- ข้อคิดเห็นต่อคุณลักษณะเด็กไทยในอนาคต
- (คุณสมบัติของเด็กไทย กับการจัดการศึกษา)
- (การพัฒนาความสุข คือการศึกษา)
- (เสรีภาพ อิสรภาพ เสมอภาค บนฐานของการแก่งแย่งหรือสามัคคี)
- (การศึกษาจัดตั้ง ต้องโยงสู่เนื้อแท้ คือพัฒนาคน)
- (โลกาภิวัตน์พาจริยธรรมตะวันตกเข้ามา การศึกษาก็พัฒนาไม่ถึงเป้าหมาย)
- (กัลยาณมิตร ช่วยบ่มอินทรีย์ ให้คนมีความพร้อมในการศึกษา)
- (จะใช้สมาธิ ต้องเข้าใจประโยชน์ และขอบเขต)
- (สติ กับ สมาธิ)
คุณสมบัติของเด็กไทยนี่ก็คือ เด็กไทยก็เป็นมนุษย์นั่นแหละ ทีนี้ว่าความเป็นมนุษย์มันก็มี ๒ อย่าง มองระยะยาวกับระยะสั้น มองระยะยาวก็มองเรื่องความเป็นมนุษย์ที่ยืนตัวอยู่ในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่อยู่ในยุคไหนๆ มันก็เป็นมนุษย์ มนุษย์ที่ดี ที่มีคุณสมบัติเราเรียกได้ว่า ยืนตัวนั่นเป็นอย่างไร นี่แบบหนึ่ง และอย่างหนึ่งก็คือ มนุษย์นั้นก็ไปอยู่ในกาลเทศะต่างๆ กัน ยุคสมัย สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไป อันนี้ก็มีปัญหาเฉพาะของยุคสมัย ไม่เหมือนกัน
อย่างเด็กสมัยนี้ก็จะมีปัญหาพิเศษของเขารวมทั้งผู้ใหญ่ด้วย เราก็จะต้องมีคุณสมบัติพิเศษเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในยุคสมัยอย่างนี้ ที่เราพูดอนาคตนี่เราก็คงมุ่งถึงว่าเรามองถึงความเจริญก้าวหน้าของโลก อย่างของเทคโนโลยีเป็นต้นว่า เราจะรับมือกับสภาพแวดล้อมความเจริญของยุคสมัยนี้อย่างไร ก็อาจจะเตรียมเด็กไว้ว่า จะให้เด็กมีคุณสมบัติพร้อมที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อม มีชีวิตสังคมแบบนั้นที่ดีที่สุดอย่างไร อันนี้ก็แยกเป็น ๒ แบบ คือ คุณสมบัติยืนตัวของความเป็นมนุษย์ ก็คุณสมบัติเฉพาะยุคสมัย ระยะสั้น ระยะยาว
ทีนี้ อาตมาก็อยากจะพูดเอาสองอย่างนี้มากลืนๆ กันไป แบบพูดสั้นๆ ถ้าเราจะพูดให้น้อยๆ เอาสัก ๔ ข้อก็ได้
๑. เข้าถึงซึ่งธรรมชาติ อันนี้ก็เป็นข้อสำคัญ เข้าถึงซึ่งธรรมชาตินี่ ก็มีการขยายความนิดหน่อย ก็รวมไปถึงการที่รู้จักปฏิบัติต่อวัตถุสร้างสรรค์ของมนุษย์ซึ่งรวมทั้งเทคโนโลยีด้วย โดยไม่ให้เกิดความแปลกแยก ไม่ขัดแย้งแต่ให้เกื้อกูลหนุนกัน นี่เป็นเรื่องยากมาก มันไม่ใช่ปัญหาของบุคคลหรือว่าเด็กหรอก เป็นปัญหาของโลกทั้งหมด ของอารยธรรมขณะนี้เลย ทำอย่างไรจะให้ใช้วัตถุสร้างสรรค์หรือเทคโนโลยีเหล่านี้โดยไม่แปลกแยกกับธรรมชาติ เวลานี้มนุษย์ก็แปลกแยกมากแล้ว และก็ให้กลับมาหนุนกันเกื้อกูลกันกับธรรมชาติได้ อันนี้เป็นปัญหาที่ว่าแก้ปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนเลย
