ข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์แห่งยุคอุตสาหกรรม

9 มีนาคม 2531
เป็นตอนที่ 3 จาก 6 ตอนของ

ค. งาน และการทำงาน

เมื่อต่างกันในธรรมชาติของเรื่องเหล่านี้ คือ เรื่องความต้องการ เรื่องคุณภาพของความต้องการ เรื่องคุณค่า เรื่องการบริโภคแล้ว มันก็ต่างกันแม้กระทั่งในเรื่องธรรมชาติของงาน

ความหมายของงานในแง่ของเศรษฐศาสตร์ กับพุทธเศรษฐศาสตร์ต่างกันอย่างไร โดยสัมพันธ์กับความต้องการสองอย่างนั้น

แบบที่ ๑ ถ้าทำงานด้วยความต้องการคุณภาพชีวิต (รวมทั้งต้องการพัฒนาตนหรือพัฒนาศักยภาพของมนุษย์) ผลได้จากการทำงานตรงกับความต้องการทันที เพราะฉะนั้น การทำงานจึงเป็นความพึงพอใจ

แบบที่ ๒ ถ้าทำงานด้วยความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน ผลได้จากการทำงานไม่ใช่ผลที่ต้องการ แต่เป็นเงื่อนไขเพื่อให้ได้ผลอย่างอื่นที่ต้องการ เพราะฉะนั้น การทำงานจึงเป็นความจำใจ

ความหมายของงานเป็นคนละอย่าง เมื่อกี้การทำงานเป็นความพอใจ แต่เดี๋ยวนี้การทำงานเป็นความจำใจ

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตะวันตกนั้น มาจากฐานความคิดที่ถือว่า work คือการทำงาน เป็นเรื่องจำใจ เราทำงานคือ work ด้วยความลำบากเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้ได้เงินมาซื้อหาสิ่งเสพบริโภค เราจึงต้องมีเวลาเหลือที่จะมี leisure หาความสุขสำราญยามพักผ่อนจากงาน แล้วก็ได้รับความพึงพอใจ ฉะนั้น งานกับความพึงพอใจจึงเป็นคนละเรื่องกัน อยู่ต่างหาก เป็นฝ่ายตรงข้ามกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐศาสตร์แบบยุคอุตสาหกรรมจะมอง work เป็น labor ที่ลำบากหนักเหนื่อย ซึ่งนำไปสู่ทัศนคติแบบจำใจจำทำจำทน ที่จะต้องมี leisure มาสลับให้ผ่อนคลาย แต่วัฒนธรรมตะวันตกอีกด้านหนึ่ง ก็ได้ปลูกฝังนิสัยรักงานและความใฝ่รู้ให้แก่ฝรั่งอย่างแน่นลึก

ดังนั้น ฝรั่งจำนวนมากจึงมีความสุขจากการศึกษาค้นคว้าและทำงานอย่างเอาจริงเอาจังอุทิศตัว และฝรั่งพวกหลังนี้แหละ ที่เป็นแกนแห่งพลับขับเคลื่อนของอารยธรรมอย่างแท้จริง1

แต่ถ้าสังคมใดไม่มีวัฒนธรรมที่ใฝ่รู้และรักงานเป็นฐานที่มั่นคง แล้วไปรับเอาความคิดแบบทำงานเพื่อเป็นเงื่อนไขให้ได้ผลตอบแทนมายึดถือปฏิบัติ ก็จะต้องเกิดปัญหามีผลเสียแก่การทำงาน แก่เศรษฐกิจ แก่ชีวิตและสังคมทั้งหมด

ขอยกตัวอย่างการทำงานที่มีลักษณะต่างกันสองแบบนั้น

นาย ก. ทำงานวิจัยเรื่องหนึ่ง สมมุติว่าเรื่องการกำจัดแมลงด้วยวิธีไม่ใช้สารเคมี นาย ก. ทำงานวิจัยเรื่องนี้เพื่อความรู้และการใช้ประโยชน์จากตัวความรู้นี้โดยตรง เขาต้องการความรู้ในเรื่องนี้จริงๆ นาย ก. จะทำงานนี้ด้วยความพอใจ เพราะว่าความรู้และการที่ได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้คือตัวผลที่ต้องการจากการทำงาน

