— ฐานะและสภาพปัจจุบันของสถาบันสงฆ์

9 สิงหาคม 2512
เป็นตอนที่ 9 จาก 24 ตอนของ

ฐานะและสภาพปัจจุบันของสถาบันสงฆ์

การที่จะเข้าใจบทบาทในปัจจุบันได้ชัดเจน และกำหนดบทบาทที่ควรจะเป็นไปในอนาคตได้เหมาะสมนั้น จะต้องทราบสภาพและสถานการณ์ของสถาบันสงฆ์ในปัจจุบันก่อน โดยเฉพาะในการกำหนดบทบาทที่ควรจะมีต่อไปนั้น ความรู้ตัวในเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ทราบกำลังของตนว่าพร้อมที่จะทำอะไรได้แค่ไหนเพียงไร และควรปรับปรุงแก้ไข เพิ่มกำลังในส่วนใด

ตามสถิติจำนวนวัดและพระสงฆ์ทั่วประเทศ พ.ศ. ๒๕๐๗ มีตัวเลขดังนี้

วัด ๒๓,๕๓๙ วัด

พระภิกษสามเณร ๒๓๗,๗๗๐ รูป

ตามสถิตินี้ เฉลี่ยจำนวนพระภิกษุสามเณรได้วัดละ ๑๐ รูป และเฉลี่ยจำนวนพระภิกษุสามเณร ๑ รูปต่อประชากรไทย ๑๐๐ คน

แต่ตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขลวงตา ไม่อาจให้ภาพที่แท้จริงได้ เพราะฐานะของพระสงฆ์เมื่อพิจารณาในทางสังคม จะต้องแยกโดยหน้าที่และบทบาททางสังคมด้วย ในประเทศไทย มีประเพณีให้ชายหนุ่มบวชชั่วคราวประมาณ ๓ เดือน เพื่อรับการศึกษาอบรมระยะสั้นจากสถาบันสงฆ์ ผู้บวชสามเดือนนี้ไม่ใช่ผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่และบทบาทของพระสงฆ์ต่อสังคม ต้องจัดเป็นบทบาทของประชาชนที่เข้ามารับบริการจากสถาบันสงฆ์ และแยกตัวเลขออกไป แต่น่าเสียดายว่า ยังไม่สามารถหาตัวเลขแน่นอนของจำนวนพระบวชใหม่ชั่วคราวเหล่านี้ได้ แต่โดยประมาณอย่างต่ำน่าจะไม่น้อยกว่า ๖๐% ของตัวเลขภิกษุสามเณรทั้งหมด เมื่อถือประมาณนี้ จะได้ตัวเลขพระบวชใหม่ประมาณ ๙๑,๑๓๘ รูป เมื่อหักตัวเลขนี้ออกจากจำนวนพระภิกษุสามเณรทั้งหมดแล้ว จะได้ตัวเลข ดังนี้

พระภิกษุ ๖๑,๓๗๒ รูป

สามเณร ๘๕,๒๖๐ รูป

รวม ๑๔๖,๖๓๒ รูป

อีกประการหนึ่ง การกระจายของตัวเลขนี้ ไม่สม่ำเสมอ ส่วนมากจำนวนมารวมแออัดอยู่ในเมืองหลวงและตัวเมือง เมื่อว่าโดยบทบาท จำนวนสามเณรทั้งหมด และพระภิกษุส่วนมาก โดยเฉพาะพระพรรรษาน้อยในเมืองหลวงและตัวเมือง เป็นนักศึกษาและนักเรียน พระภิกษุอีกจำนวนหนึ่งในเมืองหลวงและตัวเมือง และพระภิกษุนอกตัวเมือง เป็นผู้มีบทบาททางสังคมโดยการสัมพันธ์กับประชาชน และในจำนวนหลังนี้ มีผู้ที่มีตำแหน่งบริหารการคณะสงฆ์และผู้เป็นครูอาจารย์ซึ่งบริหารหรือให้การศึกษารวมอยู่ด้วย เป็นการยากที่จะแยกจำนวนพระสงฆ์เหล่านี้ให้เห็นชัดเจน เพราะงานสถิติเกี่ยวกับสถาบันสงฆ์ยังมีน้อย และบทบาทของพระสงฆ์มักจะหลวมๆ และปะปนแยกไม่ออก เช่นการเป็นนักศึกษา อาจมีความหมายเพียงการเข้าสอบปีหนึ่งๆ และอาจมีบทบาทอีกหลายอย่าง เช่น เป็นนักศึกษา นักเทศน์ นักเผยแผ่ เป็นพระสังฆาธิการ และเป็นครูสอนปริยัติธรรมด้วยในขณะเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะไม่มีระบบการแบ่งงานเป็นแบบแผน

