- คุณภาพชีวิต หรือ Quality of Life คืออะไร
- มาตรฐานการครองชีพ วัดกันที่ไหน
- มาตรฐานการครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตเสีย
- “บุญ” ครอบคลุมคำว่าคุณภาพชีวิต ได้แค่ไหน
- ชุมชนจะเข้มแข็ง ถ้ายึดเอาบุญเป็นศูนย์กลาง
“บุญ” ครอบคลุมคำว่าคุณภาพชีวิต ได้แค่ไหน
ขอเสนอนิดเดียว ให้ไปดูเรื่องมฆมาณพ ซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่ทำบุญ ดูว่าเขาทำอะไรบ้างที่เรียกว่า “บุญ”
แนวคิดเรื่องบุญในพุทธศาสนาตรงนี้ เป็นเรื่องของชาวบ้านพื้นๆ และเรื่องของคนที่อยู่รวมกันเป็นหมู่ชน หรือเป็นชุมชน ที่ได้พยายามสร้างสรรค์ชุมชนของพวกตนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แล้วเขาก็เรียกการกระทำอย่างนั้นว่า “ทำบุญ”
ตามเรื่องมฆมาณพนั้น คนผู้นี้รวมทั้งคณะได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์ และเทวดาในดาวดึงส์ ด้วยการทำบุญ
เรื่องที่มฆมาณพทำบุญนั้นมีอะไรบ้าง ก็มีเรื่องการจัดสิ่งแวดล้อมให้รื่นรมย์น่าอยู่ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นสัปปายะ จะได้อยู่กันด้วยดี และชีวิตชุมชนที่อยู่รวมกัน ก็อยู่ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีงาม ไม่เบียดเบียนกัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูล พร้อมกันนั้นก็ชวนกันเลิกละอบายมุข ทำชุมชนให้ปลอดจากสุรายาเสพติดการพนัน หันไปทำสิ่งที่เป็นการสร้างสรรค์ และขยันหมั่นเพียรในอาชีพการงาน โดยต่างก็มีการงานที่ต้องทำ มีภาวะที่เรียกอย่างปัจจุบันว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
พร้อมกันนั้นก็มีจิตใจดีงาม ซึ่งนอกจากมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแล้ว ก็ให้จิตใจสดชื่นเบิกบานผ่องใสมีความสุข และมีการใฝ่แสวงหาความรู้ มีการฟังที่เรียกว่า ธรรมสวนะ คือมีการให้ธรรมฟังธรรมกัน และมีความมั่นคงชนิดที่ถ้าใช้ศัพท์สมัยใหม่คงเรียกว่าความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งอยู่ด้วยความไม่หวาดหวั่นกังวล เรียกอย่างปัจจุบันว่าจิตใจไม่เครียด และอยู่ด้วยจิตใจสบาย แม้แต่คิดถึงโลกหน้าอนาคต ก็มีจิตใจที่มั่นคงไม่หวาดหวั่นพรั่นใจ
ความหมายนี้ก็ลึกอยู่ รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางด้านธรรมชาติและชีวิตทางด้านวัตถุ ที่เป็นอยู่อย่างเป็นสัปปายะ และความสัมพันธ์ในชุมชนที่มีความร่วมมือกัน พร้อมทั้งชีวิตด้านในที่นอกจากร่างกายดีแล้วจิตใจก็ดีงามมีความสุข และไม่เฉพาะอยู่สบายเฉพาะหน้า แม้มองไปในอนาคตจิตใจก็มั่นคง
