- (บทนำ)-ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์)
- สภาพโลกาภิวัตน์
- บทบาทและอิทธิพลของเทคโนโลยี
- เทคโนโลยีสู่สภาพโลกาภิวัตน์
- วิทยาศาสตร์กับเบื้องหลังความเจริญของเทคโนโลยี
- เทคโนโลยีเจริญอาจเพิ่มภยันตราย
- สังคมไทยกับเทคโนโลยี : เรามีฐานแห่งความสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่
- รู้จักไทย เข้าใจฝรั่ง : ผลต่างที่เกิดจากเทคโนโลยี
- ถ้าไม่ระวัง จะไม่ได้ทั้งบทเรียนและแบบอย่าง
- สภาพของมนุษย์ที่เป็นนักเสพเทคโนโลยี
- การพัฒนามนุษย์เพื่อแก้ปัญหาจากเทคโนโลยี
- พัฒนาคนบนฐานของวัฒนธรรมแห่งปัญญาและการเพียรทำ
- เมื่อพัฒนาคนถูกต้อง ชีวิตก็เป็นอิสระ และยิ่งมีความสุข
- เทคโนโลยีสารสนเทศที่อาจกลายเป็นโทษ
- พัฒนาคน หมายความว่า ไอที ต้องอยู่ใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา
- สารจากคณะผู้จัดทำ
ถ้าไม่ระวัง จะไม่ได้ทั้งบทเรียนและแบบอย่าง
เอาเป็นว่า ในความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่าฝรั่งมีข้อดีที่เขามีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ที่ทำให้มีความใฝ่รู้ แล้วก็มีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิตเทคโนโลยี และใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาอุตสาหกรรมอีก ทำให้เป็นคนสู้สิ่งยาก แต่เวลานี้ก็น่าเสียดายว่า ฝรั่งโดยเฉพาะอเมริกันเป็นสังคมที่พัฒนามาก จนตัวเขาก็ภูมิใจมากว่าเขาได้เปลี่ยนมาเป็น post-industrial society คือเป็นสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรมมาเป็น consumer society คือเป็นสังคมบริโภคแล้ว คนฝรั่งในปัจจุบันไม่เคยได้รับรสความยากลำบากความขาดแคลนอย่างบรรพบุรุษของตนเอง เกิดมาก็มีความพรั่งพร้อม อย่างที่คนไทยบอกว่าเกิดมาคาบช้อนเงิน ช้อนทอง ฝรั่งก็เริ่มมักง่ายขึ้นมาบ้าง จะเห็นว่าเวลานี้ฝรั่งรุ่นเก่ากำลังติเตียนฝรั่งรุ่นใหม่ว่ามักง่ายหยิบโหย่งสำรวย มีวัฒนธรรมแบบตามใจตัว สังคมเริ่มเสื่อมมีปัญหา
ความตกต่ำของสังคมอเมริกันมีมากในปัจจุบันนี้ แม้แต่การศึกษาก็มีความโน้มเอียงไปในทางตามใจเด็ก ทำอย่างไรจะทำบทเรียนและกิจกรรมให้เด็กสนใจ ถ้าเด็กไม่สนใจก็ไม่ต้องเรียน ครูก็พยายามเอาใจ ที่จริงการสร้างบทเรียนและกิจกรรมให้น่าสนใจเป็นสิ่งที่ถูก แต่ถ้าไปถึงขั้นหนึ่งเมื่อสุดโต่งไปก็จะกลายเป็นการเอาใจและการตามเอาใจ แล้วก็จะเกิดความผิดพลาดขึ้นมา เด็กจะไม่สู้สิ่งยาก อะไรยากไม่เอาทั้งนั้น ปัญหาจะเกิดขึ้น เวลานี้สังคมอเมริกันกำลังได้รับผลอันนั้นดังที่ปรากฏว่าสัมฤทธิผลทางสมองในการศึกษาตกต่ำมาก และเห็นได้ชัดในการแข่งขันระหว่างชาติ ในตอนนี้ก็เกิดความริเริ่มของอเมริกันในการที่จะแก้ไขตัวเองเพราะรู้สำนึกว่าการศึกษาของตนตั้งแต่ประถมและมัธยมตกต่ำมาก ก็เลยคิดจัดการแข่งขันเพื่อหาทางปรับปรุงประเทศของตนเอง ดังเช่นคราวหนึ่งมีการแข่งขันทางคณิตศาสตร์ระดับโลก ๑๔ ประเทศ อเมริกาได้ที่ ๑๓ ประเทศที่ ๑๔ คือใคร คือประเทศไทย อันนี้เป็นตัวเลขที่แท้จริง อาตมาไม่ได้พูดเล่น เวลานี้แข่งกันบ่อย เขาจัดให้สู้กันในเวทีโลก ขณะนี้ระบบการแข่งขันกำลังเข้ามาในวงการการศึกษาด้วยอย่างรุนแรงมาก ในขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังตกต่ำและคร่ำครวญถึงความเสื่อมสลายของสังคม ซึ่งเราจะต้องรู้เข้าใจเท่าทัน
สังคมอุตสาหกรรมหรือวัฒนธรรมอุตสาหกรรม โดยศัพท์ก็บอกในตัวอยู่แล้วว่าต้องขยันหมั่นเพียร เพราะอุตสาหกรรมมาจากคำภาษาอังกฤษว่า industry ซึ่งแปลว่า ความขยันหมั่นเพียร ผู้บัญญัติศัพท์ภาษาไทยก็เอาตามภาษาอังกฤษ จึงบัญญัติเป็นศัพท์ภาษาไทยว่า อุตสาหกรรม แปลว่า การกระทำด้วยความอุตสาหะ คือทนสู้ ฮึดสู้ เพียรบากบั่น ไม่ยอมระย่อท้อถอย แต่คนไทยเรามองอุตสาหกรรมเป็นอะไร เรามองในแง่ความสะดวกสบาย คล้ายกับจะพูดว่า อุตสาหกรรมคือกระบวนการผลิตสิ่งเสพสิ่งบริโภคที่จะอำนวยความสะดวกสบายสุขสำราญ เราไม่เคยคิดถึงความหมายของอุตสาหกรรมว่าฝรั่งคิดขึ้นมาอย่างไร วัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่แท้เป็นวัฒนธรรมของคนที่สู้สิ่งยาก มีความขยันอดทน
ถ้าคนของเราไม่มีความใฝรู้จากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และไม่มีความสู้สิ่งยากจากวัฒนธรรมอุตสาหกรรมเป็นพื้นฐานและเป็นภูมิต้านทานแล้ว เราก็หันไปมุ่งบริโภคเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมก็ถูกมองในแง่ผลที่ได้รับคือสิ่งบริโภค ผลิตภัณฑ์ที่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ มันก็จะซ้ำผลร้ายให้เกิดแก่สังคมของตัวเองเพราะการเห็นแก่ความสะดวกสบายจากเทคโนโลยี ฤทธิ์เดชของเทคโนโลยีก็จะผาดแผลงขึ้นมาในทางตรงข้ามกับที่ต้องการ แทนที่มันจะทำให้สังคมของเราพัฒนา ก็กลับจะทำให้สังคมของเราตกต่ำลงไป เพราะเรามองเทคโนโลยีในด้านของความสะดวกสบายที่จะบริโภคเท่านั้น
No Comments
Comments are closed.