(การศึกษาจัดตั้ง ต้องโยงสู่เนื้อแท้ คือพัฒนาคน)

28 ตุลาคม 2548
เป็นตอนที่ 5 จาก 9 ตอนของ

นี่อาตมาก็พูดไปเรื่อยๆ ดูๆ ว่ามีหัวข้ออะไรที่ควรจะพูดอีกบ้าง เช่นแง่มุมต่างๆ แต่อย่างที่ว่าแหละ ก็เน้นเรื่องว่าการศึกษาพิสูจน์หรือวัดผลด้วยความสุขด้วย ถ้าหากไม่มีความสุขขึ้นมาก็ยาก เรื่องนี้เราโยงมาหาหลักการใหญ่ของพุทธศาสนาที่สำคัญ ที่เรียกธรรมวินัย ก็คือ เนื้อแท้ตัวจริงความเป็นจริงของธรรมชาติว่า ภาวะที่มีอยู่ตามธรรมดา ธรรมก็คือ ความจริงที่อยู่ธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ตถาคตเกิดขึ้นมาแล้ว ก็มาค้นพบ ก็เอามาบอก มาเปิดเผย มาแสดง

ทีนี้วินัยก็คือ ระบบจัดตั้งที่พระพุทธเจ้านำมาวางขึ้นมา เพื่อจะให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากธรรมนั้น เช่นว่ามาพัฒนาชีวิตให้เกิดธรรมะ ให้เกิดคุณสมบัติต่างๆ เหล่านั้น อย่างในขบวนการการศึกษาของเรานี้ก็คือการจัดตามระบบ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับวินัย คือตัวแท้ เราต้องการธรรม ความเจริญงอกงามของเด็กที่เป็นไปตามกระบวนความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหมดที่เรียกว่าธรรม

แต่ว่าทำอย่างไรจะให้ขบวนการของธรรมชาตินี้เกิดขึ้นมา เป็นจริงขึ้นมา พัฒนาได้ผลดี ก็ต้องอาศัยระบบการจัดตั้งของมนุษย์ที่เรียกว่า วินัย ถ้าใครฉลาดจัดตั้งได้เก่งก็จะ ทำให้การพัฒนาของธรรม หรือการพัฒนาตามแนวของธรรมนั้นได้ผลดีด้วย พระพุทธเจ้าก็เก่งเพราะเหตุนี้ ถ้าไม่งั้นพระองค์ได้ธรรม ค้นพบธรรมอย่างเดียว ก็เป็นปัจเจกพระพุทธเจ้า เพราะปัจเจกพระพุทธเจ้าก็คือ ผู้ค้นพบธรรม แต่ไม่สามารถจัดตั้งวินัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือ ทั้งค้นพบธรรม รู้เข้าใจธรรม ความจริงของธรรมชาติ แล้วก็วินัยจัดตั้งวางระบบ เพื่อจะให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากธรรมนั้นด้วย ไม่ใช่ว่าให้พัฒนาตามธรรม เข้าถึงธรรมอะไรก็แล้วแต่

คราวนี้การศึกษาก็เหมือนกัน การศึกษาที่เราจัดกันอยู่นี้ ก็คือ ระดับวินัยนั้น ก็คือ ระบบจัดตั้ง นั่นเอง แต่ว่าในการพูดเรื่องนี้ก็คือว่า ผู้ที่จัดตั้งจะต้องตระหนักชัดว่า สาระที่แท้ที่เรียกว่าธรรม หรือ การศึกษาเนื้อแท้ของมันคืออะไร เป็นอย่างไร กระบวนการของมันตามธรรมชาติเป็นอย่างไร ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว การจัดตั้งจะไม่สำเร็จ เพราะการจัดตั้งต้องเกิดจากผู้ที่รู้เข้าใจตัวความจริง แล้วจึงจะทำให้เกิดผลขึ้นมาตามนั้นได้ ถ้าเราไม่ติดอยู่แค่การจัดตั้ง แล้วก็เราก็ไม่ลืมตัว และก็คอยตระหนักไว้ เราก็จะคอยตรวจสอบเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเนื้อหาสาระที่เรียกว่าตัวธรรม หรือตัวเนื้อแท้ของการศึกษานี้ไว้ ก็จะเจริญงอกงามต่อไป

แม้แต่เรื่อง เสรีภาพ เรื่องการที่จะให้เด็กเจริญงอกงาม ใช้เสรีภาพอะไรเป็น ถ้าอย่างเด็กเล่นเกม ใช้เสรีภาพไม่เป็น แล้วแกก็เกิดโทษกับชีวิตของตัวเอง เกิดปัญหาแก่สังคม การศึกษาจะช่วยอย่างไร อันนี้ก็คือ การศึกษาจัดตั้งจะเข้ามา