ฉะนั้น ความก้าวหน้าของงานวิจัย และการได้ความรู้เพิ่มขึ้น จึงเป็นความพึงพอใจทุกขณะ เมื่อเขาทำงานไป เขาก็ได้รับความพึงพอใจ เมื่อความรู้เกิดขึ้น มีความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ความพึงพอใจก็ยิ่งเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยไป

นาย ข. ทำงานวิจัยอย่างเดียวกัน คือเรื่องกำจัดแมลงด้วยวิธีไม่ใช้สารเคมี แต่วิจัยเพื่อเงิน เพื่อจะได้เลื่อนขั้น ทีนี้ ผลได้จากงาน คือความรู้และประโยชน์จากการวิจัยนั้น ไม่ใช่ผลที่เขาต้องการโดยตรง แต่จะเป็นเงื่อนไขให้เขาได้เงิน เป็นเงื่อนไขให้เขาได้ผลตอบแทนอย่างอื่นที่เขาต้องการอีกทีหนึ่ง ฉะนั้น ตอนที่เขาทำงานนี้ เขาจะทำงานด้วยความจำใจ ไม่เกิดความสุขจากการทำงาน

เท่าที่ว่ามาในตอนนี้ เป็นเรื่องธรรมชาติของงาน ซึ่งจะเห็นว่า งานในแง่ของพุทธศาสนาที่ทำเพื่อสนองความต้องการคุณภาพชีวิต จะทำให้เกิดความพึงพอใจได้ตลอดเวลา คนสามารถทำงานด้วยความสุข เราจึงเรียกการทำงานประเภทนี้ว่า ทำด้วยฉันทะ

แต่ถ้าทำงานด้วยความต้องการอีกประเภทหนึ่ง คือโดยต้องการค่าตอบแทนหรือสิ่งเสพปรนเปรอตน ก็เรียกว่า ทำงานด้วยตัณหา

ถ้าทำงานด้วยตัณหา ก็ต้องการได้เสพบริโภคหรือผลตอบแทนตามเงื่อนไข แต่เมื่อยังทำงานอยู่ ยังไม่ได้เสพผลนั้น ก็ยังไม่ได้รับความพึงพอใจ จึงทำงานโดยไม่มีความสุขตลอดเวลา

ในเรื่องธรรมชาติของความต้องการ ธรรมชาติของคุณค่า ตลอดมาจนถึงเรื่องของงานนี้ พุทธศาสนายอมรับความจริงทุกขั้นตอน

ความจริงที่ว่า คนทั้งหลายโดยทั่วไปจะต้องมีตัณหาเป็นธรรมดานี้ ก็ยอมรับ แต่ในเวลาเดียวกันก็มองเห็นว่า มนุษย์มีความต้องการคุณภาพชีวิตอยู่ด้วย ซึ่งเป็นความต้องการที่แท้ของชีวิตเอง และในการต้องการคุณภาพชีวิตนี้ เขาก็ต้องการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้นไปด้วย

เพราะฉะนั้น ในการเป็นอยู่ของมนุษย์ แม้ว่ามนุษย์จะมีตัณหา แต่ทำอย่างไรเราจะหันเหความต้องการนี้ให้เบนไปสู่ความต้องการคุณภาพชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วให้การสนองความต้องการคุณภาพชีวิตนั้น เป็นไปเพื่อการพัฒนาตนต่อไป

ความหมายที่เปลี่ยนไปนี้ จะมีผลโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีก แม้แต่คำจำกัดความเกี่ยวกับ wealth หรือโภคทรัพย์ คำจำกัดความเกี่ยวกับสินค้าและบริการ คำจำกัดความเกี่ยวกับเรื่องการแข่งขันและการร่วมมือ เป็นต้น

เมื่อฐานความคิดต่างกันแล้ว มันก็ต่างกันไปหมด

ง. การแข่งขัน-การร่วมมือ

ขอยกมาพูดอีกเรื่องหนึ่งคือ การแข่งขัน และการร่วมมือ

ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ เขาบอกว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมีการแข่งขันกัน

แต่ในทางพุทธศาสนาบอกว่า มนุษย์นั้นมีธรรมชาติทั้งแข่งขันและร่วมมือ ยิ่งกว่านั้นยังอาจจะแยกเป็นว่า มีความร่วมมือแท้และความร่วมมือเทียม

ความร่วมมือเทียมเป็นอย่างไร?

