- (กล่าวนำ)
- คิดให้ชัด ถ้าจะบัญญัติให้พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ
- สังคมไทย ไฉนตกต่ำถึงเพียงนี้
- จะเอาวิธีของฝรั่งมาใช้ ก็เจาะจับเอาของจริงมาไม่ได้
- ดูของเขาก็ไม่เอาให้ชัด ด้านของเราก็ห่างเมินจนพร่ามัว
- พูดเรื่องเดียวกัน แต่เถียงกันคนละเรื่อง
- “รู้เขา” แค่เห็นเงามัว ๆ, “รู้เรา” ก็ไม่เห็นเนื้อตัว ผีฝรั่งจึงมาหลอกคนไทย ได้อย่างน่ากลัว
- รู้ความจริงไว้ เพื่อแก้ปัญหา มิใช่เพื่อมาเคืองแค้นกัน ศาสนาประจำชาติแบบฝรั่ง-ไทย มีความหมายตรงข้ามกัน
- เจอความจริงแม้ขื่นใจ ยังรักได้ นั่นคือใจเมตตาแท้ รู้ให้จริงแท้จึงแก้ปัญหา คือเมตตาคู่ปัญญาที่ต้องการ
- พุทธศาสนาประจำชาติ จะเอาไม่เอา อย่าเถียงแบบนักเดา ดูความหมายให้ชัดแล้วจึงตัดสินใจ ให้สมเป็นคนที่พัฒนา
- หาความรู้กันก่อนให้ชัดเจน อย่าเพิ่งใส่ความคิดเห็นเข้าไป
- มองแคบ คิดใกล้ ใฝ่ต่ำ เพราะคิดแต่จะตามเขา จิตของเราจึงตกต่ำลงไป
- “มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง” มีเมื่อไร คนไทยจะเป็นชาวพุทธได้อย่างดี
- เลิกเสียที ความสับสนพร่ามัว และความขลาดกลัวที่เหลวไหล แน่วแน่ ชัดเจน มั่นใจ คือทางออกอันเดียวของสังคมไทย
- สังคมไทย เลื่อนลอยกันต่อไป หรือเด็ดเดี่ยวด้วยจิตสำนึกที่จะแก้ไข
- คำปรารภ
ดูของเขาก็ไม่เอาให้ชัด ด้านของเราก็ห่างเมินจนพร่ามัว
อีกตัวอย่างหนึ่ง ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องศาสนา พอเห็นประเทศอเมริกามีการแยกระหว่าง church and state เห็นเขามีคติ separation of church and state ทั้งที่ไม่รู้ว่าภูมิหลังของเขาเป็นอย่างไร ก็นึกเอาง่ายๆ ว่า ประเทศอเมริกาเป็นผู้นำในทางประชาธิปไตย ตามคติของเขาศาสนากับรัฐต้องแยกจากกัน ไทยเราจะต้องเอาบ้าง เลยได้มาแต่รูปแบบ
คนไทยไม่รู้เหตุผลที่เป็นมาว่า ทำไมประเทศอเมริกาจึงต้องแยก church and state ทำไมรัฐกับศาสนาต้องแยกจากกัน
ที่จริงนั้น อเมริกาเขาแยกรัฐกับศาสนา เพราะมีปัญหาเรื่องแยกนิกายในศาสนาเดียวกัน คำว่า แยกรัฐกับศาสนา ความหมายของเขามุ่งไปที่นิกายต่างๆ เพราะในอเมริกานั้น แม้จะมีศาสนาใหญ่ศาสนาเดียว แต่ก็แยกเป็นหลายนิกาย แต่ละนิกายก็แก่งแย่งและระแวงกัน
ตอนที่อเมริกาจะตั้งประเทศนั้น ไม่ใช่เขาไม่เอาศาสนา เขาคิดมากทีเดียว เขาอยากจะเอาศาสนาขึ้นเป็นใหญ่ เพื่อช่วยประเทศชาติ แต่จะเอานิกายนั้น นิกายโน้นก็ร้อง จะเอานิกายโน้น นิกายนั้นก็ร้อง ตกลงกันไม่ได้ ผลที่สุดจึงต้องแยก church and state
