- (กล่าวนำ)
- คิดให้ชัด ถ้าจะบัญญัติให้พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ
- สังคมไทย ไฉนตกต่ำถึงเพียงนี้
- จะเอาวิธีของฝรั่งมาใช้ ก็เจาะจับเอาของจริงมาไม่ได้
- ดูของเขาก็ไม่เอาให้ชัด ด้านของเราก็ห่างเมินจนพร่ามัว
- พูดเรื่องเดียวกัน แต่เถียงกันคนละเรื่อง
- “รู้เขา” แค่เห็นเงามัว ๆ, “รู้เรา” ก็ไม่เห็นเนื้อตัว ผีฝรั่งจึงมาหลอกคนไทย ได้อย่างน่ากลัว
- รู้ความจริงไว้ เพื่อแก้ปัญหา มิใช่เพื่อมาเคืองแค้นกัน ศาสนาประจำชาติแบบฝรั่ง-ไทย มีความหมายตรงข้ามกัน
- เจอความจริงแม้ขื่นใจ ยังรักได้ นั่นคือใจเมตตาแท้ รู้ให้จริงแท้จึงแก้ปัญหา คือเมตตาคู่ปัญญาที่ต้องการ
- พุทธศาสนาประจำชาติ จะเอาไม่เอา อย่าเถียงแบบนักเดา ดูความหมายให้ชัดแล้วจึงตัดสินใจ ให้สมเป็นคนที่พัฒนา
- หาความรู้กันก่อนให้ชัดเจน อย่าเพิ่งใส่ความคิดเห็นเข้าไป
- มองแคบ คิดใกล้ ใฝ่ต่ำ เพราะคิดแต่จะตามเขา จิตของเราจึงตกต่ำลงไป
- “มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง” มีเมื่อไร คนไทยจะเป็นชาวพุทธได้อย่างดี
- เลิกเสียที ความสับสนพร่ามัว และความขลาดกลัวที่เหลวไหล แน่วแน่ ชัดเจน มั่นใจ คือทางออกอันเดียวของสังคมไทย
- สังคมไทย เลื่อนลอยกันต่อไป หรือเด็ดเดี่ยวด้วยจิตสำนึกที่จะแก้ไข
- คำปรารภ
เจอความจริงแม้ขื่นใจ ยังรักได้ นั่นคือใจเมตตาแท้
รู้ให้จริงแท้จึงแก้ปัญหา คือเมตตาคู่ปัญญาที่ต้องการ
ที่ว่ามานี้ พูดสรุปอีกสำนวนหนึ่งว่า ตามคติพุทธ—
ศาสนา-ด้านหลักธรรมคำสอน ครอบคลุมหรือเกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคมทุกแง่ด้าน รวมทั้งการเมือง
แต่ศาสนา-ด้านบุคคลหรือด้านสถาบันและองค์กร มีวิถีชีวิตแบบของตัวแยกออกไปต่างหาก ไม่คลุกคลีข้องเกี่ยวกับสังคม แต่ก็ประสานเข้ามาด้วยบทบาทชี้แนะชักนำพร่ำสอนหลักธรรมนั้นแก่ประชาชน เพื่อประโยชน์สุขแก่สังคม
ส่วนในศาสนาคริสต์ แม้จะมีศาสนบุคคลพร้อมทั้งสถาบันและองค์กรศาสนาแยกต่างหากออกไป แต่บทบาทและวิถีชีวิตของศาสนบุคคลเป็นต้นนั้น ไม่มีข้อยุติที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม จึงเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสแห่งประวัติศาสตร์ แต่โดยมากเป็นไปในรูปของการพยายามมีอำนาจบงการเหนือรัฐ จนถึงสมัยใหม่คือยุคแห่งวิทยาศาสตร์และประชาธิปไตย จึงได้มีการแยกต่างหากจากกิจการบ้านเมือง ตามหลัก separation of church and state