ตามที่ได้เคยศึกษาและทดลองแยกประเภทพระภิกษุสามเณรตามจำนวนที่ประมาณไว้ ๑๔๖,๖๒๓ รูปนั้น ได้ดังนี้

พระสังฆาธิการ (ชั้นอื่นจากเจ้าอาวาส) ๕,๕๓๐ รูป

เจ้าอาวาส ๒๓,๓๒๒ รูป

ครูปริยัติธรรมฝ่ายบาลี ๑,๙๓๔ รูป

ครูปริยัติธรรมฝ่ายนักธรรม ๑๔,๑๘๔ รูป

นักศึกษาบาลี ๑๗,๗๔๘ รูป

นักศึกษาธรรม ๖๗,๙๑๑ รูป

นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์ ๑,๖๕๗ รูป

อื่นๆ ๑๔,๓๓๗ รูป

ประเภทอื่นๆ ตามรายการนี้ รวมถึงรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส นักเทศน์ นักเผยแผ่ พระนักปฏิบัติสมถะวิปัสสนา ตลอดจนพระบวชในวัยชราเป็นต้นด้วย และดังได้กล่าวแล้ว ตัวเลขเหล่านี้มีไม่น้อยที่ซ้ำบุคคลกัน เพราะบุคคลผู้เดียวทำหน้าที่หลายอย่าง

ข้อที่ควรพิจารณานอกจากนี้ยังมีอีกหลายประการ เช่น วุฒิ และอายุพรรษาของพระภิกษุสามเณร จำนวนพระสงฆ์แยกตามสภาพสังคม และสถิติพระสงฆ์ในวัดนอกเมือง เป็นต้น เพราะข้อมูลเหล่านี้จะฉายให้เห็นภาพ และกำลังที่แท้จริงของสถาบันสงฆ์ ขณะนี้ ยังไม่สามารถรวบรวมตัวเลขมาไว้ได้เต็มตามต้องการ จึงขอแสดงพอเป็นตัวอย่างเท่านั้น

จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเขตที่มีจำนวนพระภิกษุสามเณรมากที่สุด และมีการศึกษาพระปริยัติธรรมเจริญมากที่สุดเขตหนึ่ง มีสถิติที่น่าศึกษาใน พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๑ ดังนี้1

ในหลายจังหวัด สภาพการณ์อยู่ในรูปน่าวิตกกว่านี้ แต่ยังไม่สามารถสำรวจเก็บสถิติได้ทั่วถึง และสถิติที่เก็บได้ บางครั้งก็เป็นคนละแง่กัน ลงตารางเดียวกันไม่ได้ แต่อาจช่วยประกอบกันให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกมุมหนึ่ง เช่น สถิติที่ได้จากจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง ได้ตัวเลขบางอย่าง คือ จำนวนวัด ๑๒๙ วัด เป็นวัดที่ไม่มีพระอยู่กว่า ๑๐ วัด มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาทั้งจังหวัด ๑,๑๕๔ รูป มีพระเปรียญทั้งจังหวัด ๙ รูป มีสำนักเรียนบาลีทั้งหมด ๒ แห่ง นักเรียน ๒๕๐ รูป2 ถ้ามีโอกาสจะได้จัดทำสถิติให้สมบูรณ์ต่อไป

สถาบันต่างๆ ของคณะสงฆ์ที่พึงทราบ คือ

๑. การปกครอง คณะสงฆ์ไทยได้รับมอบอำนาจปกครองตนเองเป็นอิสระภายในความอุปถัมภ์ของบ้านเมือง โดย พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ตาม พ.ร.บ. นี้ การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางเป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานโดยตำแหน่ง มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอีกจำนวน ๔-๘ รูป เป็นกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี ปัจจุบันกรรมการมหาเถรสมาคมประกอบด้วยพระเถระกรรมการจำนวน ๑๑ ได้แยกเขตการปกครองอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าคณะใหญ่ ๕ คือ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าคณะใหญ่หนใต้ และเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และแบ่งเขตการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคออกเป็น ภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล อยู่ในความรับผิดชอบของ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบวัดแต่ละวัดในขั้นสุดท้าย

ตามสถิติ พ.ศ. ๒๕๐๙ มีวัดมหานิกาย ๒๒,๙๘๒ วัด วัดธรรมยุต ๑,๐๒๓ วัด รวม ๒๔,๑๐๕ วัด มีพระสมณศักดิ์ทั้งหมด ๒,๗๖๙ รูป และมีพระสังฆาธิการ คือ

