— ความเป็นมาและเจตนารมณ์ของกฐิน

6 พฤศจิกายน 2535
เป็นตอนที่ 6 จาก 16 ตอนของ

ความเป็นมาและเจตนารมณ์ของกฐิน

เรื่องกฐินนี้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เราต้องเข้าใจให้ครบ คือ จะต้องรู้ทั้งตัวความหมาย สาระสำคัญ เจตนารมณ์ และรู้รูปแบบเดิมและรูปแบบที่ขยายเพิ่ม

รูปแบบเดิม หมายถึงรูปแบบที่เป็นพุทธบัญญัติ เป็นพระวินัย เป็นส่วนที่ต้องรักษาไว้ รูปแบบนี้จะควบคู่ไปกับความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ หมายความว่า รูปแบบเดิมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการที่จะรักษาความมุ่งหมายที่เป็นสาระไว้ เป็นธรรมดาว่า เนื้อหาสาระจะต้องอยู่ด้วยรูปแบบเป็นเครื่องรักษา แต่ถ้ารูปแบบไม่มีสาระ รูปแบบนั้นก็หาประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะว่าเนื้อหากับรูปแบบเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กัน ตัวแท้ที่เราต้องการ คือเนื้อหาสาระ ความหมาย เจตนารมณ์

นอกจากรูปแบบเดิมแล้ว ยังมีรูปแบบบางส่วนที่ขยายเพิ่มพูนขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องของกาลเทศะ โดยเฉพาะวัฒนธรรมประเพณี อันนี้เราจะต้องเข้าใจและแยกออกให้ได้ว่าอันไหนเป็นส่วนขยายส่วนพอกส่วนเพิ่ม หรือแม้แต่เป็นเนื้องอก

สำหรับเรื่องกฐิน เราก็เอาหลักการนี้เข้ามาจับ แต่อาตมภาพเข้าใจว่าที่ประชุมนี้ได้ร่วมการสัมมนามาทั้งวัน คงมีความเข้าใจพอสมควรแล้ว ในที่นี้เพียงแต่มาทบทวนกันเล็กน้อย

กฐินนั้น ความจริงเป็นกิจหน้าที่ของสงฆ์ คือเป็นงานที่พระสงฆ์จะต้องทำ เดิมนั้นไม่ใช่เรื่องที่ญาติโยมเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่ญาติโยมเข้ามาร่วมนั้น เป็นเรื่องภายหลัง

หน้าที่ของพระสงฆ์ที่เรียกว่ากฐินนี้ เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการจำพรรษา พูดถึงเรื่องการจำพรรษาก็โยงไปถึงเรื่องฤดูกาลที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ หมายความว่าพระสงฆ์นั้นจำพรรษาอยู่ประจำที่ในฤดูฝน

ฤดูฝนนั้นมี ๔ เดือน พระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์จำพรรษาในฤดูฝนนั้น โดยอยู่แค่ ๓ เดือน อันนี้คือข้อสังเกตประการแรก ฤดูฝน ๔ เดือน บัญญัติให้อยู่ประจำที่ ๓ เดือน แสดงว่ายังเหลืออีกเดือนหนึ่งจึงจะครบตลอดฤดูฝน อีกเดือนหนึ่งนี้จะเหลือไว้ทำไม ปรากฏว่าท่านเหลือไว้เป็นเวลาสำหรับพระสงฆ์จะได้หาจีวร ทำจีวร

ชีวิตของพระสงฆ์ โดยเฉพาะในสมัยโบราณนั้น คือชีวิตของการจาริก ท่านบัญญัติให้จำพรรษาในฤดูฝน เพราะว่าในฤดูฝนไม่สะดวก ไม่เหมาะกับการเดินทาง พอหมดระยะเวลาที่อยู่กับที่ในฤดูฝนแล้ว ก็ออกจาริกกันต่อไป ในการจาริกนี้ท่านควรจะเตรียมตัวกันให้พร้อม มีบริขารอะไรที่ควรเตรียมก็เตรียมไว้เสีย สิ่งที่จะต้องเตรียมอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ จีวร เหลือเวลา ๑ เดือนไว้สำหรับหาจีวร พระแต่ละองค์มีหน้าที่ที่เป็นเรื่องของตัวเองในการที่จะต้องหาจีวร ทำจีวร