นี่แหละ เพราะมันมีภูมิหลังอย่างนี้ ไม่ใช่เขาจะไม่เอาศาสนามาช่วยประเทศชาติ เขาอยากจะเอา แต่เอาไม่ได้ ถ้าเอามาคนจะแตกสามัคคีกัน เขาก็เลยต้องแยก
ทีนี้ถ้าเราไปดูในแง่อื่นๆ ที่เขาปฏิบัติต่อศาสนาโดยไม่ได้ประกาศ ดูว่าที่ประเทศอเมริกานี้มีศาสนาประจำชาติหรือเปล่า ขอให้มองให้ดี เช่น ในคำปฏิญาณธงของอเมริกาที่เขาเรียกว่า Pledge of Allegiance
ในคำปฏิญาณธงนั้น ซึ่งทุกคนแม้แต่เด็กนักเรียนก็จะต้องกล่าว เขามีข้อความหนึ่ง คือคำว่า one nation under God อันแสดงถึงอุดมการณ์ของประเทศอเมริกา ที่รวมประเทศชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทุกคนต้องกล่าวว่า one nation under God แปลว่า “ประชาชาติหนึ่งเดียว ภายใต้องค์พระเป็นเจ้า” นี่หมายความว่าอย่างไร ทำไมเขากล่าวคำนี้ แล้วคนไทยชาวพุทธเข้าไป เขายกเว้นให้ไหม
ยิ่งกว่านั้น เมื่อปี ๒๔๙๙ รัฐสภาอเมริกัน คือคองเกรส ก็ได้ลงมติให้กำหนด national motto คือคำขวัญของชาติว่า “In God We Trust” แปลว่า พวกเราขอมอบชีวิตจิตใจไว้ในองค์พระผู้เป็นเจ้า อย่างนี้เป็นต้น นี่คือประเทศอเมริกา
นี้คือเนื้อหาสาระที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าเวลาไปดู ก็ไปดูแต่รูปแบบเอามา โดยไม่เข้าใจอะไรจริงจัง แล้วก็เกิดปัญหาที่ว่า เอามาใช้ในประเทศของตัวเองไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เราจะต้องเข้าใจสังคมตะวันตกให้ชัด แม้แต่จะตามเขาก็ขอให้ตามให้ได้จริงๆ เถิด ให้ได้เนื้อหาสาระมาด้วย อย่าเอาแต่เพียงรูปแบบเท่านั้นมา
แม้แต่เรื่องประชาธิปไตยก็เหมือนกัน เราก็มัวไปยุ่งไปวุ่นวายกันอยู่แต่เรื่องรูปแบบ จนกระทั่งเวลานี้ ประชาธิปไตยที่เรามีกันอยู่ ขอถามว่า เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงไหม ประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร จุดมุ่งหมายของประชาธิปไตยที่แท้จริงอยู่ที่ไหน
มันเป็นประชาธิปไตยที่จะนำสังคมไปสู่อุดมธรรม ไปสู่ความดีงามและสันติสุขหรือเปล่า ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่ดีงาม มันจะนำเราไปถึงได้ไหม หรือว่ามันเป็นเพียงประชาธิปไตยที่รับใช้บริโภคนิยม
อันนี้ขอฝากไว้เป็นคำถาม เราก็มัวไปเถียงกันอยู่แต่เรื่องรูปแบบ ส่วนสาระสำคัญอะไรต่างๆ กลับไม่ค่อยพูดจาพิจารณากัน