ความมั่นคงทางด้านจิตใจนี้ก็สำคัญ คนปัจจุบันมีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางจิตใจนี้ โดยอาจจะขาดแคลนความสงบสมดุลมากไปหน่อย ถึงจะหันมาพูดถึงคุณภาพชีวิต แต่คุณภาพชีวิตที่มองกันเวลานี้ ก็ยังเน้นแค่สภาพชีวิตที่เป็นอยู่ แต่คนเรานี้มีอย่างหนึ่งคือความหวาดหวั่นต่ออนาคต ซึ่งไม่เฉพาะอนาคตด้านภายนอก เช่นเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นต้นเท่านั้น แต่หมายถึงความมั่นคงทางจิตใจ ที่ไม่ต้องมีความหวาดหวั่นแม้แต่ต่อโลกหน้า คุณภาพชีวิตจะต้องรวมไปถึงขั้นนี้ด้วย ถ้าขาดไปก็ยังไม่มีคุณภาพชีวิตดีแท้ เพราะชีวิตก็ต้องรวมทั้งกายและใจ
คำว่า “บุญ” นี่คลุมคุณภาพชีวิตหมดทุกด้าน เมื่อพูดถึงคำว่าบุญ จะมีความหมายกว้างมากจนไม่รู้จะอธิบายอย่างไร เช่นพูดว่า “มาทำบุญกันนะ” จะหมายถึงทั้งการทำสิ่งที่ดี การช่วยเหลือกัน การทำประโยชน์ ตลอดไปจนถึงความสุขอิ่มอกอิ่มใจจิตใจเบิกบานร่าเริง ผ่องใสที่ลึกซึ้ง จนอธิบายไม่ถูก พูดขึ้นมาแล้วก็ซาบซึ้ง กินความกว้างขวางทั้งหมด จึงพูดได้ว่าคำนี้เรามีอยู่แล้ว คำว่าบุญกินความหมายกว้างมากอย่างที่ว่ามา จึงน่าจะเป็นคำที่คลุมคำว่าคุณภาพชีวิต
พร้อมกันนั้น ก็ต้องระลึกถึงความจริงอย่างหนึ่งด้วยว่า อะไรก็ตามที่มีความหมายกว้างขวางมาก ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน ครอบคลุม อธิบายได้ยาก คนก็เสี่ยงต่อการที่จะเข้าใจผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนได้ง่าย ไปๆ มาๆ ความหมายที่ครอบคลุม ก็จะกลายเป็นคลุมเครือ พร่า เลือนราง เมื่อความรู้ความเข้าใจไม่มี ปัญญาอ่อนกำลัง ก็จะปฏิบัติผิดๆ พลาดๆ กลายเป็นเสื่อมเสียคุณภาพชีวิตไปเลย
คนแต่ก่อนที่ทำบุญนั้น ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องไปวัดแล้วบริจาคหรือไปถวายของพระเท่านั้นจึงจะเป็นบุญ เพราะว่าในชีวิตประจำวันเขาต่างก็ทำบุญกันอยู่ มีการตั้งน้ำหน้าบ้าน แขกไปใครมาก็ดื่มน้ำได้ และจัดอำนวยความสะดวกให้ มีต้นกล้วย มะม่วง และไม้ผลต่างๆ ใครมาถึงบ้านก็ไม่หวงแหน ต้อนรับทั้งด้วยคำสนทนาปราศรัยทักทายด้วยไมตรี และต้อนรับด้วยอาหาร เช่นถามว่ากินข้าวกินปลามาหรือยัง อะไรอย่างนี้ นี่แหละชีวิตที่อยู่กันด้วยบุญด้วยกุศล
รวมความว่า คำว่าบุญนี้เป็นคำที่มีความหมายกว้างเหลือเกิน แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป เราหันไปรับแนวคิดสมัยใหม่ และถ้อยคำสมัยใหม่ คำเก่าๆ ก็ค่อยๆ เลือนรางจางหาย ความหมายก็หดลงไป แคบลงไป เพี้ยนไป คลาดเคลื่อนไป จึงจะต้องหยิบยกขึ้นมาศึกษากัน ถึงแม้ถ้าเราจะไม่เอากลับมาใช้อีก ก็อาจจะศึกษาความหมายที่จะได้ประโยชน์ เอาแง่คิด เอานัยบางด้านมาใช้
No Comments
Comments are closed.