เจ้าคณะภาค ๒๑ รูป

เจ้าคณะจังหวัด ๑๐๙ รูป

เจ้าคณะอำเภอ ๕๕๙ รูป

เจ้าคณะตำบล ๓,๖๓๖ รูป

เจ้าอาวาส ๒๔,๑๐๕ รูป

รวมทั้งสิ้น ๒๘,๔๓๐ รูป

๒. การศึกษา การศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ที่ดำเนินการมาตามประเพณี แบ่งเป็น ๒ สาย คือ

(๑) พระปริยัติธรรมแผนกธรรม (น.ธ. สำหรับภิกษุสามเณร และ ธ.ศ. สำหรับคฤหัสถ์)

(๒) พระปริยัติธรรมแผนกบาลี (คือเปรียญธรรมสำหรับภิกษุสามเณรโดยเฉพาะ)

การศึกษาพระปริยัติธรรม ๒ แผนกนี้ มีโครงรูปดังนี้
ประถมปีที่ ๔ < น.ธ. ตรี -> น.ธ. โท -> น.ธ. เอก
ประโยค ๑ – ๒3 -> ป.ธ. ๓ -> ป.ธ. ๔ -> ป.ธ. ๕ -> ป.ธ. ๖ -> ป.ธ. ๗ -> ป.ธ. ๘ -> ป.ธ. ๙

พระปริยัติธรรมสายที่ ๑ อาจศึกษาเป็นอิสระได้ แต่สายที่ ๒ ต้องมีสายที่ ๑ เป็นพื้นฐาน หลักสูตรที่ใช้ ได้คงรูปอยู่ตามประเพณีตลอดมา (หลักสูตรนักธรรมมีอายุ ๑ ศตวรรษ หลักสูตรเปรียญธรรมมีอายุ ๒ ศตวรรษ) การเปลี่ยนแปลงมีเพียงข้อปลีกย่อย เช่นสับแบบเรียนจากชั้นหนึ่ง ไปชั้นหนึ่ง เป็นต้น แสดงให้เห็นชัด ดังนี้

ก. นักธรรม มีชั้นละ ๔ วิชา

(๑) เรียงความแก้กระทู้ธรรม

(๒) ธรรม

(๓) พุทธประวัติ (รวมทั้งศาสนพิธี)

(๔) วินัย (รวมทั้ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ใน น.ธ. เอก ด้วย)

ข. บาลี มีชั้นละไม่เกิน ๔ วิชา แยกประเภทได้ดังนี้

(๑) บุรพภาค (ความรู้เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย) เฉพาะ ป.ธ. ๓

(๒) ไวยากรณ์บาลี เฉพาะ ประโยค ๑-๒ และ ป.ธ. ๓

(๓) วากยสัมพันธ์ เฉพาะ ป.ธ. ๓

(๔) แปลบาลีเป็นไทย มีทุกชั้น ต่างโดยกำหนดคัมภีร์สำหรับแปลตามชั้น

(๕) แปลไทยเป็นบาลี ตั้งแต่ ป.ธ.๔ ถึง ป.ธ. ๙ กำหนดคัมภีร์ต่างไปตามชั้น

(๖) แต่งฉันท์บาลี เฉพาะ ป.ธ. ๘

(๗) แต่งไทยเป็นบาลี เฉพาะ ป.ธ. ๙

นับแต่มีการสอบบาลีด้วยข้อเขียน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๑ มีสถิติผู้สอบได้เปรียญธรรมดังนี้

ป.ธ. ๓ = ๒๐,๒๙๑ รูป ป.ธ. ๔ = ๑๓,๕๑๖ รูป

ป.ธ. ๕ = ๗,๔๖๐ รูป ป.ธ. ๖ = ๓,๑๔๔ รูป

ป.ธ. ๗ = ๗๖๙ รูป ป.ธ. ๘ = ๓๕๐ รูป

ป.ธ. ๙ = ๑๖๔ รูป

ฐานะของผู้สอบ ป.ธ. ๙ ได้ ถือว่าเป็นการจบการศึกษาชั้นสูงสุดของพระสงฆ์ไทย และไม่อาจเทียบได้กับการศึกษาทางโลก เพราะเป็นวิชาการคนละสาย แต่กระนั้นในทางบ้านเมืองก็มีการเทียบสำหรับผู้ลาสิกขาไปแล้วที่จะเข้ารับราชการ เดิมฐานะที่ยอมรับนั้นสูงมาก และได้ลดต่ำลงตามลำดับกาลเวลา ถึงปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับชั้นอนุปริญญา4 มีตัวเลขน่าสนใจเกี่ยวกับ ป.ธ. ๙ นี้ ดังนี้