การแข่งขันกันเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเราแข่งขันกันเพื่อสนองความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน เราจะแข่งขันกันเต็มที่ เพราะต่างคนต่างก็อยากได้เข้ามาหาตัวให้มากที่สุด เพราะมันไม่รู้จักพอ มันไม่รู้อิ่ม มันไม่เต็ม ฉะนั้น ถ้าเอาเข้ามาที่ตัวเองได้มากที่สุด คนอื่นไม่ได้เลยก็เป็นการดี จึงต้องแข่งขันเพื่อให้ตนได้มากที่สุด เป็นเรื่องธรรมดา มนุษย์มีธรรมชาติแห่งการแข่งขันกันเพราะเป็นไปตามธรรมชาติของความต้องการในแง่ที่หนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะเอาธรรมชาติของการแข่งขันนั้นมาใช้เป็นแรงจูงใจให้คนร่วมมือกัน เรียกว่าทำให้คนฝ่ายหนึ่งร่วมมือกันเต็มที่เพื่อจะแข่งขันกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยอาศัยการแข่งขันนั้นเองมาทำให้เกิดการร่วมมือกันขึ้น เช่นว่า เราอาจจะยั่วยุ ชักจูงให้ประชาชนมีชาตินิยม รวมหัวกันแอนตี้สินค้าจากต่างประเทศก็ได้ แต่ฐานของมันก็คือการแข่งขันทั้งสิ้น

การนำเอาการแข่งขันมายั่วยุทำให้เกิดการร่วมมือกันในระดับหนึ่งอย่างนี้ เรียกว่าความร่วมมือเทียม

อีกอย่างหนึ่งคือความร่วมมือแท้ ความร่วมมือแท้ก็คือ การร่วมมือกันในความพยายามที่จะสนองความต้องการคุณภาพชีวิต

เมื่อต้องการคุณภาพชีวิตนั้น มนุษย์สามารถร่วมมือกันได้ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาของมนุษย์เอง ฉะนั้น ธรรมชาติของมนุษย์นี้จึงมีทางที่จะฝึกให้ร่วมมือกันได้ และการฝึกฝนพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่ง ก็คือ การที่จะหันเหให้มนุษย์เปลี่ยนจากการแข่งขันกันมาร่วมมือกันในการที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์

เป็นอันว่า เพื่อคุณค่าแท้ มนุษย์ก็สามารถร่วมมือกันได้ แต่เพื่อคุณค่าเทียม มนุษย์จะแข่งขันกัน (รวมทั้งร่วมมือเทียม) อย่างสุดชีวิตจิตใจ เพื่อช่วงชิงตำแหน่งหรือล่าผลประโยชน์

นี่ก็เป็นเรื่องราวต่างๆ ที่ขอยกมาเพื่อเป็นตัวอย่างแสดงถึงความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะก็คือธรรมชาติของความต้องการ

จ. สันโดษ-ค่านิยมบริโภค

จะขอแทรกเรื่องหนึ่งเข้ามา ซึ่งไม่ตรงกับประเด็นที่กำลังพูดโดยตรง แต่สัมพันธ์กัน กล่าวคือ เราเคยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสันโดษ ก็จึงอยากจะยกมาพูดในที่นี้ด้วย

ความสันโดษนี้ ก็เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพชีวิต เกี่ยวกับเรื่องความต้องการของมนุษย์ ที่แยกเป็นความต้องการประเภทที่ ๑ และความต้องการประเภทที่ ๒

ตามธรรมดาที่เราเห็นกันง่ายๆ ก็คือ ถ้าคนใดสันโดษ ความต้องการของเขาก็น้อยกว่าคนไม่สันโดษ อันนี้เป็นธรรมดาแท้ๆ

