ไม่อ่านหนังสือพิเศษอย่างนั้นเป็นการผิด การไม่กวาด บริเวณโรงเรียนอย่างนั้นเป็นการผิด นักเรียนคนนี้ซึ่งเป็นคนดีนั้น ก็อาจจะกลายเป็นคนดีที่น่ารังเกียจไปก็ได้ เมื่อเป็นคนดีที่น่ารังเกียจก็คือไม่ดีนั่นเอง แล้วจะเกิดปัญหา คือเกิดแรงต้าน แทนที่คนอื่นจะมาสนับสนุนหรือทำดีด้วย มันก็กลับกลายเป็นปฏิปักษ์ขึ้นมา

เรื่องนี้เป็นข้อน่าพิจารณาในการปฏิบัติทางพระศาสนา เรื่องที่ชัดอยู่ในปัจจุบันก็คือเรื่อง ศีลวัตร ศีลนั้น เป็นข้อปฏิบัติที่ทุกคน ถ้าดำรงชีวิตอยู่ในภาวะนั้นๆ ก็ควรจะมีเสมอกัน เช่น เป็นคฤหัสถ์ เป็นชาวพุทธควรรักษาศีล ๕

ศีล ๕ ก็เป็นข้อปฏิบัติสามัญเสมอกัน แต่อีกอย่างหนึ่งคือวัตร เช่นจะรักษาอุโบสถ จะรักษาศีล ๘ ท่านจะอดอาหารหลังเที่ยงหรือไม่ ท่านจะถือพรหมจรรย์หรือไม่ ท่านจะปฏิบัติอย่างนั้นในวันพระครั้งหนึ่งหรือไม่ นี่เรียกว่าเป็นวัตร แม้จะเป็นศีล ๘ แต่ก็เป็นวัตร เป็นข้อปฏิบัติพิเศษซึ่งทำตามความสมัครใจ

หรือเหมือนอย่างธุดงค์ที่ว่าเมื่อกี้ ธุดงค์ที่ว่าอยู่ป่า อยู่ตามโคนไม้ ถือฉันมื้อเดียว ถือผ้าบังสุกุลเป็นต้น ธุดงค์เป็นวัตร เป็นข้อปฏิบัติพิเศษ ใครทำได้ก็ควรยกย่อง ควรชักจูงกันให้ทำยิ่งขึ้นๆ ไป แต่ไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องถูก ถ้าเอาเรื่องวัตรมาเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก ก็เกิดทะเลาะกันขึ้น กลายเป็นปัญหาอย่างในปัจจุบันนี้

ตัวอย่างง่ายๆ ที่ได้ยินกันมากก็เช่น มังสวิรัติ มีปัญหาถึงกับว่าผิดหรือถูก เคยถึงกับพูดทำนองว่า ถ้าใครไม่ถือมังสวิรัติแล้วไม่มีศีล ทั้งๆ ที่มังสวิรัตินั้นเป็นวัตรชนิดหนึ่ง เป็นข้อปฏิบัติพิเศษ แต่ก่อนนั้นก็เคยมีผู้ถือ ผู้ที่ถือนั้นซึ่งเป็นคฤหัสถ์ก็ได้รับการยกย่องนับถือ ผู้อื่นก็สรรเสริญอนุโมทนาด้วย ถ้าเราจะปฏิบัติด้วยดี โดยชักชวนกันด้วยดี คนอื่นก็จะนิยมตามไป ก็เป็นข้อที่ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องตัดสินว่าถูกหรือผิด เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่พึงระวัง ข้อปฏิบัติที่เรียกว่าวัตรก็ดี หรือข้อปฏิบัติที่ดี ดีมาก ดียิ่งขึ้น ดีพิเศษ กับเรื่องถูกเรื่องผิด ถ้าแยกกันให้ดีแล้ว จะแก้ปัญหาความทะเลาะเบาะแว้งในหมู่พุทธศาสนิกชนไปได้มาก

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเกี่ยงกัน การเกี่ยงนั้นก็คือลักษณะที่เอาข้อปฏิบัติที่ผิดของคนอื่นมาเป็นข้ออ้าง เพื่อฉันจะทำผิดอีกอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันเราพูดถึงสภาพพระพุทธศาสนา เรายอมรับว่า พระพุทธศาสนาของเราในปัจจุบันนี้มีความบกพร่องย่อหย่อน มีปัญหาความเสื่อมโทรมมาก ซึ่งพุทธศาสนิกชนเราต้องช่วยกันแก้ไข เช่น อย่างเรื่องการหมกมุ่นในเดียรัจฉานวิชา

อย่างที่เล่าเมื่อกี้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงตื่นขึ้นมา มีนักบวชจำนวนไม่น้อยหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีที่ผิด เอาการทรงเจ้าเข้าผี สะเดาะเคราะห์ เวทมนต์คาถามาเป็นวิธีหาเลี้ยงชีพไป สภาพอย่างนี้ปรากฏว่าปัจจุบันนี้ก็ยังมีมาก เป็นความเสื่อมโทรมอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ซึ่งเราจะต้องช่วยกันแก้ไข