สำหรับศาสนาอิสลาม เรื่องนี้ยิ่งเข้าใจง่ายมาก เพราะไม่มีการแยกรัฐกับศาสนา แต่ถือว่าศาสนาและกิจการบ้านเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น กาหลิฟเป็นทั้งประมุขของศาสนาและประมุขของบ้านเมือง หรือเป็นประมุขของทั้งอาณาจักรและศาสนจักร เมื่อมีกาหลิฟ ก็มีรัฐกาหลิฟ (caliph-caliphate) เมื่อมีสุลต่าน ก็มีรัฐสุลต่าน (sultan-sultanate) ตลอดจนไม่มีนักบวช
(ในศาสนาอิสลามตามหลักแท้ๆ ไม่มีนักบวช แต่ที่มีคำภาษาอังกฤษว่า Muslim cleric ก็เป็นเรื่องที่ฝรั่งเรียกไปตามวิวัฒนาการของกิจการศาสนา ซึ่งมีบุคคลประเภทที่ได้รับการฝึกอบรมให้มีความชำนาญพิเศษในทางศาสนา)
ในบรรดาดินแดนที่เรียกว่าประเทศมุสลิมนั้น ประเทศเตอร์กี หรือตุรกี มีอะไรๆ ที่แปลกแตกต่างออกไปมากที่สุด ทั้งที่เคยเป็นที่ตั้งของจักรวรรดิออตโตมาน (Ottoman Empire) ซึ่งได้เป็นศูนย์กลางของอิสลามอยู่นานหลายศตวรรษ
เห็นว่าน่าจะรู้เรื่องของจักรวรรดิออตโตมานไว้เป็นพิเศษสักหน่อย เพราะอาณาจักรของมุสลิมเตอร์กสายนี้มีอายุยืนยาวมากเกินกว่า ๖ ศตวรรษ (ค.ศ. 1290-1923/พ.ศ. ๑๘๓๓-๒๔๖๖) เท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของอายุของศาสนาอิสลาม (คือ ๖๓๓ ใน ๑๓๘๕ ปี) และได้เป็นมหาอาณาจักรอิสลามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ครอบครองดินแดนกว้างขวางทั้งในเอเชีย (คลุมยิวและมุสลิมอาหรับไว้แทบหมดสิ้น) ลึกเข้าไปในยุโรป และล้ำเข้าไปในส่วนสำคัญของอาฟริกา
แต่ทั้งที่ได้เป็นศูนย์อำนาจของอิสลามอยู่ยาวนาน ครั้นถึงปัจจุบัน ซึ่งยังมีประชากรเป็นมุสลิมถึงประมาณ ๙๘% กลับเหออกจากวัฒนธรรมอิสลามแบบอาหรับ และมิใช่เท่านั้น ยังหันไปรับเอา วัฒนธรรมฝรั่งอย่างเต็มที่ สวนทางกับประเทศมุสลิมทั่วไป
พวกเตอร์กมีถิ่นเดิมอยู่ในอาเซียกลาง (Central Asia, ผืนแผ่นดินกว้างใหญ่เหนืออินเดีย ระหว่างจีนกับรัสเซีย) ต่อมา ค.ศ. 700 เศษ ชาวมุสลิมอาหรับจากตะวันออกกลาง ได้ยกทัพมาพิชิต เปลี่ยนพวกเตอร์กเป็นมุสลิม
จากนั้นอีกเกือบ ๓๐๐ ปี พวกเตอร์กเริ่มแผ่อำนาจลงมา และรุกเข้าไปทั้งทางตะวันออกสู่อินเดีย และทางตะวันตกสู่ตะวันออกกลาง
ทางด้านตะวันออกกลาง พวกเตอร์กได้เข้าไปรับราชการเป็นทหารของมุสลิมอาหรับภายใต้กาหลิฟ (Caliph, ประมุขของอิสลาม ซึ่งถือว่าสืบทอดมาจากองค์นบีคือพระศาสดามะหะหมัด) ต่อมาก็ใหญ่โตได้เป็นสุลต่าน แล้วมีอำนาจมากขึ้นๆ จนในที่สุด กลายเป็นผู้ครองอำนาจที่แท้จริง และกาหลิฟซึ่งเป็นอาหรับ เป็นเพียงหุ่นเชิด
