— ข้อควรพิจารณาบางประการสำหรับกำหนดแนวทางของบทบาท

9 สิงหาคม 2512
เป็นตอนที่ 10 จาก 24 ตอนของ

ข้อควรพิจารณาบางประการสำหรับกำหนดแนวทางของบทบาท

๑. ความขาดแคลนพระสงฆ์ในท้องถิ่นห่างไกล ในชนบท ถึงขนาดชาวบ้านต้องใช้วิธีการคล้ายจ้างพระไปอยู่ นี้เป็นสภาพที่ปรากฏแล้ว บางถิ่นพระที่อยู่ต้องละถิ่นไป เพราะชาวบ้านแร้นแค้น ไม่มีกำลังอุปถัมภ์พระ ความขาดแคลนพระสงฆ์บางแห่งเกิดจากมีผู้บวชน้อย และผู้บวชไม่อยากอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งมีเหตุสืบเนื่องมาจากความไม่มีโอกาสศึกษาและหรือก้าวหน้าในชีวิต

๒. สภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ มีผลกระทบกระเทือนต่อสถาบันสงฆ์ยิ่งขึ้น เช่น

ก. คนบวชเรียนอยู่จำพรรษาน้อยลง เปลี่ยนเป็นบวชระยะสั้น ๗ วัน ๑๕ วัน หรือ ๑ เดือน เหตุเพราะการหาเลี้ยงชีพ เช่น ชาวบ้านจะทำแต่นาอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องทำงานอย่างอื่นด้วย ผู้ทำการค้าก็เร่งรีบหาโอกาสในธุรกิจเพิ่มขึ้น

ข. ในสังคมหมู่บ้านต่างๆ แม้แต่คนเฒ่าชราก็ไปทำบุญ ไปรักษาศีลอยู่วัดน้อยลง เพราะจะต้องเฝ้าบ้าน ในขณะลูกหลานไปทำงานในนาในไร่ ฤดูหยุดพักงานอย่างเดิมไม่มี นาก็อาจต้องทำปีละ ๒ หน หรือต้องเฝ้าบ้านเพราะมีโจรขโมยมาก เป็นต้น

ฉะนั้น สถาบันสงฆ์จะมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตนเองหรือไม่ก็ตาม สภาพการเปลี่ยนแปลงในสังคมก็จะต้องมีผลต่อสถาบันสงฆ์อยู่นั่นเอง

๓. ความสนใจที่พุ่งไปด้านหนึ่งมาก เช่น การเพ่งมองถึงความสนใจของชาวต่างชาติ การเผยแผ่ในต่างประเทศ ฯลฯ อาจทำให้เผลอลืม หรือกลบความสนใจต่อสภาวการณ์ภายในอันเป็นพื้นฐานสำคัญ เช่นสภาพการศึกษาต่ำ ความเป็นอยู่ยากแค้นของพระในชนบท ความขาดแคลนพระสงฆ์ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมองปัญหารอบด้าน และไม่ประมาทเสมอ

๔. ความรู้สึกและความเข้าใจที่ว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองที่สุด และเลยไปถึงว่า การศึกษาทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะต้องเจริญที่สุดด้วยนั้น ยังมีแพร่หลายทั่วไปในชาวต่างประเทศ ทั้งชาวประเทศพระพุทธศาสนาด้วยกัน และชาวยุโรปอเมริกัน ข้อนี้ทำให้เกิดผลความเคลื่อนไหวหลายประการ คือชาวต่างประเทศเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนากันมากขึ้น ทั้งชนิดที่เข้ามาสอบถาม ในเมื่อแวะเยือนเมืองไทย ที่ศึกษาระยะยาว และที่เลื่อมใสหรืออ้างว่าเลื่อมใสบวชเป็นพระก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแง่นี้ ผลอย่างหนึ่งที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว คือความเปลี่ยนแปลงในทัศนคติที่ว่า พระไม่ควรเรียนวิชาการสมัยใหม่ กลายเป็นส่งเสริมเพราะเห็นประโยชน์ที่จะชี้แจงชาวต่างประเทศได้