๒. อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีความพร้อมที่จะร่วมสร้างสรรค์สังคม อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องของสังคมมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเข้ามาก ๒ ด้านแหละ ด้านสิ่งแวดล้อมพวกวัตถุธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อมที่เป็นด้านเพื่อนมนุษย์ อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ เวลานี้ก็ มนุษย์ก็เอาแต่ตัวมากขึ้น การอยู่ร่วมด้วยดี การเกื้อกูลกัน การร่วมกันสร้างสรรค์สังคมแม้แต่จิตสำนึกทางสังคมก็จะไม่มีเลย เวลานี้จะบ่นกันหนักเรื่องนี้ เด็กสมัยใหม่ไม่มีจิตสำนึกทางสังคม คิดเอาแต่ความสุขส่วนตัว แม้แต่ว่าเจริญเติบโตขึ้นไป มีชีวิตอยู่ก็มุ่งหาความสำเร็จส่วนตัวหาผลประโยชน์ส่วนตัวไป นี่มันก็ขัดกันหมด
๓. เป็นเรื่องที่มาถึงตัวเองก็คือ มีจิตใจเข้มแข็ง มุ่งมั่นจะทำชีวิตของตนให้เจริญงอกงามจนถึงความให้เต็มสุดแห่งศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของตน นี่อันนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าคนมีความมุ่งมั่นจะทำชีวิตของตัวให้ดีที่สุด ให้เต็มศักยภาพนี้ จะไม่ประมาท ไม่ละเลย จะไม่หลงไปกับสิ่งภายนอกที่มาล่อเร้าชักจูง เวลานี้เด็กก็จะลืมไปเลยไม่นึกถึงชีวิตของตัวเอง คือ นึกตื้นๆ แค่สิ่งเสพบริโภคเท่านั้นเอง การพัฒนาศักยภาพ หมายถึงศักยภาพที่จะมีความสุขด้วย ศักยภาพก็หมายถึงทุกด้านที่ความเป็นมนุษย์จะมีให้
๔. มีปัญญาที่สามารถแก้ปัญหาและนำพาชีวิตให้บรรลุจุดหมาย จุดหมายที่ว่าทั้งหมดทั้ง ๓ ข้อต้นจะบรรลุได้ก็ด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็หมด เพราะฉะนั้นข้อท้ายถือว่าคลุม ก็คือทำให้ทุกอย่างที่ว่ามานี้บรรลุผลสำเร็จ
ก็คิดว่า ๔ ข้อนี่แหละเป็นตัวสำคัญ และตอนนี้ถ้าเราเอา ๔ ข้อนี้มาดู เอาคุณสมบัติคล้ายๆ เป็นจุดหมาย คือคุณสมบัติที่เราต้องการ เหมือนกับในแง่หนึ่งก็เป็นจุดหมาย เราก็จะเห็นปัญหาของสังคม ปัญหาของเด็กเยาวชนมากมาย อย่างเรื่องข้อปัญญานี้ เวลานี้เราก็แทบไม่มีวัฒนธรรมทางปัญญา มีวัฒนธรรมในการเสพบริโภค วัฒนธรรมเก่าที่มี คือ วัฒนธรรมทางจิตใจก็ค่อยๆ หายไป
วัฒนธรรมทางปัญญานี้ในทรรศนะของอาตมา เห็นว่า คนไทยเราค่อนข้างอ่อนอยู่แล้ว หรือเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคำสอนด้านปัญญา ทีนี้เราก็ขาดวัฒนธรรมทางปัญญา เช่นการใฝ่แสวงปัญญา การค้นหาความรู้อะไรไม่ค่อยมี ไม่มีความใฝ่รู้ แล้ววัฒนธรรมทางปัญญาที่ต้นแหล่งของอารยธรรมปัจจุบันเขามี เราก็ไม่เอามาก็เลยกลายเป็นว่าเราก็ยิ่งเสื่อมทรุดลงไป