แต่ในกรณีที่ถูกต้อง ความสันโดษ ก็คือไม่มีความต้องการเทียม ไม่เห็นแก่ความต้องการประเภทเสพสิ่งปรนเปรอตน แต่มีความต้องการคุณภาพชีวิต

การที่เราเข้าใจความหมายของสันโดษผิดพลาด ก็เพราะไม่ได้แยกเรื่องความต้องการ คนที่มีความสันโดษนั้น ยังต้องมีความต้องการคุณภาพชีวิตด้วย จึงจะเป็นความหมายที่ถูกต้อง

จุดที่พลาดก็คือ เมื่อไม่รู้จักแยกประเภทความต้องการ ก็เลยพูดคลุมปฏิเสธความต้องการไปเลย คนสันโดษก็เลยกลายเป็นคนที่ไม่ต้องการอะไร อันนี้เป็นความผิดพลาดขั้นที่หนึ่ง

ที่จริงแล้ว ความต้องการคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม ยังนำไปสู่อีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าความขาดแคลนแท้-ความขาดแคลนเทียม แต่อันนี้เดี๋ยวจะมากไป ขอผ่านไปก่อน

หันกลับมาเรื่องความสันโดษ เรามีความเชื่อกันว่า คนไทยสันโดษ แต่มีงานวิจัยแสดงผลออกมาว่า คนไทยมีค่านิยมบริโภคมาก เคยสังเกตหรือไม่ว่า สองอย่างนี้มันไปกันไม่ได้ มันขัดแย้งกันในตัว เราเคยจับมาเข้าคู่เทียบกันหรือเปล่า

มีความเชื่อว่าคนไทยนี้สันโดษ แต่พร้อมกันนั้นก็มีผลงานวิจัยออกมาว่าคนไทยมีค่านิยมบริโภคมาก ถ้าคนไทยสันโดษ คนไทยจะไม่สามารถมีค่านิยมบริโภค ถ้าคนไทยมีค่านิยมบริโภค คนไทยจะไม่สามารถสันโดษ ฉะนั้น จะต้องผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่ที่เราพูดได้อย่างหนึ่งก็คือ มีคำติเตียนว่า คนไทยสันโดษ ทำให้ไม่กระตือรือร้น ไม่ขวนขวาย ไม่ดิ้นรน ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา อันนี้ขอเรียกว่าเป็นคำกล่าวหา

ทีนี้ก็มีคำพูดอีกด้านหนึ่งว่า คนไทยมีค่านิยมบริโภค คนไทยไม่ชอบผลิต ก็ขัดขวางการพัฒนาเช่นเดียวกัน

ตกลงว่า มองแง่หนึ่งคนไทยสันโดษ ก็ขัดขวางการพัฒนา อีกแง่หนึ่ง คนไทยมีค่านิยมบริโภค ก็ขัดขวางการพัฒนา

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ การที่เร้าความต้องการให้ชอบบริโภคมาก (ที่ใด) ไม่จำเป็นจะต้องทำให้เกิดการผลิตมาก (ที่นั่น)

ฉะนั้น การที่มีความเชื่อกันในช่วงหนึ่งว่า จะต้องเร้าความต้องการให้คนอยากบริโภคให้มาก จึงจะทำให้คนพัฒนาประเทศชาติได้สำเร็จ แล้วปลุกเร้าตัณหากันใหญ่ จึงกลายเป็นให้ผลที่กลับตรงข้ามคือ คนไทยมีค่านิยมบริโภคมาก โดยไม่ชอบผลิต เลยกลับทำให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาประเทศชาติหนักลงไปอีก เพราะมีอะไรก็จะกินจะใช้จะซื้อจะหาท่าเดียว แต่ไม่รู้จักทำ

