ข. งานตรวจสอบ
๑. ตรวจสอบการอ้างอิงภายนอก
- ก) ตรวจสอบคำหรือข้อความที่มีผู้ยกขึ้นอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ หรือมีมาในพระไตรปิฎก ว่ามีจริงอย่างที่อ้างหรือไม่
- ข) ตรวจสอบหลักฐานที่มาที่อ้างนั้นว่า ถูกต้องตรงตามตำแหน่งที่เป็นจริงหรือไม่ เพื่อยืนยันหรือเพื่อจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง
- ค) ตรวจสอบคำและข้อความที่อ้างนั้นว่า ถูกต้องครบถ้วนบริบูรณ์หรือไม่ เพื่อยืนยันหรือเพื่อจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง
๒. ตรวจสอบเนื้อหาภายใน
- ก) ตรวจสอบคำหรือศัพท์เดียวกัน ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง ต่างเล่ม ต่างที่กันว่า ลงตัวเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ เช่น ในพระไตรปิฎกบางเล่มพบคำว่า จาตุมหาราชิกา แต่คำเดียวกันนี้ ในเล่มอื่นเป็น จาตุมฺมหาราชิกา, ในพระไตรปิฎก บางเล่ม พบคำว่า เวสฺสวโณ แต่คำเดียวกันนี้ ในเล่มอื่นเป็น เวสฺสวณฺโณ
- ข) ตรวจสอบข้อความเดียวกัน ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกต่างเล่ม ต่างที่กันว่า ลงกันสอดคล้องเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ การตรวจสอบในข้อนี้ มีความสำคัญมาก เพราะเนื้อความในพระไตรปิฎกมีซ้ำกันมากมายหลายแห่ง พระสูตรเดียวกันมาในพระไตรปิฎกต่างแห่งกันก็หลายสูตร ข้อความเดียวกัน ทั้งตอนบ้าง ทั้งข้อบ้าง อาจมาในพระไตรปิฎกต่างแห่งกันหลายๆ ที่ และในหลายกรณี จะมีรายละเอียดผิดแผกกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งอาจเกิดจากการทรงจำหรือคัดลอกต่อกันมาผิดเพี้ยนไป
การตรวจสอบหลักฐานในข้อ ๒. นี้ ให้ครบถ้วน จะช่วยให้มีการพิจารณาเทียบเคียงและวิเคราะห์ด้วยความรอบคอบ ทำให้วินิจฉัยด้วยความมั่นใจมากขึ้นว่า ที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร การตรวจสอบในกรณีเช่นนี้ มีประโยชน์มากเป็นพิเศษในงานสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎก ทำให้การตรวจสอบหลักฐานครบถ้วนบริบูรณ์ทั่วทุกแห่งที่มีคำหรือข้อความ หรือเนื้อหาอย่างนั้นไม่ตกหล่น ต่างจากการตรวจสอบด้วยตา – มือ – และความจำ ซึ่งจะมีการตกหล่น ไม่ครบถ้วนไม่ทั่วถึงอยู่เสมอ
๓. ตรวจสอบความหมาย
ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาธรรมวินัย นักศึกษาภาษาบาลี หรือ นักศึกษาภาษาไทยก็ตาม จะพบปัญหาเกี่ยวกับความหมายของถ้อยคำอยู่เสมอ ในกรณีอย่างนี้ BUDSIR ของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ จะช่วยงานเกี่ยวกับการตรวจสอบความหมายได้ทุกแง่ทุกมุม โดยไม่มีการตกหล่นเลย เช่น
ก) ตรวจสอบว่า ความหมายที่เข้าใจหรือที่ใช้อยู่ (และแม้แต่ความหมายที่แสดงไว้ในพจนานุกรม) ถูกต้องตรงตามความหมายที่แท้จริงที่ท่านใช้อยู่แต่เดิมหรือไม่
ข) ตรวจสอบว่า ความหมายของถ้อยคำหนึ่งๆ ซึ่งมักมีได้หลายนัยนั้น ได้นำมาแสดงครบถ้วนแล้วทุกนัยหรือไม่ มีนัยอื่นอีกหรือไม่ ซึ่งต่างจากที่เรารู้หรือเข้าใจอยู่แล้วหรือว่า ความหมายนัยหนึ่งที่คนอื่นอ้างขึ้นมา มีจริงหรือไม่
ค) ตรวจสอบว่าความหมายนัยต่างๆ ของถ้อยคำนั้นๆ แต่ละอย่างๆ ใช้ในข้อความแวดล้อม หรือบริบทที่ทั่วไปหรือเฉพาะอย่างไร เช่น ฉันทะ ในคำว่ามอบฉันทะ ฉันทะ อย่างในอิทธิบาท ฉันทะ อย่างในกามฉันทะ, วร (พร) ที่แปลว่า ประเสริฐหรือดีเลิศบ้าง สิ่งที่อำนวยให้บ้าง เป็นต้น
ง) ตรวจสอบว่า ความหมายของศัพท์บางศัพท์หรือถ้อยคำบางคำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาษาไทย ได้เพี้ยนหรือคลาดเคลื่อนไปจากความหมายเดิมอย่างไร มีเค้าหรือร่องรอยเดิมอย่างไร หรือเป็นการเน้นเอียงหนักไปข้างไหน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการศึกษาวิวัฒนาการของภาษา ความคิด ความเชื่อถือ วัฒนธรรม และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คำว่า มานะ วาสนา บารมี สมมติ จุติ สัญญา เวทนา วิญญาณ อิจฉา อธิฏฐาน ภาวนา บริกรรม นิทาน เป็นต้น
จ) สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาค้นคว้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป การตรวจสอบความหมายในพระไตรปิฎกได้สะดวก ก็ทำให้สามารถตรวจสอบค้นคว้า คำอธิบายขยายความในคัมภีร์ชั้นรองลงไป เริ่มแต่อรรถกถา พลอยสะดวกไปด้วย เพราะเมื่อทราบตำแหน่งของคำนั้นๆ ในพระไตรปิฎกแล้ว ก็ย่อมทราบด้วยว่า จะค้นหามติของอรรถกถาได้ ณ ที่ใด ดังนั้น การตรวจสอบความหมายด้วย BUDSIR จึงเป็นการเข้าถึงจุดเริ่มต้น หรือแหล่งเดิมที่ตรงแท้ ซึ่งจะช่วยโยงสู่แหล่งตรวจสอบระดับต่อๆ ไป อย่างถูกต้องตลอดสาย
๔. ตรวจสอบความเชื่อถือและข้อปฏิบัติต่างๆ ที่อ้างว่าเป็นหลักในพระพุทธศาสนา ว่าเป็นจริงตามที่อ้างหรือไม่
การตรวจสอบในข้อนี้มีความซับซ้อนกว่าในสองข้อก่อน เพราะในหลายกรณีไม่อาจตรวจสอบด้วยข้อความในพระไตรปิฎกเฉพาะแห่งเฉพาะที่ หรือแม้แต่เฉพาะเรื่อง โดยตรง ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญที่จะสัมพันธ์เชื่อมโยงข้อมูลและหลักการต่างๆ ด้วย การตรวจสอบในข้อนี้จึงเป็นงานในระดับของผู้รู้ ผู้ชำนาญ หรือนักปราชญ์ ซึ่งท่านเหล่านั้นจะอาศัยความชำนาญของตนเป็นพื้นฐานในการที่จะใช้ BUDSIR เป็นเครื่องช่วยให้งานตรวจสอบมีความสะดวก สมบูรณ์และแม่นยำชัดเจนยิ่งขึ้น
No Comments
Comments are closed.