ข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์แห่งยุคอุตสาหกรรม

9 มีนาคม 2531
เป็นตอนที่ 3 จาก 6 ตอนของ

๔. ขาดความชัดเจนเกี่ยวกับความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์

เท่าที่พูดมาในตอนนี้ให้เห็นว่า เศรษฐศาสตร์มีความสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ ที่มีผลย้อนกลับมาหาเศรษฐกิจอีก ซึ่งโดยมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่าต่างๆ ก็เลยเข้ามาสู่ปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่ง คือปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์

ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญมากในศาสตรวิทยาทุกแขนงเลยทีเดียว

เราจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์นี้เป็นฐานก่อน ถ้าเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ผิดพลาดแล้ว วิทยาการนั้นๆ จะไม่สามารถเข้าถึงความจริงโดยสมบูรณ์ และจะไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้จริงด้วย

ในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์นี้ เศรษฐศาสตร์เข้าใจอย่างไร และพุทธศาสนาหรือพุทธเศรษฐศาสตร์เข้าใจอย่างไร

ได้บอกแล้วว่า เศรษฐศาสตร์นั้นมองถึงธรรมชาติของความต้องการของมนุษย์ แต่มองความต้องการของมนุษย์นั้นเพียงด้านเดียว โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของความต้องการ

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องถามว่า คุณภาพของความต้องการของมนุษย์นั้นเป็นธรรมชาติหรือไม่ ถ้ามันเป็นธรรมชาติก็แสดงว่าเศรษฐศาสตร์ไม่ยอมพิจารณาความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติทั้งหมด ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราจะมีเศรษฐศาสตร์ที่สมบูรณ์ได้อย่างไร และจะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้โดยสมบูรณ์อย่างไร

เศรษฐศาสตร์อาจจะแก้ตัวออกไปได้ว่า เราก็เป็นสเปชเชียลไลเซชั่น มีความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านหนึ่ง จะต้องไปร่วมมือกับวิทยาการอื่นๆ ในด้านที่ตัวเรานั้นเกี่ยวข้องต่อไป ถ้ายอมรับอย่างนี้ก็พอไปได้ แต่อาจจะช้าไป หรือเข้าแง่เข้ามุมไม่ถนัด

ก. ความต้องการ

ทีนี้ มาพูดกันถึงเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ในแง่ความต้องการก่อน

ในแง่ความต้องการของมนุษย์นั้น อย่างน้อยเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่นี้ก็มีความเข้าใจตรงกับพุทธศาสนาที่ว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่จำกัด มนุษย์มี unlimited wants เราบอกว่า ความต้องการของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด

ในพุทธศาสนานั้น มีพุทธภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย เช่นว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี

เพราะว่าแม่น้ำนั้น บางโอกาส บางเวลา มันยังมีเวลาเต็มได้ แต่ความต้องการของมนุษย์ไม่มีวันเต็ม

บางแห่งบอกว่า ถึงแม้เงินตราจะตกลงมาเป็นห่าฝน ความอิ่มในกามทั้งหลายของมนุษย์ก็ไม่มี หรือบางแห่งท่านบอกว่า ถึงจะเนรมิตภูเขาให้เป็นทองทั้งลูก ก็ไม่สามารถจะทำให้คนแม้แต่คนหนึ่งคนเดียวพึงพอใจได้โดยสมบูรณ์ ไม่เต็มอิ่มของเขา

ฉะนั้น ในทางพุทธศาสนา จึงมีเรื่องพูดมากมายเกี่ยวกับความต้องการที่ไม่จำกัดของมนุษย์

ในที่นี้ อาตมภาพจะเล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง เรามายอมเสียเวลากับนิทานสักนิดหนึ่ง ความจริงนิทานนี้มิใช่เอามาเล่าเฉยๆ มันมีนัยความหมายแฝงอยู่ ก็เอามาเล่าดูซิว่า มันมีความหมายแฝงว่าอย่างไร ท่านเล่าไว้ในชาดกเรื่องหนึ่งว่า