อีกแง่หนึ่ง ผู้ที่ต้องการมาศึกษาวิจัย ทำปริญญาต่อในขั้นโทและเอก ในสาขาพระพุทธศาสนามีเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องผิดหวังเพราะการศึกษาพระพุทธศาสนาตามระบบสากลในประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นขั้นปริญญาโท-เอก ได้ยังไม่มี แม้แต่ขั้นปริญญาตรี ก็ยังไม่เข้มแข็งแพร่หลายดี1 อาจให้เกิดผลเป็นความด้อยเกียรติลงแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ในด้านหนึ่ง และการที่ฝ่ายไทยต้องเร่งรัดจัดการศึกษาอย่างนี้ให้มีขึ้นจงได้อีกด้านหนึ่ง

อีกแง่หนึ่ง ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพื้นฐานของสังคมไทย อันกำลังเป็นที่สนใจของนักสังคมวิทยาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่ดินแดนแถบนี้มีความสำคัญทางด้านการเมืองมากขึ้นนั้น ขณะนี้นักวิจัยชาวฝรั่งหันมาสนใจทางด้านสถาบันศาสนามากขึ้น เพราะตระหนักว่า พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย จึงปรากฏว่าในระยะ ๑-๒ ปีนี้2 มีฝรั่งเข้ามาทำการศึกษาวิจัยด้านนี้กันมาก และอาจเป็นไปโดยคนส่วนมากไม่ได้สังเกต ขณะนี้มีผู้ที่กำลังศึกษาฐานะและสภาพของสถาบันสงฆ์อยู่อย่างจริงจัง ในไม่ช้าการศึกษาสภาพและฐานะของสถาบันสงฆ์ไทย เช่นตัวเลขและสถิติต่างๆ จะต้องอาศัยฝรั่งท่านเหล่านี้ เหมือนเรื่องของไทยหลายเรื่องที่ต้องอาศัยฝรั่งมาแล้วอีกกระมัง

๕. ในยุคนี้ พระสงฆ์รุ่นใหม่สนใจในการศึกษามาก ความสนใจใคร่ศึกษาเล่าเรียนมีแพร่หลายเช่นเดียวกับในสังคมไทยส่วนรวม พระที่ไปศึกษาต่างประเทศก็มีจำนวนเพิ่มอย่างน่าสังเกต ปัญหาการศึกษาของพระจึงไม่อยู่ที่ ทำอย่างไรจะให้พระรุ่นใหม่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน แต่อยู่ที่ทำอย่างไรจะจัดบริการการศึกษาให้เพียงพอ และทำความต้องการศึกษากับสิ่งที่ต้องการให้ศึกษามาบรรจบกันได้

๖. เสียงตำหนิว่าพระสงฆ์ประพฤติไม่ดีมีมากขึ้น อาจเกิดจากการกระทำของคนไม่ดีส่วนน้อย แต่การสื่อสารที่ทั่วถึงในสมัยปัจจุบันช่วยกระพือความไม่ดีไปได้ง่าย แม้ว่าสภาพทั่วไปที่แท้จริงอาจไม่เสื่อมทรามไปกว่าสมัยก่อนๆ แต่ก็ควรได้รับการพิจารณาเอาใจใส่ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบการปกครองสงฆ์ระดับต่างๆ และการแก้ไขปรับปรุงเพื่อรักษาความดีงามไว้ให้ดีที่สุด

๗. ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระศาสนาและพระสงฆ์ ในความเห็นของบางฝ่ายว่ายังดีอยู่ บางฝ่ายว่าเสื่อมทรามลงน่าวิตก น่าจะเป็นที่สนใจพิจารณาให้รู้ชัดว่า ชนพวกไหนยังศรัทธาดีอยู่ พวกไหนเสื่อมถอย และศรัทธาเป็นไปในแง่ใด ควรพอใจหรือไม่ ปรับปรุงอย่างไร ถ้าศรัทธามีอยู่ในคนรุ่นเก่าที่จะหมดไปๆ อย่างเดียวแล้ว ก็เป็นสภาพที่น่าวิตก ตามที่สังเกต ศรัทธาที่ดีอยู่เป็นของคนรุ่นเก่า ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ห่างเหินไปมีมาก อย่างไรก็ดี การห่างเหินไปนี้ อยู่ในขั้นของความไม่แน่ใจมากกว่าจะเป็นขั้นความคิดเป็นปฏิปักษ์ การดึงคนรุ่นใหม่เหล่านี้กลับเข้ามาจึงยังมีทางทำได้ไม่ยากนัก ถ้าจะทำ3