เวลาไปเรียนวิชาการของตะวันตกก็เหมือนกัน การไปเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าเราจะต้องรู้เท่าทันเขา
แต่เราควรมีความมุ่งหมายว่า เราไปเรียนเอาวิชาการของตะวันตกมาเพื่ออะไร เพื่อมาสร้างสรรค์พัฒนาสังคมของตัวเอง และเพื่อช่วยแก้ปัญหาอารยธรรมของโลกด้วย แต่เราทำอย่างนี้ได้แค่ไหน
เวลาเราเรียนตามตะวันตก เราไปเอาวิชาการมา แต่เสร็จแล้ว สิ่งที่เราควรจะรู้อย่างแท้จริง เราก็ไม่รู้ ปรากฏว่าเราตามฝรั่งไปโดยไม่ถูกตรง และไม่ถึงตัวความรู้ที่แท้จริง
อาตมภาพจะขอยกตัวอย่างให้ฟังสักนิดหนึ่ง เช่น นักวิชาการของเราไปเรียนเรื่องของรัฐศาสตร์ ในแขนงประวัติศาสตร์การปกครอง ซึ่งฝรั่งเขาก็เรียนมาถึงทางอาเซียด้วย โดยเฉพาะทางด้าน Southeast Asia ซึ่งมีประวัติของการถืออุดมการณ์ทางการเมือง ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา
ในพระพุทธศาสนามีหลักการปกครองของจักกวัตติ คือพระเจ้าจักรพรรดิ แต่เป็นจักรพรรดิในความหมายเดิม ไม่เหมือนกับที่ใช้ในภาษาไทย
เรื่องอย่างนี้อยู่ในสายวัฒนธรรมของเราเอง ซึ่งเราควรจะรู้ดีกว่าฝรั่ง แต่กลายเป็นจุดอ่อนของเรา ที่เรากลับต้องไปเรียนรู้จากฝรั่ง ซ้ำร้ายเรายังรู้ไม่เท่าเขา และรู้ไม่จริงอีก จนทำให้เกิดความผิดพลาดที่ไม่สมควร
นักวิชาการของไทยเราไปเห็นบทนิพนธ์ของนักวิชาการฝรั่งเรื่องจักกวัตติหรือจักรพรรดินั้นเข้า แต่ไม่มีความรู้พื้นฐาน ไม่จัดเจนในสายวัฒนธรรมของตัวเอง ก็เข้าใจผิดพลาด
ฝรั่งเขียนว่า Cakravartin คนไทยเรางง ไม่รู้ว่าฝรั่งเขียนเรื่องอะไร หลักการถ่ายทอดอักษร หรือวิธีเขียนคำบาลีสันสกฤตด้วยอักษรฝรั่งก็ไม่รู้ เลยจับเอามาว่า จักรวาทิน แล้วเราก็เอามาเขียนในตำราของเรา ว่าฝรั่งพูดเรื่อง “จักรวาทิน”
จักรวาทินคืออะไร ที่จริงเป็นจักรวรรติน ซึ่งก็คือจักกวัตติ หรือพระเจ้าจักรพรรดินั่นเอง แต่ภาษาสันสกฤตเขียน จกฺรวรฺตินฺ ถอดเป็นอักษรโรมันว่า Cakravartin ตรงกับบาลีว่า จกฺกวตฺติ (Cakkavatti)
เมื่อเราเข้าใจคำพูดไม่ถูกต้อง อ่านเป็นจักรวาทินเสียแล้ว เราอ่านเรื่องที่เขาเขียน ก็เข้าใจไม่ตรงกับเรื่องที่เขาต้องการจะพูด ทำให้เกิดความสับสน
เราไปเรียนวิชาการรัฐศาสตร์ของฝรั่ง เขาเขียนเรื่องอุดมการณ์การปกครองในอดีตของ Southeast Asia เรามัวไปเข้าใจว่าเขาพูดเรื่องจักรวาทิน ก็เลยไม่รู้ว่าเขาพูดเรื่องพระเจ้าจักรพรรดินี่เอง