การเอาปัจจัยภายนอกมาช่วยเพราะ เด็ก ปัจจัยภายในเขาไม่พอ ปัจจัยภายนอกจัดระบบจัดตั้งเข้าไปเสริม เช่น มี กัลยาณมิตร จัดสิ่งแวดล้อมด้านสังคม คนในครอบครัว พ่อ แม่ ครู อาจารย์ เพื่อน หรือ อะไรก็แล้วแต่

ระบบกัลยาณมิตร ก็คือมนุษย์ด้วยกัน ที่จะมาช่วยห้อมล้อม หรือมีอิทธิพลชักจูง ชักนำไปในทางที่ดี หนึ่ง

สองก็ตัววินัย วินัยก็คือ จัดวางวิถีชีวิตขึ้นมา เรามักจะมองในแง่ลบว่าเป็นข้อบังคับ อันนี้ก็เป็นข้อเสียอย่างหนึ่ง

วินัยที่จริงคือ การจัดสรรโอกาส คือ ทำอย่างไร จะให้คนมีโอกาสมากที่สุด แต่โอกาสนั้น สัมพันธ์กับจุดหมาย เราให้มีโอกาสต้องมีจุดหมาย เพื่ออะไร ให้เขามีโอกาสเพื่อเขาจะได้ทำอะไรๆที่เขาต้องการนี้ให้สำเร็จถึงจุดหมายนั้น ถ้าไม่มีวินัยมาจัด โอกาสนี้ไม่เกิด พอจัดปั๊บ โอกาสที่จะทำสิ่งนั้นเพื่อบรรลุจุดหมายนั้นก็เกิดขึ้นมา เพราะทุกอย่างต้องมีวินัยหมด การจราจรก็เป็นวินัย เพราะอะไร เพราะต้องการให้การเดินทาง ได้ผลดี เป็นไปได้ดี ก็จัดตั้งเป็นวินัยในการจราจรขึ้นมา แม้แต่ในบ้านเรามานั่งกันเพื่อจะให้ฟังกันสะดวก ก็ต้อง มีการจัดตั้งก็คือมีวินัยจัดอะไรต่ออะไร ที่นั่งอย่างไร วางอย่างไร แล้วเวลาฟังอยู่ในสภาวะ อยู่ในอิริยาบถอย่างไร เป็นต้น หรือเวลาหมอจะผ่าตัดก็ต้องจัดวางระเบียบ คนไหนยืนที่ไหน จัดของที่ไหน วางลำดับการใช้เครื่องมืออย่างไร

วินัยทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เกิดโอกาสในการที่จะปฏิบัติการ เพื่อบรรลุจุดหมายนั้นได้อย่างดีที่สุดวินัยคือการ จัดสรร โอกาส ทีนี้พอมีโอกาสขึ้นมาวินัยจัดสรร โอกาสให้แล้ว แล้วเสรีภาพถ้าไม่มีมันก็ไม่สามารถใช้โอกาสของวินัย พอเรามีเสรีภาพ ก็มีโอกาสนั่นแหละ เราก็สามารถใช้โอกาสนั้นได้ เสรีภาพก็มาใช้โอกาสที่วินัยจัดให้ ไปสู่จุดหมาย

ในการพูดอย่างนี้ก็หมายความว่า ชีวิตมนุษย์เรานี้มันต้องมีจุดหมาย ถ้าเราถือว่ามนุษย์นี้เกิดมายังไม่สมบูรณ์ ก็คือพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ เมื่อพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ เราต้องการให้ชีวิตมนุษย์ มีจุดมุ่งหมายแห่งความสมบูรณ์ดีงามแท้ เราก็เลยจัดสรรโอกาส ด้วยสิ่งที่เรียกว่าวินัย แล้วถ้ามีเสรีภาพ และก็ปฏิบัติการตามที่จะใช้โอกาสจากวินัยเพื่อบรรลุจุดหมายของชีวิต อันนี้ก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของวินัยกับเสรีภาพ

จะเห็นว่าวินัยกับเสรีภาพสัมพันธ์กัน แล้วก็ไม่ขัดกัน กลายเป็นสิ่งเกื้อหนุน ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้ วินัยก็ต้องขัดกับเสรีภาพใช่ไหม วินัยกลายเป็นเครื่องบังคับจำกัด วินัยจำกัด เสรีภาพจะไม่จำกัด ขัดแย้งกันยุ่งหมดเลย