เตอร์กเผ่าหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งเป็นใหญ่แล้วเสื่อมลง เตอร์กอีกพวกหนึ่งก็ขึ้นเป็นใหญ่แทน แล้วเตอร์กพวกนั้นเสื่อม เตอร์กอีกพวกก็มาต่อ จนใกล้จะถึง ค.ศ. 1300 พวกออตโตมานเตอร์กซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนในเขตตุรกีปัจจุบัน ก็เริ่มขึ้นเป็นใหญ่
พวกออตโตมานเตอร์กนี้ นอกจากได้ครอบครองดินแดนอาหรับแทบทั้งหมดแล้ว พอถึง ค.ศ. 1453 ก็โค่นจักรวรรดิโรมันตะวันออกลงได้ และยึดเอาคอนสแตนติโนเปิ้ลซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันออกนั้น ตั้งเป็นเมืองหลวงของตน (ปัจจุบันคือเมืองอิสตันบูล/Istanbul) ต่อมาอีก ๑๐๐ ปีเศษ จักรวรรดิออตโตมาน ก็ได้ชื่อว่าเป็นจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ที่สุดในโลก
ก่อน ค.ศ. 1517 กาหลิฟอาหรับที่อียิปต์ยังคงสถานะเป็นประมุข ของอิสลามอยู่ในนาม (สุลต่านแห่งราชวงศ์ทหารทาสเชื้อสายเตอร์ก เป็นผู้ครองอำนาจตัวจริง) ครั้นถึง ค.ศ. 1517 พวกออตโตมานเตอร์กก็มายึดกรุงไคโร และจับเอากาหลิฟที่อียิปต์ไป เมื่อกาหลิฟองค์นั้นสิ้นชีพแล้ว ก็เป็นอันสิ้นราชวงศ์กาหลิฟอาหรับที่สืบมาจากแบกแดด (ตำราฝรั่งบอกว่า ต่อมา กาหลิฟกลับไปอยู่ที่อียิปต์ และพวกออตโตมานเตอร์กได้แต่งเรื่องขึ้นว่า กาหลิฟได้ทรงมอบอำนาจของพระองค์ให้แก่สุลต่านแห่งออตโตมาน) แล้วเตอร์กก็เป็นเสียเองทั้งสุลต่าน ทั้งกาหลิฟ สืบมาประมาณ ๔๐๐ ปี
ต่อมา จักรวรรดิออตโตมานได้เสื่อมลงๆ จนในที่สุดได้เข้าร่วมกับเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. 1914-1918) แล้วกลายเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ต้องสูญเสียดินแดนอาหรับ ยิว ตลอดทั้งในอาฟริกาและแถบยุโรปไป เหลืออยู่เพียงดินแดนปัจจุบัน
ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าคุมรัฐบาลสุลต่านที่เมืองหลวงคือคอนสแตนติโนเปิลไว้ และจะดำเนินการสลายจักรวรรดิออตโตมาน โดยหนุนให้กองทัพกรีกยกเข้ามา มุสตาฟา เคมาล ได้ตั้งรัฐบาลสำรองขึ้นมาที่เมืองแองการา ขับไล่ทัพกรีกออกไปได้ และชนะสงครามกลางเมือง แล้วยุบเลิกตำแหน่งสุลต่านเสียในปี 1922 ประกาศตั้งสาธารณรัฐตุรกีขึ้นใน ค.ศ. 1923 โดยมีตัวเขาเป็นประธานาธิบดีคนแรก จักรวรรดิออตโตมานที่ล่มสลาย ก็ถึงอวสาน
เคมาลจัดตั้งวางรูปตุรกีใหม่เหมือนอย่างพลิกแผ่นดิน โดยมีสาระสำคัญคือ ให้เป็นคามิยรัฐ (secular state) และเป็นรัฐแบบตะวันตก (Western-style state) มีชีวิตและกิจการอย่างสังคมฝรั่ง