๑) จำนวนผู้สมัครสอบทั้งหมดตั้งแต่ต้นมี ๑,๐๘๑ สอบได้ ๑๖๔ รูป5

๒) ในจำนวน ๑๖๔ รูป ผู้สอบได้อายุต่ำสุด ๒๑ ปี สูงสุด ๕๐ ปี อายุเฉลี่ย ๒๖-๓๑ ปี

๓) กำหนดเวลาเรียนตามหลักสูตร ๙ ปี เวลาเรียนจริงเฉลี่ยรูปละ ๑๕ ปี

๔) ในจำนวนผู้เริ่มศึกษาภาษาบาลี ๔,๐๐๐ รูป จะมีผู้สามารถศึกษาจนจบได้ ป.ธ. ๙ = ๕ รูป หรือประมาณ ๐.๑๒%

๕) เงินลงทุนผลิตผู้สำเร็จ ป.ธ. ๙ รูปละประมาณ ๒๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท6

สำหรับสถิติจำนวนครูปริยัติธรรมและนักศึกษา ได้แสดงไว้แล้วในหน้า ๒๓๘

ต่อมาเมื่อ วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗ มหาเถรสมาคมได้ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีตามที่ได้ปรับปรุงใหม่ขึ้น เรียกกันเป็นสามัญว่าบาลีแผนใหม่ แบ่งการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีเป็น ๓ ขั้น คือ

๑) เปรียญตรี ๓ ปี

๒) เปรียญโท ๓ ปี

๓) เปรียญเอก ๔ ปี

รวม ๑๐ ปี

การศึกษาบาลีแผนใหม่นี้ มีหลักการให้มีการศึกษาภาษาบาลีควบคู่กันกับวิชาการสมัยใหม่ และการฝึกอบรมในภาคปฏิบัติขยายขอบเขตหลักสูตรให้กว้างขวางขึ้น เรียกว่า บาลีศึกษา สามัญศึกษา และปริทัศนศึกษา ในฝ่ายบาลีศึกษา โดยส่วนใหญ่คงหลักสูตรตามรูปเดิมอย่างสายเปรียญธรรมถึง ป.ธ. ๙ แต่ในปีที่ ๑๐ เพิ่มการค้นคว้าพระไตรปิฎก ฝ่ายสามัญศึกษา เทียบเท่าชั้นประโยคประถมศึกษาตอนปลาย ชั้นประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น – ปลาย และชั้นอุดมศึกษา (สายอักษรศาสตร์ สาขาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และประวัติศาสตร์ ขั้นปริญญาตรี) ส่วนปริทัศนศึกษา มีการฝึกอบรมภาคปฏิบัติและวิชาประกอบทางศาสนา โบราณคดี จิตวิทยา และปรัชญา

การศึกษาบาลีแผนใหม่นี้ มิได้ล้มเลิกการศึกษาบาลีตามระบบเดิม แต่ใช้เรียนควบคู่กันไปได้ ตามสถิติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ มีสำนักเรียน ที่ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้เปิดการศึกษาบาลีแผนใหม่แล้ว ๓๐ สำนักเรียน เมื่อถึง พ.ศ. ๒๕๑๒ มีผู้สอบได้ถึงชั้นปีที่ ๒ ของเปรียญตรีแล้ว ๗ รูป จัดเป็นการศึกษาขั้นแรกเริ่มดำเนินการ7

การศึกษาอีกประเภทหนึ่ง ที่พระสงฆ์ได้ดำเนินงานมาแล้วเป็นเวลานาน คือการศึกษาแบบมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งมี ๒ แห่ง คือ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สถาบันทั้ง ๒ นี้ ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ และ พ.ศ. ๒๔๓๙8 ตามลำดับ แต่เพิ่งเริ่มดำเนินการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัยสงฆ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ และ พ.ศ. ๒๔๙๐ และได้รับคำสั่งมหาเถรสมาคม รับเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๒

สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย แบ่งการศึกษาเป็น ๓ ระดับ คือ

๑. ชั้นบุรพศึกษา ๑ ปี

๒. ชั้นเตรียมศาสนศาสตร์ ๓ ปี

๓. ขั้นอุดมศึกษา ๓ สาขาๆ ละ ๔ ปี

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แบ่งการศึกษาออกเป็นแผนกต่างๆ คือ