แต่พอเข้าใจแนวคิดนี้ปั๊บ วินัยนี้คือตัวทำให้เกิดโอกาส เสรีภาพมาใช้โอกาส ก็เลยกลายเป็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ที่จริงก็เป็นเรื่องเดียวกันอยู่แล้ว ถ้าเรามองว่ามนุษย์มีธรรมชาติของการที่จะต้องการพัฒนาไปสู่ความงาม ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ทีนี้เด็กก็เหมือนกัน อย่างว่าในการพัฒนาเขา ในการศึกษาที่ว่าเล่นเกมอะไรต่อมิอะไรนี้ เมื่อมีชีวิตมันมีวินัยแต่ วินัยในแง่ที่ว่า เราต้องพูดกันก่อนว่า หนูเห็นไหมว่าในการเล่นเกม แล้วหนูก็ติดใช่ไหม บังคับตัวเองไม่ได้จริงมั้ย แล้วมันเสียไหม มันดีอย่างไร ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นโทษแล้ว มันมีสิ่งอื่นที่เราน่าจะทำดีกว่า เป็นประโยชน์ ชีวิตเราต้องไปมากกว่านี้ ไปสู่คุณงามความดีที่สูงขึ้นไป เราจะไปทำสิ่งนั้นได้ เราจะติดอยู่กับสิ่งนี้ไม่ได้ เมื่อตกลงกันแล้ว เอานะ ต่อไปนี้ เรามาหาทางที่จะเล่นเกมให้น้อย จะไม่เล่นก็ยังไม่ไหว เล่นให้จำกัดลง แล้วก็ไปทำสิ่งที่มันจะพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น ตกลงกันแล้ว ก็แต่ว่าใจยังไม่เข้มแข็งพอ เรามาตกลงกันวางระเบียบเรียกว่าวินัย กติกากัน หรือว่าวางวิถีชีวิตกันใหม่ เพื่อจะให้ทำให้ได้อย่างนี้ วินัยก็มาช่วย ก็คือระบบกัลยาณมิตร คน แล้วก็วินัย กติกา มาช่วย

แต่วินัยที่แท้ต้องการให้เป็นวิถีชีวิต วินัยนี้ก็คือมาเป็นวัฒนธรรม วัฒนธรรมก็คือรูปแบบของวินัยที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร คือพอวินัยเข้าสู่ชีวิตแท้จริงแล้ว มันไปโดยไม่รู้ตัวก็เป็นวัฒนธรรม แต่ว่าวัฒนธรรมที่แท้ ถ้าเหลือแต่รูปแบบก็คือ ความหมายของวินัยมันโยงไปถึงธรรม ก็คือเนื้อหาสาระมันมีเป็นเหตุผลอยู่แล้ว ก็เพื่ออันนั้น เราเข้าใจเนื้อหาหลักธรรมอันนี้ เราจึงมาจัดตั้งกติกาวินัยหรือวิถีชีวิตอันนี้ขึ้น วินัยมันโยงกับธรรมอยู่แล้ว พอมันเป็นไปเองโดยไม่ต้องรู้ ทำตามๆ กันไป มันก็เป็นวัฒนธรรมเท่านั้นเอง ก็เป็นวินัยที่ไม่รู้ตัว วินัยในรูปแบบ

ทีนี้วัฒนธรรมก็เสี่ยงอยู่อย่างก็คือว่ามันอาจจะไม่โยงไปหาธรรมคือ มันเหลือแต่รูปแบบจริงๆ หาเนื้อไม่พบก็ต้อง โยงวินัยคือต้องโยงวัฒนธรรมกลับไปสู่วินัยให้ได้ พอโยงไปหาวินัยก็จะโยงไปหาเนื้อแท้คือธรรมได้ แล้วเราก็จะรู้เหตุผลที่แท้ว่าทำไมจะต้องมีวิถีชีวิตอย่างนี้ ทำไมจึงต้องมีวัฒนธรรมรูปแบบนี้ ถ้าวัฒนธรรมรูปแบบนี้มันไม่เอื้อ มันไม่ประสานกับธรรมแล้ว ไม่ให้ได้ผลตามธรรมแล้ว วัฒนธรรมนี้ต้องปรับแก้เป็นระบบที่ประสานกันหมด คือ โยงจากธรรมมาสู่วินัย เป็นเรื่องของสังคมที่มีการจัดตั้งและการศึกษาของเรา เป็นเพียงกิจกรรมของสังคมเท่านั้น มันเป็นเรื่องของการจัดตั้งของสังคม การศึกษาที่เป็นการจัดตั้งของสังคมมันก็โยงไปหาธรรมที่เป็นเนื้อแท้ไม่ได้มันก็ไม่สำเร็จแน่นอน อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่ง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (เสรีภาพ อิสรภาพ เสมอภาค บนฐานของการแก่งแย่งหรือสามัคคี)(โลกาภิวัตน์พาจริยธรรมตะวันตกเข้ามา การศึกษาก็พัฒนาไม่ถึงเป้าหมาย) >>

No Comments

Comments are closed.