ในอดีตกาลเรียกว่าปฐมกัปป์ทีเดียว มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งพระนามว่าพระเจ้ามันธาตุ (พอดีชื่อมาใกล้กับนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของอังกฤษคนหนึ่งที่ชื่อว่ามัลธัส – Malthus) พระเจ้ามันธาตุนี้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่มาก ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

พระเจ้าจักรพรรดิมันธาตุก็ปรากฏเป็นเรื่องราวในนิทานว่า มีอายุยืนนานเหลือเกิน มีรัตนะ ๗ ประการ ตามแบบแผนของพระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลาย แล้วก็มีฤทธิ์ ๔ ประการ ซึ่งท่านรู้กันจึงไม่ได้บอกไว้ว่าฤทธิ์อะไรบ้าง รวมความว่า เป็นบุคคลที่เรียกว่าอัจฉริยมนุษย์ ไม่มีใครเหมือน มีอะไรพรั่งพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่าง

พระเจ้ามันธาตุนี้มีอายุยืนยาวมาก ได้เป็นเจ้าชายอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี แล้วก็ได้เป็นพระอุปราชอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมาอีก ๘๔,๐๐๐ ปี

พอล่วงมา ๘๔,๐๐๐ ปีแล้ว วันหนึ่งพระเจ้ามันธาตุก็แสดงอาการเบื่อหน่ายให้ปรากฏว่า ทรัพย์สมบัติที่มีมากมายนี้พระองค์ไม่เพียงพอเสียแล้ว

เมื่อพระองค์แสดงอาการให้ปรากฏแล้ว ข้าราชบริพารทั้งหลายก็ทูลถามว่า พระองค์เป็นอย่างไร มีอาการอย่างนี้ไม่สบายพระทัยอะไร พระองค์ก็ตรัสว่า แหม! ความสุขสมบูรณ์หรือสมบัติที่นี่มันน้อยไป มีที่ไหนที่มันดีกว่านี้มั๊ย

ข้าราชบริพารก็กราบทูลว่า ก็สวรรค์ซิ พระเจ้าข้า

พระเจ้ามันธาตุนี้เป็นจักรพรรดิ และมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งใหญ่มากที่ว่า ๔ ประการนั้น และมีจักรรัตนะ เมื่อเขาบอกว่าสวรรค์ดีกว่า ก็ทรงใช้จักรรัตนะนั้น (จักรรัตนะก็คือวงล้อของพระเจ้าจักรพรรดิ) พาให้พระองค์ขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช

มหาราชทั้ง ๔ พระองค์ก็ออกมาต้อนรับ ทูลถามว่า พระองค์มีความต้องการอย่างไร เมื่อรู้ความประสงค์แล้ว ก็เชิญเสด็จให้เข้าครองราชสมบัติในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชทั้งหมด

พระเจ้ามันธาตุครองราชสมบัติอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชเป็นเวลายาวนานมาก จนกระทั่งต่อมาวันหนึ่งก็แสดงอาการเบื่อหน่ายให้ปรากฏอีก แสดงว่าไม่พอเสียแล้ว สมบัติในชั้นนี้ไม่มีความสุขเพียงพอ ข้าราชบริพารก็ทูลถาม พระองค์ก็บอกให้ทราบและตรัสถามว่า มีที่ไหนดีกว่านี้อีกไหม

ข้าราชบริพารก็ทูลตอบว่า มีซิพะย่ะค่ะ ก็สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไงล่ะ

พระเจ้ามันธาตุก็เลยอาศัยจักรรัตนะหรือวงล้อของพระเจ้าจักรพรรดินั้น ขึ้นไปอีกถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นพระอินทร์ครอบครอง พระอินทร์ก็ออกมาต้อนรับเชิญเสด็จ แล้วก็แบ่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ให้ครอบครองครึ่งหนึ่ง

พระเจ้ามันธาตุครอบครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ร่วมกับพระอินทร์คนละครึ่ง ต่อมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งพระอินทร์องค์นั้นหมดอายุสิ้นไป พระอินทร์องค์ใหม่ก็เกิดมาแทนและครองราชย์ไปจนสิ้นอายุอีก พระอินทร์ครอบครองราชสมบัติสิ้นอายุไปอย่างนี้ ๓๖ องค์ พระเจ้ามันธาตุก็ยังครองราชย์อยู่ในสวรรค์