๑. กิจการอุดมศึกษา ๓ คณะๆ ละ ๔ ปี

๒. วิทยาลัยครูศาสนศึกษา ๒ ปี

๓. โรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษา ๒ ปี

๔. โรงเรียนบาลีอบรมศึกษา ๒ ปี

๕. โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา ๖ ปี

ผู้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ตามปกติต้องได้ ป.ธ. ๔ มาแล้ว และใช้เวลาศึกษาต่อ ๗-๘ ปี จึงจบการศึกษาขั้นปริญญาตรี ถึงปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ ได้ผลิตพระสงฆ์ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรีแล้ว ๕๑๖ รูป คือ

สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๒๘ รูป

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๘๘ รูป

ในปีการศึกษา ๒๕๑๒ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ มีสถิตินิสิตนักศึกษา ดังนี้

สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยทุกชั้นประมาณ ๔๐๐ รูป

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทุกชั้น ทุกแผนก ๑,๐๙๑ รูป

นอกจากการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรแล้ว มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ได้ดำเนินงานอบรมจริยศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในรูป โรงเรียน หรือศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมา รับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงขั้นมหาวิทยาลัย มีสถิตินักศึกษานักเรียน พ.ศ. ๒๕๑๑ รวมทุกชั้น คือ

ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ตั้ง ๑๓ ก.ค. ๒๕๐๑) ๑,๓๒๑ คน

ของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย (ตั้ง ๓๑ ธ.ค. ๒๕๐๔) ๑,๑๖๙ คน

ในช่วงเวลา ๑๒ ปี แต่เริ่มมีกิจการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นนี้ ได้มีผู้นิยมจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น ทั้งในพระนคร ธนบุรี และต่างจังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ ๖๐ แห่ง มีจำนวนนักเรียน รวมทั้งสิ้น ขณะนี้ประมาณ ๒o,๐๐๐ คน

นอกจากงานด้านการศึกษาโดยตรงแล้ว มหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ดำเนินงานโครงการพิเศษอื่นๆ เช่น พระภิกษุผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญา นอกจากจะให้ช่วยสอนในมหาวิทยาลัยบางส่วน หรือให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศบางส่วนแล้ว ก็ได้ส่งไปช่วยปฏิบัติศาสนกิจสนองงานของคณะสงฆ์จังหวัดต่างๆ ในส่วนภูมิภาค มีการสอนนักธรรม บาลี บาลีแผนใหม่ โรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ งานเผยแผ่ งานพัฒนา เป็นต้น เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมา ถึงขณะนี้เป็นเวลา ๗ ปี ส่งพระพุทธศาสตร์บัณฑิต และศาสนศาสตร์บัณฑิตไปปฏิบัติงานแล้วเป็นจำนวนมาก เฉพาะพระพุทธศาสตร์บัณฑิต ๑๑๐ รูป

นอกจากจะส่งพระภิกษุจากส่วนกลางออกไปแล้ว มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองได้ร่วมกัน รับพระภิกษุ เจ้าอาวาส เจ้าคณะพระสังฆาธิการ และพระสงฆ์ที่ปรารถนาจะบำเพ็ญประโยชน์ เข้ามารับการอบรมตามโครงการอบรมพระภิกษุ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยด้วย เพื่อให้ท่านกลับไปดำรงฐานะเป็นผู้นำทางจิตใจในท้องถิ่นเดิมของตนอย่างมีผลดียิ่งขึ้น ได้เริ่มงานมาแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ มีพระสงฆ์ท้องถิ่นผู้จบการอบรมไปแล้ว ๑๐๐ รูป

งานอื่นนอกจากนี้ เป็นงานเผยแผ่ภายใน เช่น ธรรมวิจัย การศึกษาบาลีภาคพิเศษสำหรับคฤหัสถ์ เป็นต้น ซึ่งเกินที่ควรจะกล่าวถึงในที่นี้ทั้งหมด

การดำเนินงานในด้านการศึกษานอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีผู้ริเริ่มจัดขึ้นอีกหลายแห่ง แต่เป็นส่วนเอกชน ไม่ได้รับการยอมรับแน่นอน หรืออยู่ในระยะแรกดำเนินงาน ยังไม่เป็นหลักฐานมั่นคง จึงงดกล่าวถึง

๓. การเผยแผ่และสงเคราะห์ ในระยะ ๔-๕ ปีมานี้ มีส่วนราชการและเอกชนต่างๆ ริเริ่มงานด้านนี้กันขึ้นมาก เป็นการเคลื่อนไหวตื่นตัวที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง เช่น