๘. น่าสังเกตว่า ในปัจจุบันทั้งที่วิทยาการก้าวหน้า แต่ประชาชนส่วนมากกลับศรัทธาเชื่อถือในเรื่องของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นและดูจะมีกิจกรรมด้านนี้เพิ่มขึ้น สนองความต้องการของคนเหล่านั้นมากขึ้นตามกัน ภาวะเช่นนี้น่าจะได้รับการพิจารณาว่า ควรส่งเสริมสนับสนุนหรือไม่เพียงใด เป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ที่จะฝากศาสนาไว้ในความอุปถัมภ์ของความเชื่อถือแบบนี้ มองในแง่หนึ่ง ภาวะความเชื่อถือเช่นนี้ มักเกิดขึ้นในระยะที่บ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนเพราะการรุกราน รบพุ่ง แย่งชิง และเบียดเบียนกัน ประชาชนไม่มีโอกาสใช้ความคิดในเรื่องลึกซึ้ง จึงแสวงหาที่พึ่งที่พอจะเข้ายึดเกี่ยวเกาะไว้ได้ ภาวะนี้จะแสดงความเป็นไปดังกล่าวนั้นหรือไม่

๙. ลักษณะความสนใจและการแสดงบทบาทในพระพุทธศาสนาของคนสมัยปัจจุบันมีหลายแบบ เช่น แบบชอบศึกษาหลักธรรมชั้นสูงในแง่ปรัชญา สำหรับเป็นอาหารของปัญญา นำมาถกเถียงกัน ปลีกตนออกไม่เอาธุระกับสังคมบ้าง แบบบำเพ็ญศีลบำเพ็ญทาน สั่งสมบุญเพื่อชีวิตมีความสุขในชาติหน้าบ้าง แบบศีลธรรมแบบแผนประเพณีบ้าง แบบหาทางนำหลักธรรมชั้นสูงเข้าสู่ชีวิตประจำวันของสังคมบ้าง เป็นต้น ควรพิจารณาว่าแบบใดจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ช่วยสังคมมนุษย์ได้แท้จริง พระพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ ควรจะดำรงอยู่ด้วยท่าทีแบบใด ทุนและกำลังงานที่ได้ใช้ไปแล้ว ได้ทุ่มเทไปในแบบใดมาก และจะเป็นประโยชน์เพียงใด

๑๐. มีข้อสังเกตว่า กิจการทางพระศาสนาที่ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากประชาชนนั้น ส่วนมากได้แก่การก่อสร้างถาวรวัตถุ และปูชนียสถานต่างๆ และที่น่าจะได้รับความสนใจน้อยที่สุดคือการศึกษา สภาพความนิยมนี้น่าจะสืบเนื่องมาจากคติโบราณโดยไม่เจตนา กล่าวคือ ในสมัยโบราณการก่อสร้างเป็นความจำเป็นของถิ่น ซึ่งต้องการทุนและการร่วมกำลังกันมาก ส่วนการศึกษา สมัยโบราณยังไม่มีในรูปองค์การ หรือสถาบัน เป็นภารกิจของพระสงฆ์ที่เป็นอาจารย์ จะพึงสั่งสอนอบรมศิษย์ที่มาอยู่วัดกับตนตามความเหมาะสม เป็นกิจกรรมที่แฝงในวัดทุกวัด โดยไม่ต้องการทุนและการรวมกำลังอะไรเป็นพิเศษ ประชาชนจึงรู้จักการทำบุญ บำรุงศาสนาแต่ในรูปการก่อสร้าง อีกประการหนึ่ง สิ่งก่อสร้างเป็นวัตถุมองเห็นผลปรากฏได้ง่าย และอาจเกี่ยวกับแรงจูงใจด้านอื่น เช่น ชื่อเสียงที่จะได้เป็นต้นด้วย กิจการอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับความใส่ใจบำรุงมากในปัจจุบัน คือ ลัทธิลึกลับต่างๆ ซึ่งเกี่ยวด้วยผลประโยชน์ของผู้อุปถัมภ์นั้นโดยตรง เช่น การรักษาทางเวทมนต์ เครื่องราง เป็นต้น กิจการ ๒ ประเภทนี้ ได้รับความสนใจและอุปถัมภ์ ไม่แต่จากประชาชนเท่านั้น ยังได้จากนักการเมือง และบุคคลชั้นสูง เศรษฐคหบดีด้วย ซึ่งรู้จักพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับที่ศาสนิกของศาสนาอื่นรู้จักศาสนาของเขา และให้ความอุปถัมภ์บำรุง เพราะเพ่งเล็งผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าจะเห็นแก่กิจการพระศาสนา หรือประโยชน์ส่วนรวม ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ที่ถนัดทางด้านทั้งสองนี้ จึงง่ายที่จะปรากฏและมีกำลังสนับสนุน ตรงข้ามกับพระสงฆ์ที่มุ่งการศึกษา มุ่งปริยัติและปฏิบัติธรรม ซึ่งต้องอาศัยความคุ้มครองและกำลังจากพระสงฆ์ประเภทที่กล่าวข้างต้น กลายเป็นเพียงผู้อาศัย แต่ข้อนี้ก็เป็นความจริงสมตามพุทธดำรัส และมีส่วนที่ดีอยู่ คือ ผู้ที่จะทำงานเพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริงจะต้องเป็นผู้มีความเสียสละอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันจำเป็นที่จะรักษาคุณค่าของงานนี้ไว้ได้