มาถึงตอนนี้พระเจ้ามันธาตุชักไม่พอใจ เอ! สวรรค์ครึ่งเดียวนี่มันน้อยไป เราน่าจะครองสวรรค์ทั้งหมด ก็เลยคิดจะฆ่าพระอินทร์เสียเลย แต่มนุษย์นั้นฆ่าพระอินทร์ไม่ได้ เพราะมนุษย์ฆ่าเทวดาไม่สำเร็จ

เมื่อความอยากนี้ไม่ได้รับการตอบสนอง ความอยากหรือตัณหาของพระเจ้ามันธาตุนั้น ท่านบอกว่ามีรากเน่า ตัณหารากเน่าเสียแล้ว ไม่ได้สมประสงค์ ไม่ได้ความพึงพอใจ พระเจ้ามันธาตุก็เลยแก่ พอแก่แล้วก็เลยตาย ตกจากสวรรค์ หล่นตุ้บลงมาในสวน ท่านบอกว่าอย่างนั้น คือหมายถึงสวนหลวง

เป็นอันว่า พระเจ้ามันธาตุก็ตกจากสวรรค์หล่นลงมาในสวน คนสวนมาพบเข้า ก็เลยไปกราบทูลพระญาติวงศ์ทั้งหลาย (ไม่รู้ว่าเหลนโหลนรุ่นไหน) มากันพร้อมหน้า แล้วก็ทำพระแท่นที่ประทับบรรทมให้ พระเจ้ามันธาตุก็เลยสวรรคตในสวนนั้นเอง

แต่ก่อนจะสวรรคต พระญาติวงศ์ก็ถามว่า พระองค์มีพระราชดำริอะไรจะฝากฝังสั่งเสียไหม

พระเจ้ามันธาตุก็ประกาศความยิ่งใหญ่ว่า เรานี่นะเป็นจักรพรรดิยิ่งใหญ่ ได้ครองราชสมบัติในมนุษย์นานเท่านั้น ได้ขึ้นไปครองสวรรค์ชั้นจาตุมเท่านั้น และได้ไปครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อีกครึ่งหนึ่งเป็นเวลาเท่านั้น แต่ยังได้ไม่เต็มตามต้องการก็ตายเสียแล้ว ก็เลยจบ

เรื่องพระเจ้ามันธาตุก็จบเท่านี้ เอาละ นี่เป็นการเล่านิทานให้ฟังว่า ในเรื่องความต้องการของมนุษย์นั้น พุทธศาสนาเห็นตรงกับเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่งว่า มนุษย์มีความต้องการไม่จำกัดหรือไม่สิ้นสุด

แต่ไม่เท่านี้ พุทธศาสนาไม่จบเท่านี้ พุทธศาสนาพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ อย่างน้อยที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์จะพึงเข้าใจ ๒ ประการ

ประการที่หนึ่ง คือ ความต้องการนี้ ตามหลักพุทธศาสนา ในแง่ที่หนึ่งยอมรับว่า มนุษย์มีความต้องการไม่จำกัด แต่นั้นเป็นเพียงความต้องการประเภทที่ ๑

พุทธศาสนาแยกความต้องการเป็น ๒ ประเภท ความต้องการอีกประเภทหนึ่งค่อนข้างจะจำกัด

ความต้องการ ๒ ประเภทนี้ ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ยังหาศัพท์โดยตรงไม่ได้ ความต้องการประเภทที่หนึ่ง ขอเรียกว่า ความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน คือ ตัณหา เป็นความต้องการที่ไม่จำกัด

ส่วนความต้องการประเภทที่ ๒ ขอเรียกว่า ความต้องการคุณภาพชีวิต คือ ฉันทะ เป็นความต้องการที่มีขอบเขตจำกัด

ประการที่สอง ซึ่งสัมพันธ์กับหลักความต้องการ คือ พุทธศาสนาถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ และการที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้นี้ ก็สัมพันธ์กับความต้องการคุณภาพชีวิต กล่าวคือ