คือมีความบกพร่อง ขาดแคลนมากขึ้น ก็ขาดแล้วตัวนี้ วัฒนธรรมทางปัญญานี่แทบไม่มีในข้ออื่นๆ ก็เห็นได้อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ปัญหามันอยู่ในทุกข้อ นี่ตอนนี้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนอันหนึ่ง คือ ในเรื่องการศึกษานี่เราน่าจะต้องแยกให้ชัดระหว่าง การศึกษาจัดตั้งกับการศึกษาที่แท้จริง คือที่เราทำกันอยู่นี่อย่างในระบบโรงเรียนนี่คือการศึกษาจัดตั้งนั่นเอง
การศึกษาจัดตั้งก็คือไม่ใช่การศึกษาแท้ หมายความว่าเป็นการจัดตั้งเพื่อเอื้อต่อการที่จะเกิดมีการศึกษา หรือการจัดตั้งที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของการศึกษา เราจัดตั้งเพื่อช่วยให้การศึกษาเกิดขึ้น หรือพัฒนาขึ้นในเด็ก แต่ตัวมันไม่ใช่การศึกษา เพราะฉะนั้นที่เราเรียกว่า การศึกษา มันเป็นเพียงคำสมมติหรือคำเรียกกันไป อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าจะมีความหมายไปหมด แม้แต่การจัดชั้นเรียน จัดกิจกรรมอย่างเช่นว่า เดี๋ยวนี้บอกให้สนุก ให้เด็กเรียนอย่างสนุก ให้มีความสุข ถ้าเราแยกตรงนี้ได้เราจะเห็นชัดว่า มันมีความสุขจัดตั้งกับความสุขที่แท้
ทีนี้เวลานี้เราไปเน้นว่าให้เรียนอย่างสนุก มีความสุขอะไรนี่ บางทีไม่รู้ตัวหรอกว่ามันเป็นเพียงความสุขจัดตั้ง ก็คือ คุณครู อาจารย์ เพียรพยายามจัดกิจกรรม จัดบทเรียนอะไรต่างๆ ให้นักเรียนเกิดความสนุกสนานมีความสุขในการเรียน แต่ว่ามันเป็นความสุขที่เราจัดแต่งขึ้นมา แล้วความสุขแบบนี้ถ้าไม่สามารถทำให้เกิดผลที่แท้คือ ความสามารถที่จะมีความสุขขึ้นภายในตัวเด็ก ก็จะกลับเป็นอันตรายต่อเป้าหมายที่แท้ก็คือ เราต้องการให้เด็กเกิดมีปัจจัยภายในหรือ คุณสมบัติภายในที่จะสามารถมีความสุข แต่ถ้าเราอยู่แค่การจัดตั้งนี้ก็คือ การที่ทำให้เด็กมาขึ้นกับปัจจัยภายนอก เราต้องจัดตั้ง การจัดตั้ง ก็คือปัจจัยภายนอก มีผู้อื่นจัดสรรให้ แต่ว่าเด็กก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่เมื่อหลังจากเรียนแล้ว
เขาก็เข้าไปอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อไปอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงนี้ มันไม่มีใครจัดตั้งให้ อยู่กับ ความสุข ความทุกข์ที่มันมีตามธรรมดา เขาจะต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านั้น เขาจะต้องมีความสามารถที่จะมีความสุขในตัวเอง นี่ถ้าหากว่าเราไปทำให้เขามีความสุขจากการจัดตั้ง เขาจะยิ่งอ่อนแอลงและจะยิ่งพึ่งพามากขึ้น ต่อไปก็เลยไม่มีใครจัดตั้งความสุขให้ก็เลยทุกข์หนักเลย