๑๑. ข้อน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ ความดำรงอยู่ในด้านวัตถุ อันได้แก่การอุปถัมภ์บำรุงต่างๆ นั้น ส่วนมากพระสงฆ์ได้รับจากประชาชนทั่วๆ ไป ที่มีความนับถือพุทธศาสนาอย่างศาสนาอื่นๆ ในฐานะเป็นสิ่งสนองความต้องการทางพิธีกรรม เครื่องนำบุญมาให้แก่ตน หรือเป็นทางไปสวรรค์ เป็นต้น มักไม่ได้รับจากปัญญาชน ซึ่งคอยเรียกร้องความบริสุทธิ์แห่งการปฏิบัติของพระสงฆ์ และเรียกร้องคำสอนที่ถูกต้องจากศาสนา อย่างไรก็ตาม ปัญญาชนเหล่านี้ ก็ควรอยู่ในความสนใจของนักการศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ในเมื่อคำนึงถึงความมั่นคงของศาสนาในระยะยาว

๑๒. มีข้อควรระวังมากอย่างหนึ่งว่า ในเมื่อความรู้สึกนิยมของประชาชนในการบำรุงศาสนาตามแบบเดิมยังคงอยู่ พร้อมกับที่การมองเห็นความสำคัญของการศาสนศึกษากำลังเกิด และเพิ่มขึ้นนั้น หากผู้ชำนาญในการแสวงหาการอุปถัมภ์บำรุงแบบเดิม หันมาสนใจและเข้ามาเกี่ยวข้องในการศาสนศึกษาขึ้น ถ้าผู้นั้นทำด้วยกุศลเจตนาแท้จริง โดยวิธีสนับสนุนผู้อื่น ที่เข้าใจเรื่องการศึกษาจริงๆ หรือนำบุคคลประเภทนั้นมาร่วมให้รับผิดชอบในงานของตน ก็จะเป็นประโยชน์มาก แต่ตรงข้าม ถ้าการศึกษาเพียงถูกยกขึ้นไว้ในเบื้องหน้า สำหรับการกระทำที่มุ่งผลประโยชน์อย่างอื่น โดยไม่คำนึงถึงความหมายที่แท้จริง และปราศจากความรับผิดชอบพร้อมทั้งความรู้แท้จริงในการศึกษานั้น การกระทำนั้นก็คงจะได้รับความสนับสนุนอย่างดี แต่จะกลับเป็นการทำลายคุณค่าและความมั่นคงของการศาสนศึกษา ลงในภายหลัง