๑) งานพระธรรมทูต จัดเป็นกองงานหนึ่งของคณะสงฆ์ เริ่มแรกกรมการศาสนาได้ริเริ่มเสนอขึ้น ดำเนินงานจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ ปัจจุบันแบ่งงานออกเป็น ๙ สาย ส่งพระธรรมทูตไปจาริกเผยแผ่ และสงเคราะห์ประชาชนชั่วคราว ประมาณ ๑-๓ เดือนในระยะฤดูแล้ง ซึ่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองมีส่วนร่วมอยู่ด้วย

๒) งานพระธรรมจาริก ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้อุปถัมภ์ เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยส่งพระธรรมจาริก ซึ่งมีพระนิสิต นักศึกษา นักเรียน ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นกำลังหนุนแก่พระภิกษุวัดเบญจมบพิตร และพระภิกษุสามเณรในท้องถิ่นภาคเหนือ ออกไปอบรมสั่งสอนและสงเคราะห์ชาวเขาเผ่าต่างๆ ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีชั่วคราวประมาณ ๒-๓ เดือนในฤดูแล้ง9

๓) อบรมจริยธรรมนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่ง ศนธ. กรมการศาสนาได้เป็นศูนย์กลางประสานงาน ระหว่างโรงเรียนต่างๆ กับสถาบันเผยแผ่เช่น พุทธสมาคม มหาวิทยาลัยสงฆ์ นำวิทยากรไปอบรมนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ เริ่มประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๙

๔) การเผยแผ่ทางวิทยุและโทรทัศน์ นอกจากการจัดให้มีพระธรรมเทศนาในวันพระโดยทางราชการแล้ว ในระยะ ๒-๓ ปีนี้ ได้มีสถาบันและเอกชนต่างๆ จัดรายการเผยแผ่ทางวิทยุกระจายเสียงมากขึ้น ในกรณีของเอกชน ปรากฏในขณะนี้ว่า เริ่มเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เพราะขาดการควบคุม ปัจจุบันมีรายการวิทยุสัปดาห์ละประมาณ ๒๙๐ ครั้ง รายการโทรทัศน์ประมาณ ๕ ครั้ง ที่ถึงจัดเป็นสถานีประจำก็มี คือ ยานเกราะ ๗๘๕ ของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย

๕) วารสารและนิตยสารเผยแผ่ธรรม มีสถาบันและหน่วยงานต่างๆ จัดทำออกเผยแผ่เป็นจำนวนมากหลายฉบับ แต่ส่วนมากเป็นที่สนใจอยู่ในหมู่ผู้ศึกษาธรรมอยู่แล้ว ไม่แพร่หลายเข้าถึงประชาชนแท้จริง แต่ระยะใกล้ๆ นี้ อาจกำลังเริ่มมีนิตยสาร หรือวารสารบางฉบับจัดได้ดีเป็นที่สนใจกว้างขวางขึ้น

๖) งานเผยแผ่นอกประเทศ ความเคลื่อนไหวและตื่นตัวในงานด้านนี้มีเพิ่มขึ้นโดยลำดับ และเป็นงานที่รัฐเคยเข้าไปมีส่วนส่งเสริมอุปถัมภ์ด้วยเป็นอันมาก เริ่มแต่การตั้งวัดไทยพุทธคยาในอินเดีย วัดเชตวัน ในกัวลาลัมเปอร์ วัดพุทธประทีป ในกรุงลอนดอน จนถึงมีการตั้งโครงการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ และการเคลื่อนไหวในระยะใกล้ๆ นี้ เช่น การรับนิมนต์ไปก่อสร้างวัดไทย ในสหรัฐอเมริกา10 และการส่งพระธรรมทูตไปอินโดนีเซีย เป็นต้น งานเหล่านี้ส่วนมากเป็นกิจการริเริ่มของเอกชนก่อน แล้วจึงขยายออกถึงขั้นการรับทราบและการอุปถัมภ์ของทางราชการ ข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ งานนี้ส่วนมากเป็นการริเริ่มจากฝ่ายผู้อยู่ในประเทศเจ้าถิ่นก่อน ซึ่งอาจเป็นลักษณะที่ดีประการหนึ่งของงานนี้