ในปี 1924 (พ.ศ. ๒๔๖๗) สาธารณรัฐตุรกียุบเลิกตำแหน่งกาหลิฟ ล้มราชวงศ์ออตโตมาน และขับสมาชิกของราชวงศ์ออกจากตุรกีหมดสิ้น ให้สตรีเลิกใช้ผ้าคลุมหน้า (hijab, ถ้าแต่งคลุมเข้าไปในที่ราชการหรือสถานศึกษา จะถูกจับ) ชาวเตอร์กหันไปแต่งกายอย่างชาวตะวันตก ใช้อักษรโรมันแทนอักษรอาหรับ และใช้ปฏิทินฝรั่งแทนฮิจเราะห์ เลิกโรงเรียนอิสลาม เลิกใช้กฎหมายอิสลาม (shari’a) หันไปใช้กฎหมายครอบครัวแบบสวิสส์ ห้ามผู้ชายมีภรรยาหลายคน และให้ใช้นามสกุล
(มหาสมัชชาแห่งชาติได้ตั้งนามสกุลให้แก่เคมาล ว่า “อะตาเตอร์ก” ซึ่งแปลว่า “บิดาของชาวเตอร์ก” เขาจึงมีชื่อว่า เคมาล อะตาเตอร์ก)
อย่างไรก็ตาม มีคนเตอร์กบางส่วนที่อยากให้ตุรกีเป็นรัฐอิสลาม และการพยายามเคลื่อนไหวก็ยังเป็นไปอยู่จนบัดนี้ (มีท่าทีจะแรงขึ้น)
รวมแล้วก็คือ ตุรกีใหม่ไม่พอใจความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาแบบเดิมของตน ที่เคยแน่นแฟ้นไม่น้อยกว่าของฝรั่งในอดีต จึงหันไปแยกรัฐกับศาสนาตามอย่างฝรั่ง แต่ก็ยังมีการขัดแย้งหรือชักเย่อกันอยู่
ที่ว่าตุรกีสวนทางกับประเทศมุสลิมทั่วไป ดูง่ายๆ ก็อย่างประเทศใกล้ๆ เช่น บรูไน (Brunei) ซึ่งปัจจุบันมีประชากรเป็นมุสลิมราว ๖๔% มี คนนับถือลัทธิพื้นถิ่น ๑๑% และมีชาวพุทธราว ๙% พอได้เอกราชเมื่อ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๗ (ค.ศ. 1984) ก็ประกาศตั้งเป็นรัฐสุลต่านแดนอิสลาม (Islamic sultanate) พระสงฆ์ไทยหรือพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจะไปที่นั่น แม้แต่เดินทางเข้าประเทศ ก็ไม่ได้ จะสร้างวัด ไม่ได้ วัดหรือศาสนสถานที่มีอยู่แล้วเก่าก่อน จะปรับปรุงหรือขยาย ไม่ได้
ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันมีประชากรเป็นมุสลิม ๔๘% หรือ ๕๑% (๔๘ เป็นตัวเลขของตำราฝรั่ง, ๕๑ นั้นว่าตามรัฐบาลมาเลเซีย) คนถือลัทธิพื้นบ้าน ๒๕% คนถือคริสต์ ๘% ชาวพุทธ ๗% และคนถือฮินดู ๗% (แต่บางตำราก็แสดงสถิติต่างออกไปอีก เช่น Oxford Interactive Encyclopedia, 1997 ว่า มุสลิม 52.9% พุทธ 17.3% ศาสนาจีน 11.6% ฮินดู 7.0% คริสต์ 6.4%) ในบางรัฐ ชาวมุสลิมก็เป็นประชากรส่วนน้อยกว่า (อย่างในรัฐซาราวัค/Sarawak ซึ่งเป็นรัฐที่กว้างใหญ่ที่สุด ประชากรส่วนใหญ่เป็นพวกพื้นถิ่นที่นับถือผีสาง และรองลงมาเป็นพวกนับถือพุทธศาสนาและขงจื้อ)
มาเลเซียได้เป็นเอกราชเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ (ค.ศ. 1957, เป็นสหพันธรัฐมลายู) โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ (เป็น religion of the Federation) และต่อมา ได้มีการพยายามทำมาเลเซียให้เป็น หรือตีความให้เป็น Islamic state แต่ยังมีผู้ขัดแย้งอยู่
No Comments
Comments are closed.