การที่มนุษย์ต้องการคุณภาพชีวิตนั้น เป็นการแสดงถึงภาวะที่มนุษย์ต้องการพัฒนาตนเอง หรือพัฒนาศักยภาพของตนเองขึ้นไป

เพราะฉะนั้น สาระอย่างหนึ่งของการพัฒนามนุษย์ก็คือ การที่เราจะต้องพยายามหันเห หรือปรับเปลี่ยนความต้องการจากความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน มาเป็นความต้องการคุณภาพชีวิต

นี้เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ ซึ่งก็มาสัมพันธ์กับเรื่องความต้องการ

เป็นอันว่า พุทธศาสนาถือว่า ความต้องการ มี ๒ ประเภท คือ

๑. ความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน ที่ไม่มีขีดจำกัด และ

๒. ความต้องการคุณภาพชีวิต ที่มีขอบเขตจำกัด

ความต้องการ ๒ อย่างของมนุษย์นั้น มักจะมีปัญหาขัดแย้งกันเองบ่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่นว่า เราจะกินอาหาร เราย่อมมีความต้องการ ๒ ประเภทนี้ซ้อนกันอยู่

แต่ในมนุษย์ทั่วไปนั้น ความต้องการคุณภาพชีวิตอาจจะมีโดยไม่ตระหนัก มนุษย์มักตระหนักรู้ตัวแต่ความต้องการประเภทที่ ๑

ความจริงนั้น ความต้องการที่เป็นสาระ คือต้องการคุณภาพชีวิต มนุษย์ต้องการกินอาหารเพื่ออะไร เพื่อจะหล่อเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรง ให้มีสุขภาพดี อันนี้แน่นอน

แต่อีกด้านหนึ่งที่ปรากฏแก่มนุษย์คืออะไร มนุษย์ต้องการเสพรสอาหาร ต้องการความอร่อย ต้องการอาหารที่ดีๆ ในแง่ของความเอร็ดอร่อย หรือโก้ และความต้องการนี้อาจจะขัดแย้งกับความต้องการคุณภาพชีวิต คือมันอาจจะกลับมาทำลายคุณภาพชีวิตด้วย

ความต้องการเสพรสนี้จะทำให้เราแสวงหาอาหารที่มีรสชาดดีที่สุด แล้วอาจจะมีการปรุงแต่งรสอาหาร ซึ่งสิ่งที่ปรุงแต่งกลิ่น สี และรสของอาหารนั้น อาจจะเป็นโทษต่อร่างกาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เสียคุณภาพชีวิต

อีกประการหนึ่ง คนที่กินเอาแต่ความอร่อย ก็อาจจะกินโดยไม่มีประมาณ กินเกินไป กินจนกระทั่งท้องอืดไม่ย่อย หรืออาจจะอย่างน้อยทำให้อ้วนเกินไป ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีก กับทั้งทำให้แพงโดยใช่เหตุ

อาหารที่ให้คุณภาพชีวิต อำนวยคุณค่าที่ชีวิตต้องการนั้น อาจจะหาได้ในราคาเพียง ๒๐ บาท แต่คนที่กินเพื่อเสพรสอร่อย เสริมความโก้ จะต้องวิ่งไล่ตามตัณหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ราคาอาหารเพื่อจะสนองความต้องการประเภทที่ ๑ ที่ว่าสนองความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน อาจจะร้อยบาท พันบาท ค่าอาหารมื้อเดียวเป็นหมื่นบาทยังเคยได้ยินเลย

เพราะฉะนั้น ความต้องการประเภทที่ ๒ กับประเภทที่ ๑ บางทีก็ขัดกัน และขัดกันบ่อยๆ ด้วย

ถ้ามนุษย์สนองความต้องการประเภทสิ่งเสพปรนเปรอตนนี้มาก ก็จะทำลายคุณภาพชีวิตไปเรื่อย

ไม่เฉพาะในการบริโภคอาหารเท่านั้น ในกิจกรรมของมนุษย์ทุกอย่าง แม้แต่การใช้เทคโนโลยีก็เหมือนกัน จะต้องแยกให้ได้ว่าอันไหนเป็นความต้องการคุณภาพชีวิต อันไหนเป็นความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน และเอาสองด้านนี้มาพิจารณา