ประเทศอื่นเจริญอย่างไรๆ เขามีอะไรใช้อย่างไร เราก็อยากจะมีจะใช้บ้าง แล้วก็ภูมิใจที่มีที่ใช้อย่างเขา แต่ไม่ภูมิใจที่จะทำให้ได้อย่างเขา นี่แหละคือค่านิยมที่ขัดขวางการพัฒนาเป็นอย่างมาก มันเป็นเครื่องส่อแสดงว่า การเร้าความต้องการโดยไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ให้ถูกต้องนั้น จะไม่นำไปสู่ผลที่ต้องการอย่างแท้จริง

การที่เราเร้าค่านิยมบริโภค ต้องการให้คนบริโภคมาก ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดการผลิตขึ้น แต่จะทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อ การกู้หนี้ยืมสิน ทุจริต เพื่อการบริโภคได้มาก เป็นการพัฒนาที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง

เป็นไปได้ไหมว่า คนไทย (สมัยหนึ่ง) อาจจะสันโดษจริง และคนไทย (อีกสมัยหนึ่ง) ก็มีค่านิยมบริโภคมากจริง โดยที่คนไทยเปลี่ยนนิสัย เคลื่อนจากความสันโดษมาสู่การมีค่านิยมบริโภค

ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็หมายความว่า การนำเอาระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศไทย หรือการนำเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้น ได้นำมาใช้อย่างผิดพลาด ทำให้เกิดผลเสีย

ที่แท้นั้น ถ้าคนไทยมีความสันโดษจริง มันก็เป็นโอกาสว่า เราสามารถใช้สันโดษนั้นเป็นฐาน แล้วส่งเสริมให้เกิดการผลิตขึ้น คือเดินหน้าจากความสันโดษนั้นมาต่อเข้ากับการผลิต

เหมือนอย่างประเทศตะวันตกเมื่อเริ่มยุคอุตสาหกรรมใหม่ๆ ก็เริ่มความเจริญทางอุตสาหกรรมด้วย work ethic ที่เรียกกันว่า Protestant ethic

ระบบจริยธรรมโปรเตสแตนต์นี้สอนฝรั่งให้รักงาน มีความเป็นอยู่แบบสันโดษ ให้ประหยัด ให้เป็นอยู่อย่างมัธยัสถ์ ใช้จ่ายเขียมที่สุด ไม่หาความเพลิดเพลินสุขสำราญ หรือฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เมื่อมีรายได้ ก็เก็บออมไว้ เพื่อเอาเงินที่เก็บออมไว้มาลงทุนต่อไป เพื่อจะได้ผลิตให้มากขึ้น

ฉะนั้น คนในยุคที่เรียกว่าปฏิวัติอุตสาหกรรมในตะวันตกนั้น จะมีความเป็นอยู่อย่างสันโดษ แต่มีความต้องการในการผลิตมาก ก็จึงหันเหแรงงานของตัวเอง แทนที่จะใช้ในการบริโภค ก็เอามาใช้ในการผลิต เพื่อสร้างสรรค์พัฒนาให้เกิดความเจริญทางอุตสาหกรรม

โดยนัยนี้ ก็หมายความว่า เรามีทุนดีอยู่แล้วส่วนหนึ่ง คือคนของเรามีความสันโดษ ไม่ชอบฟุ้งเฟ้อ ไม่เห่อในการบริโภค รู้จักประหยัด ใช้น้อย เราก็ปลุกเร้าความต้องการอีกด้านหนึ่งเติมหรือผนวกเข้ามา คือสร้างนิสัยรักงาน และความอยากทำ ให้สำเร็จขึ้นมา ก็จะทำให้เกิดการผลิตขึ้นได้ ทำให้บรรลุผลคือความเจริญทางอุตสาหกรรม

แต่ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของคนผิด แล้วใช้ระบบเศรษฐกิจนี้อย่างผิดพลาด ก็มาเร้าความต้องการบริโภค ให้คนเกิดค่านิยมบริโภคขึ้น ความสันโดษที่มีอยู่เดิมก็หายไป และการผลิตก็ไม่เกิดขึ้น ก็เลยทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยอย่างเดียว พัฒนาเศรษฐกิจไม่สำเร็จ