๗) งานพัฒนาและสงเคราะห์ นอกจากโครงการอบรมพระภิกษุ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยสงฆ์ดังกล่าวแล้ว ยังมีการอบรมพระภิกษุของโครงการพัฒนาทางจิต ของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งได้เริ่มมาแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ และแสดงตัวเลขว่าได้อบรมพระภิกษุไปแล้ว ๔ รุ่น จำนวน ๑,๑๔๒ รูป แต่โครงการนี้มุ่งหนักไปทางด้านเผยแผ่ และเจ้าของงานก็ได้จัดไว้เช่นนั้น

อนึ่ง ในด้านงานพัฒนานี้ ส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนา ได้เห็นความสำคัญของพระสงฆ์ในท้องถิ่น และได้พยายามประสานงานกับทางฝ่ายพระสงฆ์อยู่ด้วยหลายส่วน

งานสังคมสงเคราะห์ทั่วไป ยังไม่ปรากฏเป็นรูปชัดเจน มีแต่กิจกรรมสงเคราะห์เป็นคราวๆ เช่นกรณีน้ำท่วมใหญ่ทางจังหวัดหนองคายเป็นต้น ซึ่งเป็นแต่เรื่องเฉพาะราย และงานสงเคราะห์เล็กน้อยที่พ่วงไปกับงานเผยแผ่ เช่น การแจกยาของพระธรรมทูต ซึ่งยังไม่จัดเรียกสมแก่ชื่อแท้ และการสงเคราะห์ชาวเขา ของพระธรรมจาริก ซึ่งพอจัดเข้าได้ส่วนหนึ่ง ต่อไปภาวะของสังคมอาจทำให้เกิดความจำเป็นที่คณะสงฆ์จะต้องสนใจงานด้านนี้มากขึ้นก็ได้

ในระยะ ๔-๕ ปีที่ผ่านมานี้ ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะบางจังหวัดในภาคเหนือ และหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระสงฆ์ได้ริเริ่มฟื้นฟูและขยายบทบาทในทางการศึกษา เผยแผ่ การพัฒนาและการสงเคราะห์มากขึ้นเป็นที่น่าสังเกต การริเริ่มนี้ เป็นไปในรูปการจัดประชุมฝึกอบรมพระสงฆ์ ที่เป็นครูสอนปริยัติธรรมบ้าง ที่เป็นพระเจ้าอาวาสและพระสังฆาธิการระดับอื่นๆ บ้าง ในจังหวัดนั้นๆ โดยจัดเป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้นๆ ๗ วัน ๑๕ วัน หรืออย่างมาก ๑ เดือน มุ่งให้พระสงฆ์ได้รับความรู้เพิ่มเติมทั้งในทางพระศาสนา และความรู้ที่จำเป็นสำหรับชนบทที่กำลังอยู่ในยุคพัฒนา เป็นการช่วยให้พระสงฆ์เตรียมปรับตัว และนำชาวชนบทปรับตัวเข้ากับรูปสังคมแบบใหม่ ข้อที่น่าสังเกตก็คือ งานนี้แม้จะเป็นงานระดับคณะสงฆ์จังหวัด แต่ก็มิใช่งานสายคณะสงฆ์โดยตรง พร้อมกันนั้น หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้พยายามตั้งศูนย์งานเหล่านี้ขึ้น ให้เป็นแหล่งประสานงานในเขตจังหวัดเหล่านั้นรวมกัน และในการริเริ่มงานเหล่านี้ พระสงฆ์ผู้ใหญ่หัวแรงในจังหวัดนั้นๆ โดยมากได้พระภิกษุผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ไปเป็นกำลังสำคัญ อนึ่ง ในระยะหลังๆ นี้ คณะสงฆ์ระดับภาคก็ได้เริ่มจัดการประชุมสงฆ์ในเขตต่างๆ ในรูปที่คล้ายกัน ซึ่งมีในภาคกลางด้วย แต่มุ่งในงานปกครองเป็นสำคัญ

๘) งานเกี่ยวกับเยาวชน ในขณะที่ปัญหาเยาวชนกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน องค์การทางศาสนาก็หันมาดำเนินงานด้านนี้กันมากขึ้น นอกจากงานโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์11 และงานอบรมจริยธรรมนักเรียนที่กล่าวแล้ว ก็ยังมีงาน นพก. ของกรมการศาสนา งานของยุวพุทธิกสมาคมอีก เป็นต้น นอกจากปัญหาเยาวชนแล้ว ความตระหนักในความสำคัญของเยาวชน ที่นอกจากจะเป็นอนาคตของชาติแล้ว ยังเป็นอนาคตของศาสนาด้วย ข้อนี้มีทางที่จะให้องค์การและสถาบันต่างๆ ทางศาสนา เพิ่มความสนใจในงานด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