เพราะปรารภเรื่องนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเรื่องกฐินขึ้นมาในช่วงเวลานี้ คือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการหาจีวรทำจีวรของพระสงฆ์ โดยยกเอาเรื่องการหาจีวรทำจีวรนี้ขึ้นมาเป็นกิจกรรมของสงฆ์ส่วนรวม กำหนดให้พระสงฆ์ที่หาจีวรทำจีวรสำหรับตนเอง แต่ละองค์นี้ให้มาร่วมกันทำกิจกรรมส่วนรวมขึ้นมาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของการหาจีวรทำจีวรเหมือนกัน ซึ่งเรียกชื่อพิเศษว่า กฐิน แต่แทนที่จะเป็นการหาจีวรทำจีวรสำหรับตนเอง ก็เป็นการช่วยกันหาผ้าของส่วนรวมที่จะเอามาตกลงกันมอบให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ให้เป็นผลของความสามัคคี

ถ้ามองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า พระพุทธเจ้าจะทรงพิสูจน์ความสามัคคีของพระสงฆ์ที่อยู่ด้วยกันมาตลอดเวลา ๓ เดือน ว่ามีความพร้อมเพรียงปรองดองกันหรือไม่ เพราะจะต้องมาทำกิจกรรมร่วมกันในการที่จะหาผ้ากฐินนี้ขึ้นมา และเสร็จแล้วก็ต้องมามอบให้แก่พระองค์หนึ่ง โดยต้องมีความยินยอมพร้อมเพรียงตกลงกันได้ และนอกจากพิสูจน์ความสามัคคีที่มีอยู่แล้วก็จะได้เป็นเครื่องผูกใจกันไว้อีกด้วย เพราะว่าในโอกาสที่จะแยกย้ายกันไปก็ได้มาพร้อมเพรียงกัน ช่วยกันหาจีวรขึ้นมาแล้วถวายให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งบอกว่าเป็นผู้ที่มีศีลาจารวัตร มีความประพฤติดีงาม มีความสามารถ เมื่อต่างก็มีคุณสมบัติดีอย่างนี้ องค์ไหนจีวรเก่าก็ถวายองค์นั้นไป

เรื่องของกฐินก็มีสาระสำคัญอยู่ตรงนี้ คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหาจีวร ทำจีวร แต่แทนที่จะเป็นเรื่องว่าแต่ละองค์ทำให้ตัวเอง ท่านก็ให้มีกิจกรรมของส่วนรวมขึ้นมา ในการที่จะให้พระที่จำพรรษาทั้งวัดมาพร้อมเพรียงกันหาและทำจีวรให้แก่สมาชิกในชุมชนของตน

ตอนที่จะเป็นกฐิน ก็คือตอนที่ว่าพระทั้งหมดที่จำพรรษาด้วยกันในวัดนั้น ตลอดเวลา ๓ เดือนนั้น หาผ้าได้แล้วก็มาประชุมกัน เอาผ้านั้นมาเข้าที่ประชุม ตามระบบการอยู่ร่วมและดำเนินกิจการร่วมกันของสงฆ์ ที่ท่านเรียกว่าสังฆกรรม คือ งานของส่วนรวมกล่าวคือสงฆ์ เมื่อเข้าที่ประชุมแล้วก็มาตกลงกันว่าภิกษุรูปใดในหมู่ของตนนั้นเหมาะสมควรจะได้จีวร อย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่าพิจารณาถึงความสามารถ และความประพฤติ เมื่อดูแล้วเห็นว่าองค์นี้คุณสมบัติอื่นท่านก็มีอยู่แล้ว ยังมีจีวรเก่าที่สุดด้วย ก็เสนอขึ้นมา และเมื่อเห็นชอบ ที่ประชุมก็มีมติตกลงกันว่ามอบจีวรนั้นให้องค์นี้ไป