๑๓. ปัจจุบัน มักปรากฏข่าวว่า มีชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะฝรั่งมาสนใจพุทธศาสนาบ้าง เลื่อมใสขอบวชบ้าง มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศตะวันตกหลายๆ แห่งบ้าง ทำให้ผู้หนักในศรัทธาจริตตื่นเต้นยินดีกันมาก ซึ่งความจริงก็ควรแก่การยินดี เพราะสิ่งที่เราเคารพนับถือ มีผู้รู้จักและมองเห็นคุณค่ามากขึ้น มีคนรู้จักของดีมากขึ้น และอาจใช้เป็นเครื่องประกอบ สำหรับยืนยันคุณลักษณะของพระพุทธศาสนาได้อย่างหนึ่ง แต่กระนั้นก็ควรมีการเหนี่ยวรั้งความคิดเพื่อป้องกันความเพลินหลงตัวเอง และความประมาทไว้บ้าง โดยพิจารณาจำนวนของผู้มาสนใจเลื่อมใส เทียบกับจำนวนประชาชนทั่วไป ลักษณะของความสนใจตลอดถึงฐานะและประเภทของผู้ที่มาสนใจเลื่อมใส และข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ พวกชาวต่างประเทศด้วยกันนั่นเอง ฝ่ายที่ตำหนิติเตียนพระพุทธศาสนา ก็น่าจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษว่ามีที่ใดบ้าง เขาตำหนิติเตียนเข้าใจผิดว่าอย่างไร เพื่อจะได้หาทางป้องกันแก้ไข เพราะความจริงคนพวกนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะพวกที่เข้าใจผิด นำไปเขียนในตำราและเอกสารต่างๆ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจผิดกว้างขวางออกไปนั้น มีอยู่จำนวนมาก ที่ถึงปรากฏอื้อฉาวในเมืองไทยดังที่เคยทราบกันก็มี แต่ส่วนที่ไม่เกิดกรณีอื้อฉาวอย่างนั้น จึงไม่รู้และไม่สนใจกันยังมีอีกมาก โดยเฉพาะสถาบันสงฆ์เองแทบจะไม่ได้มีส่วนรับรู้เอาเลย นอกจากนั้น วิธีที่เราปฏิบัติต่อรายที่อื้อฉาวนั้น ยังเป็นไปในแบบการปัดออกไปจากความรับรู้เสียเลย มากกว่าจะเป็นวิธีแก้ไขชี้แจงให้ความจริงความถูกต้องปรากฏ หากเป็นอยู่ในรูปนี้นานไป จะกลายเป็นทำนองการปิดตาตัวเอง ทั้งที่ผู้อื่นเขาหาช่องทำลายเราไว้ได้เป็นอันมาก จะมีทางสูญเสียไม่พอที่ได้หรือได้ไม่ถึงที่ควร ในกรณีนี้การคอยติคอยเตือนคอยบอกกันเองไว้บ้าง จะดีกว่านอนรอคอยภัยที่ไม่รู้สึกตัวจากภายนอก อย่างไรก็ดี อาจเป็นด้วยหลักธรรมในศาสนาของเราเป็นของจริงแท้ เหมือนทองแท้ถึงฝังจมดินอยู่ไม่มีประโยชน์แก่คนใช้ ก็ยังคงเป็นทองอยู่ จึงทำให้เราพอใจที่จะรักษาความประมาทกันไว้ได้นานๆ

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ฐานะและสภาพปัจจุบันของสถาบันสงฆ์— ข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาทในปัจจุบัน >>

เชิงอรรถ

  1. มหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่งพึ่งได้รับฐานะเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ ใน พ.ศ. ๒๕๑๒ และพึ่งมี พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะขั้นปริญญาตรีใน พ.ศ. ๒๕๒๗
  2. ถึงบัดนี้ คือ เกือบ ๒๐ ปี
  3. ในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา นับแต่เขียนถึงบัดนี้ ได้เกิดมีสำนักเผยแพร่ใหม่ๆ ที่สามารถดึงดูดความสนใจของคนสมัยใหม่จำนวนมาก แต่ก็ได้เกิดมีปัญหาใหม่ๆ คือ บางสำนักตั้งตัวแข็งขืนต่อสถาบันสงฆ์ และมีความขัดแย้งด้านทิฏฐิระหว่างสำนักต่างๆ เด่นชัดมาก

No Comments

Comments are closed.