กลายเป็นว่า เรื่องในสายเราเอง ที่เราควรรู้ดีกว่าฝรั่ง เวลาไปอ่านของฝรั่ง เราควรจะวิเคราะห์และวินิจฉัยเขา และช่วยแก้ไขให้เขาได้ เรากลับรู้ได้ไม่ถึงเขา แถมยังเข้าใจผิดพลาดมาอีกด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่ง ในเวลาที่ฝรั่งเขาจะใช้ภาษาอังกฤษเขียนถ้อยคำในภาษาอื่น เขามีระบบการถ่ายอักษร พร้อมทั้งวิธีการอ่านการออกเสียง เป็นต้น เช่น เมื่อเขียนชื่อคนชาวศรีลังกา คนศรีลังกาก็เขียนตามระบบถ่ายตัวอักษรที่วางไว้
ภาษาของศรีลังกานั้น มีรากฐานสืบมาจากภาษาบาลีเป็นอันมากทีเดียว ซึ่งก็อยู่ในสายวัฒนธรรมเดียวกับของเราเอง ซึ่งเราควรจะเข้าใจชัดเจนยิ่งกว่าฝรั่ง
คนไทยเราไปอ่านชื่อของคนศรีลังกาที่เขียนเป็นภาษาฝรั่ง เมื่อเราไม่รู้ไม่เข้าใจและไม่ได้ศึกษาระบบของเขา เราก็อ่านไม่ถูก (และมองเขาไม่ทะลุด้วย)
เราไปเห็นชื่อประธานาธิบดีศรีลังกาคนก่อน ที่เขาเขียนว่า Jayawardene เราก็อ่านว่า “ชายาวาร์เดเน” ชายาวาร์เดเนอะไรที่ไหนกัน ที่จริงก็คือนายชยวรรธนะ หรือ ชัยวัฒน (ชัยวัฒน์) นั่นเอง แต่เขียนตามสำเนียงของเขา เมื่อเป็นภาษาอังกฤษจะเป็นอย่างนั้น
อาตมาก็ลองฟังดูว่าที่คนไทยออกเสียง ชายาวาร์เดเน นี้ วิทยุฝรั่ง เช่น V.O.A. และ B.B.C. เขาจะออกเสียงอย่างไร ไปฟังฝรั่งยังออกเสียงใกล้จริงกว่า ฝรั่งออกเสียงว่า ชะยะวาดะนะ ก็ยังใกล้เข้ามา ทำไมฝรั่งออกเสียงได้ดีกว่าคนไทย ก็เพราะคนไทยเราไม่ได้ศึกษาสืบค้นหาความรู้
ทั้งๆ ที่ว่า ศรีลังกานี้ใกล้เมืองไทยมากกว่าฝรั่ง เราอยู่ในสายวัฒนธรรมเดียวกัน คนศรีลังกานั้นชื่อของเขาส่วนมากก็มาจากพุทธศาสนา นายชัยวัฒนนี้ชื่อก็มาจากภาษาบาลีนี้แหละ
อีกตัวอย่างหนึ่งนายกรัฐมนตรีศรีลังกาคนที่แล้ว ที่ถูกสังหารไป เขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Premadasa คนไทยเอามาอ่านออกเสียงทางวิทยุ โฆษกบางคนก็ออกว่า “เประมาดาซ่า” ลองดูว่าอะไรหนอ เประมาดาซ่า อ้อ นายเปรมทาส นี่เอง อย่างนี้เป็นต้น
ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องของการที่คนไทยเราตื่นความเจริญ แต่ตามความเจริญไม่ถึง ต้องขอพูดอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงได้แต่รูปแบบและเปลือกนอกมา
แม้แต่ในเรื่องที่เราควรจะเหนือและนำเขา เราก็ยังรู้ไม่เท่าไม่ถึงไม่ถูกไม่ทัน ได้แต่งุ่มง่ามงมงำถ้าอย่างนี้เราก็จะต้องเป็นผู้ตามเขาแบบเถลไถลไถถาอยู่เรื่อยไป ไม่มีทางจะไปนำเขาได้
No Comments
Comments are closed.