ฉะนั้น สันโดษนั้นถ้าเข้าใจให้ถูกต้องก็คือว่า มันตัดความต้องการประเภทที่ ๑ คือ ความต้องการคุณค่าเทียม ตัดความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน แต่กลับมีความต้องการคุณภาพชีวิต ซึ่งจะต้องหนุนเสริมขึ้นไป

ในทางพุทธศาสนานั้น สันโดษจะต้องมาคู่กับความเพียรเสมอไป สันโดษเพื่ออะไร เพื่อจะได้ประหยัดแรงงานและเวลาที่จะสูญเสียไปในการที่จะปรนเปรอตน แล้วเอาแรงงานและเวลานั้นไปใช้ในการทำงานปฏิบัติหน้าที่ สันโดษมีความมุ่งหมายอย่างนี้

นี่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์

ฉ. การผลิต

ที่จริงมีเรื่องจะต้องพูดอีกมากเกี่ยวกับการผลิต การผลิตนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ การพิจารณาเรื่องนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป็นการพิจารณาธรรมชาติทั้งหมดในวงกว้าง

ในทางเศรษฐศาสตร์ การผลิต เป็นคำพูดที่ลวงตาและลวงสมอง ในการผลิต เราคิดว่าเราทำอะไรให้เกิดขึ้นใหม่ แต่แท้ที่จริงนั้นมันเป็นการแปรสภาพ คือแปรสภาพอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง จากวัตถุอย่างหนึ่งไปเป็นวัตถุอีกอย่างหนึ่ง จากแรงงานอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง

การแปรสภาพนี้ เป็นการทำให้เกิดสภาพใหม่โดยทำลายสภาพเก่า เพราะฉะนั้น ในการผลิตนั้น ตามปกติจะมีการทำลายด้วยเสมอไป

ถ้าเศรษฐศาสตร์จะเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงแล้ว จะคิดถึงแต่การผลิตอย่างเดียวไม่ได้ การผลิตแทบทุกครั้งจะมีการทำลายด้วย การทำลายในบางกรณีนั้นเรายอมรับได้ แต่การทำลายบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

ฉะนั้น จึงมีข้อพิจารณาเกี่ยวกับการผลิตในทางเศรษฐกิจนี้ เช่นว่า การผลิตบางอย่างเป็นการผลิตที่มีค่าเท่ากับการทำลาย ซึ่งจะมีปัญหาว่าควรจะผลิตดีหรือไม่

ในบางกรณีเราอาจจะต้องมีการงดเว้นการผลิต และการงดเว้นการผลิตนั้นก็เป็นกิจกรรมที่เสริมคุณภาพชีวิตได้ด้วย

ฉะนั้น ในเศรษฐศาสตร์แบบใหม่นี้ จะพิจารณาคนด้วยการผลิตหรือไม่ผลิตเท่านั้น ไม่ถูกต้อง การไม่ผลิตอาจจะเป็นการกระทำหรือเป็นกิจกรรมที่ดีทางเศรษฐกิจก็ได้

เราจะต้องพิจารณาเรื่องการผลิตโดยแยกออกอย่างน้อยเป็น ๒ ประเภท คือ การผลิตที่มีค่าเท่ากับการทำลาย (เช่น การผลิตที่เป็นการทำลายทรัพยากร และทำให้สภาพแวดล้อมเสีย) กับการผลิตเพื่อการทำลาย (เช่น การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์)

มีทั้งการผลิตที่มีผลในทางบวก และการผลิตที่มีผลในทางลบ มีผลในทางเสริมคุณภาพชีวิต และในทางทำลายคุณภาพชีวิต

อีกประการหนึ่ง ในเศรษฐศาสตร์แบบยุคอุตสาหกรรมนี้ การผลิตมีความหมายแคบ มองเฉพาะในแง่ที่จะเอามาซื้อขายกันได้ เป็นเศรษฐกิจแบบการตลาด เพราะฉะนั้น อาตมภาพอยู่ที่วัด ทำโต๊ะ ทำเก้าอี้ขึ้นมาชุดหนึ่ง เอามานั่งทำงาน เศรษฐศาสตร์บอกไม่ได้ผลิต