เพราะฉะนั้นน่ากลัวมาก การศึกษาปัจจุบันนี้ อันนี้น่าจะเป็นจุดอ่อนอันหนึ่งด้วย ก็เป็นการจัดตั้งการศึกษาจัดตั้งที่เลยไปถึงการจัดตั้งความสุข แล้วก็นอกจากความสุขก็จะไม่มีอันแท้จริง แล้วทุกข์ง่ายขึ้น และจะอ่อนแอลง กลายเป็นคนอ่อนแอไม่มีความเข้มแข็ง
เพราะฉะนั้นการจัดตั้ง หรือการศึกษาจัดตั้งนี้ มันก็คือตัวปัจจัยเกื้อหนุนจากภายนอกที่มาช่วยให้เด็กเกิดคุณสมบัติที่เรียกว่าปัจจัยภายใน ที่เขาจะสามารถออกไปอยู่ในโลกที่เป็นจริงและก็ ฃเขาก็มีการพัฒนาในตัวเช่นว่า สามารถมีความสุข เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ มีความสุขด้วยตนเอง สร้างความสุขให้กับตนเองได้ อันนี้สำคัญ ไม่ใช่ต้องรอให้คนอื่นมาสร้างให้หรือจัดตั้งให้ อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่น่าจะเน้น เพราะเวลานี้คนเข้าใจความหมายของการศึกษาอย่างเรื่อง Child-Centred Education การศึกษาที่เด็กเป็นศูนย์กลางก็คลุมเครือมาก บางคนเข้าใจไปว่า ไปเอาใจเด็กอะไรต่างๆ เหล่านี้ ตามที่อาตมภาพได้ทราบนะอย่าง จอห์น ดิวอี้ ที่เป็นผู้นำคนหนึ่งในแนวคิด Progressive Education และก็มี Child-Centred Education ด้วย นี่ก็เป็นห่วงมากถึงกับเขียนหนังสือเตือนลูกศิษย์ลูกหาไว้ ที่ว่าลูกศิษย์ลูกหาไปเข้าใจว่า การเอาใจเด็กตามใจเด็กให้เด็กสนุกสนานบันเทิงแล้วจะเป็นการศึกษาที่เรียกว่าเด็กเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่อย่างนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่
ทีนี้คนทั่วไปแล้วก็อย่างครูจำนวนมากทั่วประเทศนี้ บางทีเรื่องที่เราเรียกว่า ปรัชญาลึกๆ นี่จะให้เขาเข้าใจบางทีก็ยากเหมือนกัน และดีไม่ดีก็จับได้แต่ความเข้าใจที่ผิวเผินไปหรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปก็ได้ นี่ตอนนี้ก็เลยต้องมาย้ำด้านหนึ่งก็คือเรื่อง ความเข้มแข็งนี้ด้วย เด็กของเราอ่อนแอลง ก็หลายปีมาแล้ว สัญญาณมา
เมื่อหลายปีก่อนนี้อาตมภาพตอนที่ยังออกไปข้างนอกอยู่ ยังไปที่โรงเรียนมัธยม คุณครูก็บอกเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยเอาอะไรเลย อะไรยากไม่สู้ นี่ตั้งประมาณ ๑๐ ปีแล้ว เดี๋ยวนี้สภาพนี้เราก็เห็นชัด ก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีความเข้มแข็ง บทเรียนยากอะไร กิจกรรมยาก งานยากอะไรไม่รู้ แล้วมันก็โยงไปถึงการมีความสุข ก็หมายความว่า เราไม่พัฒนาเรื่องความสุข ให้เขาจมอยู่กับความสุขที่เรียกว่า ความสุขจากการเสพบริโภค พอเป็นยุคบริโภคนิยมก็เลยมีความสุขที่เด่นก็คือ ความสุขจากการเสพ
No Comments
Comments are closed.