๔. งานค้นคว้าวิจัย เมื่อเทียบกับงานด้านอื่นๆ แล้ว งานค้นคว้าวิจัยอาจเป็นงานที่ถูกลืมบ่อยกว่างานอื่น และมีการจัดทำน้อย การผลิตสิ่งตีพิมพ์ทางศาสนาส่วนใหญ่ เป็นเพียงหนังสือเผยแพร่ศีลธรรมทั่วๆ ไปเป็นส่วนมาก ตำรับตำราทางศาสนาใหม่ๆ น้อยนักที่จะมีใครทำเพิ่มขึ้น แม้จะมีการริเริ่มบางอย่าง เช่น หน่วยวิจัยทางพุทธศาสนา ที่เป็นของกรมการศาสนาเดิม แล้วมาสังกัดในกองบาลีในปัจจุบัน และการริเริ่มของสถาบันอื่นๆ บ้าง ก็ยังไม่แข็งขัน และอยู่ในวงจำกัด แต่เมื่อการศึกษาพุทธศาสนาในประเทศเพิ่มขึ้นก็ดี การสนใจค้นคว้าของชาวต่างประเทศปรากฏชัดยิ่งขึ้นก็ดี ก็คงจะเป็นแรงผลักดันความสนใจในด้านนี้ให้จำเป็นต้องเพิ่มขึ้น

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ข้อคิดบางประการที่ควรพิจารณาก่อน— ข้อควรพิจารณาบางประการสำหรับกำหนดแนวทางของบทบาท >>

เชิงอรรถ

  1. รวบรวมจากหนังสือรายงานการศาสนาประจำปี ๒๕๐๙ และสำรวจจากตัวเลขดิบ ปี ๒๕๑๑ ที่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากเลขานุการเจ้าคณะภาค ๙ จำนวนเจ้าอาวาสในช่องวุฒิและพรรษานั้น ไม่ครบจำนวนวัด เพราะตัวเลขเกินจากนี้ ไม่ทราบชัดบ้าง เป็นวัดที่ไม่มีเจ้าอาวาสบ้าง

    ตารางข้อมูลสถิติพระภิกษุสามเณร จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๑

  2. ตัวเลขได้จากเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี พ.ศ. ๒๕๑๒
  3. เพิ่มให้มีการสอบตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑
  4. ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ กำหนดให้มีวิทยฐานะเป็นปริญญาตรี
  5. เฉลี่ยสอบได้ ปีละ ๓.๗ รูป ต่อผู้เข้าสอบ ๒๗ รูป เฉพาะปี ๒๕๑๒ สอบ ๑๐๒ รูป ได้ ๔ รูป
  6. คิดเฉพาะตัวเลขงบประมาณที่นับได้แน่นอนของส่วนกลาง ไม่นับการลงทุนของสำนัก และเอกชนต่างๆ (ทุนที่ลงไปนั้นส่วนใหญ่เป็นตัวเลขเกิดจากความสูญเปล่า เพราะสอบไม่ได้เท่านั้นเอง ไม่ใช่การลงทุนในการศึกษาที่แท้จริง การลงทุนในการศึกษาแท้ๆ มีน้อยอย่างยิ่ง)
  7. การศึกษาบาลีแผนใหม่ได้สลายตัวหมดไปเองประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๕ เพราะเป็นระบบที่ซับซ้อนและเกินกำลังของผู้เรียนและผู้บริหารที่จะให้เป็นไปได้ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๔ เกิดมี ร.ร. ปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ซึ่งตั้งขึ้นตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ โดยความเห็นชอบของคณะสงฆ์ และใน พ.ศ. ๒๕๑๕ มี ร.ร. ศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณรแพร่หลายถึง ๑๐๒ โรงเรียน
  8. ตั้งขึ้นเดิม พ.ศ. ๒๔๓๒ แต่ได้รับชื่อปัจจุบัน พ.ศ. ๒๔๓๙
  9. ระยะต่อมา เมื่อมีพระภิกษุสามเณรชาวเขาเพิ่มขึ้น ก็ให้ท้องถิ่นรับผิดชอบตนเองมากขึ้น จนไม่ต้องส่งพระธรรมจาริกเป็นคณะไปจากส่วนกลาง
  10. ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ มีวัดไทยในสหรัฐฯ รวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๐ วัด ในจำนวนนี้ ที่เป็นหลักฐานดีแล้วประมาณ ๑๒-๑๕ วัด
  11. พ.ศ. ๒๕๒๗ มีโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ทั่วประเทศประมาณ ๓๐๐ โรงเรียน

No Comments

Comments are closed.