คนหนึ่งขึ้นเวทีแสดงจำอวดตลกจี้เส้น ทำให้คนหายเครียด บันเทิงใจ จัดการแสดงโดยเก็บเงิน เราบอกว่ามีการผลิตเกิดขึ้น การจัดแสดงจำอวดเป็นการผลิต

แต่อีกคนหนึ่งอยู่ในสำนักงานหรือสถานศึกษา เป็นคนที่มีอารมณ์แจ่มใส คอยพูด คอยทำให้เพื่อนร่วมงานร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ จนกระทั่งไม่ต้องมีความเครียด ไม่ต้องไปดูจำอวด แต่เราไม่พิจารณาพฤติกรรมของคนผู้นี้ว่าเป็นการผลิต

แล้วทีนี้ คนที่ทำให้คนอื่นเครียด มีกิริยาวาจาที่ทำให้คนอื่นเครียดอยู่เสมอ จนเขาต้องหาทางแก้เครียดด้วยเครื่องบันเทิงคือไปดูจำอวด เราก็ไม่คิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกันเลย

อีกตัวอย่างหนึ่ง เขาจัดแสดงการฆ่าวัว เช่นในเมืองสเปน เขาให้คนลงไปฆ่าวัวกระทิงให้คนดู โดยเก็บเงิน การจัดการแสดงนี้เราเรียกว่าเป็นการผลิตในทางเศรษฐกิจ

แต่เด็กคนหนึ่งพาผู้ใหญ่พาคนแก่ข้ามถนน เราไม่เรียกพฤติกรรมของเด็กนี้ว่าเป็นการผลิต

กรณีเหล่านี้ขอให้คิดดู นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การพิจารณาในทางเศรษฐกิจนั้นยังแคบมาก ความหมายของการผลิตก็ยังแคบ ในทางพุทธเศรษฐศาสตร์จะต้องขยายวงความคิดนี้ออกไป

ในเรื่องนี้ถ้าเราจะมองหา the invisible hand (มือล่องหน) ของ Adam Smith ก็คงต้องร้องทุกข์ว่า the invisible hand ของอาดัม สมิธนี้ ทำงานไม่ทั่วถึง

เรื่อง economic growth คือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ดี เรื่อง wealth คือความมั่งคั่งก็ดี จะต้องเอามาพิจารณากันใหม่ เช่นว่า ความเจริญความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจนี้ เพื่ออะไรกันแน่ ถ้ามันเป็นไปเพื่อ the increase of the quality of life คือเพื่อความเจริญเพิ่มพูนของคุณภาพชีวิต ก็จึงน่าจะรับได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ข้อคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แนวพุทธลักษณะสำคัญของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ >>

เชิงอรรถ

  1. ขอให้ดูตัวอย่างที่มีผู้เขียนไว้ว่า ไอน์สไตน์มี work เป็นชีวิตชีวาและความสุขพร้อมอยู่ในตัว
    “Einstein is not . . . merely an artist in his moments of leisure and play, as a great statesman may play golf or a great soldier grow orchids. He retains the same attitude in the whole of his work. He traces science to its roots in emotion, which is exactly where art is also rooted.” – Havelock Ellis (1859-1939), British psychologist. The Dance of life, ch. 3 (1923).
    ในทางตรงข้าม ดูชีวิตในระบบอุตสาหกรรม จากทัศนะของนักคิดตะวันตกบางท่าน
    “Industrial man-a sentient reciprocating engine having a fluctuating output, coupled to an iron wheel revolving with uniform velocity. And then we wonder why this should be the golden age of revolution and mental derangement.” – Aldous Huxley (1894-1963). Bruno Rontini’s notes, in Time Must Have a Stop, ch. 30 (1944).
    “Work to survive, survive by consuming, survive to consume: the hellish cycle is complete.” – Raoul Vaneigem (b. 1934), Belgian Situationist philosopher. The Revolution of Everyday Life, ch. 7, sct. 2 (1967; tr. 1983).
    [ทั้งหมดนี้ จาก The Columbia Dictionary of Quotations, 1993]

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.