หลักเรื่องความต้องการ ๒ อย่างนี้ นำต่อไปสู่เรื่องคุณค่า เพราะความต้องการทำให้เกิดคุณค่า

ในเมื่อความต้องการมี ๒ อย่าง คุณค่าก็เกิดขึ้นเป็น ๒ อย่างเช่นเดียวกัน จะแยกเป็น

๑. คุณค่าแท้ คือคุณค่าที่สนองความต้องการคุณภาพชีวิต

๒. คุณค่าเทียม คือคุณค่าเพื่อสนองความอยากเสพสิ่งปรนเปรอตน

ถ้าเราจะมีจะใช้อะไรสักอย่างหนึ่ง สิ่งนั้นอาจจะมีคุณค่าที่แท้แก่เราส่วนหนึ่ง แต่มักจะมีคุณค่าเทียม ที่เกิดจากตัณหาและมานะ เพื่อให้ได้อร่อย เพื่อให้ได้โก้เก๋ เพื่อแสดงความมีฐานะ ตลอดจนค่านิยมทางสังคมอะไรต่ออะไรพรั่งพรูเข้ามา จนกลบคุณค่าแท้นั้น

ข. การบริโภค

จะพูดต่อไปถึงเรื่องการบริโภค ซึ่งก็เช่นเดียวกัน ต้องแยกว่า เป็นการบริโภคเพื่อสนองความต้องการแบบไหน

– บริโภคเพื่อสนองความต้องการคุณค่าแท้ หรือ

– บริโภคเพื่อเสพคุณค่าเทียม

การบริโภคนี้เป็นจุดยอดของเศรษฐศาสตร์ก็ว่าได้ คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์นั้น จุดยอดอยู่ที่การบริโภค

เราเข้าใจความหมายของการบริโภคว่าอย่างไร เศรษฐศาสตร์แบบยุคอุตสาหกรรม กับเศรษฐศาสตร์แบบพุทธ จะให้ความหมายของการบริโภคไม่เหมือนกัน

การบริโภคเป็นการบำบัดหรือสนองความต้องการ อันนี้แน่นอน เราอาจจะพูดในแง่ เศรษฐศาสตร์แบบยุคอุตสาหกรรม ว่า

การบริโภค คือ การใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการ เพื่อให้เกิดความพอใจ

นี่คือคำจำกัดความของเศรษฐศาสตร์แบบยุคอุตสาหกรรม บำบัดความต้องการเพื่อให้ได้รับความพึงพอใจ แล้วก็จบ

ทีนี้ขอให้มาดูอีกแบบหนึ่ง คือ เศรษฐศาสตร์แบบพุทธ บอกว่า

การบริโภค คือ การใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการ เพื่อให้ได้รับความพอใจโดยเกิดคุณภาพชีวิตขึ้น

หมายความว่า การบริโภคจะต้องมีจุดหมาย คือจะต้องระบุให้ชัดลงไปว่าได้ผลหรือบรรลุจุดมุ่งหมายอะไร จึงเกิดความพึงพอใจ ไม่ใช่แค่เกิดความพอใจขึ้นมาลอยๆ บนจุดหมายที่แอบแฝง

เศรษฐศาสตร์แบบยุคอุตสาหกรรมบอกว่า ต้องการแล้วก็บริโภค แล้วเกิดความพึงพอใจ ก็จบ ไม่ต้องคำนึงว่าต้องการแบบไหน และว่าหลังจากนั้นมันจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น จะบริโภคอะไรก็ได้ ให้เราพอใจก็แล้วกัน มันจะเสียคุณภาพชีวิตหรือไม่เสีย ไม่คำนึง

แต่พุทธศาสนาบอกว่า จะบำบัดความต้องการเพื่อให้ได้รับความพึงพอใจก็ถูกต้อง แต่ได้รับความพึงพอใจโดยมองเห็นผลตามมาที่จะเกิดคุณภาพชีวิต ฉะนั้น การบริโภคจึงต้องมีความมุ่งหมายว่าเพื่อให้ได้คุณภาพชีวิต นี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่ต่างกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ข้อคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แนวพุทธลักษณะสำคัญของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ >>

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.