เมื่อมอบผ้าให้องค์นั้นไปแล้ว องค์ที่ได้รับผ้าจะต้องทำจีวรให้เสร็จในวันเดียวและเอากลับมาแจ้งแก่ที่ประชุมให้ทราบ ตกลงว่าพระองค์เดียวได้รับมอบผ้าจากที่ประชุม ก็ไปทำจีวร แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่องค์เดียวทำโดดเดี่ยวหรอก ให้องค์เดียวทำให้เสร็จก็จริง แต่ในเวลาทำนั้นทุกองค์ต้องมาช่วยกันทำ ท่านบอกว่าพระทุกรูปที่จำพรรษาร่วมกันนั้น ไม่ว่าเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อย พรรษามาก พรรษาน้อย ต้องมาช่วยกันทำจีวรให้พระองค์นี้ คือ ตอนนี้เรารู้แล้วว่า จีวรเป็นของพระองค์นี้ แต่เราก็มาช่วยกันทำ

พอทำเสร็จแล้วก็นำเข้าที่ประชุมอีก พระที่ได้รับมอบผ้านั้นก็แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ตนได้ทำถูกต้อง ครบกระบวนการของการทำผ้ากฐินแล้ว ที่ประชุมก็อนุโมทนา คือแสดงความเห็นชอบ เมื่อที่ประชุมแสดงความเห็นชอบด้วยแล้ว ก็เป็นอันว่าจบกิจหน้าที่ของพระสงฆ์ที่เรียกว่า “กรานกฐิน”

ในที่นี้จะไม่แยกแยะอธิบายว่าทำไมถึงเรียกว่า กฐิน ทำไมถึงเรียกว่ากรานกฐิน เป็นรายละเอียด คงได้ฟังกันมาแล้ว

รวมความก็คือว่า พระองค์ที่ได้รับมอบหมายผ้าจากที่ประชุมไปทำผ้าจีวร และก็ได้รับความช่วยเหลือจากพระในวัดนั้นทุกองค์ จนกระทั่งทำกิจขั้นสุดท้ายเสร็จแล้ว ก็ไปแจ้งต่อที่ประชุมให้ที่ประชุมรับทราบเพื่อขอความเห็นชอบร่วมกัน

เมื่อได้หาผ้าและทำจีวรร่วมกันให้แก่พระองค์หนึ่งอย่างนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าพระองค์เดียวเท่านั้นที่ได้รับผ้ากฐินไป องค์นี้สบาย เรื่องที่ว่ามีเวลาจะหาจีวรทำจีวร ๑ เดือน องค์นี้เสร็จแล้ว แต่องค์อื่นยังไม่เสร็จ องค์ที่ยังไม่เสร็จ อาจจะมัวยุ่งมาช่วยองค์นี้อยู่ เวลาเหลือน้อย แต่ก็เบาใจได้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงวางพุทธบัญญัติเรียกว่า อานิสงส์กฐิน ว่าพระที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม มาทำการกรานกฐินได้อนุโมทนาเสร็จแล้ว ก็ให้ได้รับอานิสงส์ คือสิทธิพิเศษต่างๆ หลายประการ ซึ่งเอื้อต่อการที่จะหาและรวบรวมผ้าทำจีวร รวมทั้งขยายเวลาที่จะหาจะทำจีวรออกไปอีก ๔ เดือน แต่ละองค์ได้สิทธิพิเศษขยายเวลาออกไป แต่ก่อนมีสิทธิแค่ท้ายฤดูฝน คือ ถึงกลางเดือน ๑๒ ก็หมดสิทธิ แต่เพราะมัวไปช่วยเขา ทำเพื่อแสดงความสามัคคี ตอนนี้พอทำเสร็จแล้ว ตัวเองก็ได้สิทธิพิเศษขยายเวลาออกไป นี้คือการให้ความยอมรับและสนับสนุนต่อการที่มาแสดงน้ำใจกันในเรื่องของส่วนรวม

รวมความว่า กฐินเป็นเรื่องของกิจหน้าที่ของพระสงฆ์ที่เป็นส่วนรวม เรียกว่า เป็นการพิสูจน์ความสามัคคีและเป็นการแสดงน้ำใจต่อกัน เป็นการผูกใจกันไว้ ต่อจากนี้ก็จะแยกย้ายกันไป แต่ก่อนจะไปก็ได้แสดงน้ำใจต่อกันไว้อย่างดี มีความพร้อมเพรียง สามัคคีกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< กฐิน: บทฝึกวิถีชีวิตประชาธิปไตย บนฐานแห่งการให้และการร่วมมือ— กฐินขยายผล กลายเป็นกิจกรรมของประชาชน >>

No Comments

Comments are closed.