แต่ทีนี้ปัญหามันมีว่า ในเมื่อเราจะช่วยกันแก้ไข ทางที่ดีก็คือต้องเลิกทำอย่างนั้น ชวนกันเลิก ตัวเองเลิกไม่ทำ แล้วคนอื่นเราก็ชวนให้เลิก แต่ถ้าทำเลยไป ก็ออกมาในรูปของการอ้างอย่างอื่นขึ้นว่า พวกนั้นทำเดียรัจฉานวิชา ฉันก็จะอวดอุตริมนุสสธรรม เขายังอวดเดียรัจฉานวิชาได้ ฉันก็อวดอุตริมนุสสธรรมได้ มันก็กลายเป็นว่าเอาสิ่งที่ผิดมาอ้าง เพื่อทำความผิดใหม่อีกอย่างหนึ่ง เพราะการอวดอุตริมนุสสธรรมนั้น ก็เป็นพุทธบัญญัติที่ไม่อนุญาตหรือทรงห้ามไว้แล้ว

เหมือนกับว่ามีเด็กสองคน เด็กชายเปียกับเด็กชายจุก เด็กชายเปียกัดปลา เราต้องการให้เด็กชายเปียเลิกกัดปลา เพราะว่าเป็นสิ่งไม่ดี เราก็สอนว่าอย่าไปทำมันเลย เลิกเถอะ เด็กชายเปียก็บอกว่าไม่ได้ ฉันกัดปลา ดีกว่าเด็กชายจุกตีไก่ การอ้างอย่างนี้มันจะทำให้การกัดปลากลายเป็นดีได้ไหม มันก็ไม่กลายเป็นดีขึ้นมาได้ เมื่อเราเห็นว่าการตีไก่นั้นไม่ถูกต้องแล้ว เราก็ต้องเลิก แต่เราจะเอามาอ้างเพื่อทำอีกอันหนึ่งนั้นไม่ถูก เราควรจะเลิกสิ่งที่ผิดแล้วหันมาทำสิ่งที่ถูก แล้วก็ยืนอยู่ที่มันถูก ไม่ใช่ไปอ้างอันหนึ่งเพื่อทำอีกอันหนึ่ง เพราะการอ้างสิ่งที่ผิดมา มันก็ไม่ช่วยให้การกระทำผิดของเราเป็นการกระทำที่ถูกขึ้นมาได้

ในการวินิจฉัยความถูกผิดนั้น เราจะต้องเอาหลักการหรือกฎเกณฑ์มาวาง แล้วเอาความประพฤติปฏิบัติของคนเข้าไปเทียบดูทีละเรื่องๆ เป็นกรณีๆ ไป ไม่ใช่เอาความประพฤติปฏิบัติทั้งหลายมาเทียบกันเอง

นี่ก็เป็นเรื่องต่างๆ ที่เป็นข้อพิจารณาสำหรับชาวพุทธในสมัยปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งเราจะต้องมาพูดกันอย่างใจกว้าง

การรับฟังผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะในหมู่ชาวพุทธด้วยกัน ตามลักษณะที่ว่าชาวพุทธจะต้องเป็นผู้ตื่น ความตื่นในเบื้องแรกก็คือมีใจกว้างนั่นเอง การตื่นโดยแท้จริงก็ต้องมีใจกว้างที่จะรับฟัง หาความรู้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่ติดตามความรู้เพียงอันหนึ่งอันเดียวที่ทำให้คับแคบ นี้ก็เป็นข้อพิจารณาในการศึกษาและการปฏิบัติที่ถูกต้อง

อาตมาเสนอแต่ในแนวกว้างๆ ที่ว่ามานี้ เอาเป็นว่า ในแง่การปฏิบัตินั้น หลักที่แท้จริงคือ ปฏิบัติไปอย่างไรก็ตาม ต้องตรวจดูตัวเองว่า โลภะ โทสะ โมหะ ในใจมันเบาบางหรือไม่ จิตของเราหลุดพ้นเป็นอิสระบ้างหรือไม่ หรือไปติดไปเพลินอะไรแปลกใหม่ ถ้าเราจะได้ความสามารถพิเศษอะไรขึ้นมานั้น ก็เป็นความดีงามที่น่าอนุโมทนา แต่ไม่ใช่ตัวตัดสินที่แท้จริง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (ปฏิบัติอย่างไรจึงจะปลอดภัย เข้าสู่ทางที่ถูกต้อง)(ชาวพุทธขัดแย้ง เพราะตัวบงการ ๓ ตัว – ตัณหา, มานะ, ทิฏฐิ) >>

No Comments

Comments are closed.